“ทักษิณ” ชี้ไทยยังไม่ไปไหนติดหล่มปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจ
"ทักษิณ" อดีตนายกฯ วิจารณ์การเมืองไร้เสถียรภาพ-เศรษฐกิจซบเซาถอยหลังหลายเรื่อง เสนอตั้ง AMC ประชาชน , ปฏิรูประบบรัฐ , ดัน EV-พลังงานเขียว-ท่องเที่ยว ดึงเม็ดเงินใหม่เข้าประเทศ พร้อมผลักดัน Sandbox นวัตกรรม-คริปโตฯ สู่ตลาดจริง ย้ำไม่เปลี่ยนนายกลั่นได้ “แพทองธาร” เป็นนายก เหมือนแถม “ทักษิน” เป็นเสมียนประเทศ
วันที่ 17 ก.ค. 2568 ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาประธานอาเซียน ขึ้นเวทีงานสัมมนา “ปลดล็อกอนาคตประเทศไทยสู้วิกฤติโลก UNLOCKING THAILAND’S FUTURE” จัดโดย อสมท. เปิดเผยถึงสถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาว่า "วันนี้ประเทศไทยยังไม่ไปไหนหลายเรื่องยังถอยด้วยซ้ำ แต่หลายเรื่องก็ก้าวหน้ามากโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอกชน หรือศูนย์ราชการที่มีคนเก่งๆ"
และสิ่งสำคัญที่สุดคือ "ความเชื่อมั่นในหมู่คนไทยด้วยกันก่อน เพราะวันนี้คนไทยไม่เชื่อมั่นในตัวเองและไม่คิดที่จะรวมพลังกันมีความเป็นหนึ่งที่จะแก้ปัญหาด้วยกัน"
ดร.ทักษิณยังได้หยิบยกประเด็นที่เกิดขึ้นกับกัมพูชามาเป็นอุทาหรณ์ถึงการขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทยโดยกล่าวว่า "ผมแปลกใจผู้นำเขมรไร้ผู้นำเขมรไร้จริยธรรมจะตายแต่เรากลับไปเข้าข้าง ผมงงทำไมวันนี้คนไทยไม่รักกันทั้งๆที่วันนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นไม่มีผู้นำที่ไหนในโลกทำกัน"
ปัญหาหลักที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย
อดีตนายกฯ ชี้ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดประกอบด้วย:
1. ปัญหาการเมือง: ดร.ทักษิณมองว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด แต่การปฏิวัติที่เกิดขึ้นในภายหลังได้ทำให้ประเทศไทยถอยหลัง และการตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคในปัจจุบันสะท้อนถึงสภาพการเมืองที่ไร้เสถียรภาพคล้ายกับเมื่อ 51 ปีที่แล้ว ทำให้บ้านเมืองไม่ก้าวหน้า
"การเมืองเปลี่ยนแปลงได้แต่บ้านเมืองต้องคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป นั่นคือข้าราชการก็จะต้องทำงานต่อไปภาคเอกชนก็ทำงานต่อไป ใครเป็นรัฐบาลก็มีหน้าที่เสริมให้ภาคเอกชนแข็งแรง"
2. ภาษีทรัมป์: การเจรจาภาษีกับสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเด็นสำคัญ โดยไทยได้ยื่นข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อลดผลกระทบ แต่ "คำว่าดีลไม่มีจบ ถ้ายังไม่พอใจก็ดีลกันต่อ นี่เป็นลักษณะของการเจรจาธุรกิจที่จะต้องเจรจากันต่อเนื่อง หยุดไม่ได้
สินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่มากนักคือสินค้าที่นำเข้าจากจีนมาประกอบแล้วส่งออกเป็นสินค้าผลิตในประเทศ และสินค้าที่ส่งไปอเมริกาโดยใช้เทคโนโลยีและบริษัทอเมริกันมาตั้งในประเทศไทย
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือสินค้าเกษตร SME และอัญมณี ซึ่งรัฐบาลกำลังแก้ไขและให้แนวทางว่า หากจะนำเข้าสินค้าจากอเมริกามาแข่งขันกับสินค้าอื่นในประเทศ ก็เป็นเรื่องดีที่ยอมให้มีการแข่งขันกันเอง
นอกจากนี้ ดร.ทักษิณยังวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและทำให้ประเทศไทยชะงักงัน :
- GDP เติบโตต่ำกว่าศักยภาพ: จากการวิเคราะห์ทั่วโลก GDP ของประเทศไทยเติบโตน้อยเกินไปถึง 22-75% ทำให้ไทยหล่นจากอันดับ 20 ไป 24 ของโลกในด้านขนาด GDP สาเหตุหลักมาจากการบริหารที่ขาดทิศทางและกลยุทธ์ที่ชัดเจน
- นโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.): ดร.ทักษิณวิจารณ์ว่า ธปท. พยายามรักษาสถานะของธนาคารพาณิชย์มากเกินไป ทำให้ดึงฐานเงินออกจากระบบมากจนแบงก์พาณิชย์มีความเสี่ยงน้อย แต่ภาคธุรกิจกลับประสบปัญหาในการหาแหล่งทุน
- การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม: การขาดมาตรการป้องกันตัวเองจากสินค้าจีนที่เข้ามาในตลาด ประกอบกับปัญหาคอร์รัปชันตามชายแดน ทำให้ SME ไทยเสียเปรียบและล้มหายตายจาก เพราะไม่สามารถสู้ในเชิง Economy of Scale และเทคโนโลยีที่ล้าสมัยได้ โดยเฉพาะสินค้าที่เข้ามาโดยไม่ผ่าน มอก. หรือ อย.
