ถอดปลั๊กช่วยประหยัดไฟจริงไหม? กูรูเผย "ถ้าถอดผิด อาจเสียค่าไฟมากกว่าเดิม"
ถอดปลั๊กช่วยประหยัดไฟจริงไหม? ผู้เชี่ยวชาญเผย "ถ้าถอดผิด อาจเสียค่าไฟมากกว่าเดิม" พร้อมแนะ 3 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ควรเริ่มถอดปลั๊กก่อน
หลายคนเลือกถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ได้ใช้งานเพื่อลดค่าไฟ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ไม่ใช่ทุกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ควรถอดปลั๊กบ่อย ๆ เพราะหากทำผิดวิธี อาจทำให้อุปกรณ์เสียหายและต้องเสียเงินซ่อมแพงกว่าเดิม หากอยากประหยัดไฟด้วยวิธีนี้จริง ๆ ควรเริ่มจาก ทีวี คอมพิวเตอร์ และเครื่องปรับอากาศ
สื่อญี่ปุ่น FINANCIAL FIELD รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดแม้จะไม่ได้เปิดใช้งาน แต่ถ้าเสียบปลั๊กไว้ก็ยังมีการกินไฟในโหมดสแตนด์บาย หากถอดปลั๊กออกก็จะช่วยตัดไฟส่วนนี้ ลดค่าไฟได้ในระดับหนึ่ง
ตามสถิติของสำนักงานพลังงานและทรัพยากรญี่ปุ่น พบว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟในโหมดสแตนด์บายมากที่สุด ได้แก่ เครื่องทำน้ำอุ่นแก๊ส (19%) ทีวี (10%) เครื่องปรับอากาศ (8%) และโทรศัพท์บ้าน (8%)
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำข้อควรระวังในการถอดปลั๊ก และแนะนำให้เริ่มจาก ทีวี เพราะเป็นหนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟสแตนด์บายสูง หากไม่ได้ดูทีวีหรือออกนอกบ้าน ควรปิดสวิตช์หลักและถอดปลั๊กออก ช่วยลดค่าไฟได้อีกทาง
นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ ก็เป็นอีกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟในโหมดสแตนด์บาย หากอยากประหยัดไฟ ควรปิดเครื่องและถอดปลั๊ก แต่ถ้าไม่สะดวกถอดปลั๊กทุกครั้ง แนะนำให้เปิดโหมดสลีปเพื่อลดการใช้พลังงาน
ส่วน เครื่องปรับอากาศ หากเป็นช่วงฤดูหนาวที่ไม่ได้ใช้งาน ควรถอดปลั๊กออกได้เลย แต่หากจะกลับมาใช้อีกครั้งในหน้าร้อน ควรเสียบปลั๊กทิ้งไว้ล่วงหน้า 4-8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาเครื่องขัดข้อง
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วยประหยัดพลังงานได้จริง แต่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ควรถอดปลั๊ก เช่น ตู้เย็น และ เครื่องกระจายสัญญาณ Wi-Fi
หากถอดปลั๊ก Wi-Fi จะทำให้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้ แต่ถ้าต้องเดินทางไกล ไม่อยู่บ้านนาน ๆ ก็สามารถถอดปลั๊กชั่วคราวได้ ส่วนตู้เย็นนั้นควรเสียบปลั๊กไว้ตลอดเวลา เพื่อรักษาคุณภาพอาหารให้สดอยู่เสมอ
สำหรับ ไมโครเวฟ เมื่อปิดเครื่องแล้วจะไม่กินไฟในโหมดสแตนด์บาย จึงไม่จำเป็นต้องถอดปลั๊กเพื่อประหยัดไฟ