DBS ชูกลยุทธ์ "The Global Pivot" ฝ่าความผันผวนช่วงครึ่งปีหลัง แนะเพิ่มหนักลงทุน ทอง-หุ้นเอเชีย-ยุโรป ชี้เป้า 3 ธุรกิจมาแรงในยุคเศรษฐกิจเปลี่ยน
DBS เปิดมุมมองเศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนครึ่งปีหลัง 2568 (DBS 2H25 CIO Market Outlook) ภายใต้ธีม “The Global Pivot” (จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก) โดยแนะนำปรับลดน้ำหนักพันธบัตรรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว (DM) เหลือระดับ “Neutral” ขณะที่เพิ่มน้ำหนักทองคำและสินทรัพย์ทางเลือกเพื่อรับมือความผันผวน และหุ้นยุโรปและเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) รับแรงหนุนนโยบายภาครัฐฯ
นายเวย์ ฟุก โหว (Mr. Wey Fook Hou) Chief Investment Office, DBS Bank เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ นำโดยนโยบายภาษีของสหรัฐฯ โดยในช่วง 100 วันแรกของรัฐบาล Trump มีการผลักดันนโยบายที่ผันผวน ทั้งการลดงบกระทรวงพลังงานและการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั่วโลก ซึ่งแม้จะช่วยวางหมากเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ให้สหรัฐฯ แต่ก็เพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและสินทรัพย์การเงินเช่นกัน
โดยประเมินว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณสหรัฐฯ ปีนี้อาจพุ่งแตะ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่หนี้สาธารณะอาจแตะระดับ 118% ของ GDP ภายในปี 2578 ซึ่งนี่ทำให้ Moody’s ปรับลดเครดิตพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลงสู่ระดับ Aa1 ในช่วงที่ผ่านมา
จากสถานการณ์ เหล่านี้ DBS จึงนำเสนอกลยุทธ์การลงทุนครึ่งปีหลัง 2568 ภายใต้ธีม “The Global Pivot” เพื่อลดความเสี่ยงพร้อมสร้างโอกาสรับผลตอบแทนในช่วงจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจโลก โดยกลยุทธ์ลงทุนหลักของ DBS สำหรับแต่ละสินทรัพย์การลงทุนมีดังนี้
1. ตราสารหนี้
ลดน้ำหนักพันธบัตรรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว (DM) เหลือระดับ “Neutral”
แนะนำใช้กลยุทธ์ “Duration Barbell” คือเน้นลงทุนพันธบัตรคุณภาพดีอายุ 2-3 ปี และ 7-10 ปี
ยังมองบวกต่อพันธบัตรป้องกันเงินเฟ้อสหรัฐฯ (TIPS), ตราสารทุนกึ่งหนี้ และตราสารหนี้คุณดีระยะสั้น2. ทองคำและสินทรัพย์ทางเลือก
ให้น้ำหนัก “Overweight” ทองคำ โดยให้ราคาเป้าหมายในไตรมาส 4/68 ที่ 3,765 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยแนะนำถือในสัดส่วน 5% - 10% ของพอร์ต
แนะนำลงทุนใน Private Equity (Middle Market) และกองทุน Hedge Funds, ตราสารหนี้นอกตลาด และโครงสร้างพื้นฐานภาคเอกชน
ยังมองว่าทองคำน่าสนใจไม่ว่าผลของ “Trump 2.0” จะออกมาอย่างไร3. หุ้น
ยังคงมุมมองบวกต่อหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ แม้จะปรับลดน้ำหนักหุ้นสหรัฐฯ โดยรวม เนื่องจากอุตสาหกรรม AI ยังมีแนวโน้มเติบโตระยะยาว
เพิ่มน้ำหนักหุ้นยุโรปและเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) เพราะมีมูลค่าถูก และได้แรงหนุนจากนโยบายการคลังโดยมองว่ากลยุทธ์เหล่านี้ มีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับสูง (high single-digit growth) ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
สำหรับไตรมาส 3/68 มองว่า แม้ความไม่แน่นอนเหล่านี้มีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ไม่ได้มองว่าตลาดจะเข้าสู่ช่วงขาลงติดต่อกันยาวนาน เนื่องจากยังมีเม็ดเงินในตลาดเงินจำนวนมหาศาล (ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ ที่มีเม็ดเงินสูงสุดเป็นประวัติการที่ราว 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งอาจกลับมาหลังตลาดมีการปรับฐาน นอกจากนี้ ยังเชื่อว่ามาตรการภาษีทั่วโลกจะมีความชัดเจนและคลี่คลายมากขึ้น หลังสหรัฐฯ เจอแรงกดดันด้านเศรษฐกิจและการคลัง
ทั้งนี้ ความเสี่ยงทางการคลังมีโอกาสกดดันพันธบัตรสหรัฐฯและค่าเงินดอลลาร์ ในขณะที่สนับสนุนราคาทองคำต่อไป และอีกสิ่งที่ตลาดจะเห็นคือความแตกต่างของผลตอบแทนระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมและภูมิภาคที่ชัดเจนมากขึ้น โดยกลุ่มเทคโนโลยีและบริการมีแนวโน้มเติบโตดีกว่ากลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) คาดว่ากำไรปี 2568 จะโตถึง 12.4% สูงกว่าตลาดพัฒนาแล้วซึ่งจะโตเพียง 6.6%
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่การ “พึ่งพาตนเอง” และ “การปรับฐานการผลิตกลับสู่ภูมิลำเนา (reshoring)” จะเปิดโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ (1) หุ่นยนต์มนุษย์ (Humanoids) (2) ระบบอัตโนมัติภาคอุตสาหกรรม (Industrial Automation) และ (3) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและอวกาศ (Defence & Aerospace)
โดย DBS ชี้ว่า แม้ตลาดอาจได้รับแรงหนุนจากการคลี่คลายความตึงเครียดทางการค้าในระยะสั้น นักก็ลงทุนไม่ควรประมาทต่อความผันผวนด้านนโยบายสหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2026 ที่อาจเปลี่ยนสมดุลการเมืองโลกอีกครั้ง