เปลี่ยนวิถีคนเหงา ที่ไม่อยากเหงา ชวนรู้จัก ‘เทรนด์จ้างเพื่อนเที่ยว’ เมื่อไม่ได้อยากมีแฟน แค่ขอคนเที่ยวด้วยสักวัน
“มันดีมากที่มีใครสักคนคุยด้วย เที่ยวด้วยกัน เหมือนได้มาเที่ยวกับเพื่อนจริงๆ” ฉือ ยุนหลิน แชร์ประสบการณ์กับ Channel News Asia หลังตัดสินใจใช้บริการ ‘รับจ้างเที่ยวเป็นเพื่อน’ ผ่านโซเชียลมีเดีย ฉือ ครูสาววัย 23 ปี จากเมืองเสิ่นหยาง เลือกใช้เวลาในวันหยุด เดินทางกว่า 2,000 กิโลเมตร เพื่อเยือนดิสนีย์แลนด์แห่งเดียวบนจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้
ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ ทริปนี้เธอไม่ได้มากับคนรู้จัก แต่เลือกจ้างเพื่อนเที่ยว ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ให้มาเป็นเพื่อนร่วมทาง “เพื่อนนติดงานกันหมด เลยไม่สะดวกไปด้วย แต่ฉันรู้สึกเบื่อที่จะต้องเดินทางคนเดียว และต้องการใครสักคนเป็นเพื่อนร่วมทริปนี้” ฉืออธิบาย
สิ่งที่ฉือทำไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด นี่นับเป็นเทรนด์ของนักเดินทางรุ่นใหม่ในจีน ที่นิยมใช้บริการ ‘เพื่อนเที่ยว’ หรือที่เรียกกันในภาษาจีนว่า 陪玩 (เป่ยหว่าน) และ 陪游 (เป่ยโหย่ว) ซึ่งกำลังเติบโต ท่ามกลางบริบทชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การแข่งขันสูงขึ้น วันหยุดน้อยลง และความโดดเดี่ยวที่แฝงอยู่ในเมืองใหญ่
ตามกฎหมายแรงงานของจีน คนวัยทำงานที่มีประสบการณ์ระหว่าง 1–10 ปี จะมีวันลาพักร้อนเพียง 5 วันต่อปี เท่านั้น นั่นทำให้ทุกวันหยุดมีค่ามากขึ้น และประสบการณ์ระหว่างทริปกลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากกว่าที่เคย
[‘เพื่อนเที่ยว’ ช่วยให้ทริปสั้นๆ ไม่เปล่าเปลี่ยว]
เฉิน จื่อผิง นักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 21 ปี ที่รับงานเป็น ‘เพื่อนเที่ยว’ แบบฟรีแลนซ์ในเซี่ยงไฮ้มาแล้วหลายปี คือ คนที่ฉือเลือกใช้บริการครั้งนี้
เธอเล่าว่า เฉินช่วยให้การเที่ยวดิสนีย์แลนด์ครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งวางแผนเส้นทาง แนะนำโซนที่น่าเล่น และช่วยประหยัดเวลา ทำให้เธอใช้ช่วงเวลาสั้นๆ ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด เฉินให้บริการในราคาประมาณ 1,000 หยวน (ราว 4,500 บาท) ต่อวัน สำหรับลูกค้า 1–2 คน และ 1,188 หยวน (ราว 5,300 บาท) หากมาเป็นกลุ่ม 3 คน
“คนที่มาเที่ยวดิสนีย์ส่วนใหญ่จะมาเป็นคู่ หรือมาเป็นกลุ่มเล็กๆ” เฉินอธิบาย “แต่ถ้ามาคนเดียว อาจจะรู้สึกเหงา หรือเบื่อเวลาต้องรอคิวนานๆ คนเดียว”
[ไทยไม่น้อยหน้า ไม่ตกขบวนหาเพื่อน]
กลับมาที่บ้านเรา แม้บริการจ้างเพื่อนเที่ยวในไทยจะยังไม่ชัดเจนเท่าจีน แต่แนวโน้มนี้ก็เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นในโลกโซเชียล โดยเฉพาะในกลุ่มคนโสด คนเมือง และกลุ่มวัยทำงาน ที่มีเวลาจำกัดในการวางแผนเที่ยวกับเพื่อน
แพลตฟอร์มอย่าง Fastwork, Shopee Services, TikTok และ X กลายเป็นช่องทางยอดนิยมสำหรับผู้ให้บริการในไทยที่เปิดรับงานแนว ‘เที่ยวเป็นเพื่อน’ หรือ ‘เที่ยวฟีลแฟน’
โดยมีการนำเสนอแพ็กเกจ และบริการที่หลากหลาย ผู้ให้บริการบางรายเน้นจุดเด่นด้านการถ่ายภาพและการสร้างคอนเทนต์ ขณะที่บางรายเสนอความเชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศ หรือ ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม
จากการสำรวจเบื้องต้น บนแพลตฟอร์มเหล่านี้ พบว่า มีประกาศรับงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบางโพสต์บน TikTok ที่มีการรีวิวประสบการณ์ ‘จ้างเพื่อนเที่ยว’ มียอดเข้าชมและแชร์หลักล้านครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจที่สูงขึ้น จากกลุ่มนักท่องเที่ยวเดี่ยวร รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่มองหาประสบการณ์ที่ยืดหยุ่น และเป็นส่วนตัวมากขึ้น