แผนพลิกฟื้นและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ
อดีตนายกฯ ได้นำเสนอแนวทางและนโยบายที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างโอกาสใหม่ๆเช่น
จัดตั้ง AMC ภาคประชาชน: เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 92% ของ GDP ซึ่งเกิดจากเศรษฐกิจซบเซาและการพนัน ท่านเชื่อว่า "ถ้าเราซื้อหนี้ภาคประชาชนออกมาจัดตั้ง Asset Management Company (AMC) ภาคประชาชน เพื่อซื้อหนี้เสียจากประชาชนและจัดการอย่างจริงจัง หากไม่ทำ คนไทยจะหายใจไม่ออก กำลังซื้อไม่กลับมา และไม่สามารถดิ้นรนหารายได้ใหม่ๆ ได้
ลดค่าใช้จ่ายประชาชน:
ค่าไฟฟ้า: ชี้ว่าการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจีน 100% จะทำให้ประเทศ "เจ๊งก่อน" จึงต้องเร่งสร้าง อุตสาหกรรม EV ที่มี Economy of Scale แข็งแรงในประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าให้ประชาชน
- ค่าเดินทาง: เสนอโครงการ"20 บาทตลอดสาย" สำหรับรถไฟฟ้า และปรับเปลี่ยนรถเมล์เป็นฟีดเดอร์ เพื่อกระตุ้นการใช้ขนส่งสาธารณะและลดความแออัดบนท้องถนน คาดว่าจะผลักดันให้สำเร็จได้ภายใน 2-3 เดือนนี้
ปฏิรูประบบราชการ: ประสิทธิภาพภาครัฐเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากการบริการที่แย่ลง ต้องแก้ไขโดยการปรับโครงสร้างทุกกระทรวง ลดค่าใช้จ่ายประจำ และกำจัดการรับเงินใต้โต๊ะ
ทบทวนโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค: แม้รัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณสูงขึ้นทุกปี แต่ควรเริ่มต้นด้วย Zero Base Budgeting เพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมต่อหัวไม่เช่นนั้นในอนาคตสวัสดิการของประเทศจะรับไม่ไหว
ลดงบประมาณทหาร: งบประมาณทหารควรลดและปรับ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของ Cyber Warfare และการปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ให้ล้าสมัยและสิ้นเปลือง
สร้างรายได้ใหม่ ดึงดูดการลงทุน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ดร.ทักษิณยังได้เสนอแนวคิดในการสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้กับประเทศและประชาชน:
- สร้างนิเวศน์การทำมาหากินใหม่ๆ: เช่น การให้ประชาชนหรือเอกชนขุดลอกคลองและนำดินไปใช้ประโยชน์ แม้กฎหมายยังไม่เอื้อแต่ได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของ โครงการถมทะเล ซึ่งจะทำให้ได้ที่ดินเพิ่มขึ้นหลายแสนไร่ พร้อมการอ้างอิงสิทธิ์ 90 ปี เพื่อดึงดูดการลงทุน
"วันนี้เราต้องการเงินใหม่ ๆ โดยเฉพาะเงินภาคเอกชนและเงินต่างประเทศเข้ามาช่วยลงทุนให้ประเทศไทย เพราะวันนี้รัฐบาลกู้เองไม่ไหวเพราะเต็มยันเพดานแล้ว"
- ส่งเสริม Eco System รถยนต์และศูนย์กลาง EV: ย้ำความจำเป็นในการตั้ง ภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นำเข้าที่ไม่มี Local Content เพื่อรักษาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ และผลักดันให้ไทยเป็น ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยดึงต่างประเทศมาร่วมลงทุนได้ เนื่องจากเทคโนโลยี EV ไม่ได้ซับซ้อนมาก
