SOCIETY: รู้ไหม ‘ฟองอากาศ’ ของวาฬ อาจเป็น ‘ภาษาลับ’ ที่ส่งถึงมนุษย์ เพราะบางที…น้องอาจจะอยากคุยกับเรานะ!
เมื่อนึกถึง ‘วาฬ’ หลายคนอาจจินตนาการถึงสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่แหวกว่ายอยู่ท่ามกลางความเงียบสงัดของมหาสมุทร แต่งานวิจัยล่าสุดกำลังตั้งคำถามกับภาพจำนี้ วาฬอาจไม่ได้เป็นสัตว์ที่ชอบความสงบเงียบขนาดนั้น และพวกมันอาจ ‘อยากคุยกับมนุษย์’ มากกว่าที่เราคิด
ทั้งหมดเริ่มต้นจากคำถามของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ร่วมกับ SETI Institute หรือองค์กรที่มีชื่อเสียงด้านการค้นหาการสื่อสารจากสิ่งมีชีวิตนอกโลก โดยพวกเขาสังเกตเห็นพฤติกรรมที่น่าสนใจของวาฬหลังค่อมในทะเลแถบอะแลสกา อย่างการเป่าฟองอากาศเป็นวงเมื่ออยู่ใกล้มนุษย์ จากความสงสัยว่า พฤติกรรมนี้เป็นแค่การเล่นหรือความพยายามจะสื่อสารกับมนุษย์กันแน่ นำมาสู่งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้ถือกำเนิดขึ้น และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Marine Mammal Science เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2025
หลังจากที่งานวิจัยชิ้นดังกล่าวเผยแพร่สู่สาธารณะบนเว็บไซต์ของ SETI และ EurekAlert! เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา ก็ได้รับความสนใจอย่างมากจากเหล่านักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมสัตว์และการสื่อสารระหว่างสายพันธุ์
โดยทีมนักวิจัยพบว่า วาฬหลังค่อมสร้าง ‘วงฟองอากาศ’ (bubble rings) ขณะอยู่ใกล้มนุษย์ที่ว่ายน้ำหรืออยู่บนเรือ พฤติกรรมเหล่านี้ไม่มีท่าทีคุกคาม กลับดูเหมือนจงใจและเป็นมิตร นักวิจัยจึงมองว่าพฤติกรรมนี้อาจเป็น ‘การทักทาย’ หรือ ‘การสื่อสาร’ รูปแบบหนึ่ง
ตลอดการสังเกตการณ์พฤติกรรมในเหตุการณ์ 12 ครั้ง พบว่าวาฬหลังค่อมมีการสร้างฟองที่มีความประณีตรวมกันถึง 39 วง ขณะที่อยู่ใกล้กับมนุษย์ พฤติกรรมนี้อาจเปรียบได้กับภาษากาย ที่อยากจะทักทายหรือชวนเล่น
ฟองอากาศที่วาฬเป่าออกมานั้นอาจเป็น ‘candidate signals’ หรือ ‘สัญญาณที่สร้างขึ้นเพื่อทดลองตอบสนอง’ โดยนักวิจัยระบุว่า สัญญาณนี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วย ‘ความตั้งใจ’ เพื่อสังเกตปฏิกิริยาตอบสนองจากมนุษย์เช่นกัน ไม่ใช่เพียงพฤติกรรมทางธรรมชาติเหมือนกับการสื่อสารระหว่างวาฬกันเองอย่าง ‘เพลงวาฬ’ (Whale Song) หรือรูปแบบการสื่อสารกันเองภายในฝูง ที่เคยมีการศึกษามาก่อนหน้านี้
ด้าน ดร.เฟรด ชาร์ป (Dr. Fred Sharpe) นักชีววิทยาทางทะเลจากสถาบัน SETI กล่าวว่า วาฬเป็นสัตว์ที่มีระบบสังคมที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก และพวกมันเองก็อาจกำลังศึกษาว่ามนุษย์จะตอบกลับอย่างไรเมื่อพวกมันส่งสัญญาณบางอย่างมาที่เรา เหมือนกับที่มนุษย์เองก็กำลังศึกษาเรื่องราวของพวกมันเช่นกัน
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบอีกว่ามี ‘เสียงบางอย่าง’ ที่วาฬเปล่งออกมาขณะเป่าฟองอากาศ อาจคล้ายกับคำสั่งหรือคำตอบ เปรียบได้เหมือนกับตอนที่มนุษย์หัดเปล่งเสียง ในกรณีของวาฬ พวกมันอาจจะกำลัง ‘เรียนรู้’ ว่าการสร้างฟองรูปแบบหนึ่งและตามด้วยเสียงบางเสียง จะกระตุ้นปฏิกิริยาตอบสนองจากมนุษย์อย่างไร วาฬอาจไม่ได้แค่สื่อสารกันเองในระดับของฝูงเท่านั้น แต่อาจจะพยายาม ‘เริ่มบทสนทนา’ กับมนุษย์ แม้จะยังไม่ใช่ภาษาพูดแบบเราก็ตาม
อย่างไรก็ตามสถาบัน SETI ก็ยังมองอีกว่าพฤติกรรมนี้ช่วยให้เราสามารถเข้าใจภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษามนุษย์ได้ดีมากยิ่งขึ้น หากเราเข้าใจในภาษาวาฬ อาจเป็น ‘ทางลัด’ ในการเตรียมความพร้อมของมนุษย์ในการสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะอยู่ในโลกหรือนอกโลก และอาจนำไปสู่การสร้าง AI ที่เข้าใจในภาษาสัตว์ และช่วยให้มนุษย์ถอดภาษาอื่นได้ในอนาคต หากเทคโนโลยีเหล่านั้นพัฒนาจนถึงขั้น ‘เข้าใจ’ และ ‘แปลความหมาย’ ของสัญญาณของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ได้จริง อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดบทสนทนาระหว่างมนุษย์และสัตว์บางชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
บางที เสียงฟองอากาศในทะเลลึกที่เราคิดว่าเงียบงัน อาจคือเสียงทักทายแรกจากสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ และหากนี่คือความพยายามเริ่มบทสนทนาอย่างแท้จริง พฤติกรรมอย่างการเป่าฟองอากาศของวาฬอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารที่ยิ่งใหญ่ระหว่างสายพันธุ์ ที่พาเราเข้าใกล้ความเข้าใจสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลก หรือแม้แต่นอกโลกมากขึ้น
คำถามสำคัญในวันนี้จึงอาจไม่ใช่ว่า ‘วาฬอยากคุยกับเราไหม’ แต่คือ ‘เราพร้อมจะฟังพวกมันแล้วหรือยัง?’