ส่วนราคาของบริการก็มีความยืดหยุ่นสูง ตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลา กิจกรรม และความสามารถพิเศษของผู้ให้บริการ รวมถึงประสบการณ์ และความนิยมของผู้ให้บริการแต่ละราย
ทั้งนี้ ลูกค้ามักจะพิจารณาจากรีวิว และผลงานที่ผู้ให้บริการเคยทำมา เช่น บางคนสามารถถ่ายรูปสวย ทำคอนเทนต์ได้ บางคนพูดภาษาอังกฤษได้ดี หรือรู้จักคาเฟ่ลับในเมือง
“เราคุยกันก่อนว่าอยากให้วันนั้นเป็นแบบไหน อยากไปที่ไหน อยากให้ถ่ายรูปสไตล์ไหน แล้วค่อยนัดเจอ” ผู้ใช้บริการจ้างเพื่อนเที่ยวบนแพลตฟอร์ม Fastwork เปิดเผยในโพสต์รีวิว บ่งบอกความน่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ งานนี้ไม่ใช่แค่การ ‘อยู่ด้วยกัน’ แต่คือการช่วยออกแบบประสบการณ์ทั้งทริปให้ตรงใจที่สุด
ผู้ใช้รายหนึ่งบน TikTok โพสต์รีวิวพร้อมข้อความว่า “ไม่ได้อยากมีแฟน แต่อยากมีคนไปเที่ยวด้วยสักวัน” ซึ่งคลิปดังกล่าวมียอดเข้าชมกว่า 1 ล้านครั้ง และถูกแชร์ต่อในกลุ่มนักท่องเที่ยวเดี่ยวจำนวนมาก ผู้ให้บริการบางรายมาพร้อมแพ็กเกจครบถ้วน เช่น วางแผนเที่ยว ถ่ายรูปให้ แนะนำร้านลับ และช่วยดูแลความปลอดภัยระหว่างเดินทาง ไม่ต่างจากเพื่อนที่รู้ใจ
[‘เพื่อนเที่ยวไม่ใช่ไกด์’ความต่างสำคัญอยู่ตรงประสบการณ์ที่ได้มา]
จนถึงตอนนี้ บริการจ้างเพื่อนเที่ยว ยังไม่ได้ถูกควบคุมด้วยกฎหมาย เหมือนมัคคุเทศก์ที่ต้องมีใบอนุญาตจากกรมการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ทำให้บริการนี้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง กลับอยู่ที่ความ ‘ยืดหยุ่น’ และ ‘เป็นมนุษย์’ ของประสบการณ์ ที่ไม่เป็นทางการจนเกินไป เหมือนกับการใช้บริการทัวร์
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้บริการต้องทำความเข้าใจคือ เพื่อนเที่ยวไม่ได้มีหน้าที่ให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ หรือเล่าเรื่องราวในเชิงวิชาการเหมือนไกด์มืออาชีพ แต่ทำหน้าที่เหมือน ‘เพื่อนที่รู้ใจ’ ที่พร้อมจะเดินไปข้างๆ ถ่ายรูปให้ พาแวะคาเฟ่ลับ ๆ หรือแนะนำจุดถ่ายภาพที่สวยที่สุดโดยไม่ต้องเสียเวลาหาข้อมูลเอง
ไกด์ทัวร์อาจเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความรู้ลึกเกี่ยวกับสถานที่ แต่เพื่อนเที่ยวเหมาะกับคนที่อยาก ‘รู้สึก’ มากกว่าแค่ ‘รู้’
[สนุกแค่ไหน ความปลอดภัยต้องมาก่อน]
สำหรับผู้ที่สนใจใช้บริการ ‘เพื่อนเที่ยว’ สิ่งสำคัญไม่แพ้ความประทับใจ คือการพิจารณาถึงความปลอดภัยส่วนบุคคลเป็นอันดับแรก เนื่องจากบริการนี้ยังไม่มีกฎหมายควบคุมโดยตรง การตรวจสอบประวัติ และโปรไฟล์ของผู้ให้บริการอย่างรอบคอบเป็นสิ่งจำเป็น ควรเน้นการสื่อสาร และตกลงรายละเอียดขอบเขตการให้บริการให้ชัดเจนตั้งแต่แรก เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน
นอกจากนี้ การเลือกนัดเจอหรือทำกิจกรรมในสถานที่สาธารณะ และแจ้งให้เพื่อนหรือคนรู้จักทราบถึงแผนการเดินทาง และข้อมูลของผู้ร่วมเดินทาง ก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่แนะนำเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับการท่องเที่ยวของคุณ
และสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องทำงานหนัก มีวันลาน้อย ชีวิตเต็มไปด้วยความเร่งรีบและสัมพันธ์ที่บางครั้งก็ดูซับซ้อน เทรนด์นี้กำลังพิสูจน์ว่า บางทีเราไม่ได้ต้องการอะไรมาก
“แค่ใครสักคนเดินข้างๆ ช่วยถ่ายรูปให้ หัวเราะไปด้วยกัน” และถ้าความสุขสามารถเข้าถึงง่ายขนาดนั้น ก็อาจไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะไม่คว้าไว้