- ศูนย์กลางไฟฟ้าสีเขียว (Solar Farm): ชี้ว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ขายไฟฟ้าสีเขียว โดยใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ประมาณ 1.4 ล้านไร่ ผลิตไฟฟ้า 40,000 เมกะวัตต์จากโซลาร์เซลล์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซล 60 ล้านลิตรต่อวัน เบนซิน 25 ล้านลิตรต่อวัน และดึงดูด Data Center ทั่วโลกให้มาลงทุนในประเทศไทย
- ศูนย์กลางการบินอาเซียน: เสนอให้เพิ่มค่า Passenger Service Charge (PSC) เพียง 100-300 บาท ซึ่งจะทำให้ AOTมีกำไรเพิ่มขึ้น 1.4-4หมื่นล้านบาทต่อปีเพื่อนำเงินมาลงทุนขยายสนามบินให้เป็นฮับ ทั้งผู้โดยสาร ศูนย์ซ่อม และคาร์โก้ และระบบน้ำมัน ซึ่งต้องไม่ผูกขาด
- ฟื้นฟูการท่องเที่ยว: แม้นักท่องเที่ยวจีนลดลงจากปัญหาภาพลักษณ์ จึงต้องพัฒนาเมืองท่องเที่ยวให้เป็น Smart City ติดตั้งกล้องวงจรปิด AI ทั่วเมือง เพื่อสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งรัฐบาลควรสร้าง Event ใหม่ๆ ระดับโลก เช่น Formula 1, Tomorrowland, แฟชั่นวีค และคอนเสิร์ตต่างๆ
- Entertainment Complex: สนับสนุนให้มี Entertainment Complex ที่มีคาสิโน เป็นส่วนหนึ่ง เพื่อดึงดูดการลงทุนและเป็นศูนย์รวมการท่องเที่ยวที่ครบวงจร
- Innovation Sandbox: ต้องการพื้นที่ Sandbox สำหรับทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น Gene Therapy, ทรีทเม้นท์ และ Longevity โดยมีกฎระเบียบในการควบคุม
- E-money Sandbox ทั่วประเทศ: ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า จะมีการทำ Sandbox ทั่วประเทศ โดยแบงค์ชาติให้ความร่วมมือในการใช้ e-money ทำให้ผู้ถือคริปโตเคอร์เรนซีสำคัญของโลกอย่าง Bitcoin และ Ethereum สามารถใช้จับจ่ายในไทยได้ ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการใช้จ่าย เนื่องจากผู้ถือ Bitcoin ส่วนใหญ่เป็นคนรวยและมีต้นทุนต่ำ
- Golden Visa: สนับสนุนการออก Golden Visa หรือวีซ่าระยะยาว 10 ปี ให้ชาวต่างชาติที่มีเงินฝากหรือเข้ามาลงทุนในประเทศ และเสียภาษีให้ไทย เพื่อดึงดูด "New Money Fresh Money"ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับประเทศไทย แต่เม็ดเงินใหม่เหล่านี้ลงไปถึงระดับล่างและกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เสียภาษีในประเทศไทยเพียง 4 ล้านกว่าคนจากประชากร 70 กว่าล้านคน
ร้องคนไทยปล่อยวางความเกลียดชัง ย้ำไม่มีเปลี่ยนนายก
ดร.ทักษิณย้ำว่าประเทศไทยในวันนี้ "ไม่มีเจ้าภาพ" จึงต้อง สร้างระบบเจ้าภาพ และ Digitalize ระบบราชการ รวมถึงนำระบบ "ผู้ว่า CEO" กลับมาในการปฏิบัตินโยบาย เพื่อให้มียุทธศาสตร์ เป้าหมาย และการปรับปรุงประสิทธิภาพตลอดเวลา
สุดท้าย อดีตนายกฯ ได้เรียกร้องถึง "ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทยต้องมี ปล่อยวางความเกลียดชังและหันหน้าเข้าหากันเพราะประเทศเราพัฒนาช้ามา 20 ปีแล้ว" พร้อมระบุว่ารัฐบาลปัจจุบันมีความชอบธรรมที่จะออก พ.ร.ก. เพื่อแก้ปัญหาสำคัญเร่งด่วนได้อย่างรวดเร็ว
"รัฐบาลจะไม่มีการเปลี่ยนนายกเพราะเราต้องทำงานต่อเนื่อง วันนี้แพรทองธารเป็นนายกแถมผมเป็นเสมียนประเทศ รวบรวมปัญหาและแนวทางส่งให้นายกและรัฐมนตรี เราไม่ควรทะเลาะกันในเรื่องไร้สาระควรหันหน้าเข้าหากันทำให้บ้านเมืองเรารุ่งเรือง" พร้อมเสนอให้มีการ Empower คนไทยทั้งประเทศด้วย AI โดยรัฐบาลจะจัด Virtual Training AI และให้เข้าถึงบริการ Chat GPT, DeepSeek ฟรี เพื่อให้คนไทยเป็น "เจ้านาย AI" ไม่ใช่ลูกน้อง