MIND: หยุดหลอกคนรักด้วยคำว่า ‘ไม่เป็นไร’ เพราะอารมณ์ที่ซ่อนไว้อาจรั่วไหล จนทำลายความสัมพันธ์
ทุกคนคงพอรู้กันมาในระดับหนึ่งแล้วว่าการอยู่ในความสัมพันธ์ไม่ใช่สิ่งที่จะสวยงามเสมอไป เพราะในบางครั้งมันก็มีจังหวะที่เรารู้สึกไม่ดี รู้สึกเสียใจ และก็มักจะมีหลายครั้งที่เรารู้สึกว่าการบ่ายเบี่ยงที่จะพูดความจริงเป็นสิ่งที่อาจดีที่สุดในตอนนั้น จนทำให้เราหันไปเลือกที่จะบอกกับคนรักว่า “ไม่เป็นไร” แทนการพูดความรู้สึกที่แท้จริง
ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่เคยสังเกตมาก่อน คือการพูดคำว่า ‘ไม่เป็นไร’ แท้จริงแล้วไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะการทำเช่นนี้เป็นการพยายามกดอารมณ์บางอย่างไว้ ซึ่งมันสามารถรั่วไหลจนทำให้คุณเผลอไปทำร้ายคนรักของคุณได้
โดยการรั่วไหลนี้มีชื่อว่า ‘Emotional Leakage’ ที่ ดร.ลา เคอิตา ดี. คาร์เตอร์ (La Keita D. Carter) นักจิตวิทยาคลินิก ได้อธิบายไว้ว่าเป็นการที่อารมณ์ของเรารั่วไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่เราพยายามเก็บซ่อนมันเอาไว้ ทั้งนี้การสื่อสารยังไม่ได้มีแค่คำพูด (verbal) แต่ยังมีภาษาที่ไม่ใช้คำพูด (non-verbal) ด้วย ดังนั้นแม้คุณจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ภาษากายของคุณก็อาจเผยความรู้สึกเหล่านั้นออกมาแทน
ไม่ว่าจะเป็นการรั่วไหลออกมาทางสีหน้า น้ำเสียง กิริยาท่าทาง ภาษากายต่างๆ เช่น การตึงไหล่ การนั่งไขว่ห้าง การใช้เท้าเคาะกับพื้น หรือการกัดเล็บ สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณสะท้อนจิตไร้สำนึก (unconscious) ของคุณที่กำลังพยายามส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือออกมา ในขณะที่จิตสำนึก (conscious mind) พยายามจะข่มอารมณ์ที่สงบนิ่งเอาไว้
ทั้งนี้แม้การข่มอารมณ์จะเป็นพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นเพราะคุณอาจจะกำลังกลัวการถูกตัดสิน ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความรู้สึกรุนแรงหรือจัดการยาก หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ แต่การที่คุณไม่ยอมพูดความรู้สึกจริงออกมาอาจทำให้คนรอบตัวหรือคนรักของคุณรู้สึกไม่ดีมากกว่าเดิม เพราะอารมณ์ที่รั่วไหลออกมาอาจรุนแรงกว่าการเลือกที่จะพูดความรู้สึกจริง
ตัวอย่างเช่น การที่คุณพยายามยิ้มและบอกว่า “ไม่เป็นไร” ทั้งที่ในใจรู้สึกเจ็บปวดหรือโกรธมาก แต่เมื่อผ่านไปสักพักกลับเริ่มถอนหายใจแรง หน้าตึง เคาะโต๊ะ หรือพูดด้วยน้ำเสียงห้วนใส่คนรักโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการกระทำเช่นนี้สามารถสร้างความรู้สึกอึดอัด สับสน ทั้งที่เขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณกำลังรู้สึกอะไรอยู่ ซึ่งนั่นอาจทำให้คุณและคนรักยิ่งทำร้ายจิตใจกันมากขึ้น และการไม่พูดความจริงออกมายังอาจทำให้ร่างกายคุณเกิดภาวะซึมเศร้า หงุดหงิดโดยไม่รู้ตัวได้
โดยหากคุณต้องการแก้ปัญหาเรื่องนี้ คุณสามารถเริ่มได้จากการจัดการกับอารมณ์ที่รั่วไหลของคุณ ดังนี้
1 – การสื่อสารเพื่อบอกความรู้สึกที่แท้จริง
การสื่อสารโดยบอกกล่าวกับคนรักให้เข้าใจเป็นวิธีที่จะทำให้คนรักเข้าใจคุณได้ แต่ถ้าหากคุณรู้สึกไม่โอเคแต่ก็ไม่อยากพูดออกมาคุณอาจลองเลือกวิธีสื่อสารอื่น เช่น การเขียน หรือการตกลงกับคนรักว่าขอใช้เวลาสักพักก่อนการเริ่มคุยกัน
2 – ฝึกการตระหนักรู้ทางอารมณ์
เป็นการฝึกที่จะหยุดพักเพื่อถามตัวเองง่ายๆ ว่า “ตอนนี้เรารู้สึกยังไงนะ” หรือ “เรากำลังคิดอะไรอยู่” เพราะการทำเช่นนี้เป็นการเริ่มต้นที่จะช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกตัวเองมากขึ้น และพอเรารู้ว่ารู้สึกอะไร ก็จะจัดการกับมันได้ดีขึ้น
3 – การคิดทบทวนความสัมพันธ์
เนื่องจากแม้ว่าเราจะเป็นฝ่ายที่ไม่บอกความรู้สึกจริง แต่บางครั้งการเก็บกักอารมณ์ของคุณอาจขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน เช่นคุณอาจกลัวความเสียใจเกินไป จนทำให้คุณเลือกที่จะเก็บอารมณ์ ดังนั้นการหันมาทบทวนความสัมพันธ์อาจทำให้คุณเข้าใจและปรับเปลี่ยนตัวเองพร้อมกับคนรักของคุณได้
อย่างไรก็ดี วิธีการต่างๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำให้คุณได้เข้าใจตนเอง และเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากการปิดบังอารมณ์ ที่จะทำให้ทั้งตัวคุณและคนรักได้อยู่ในความสัมพันธ์ที่พร้อมจะเข้าใจกันและมีสุขภาพจิตที่ดีมากยิ่งขึ้น