คนไทยใจบุญ ดันตลาดการกุศลไทยโต
คนไทยใจบุญ คำนี้อาจไม่ใช่แค่ข้อคิดเห็น
แต่เป็นข้อเท็จจริง
ปัจจุบันมูลค่าตลาดการกุศลไทย เติบโตเฉลี่ยปีละ 2% โดยในปี 2568 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดการกุศล ซึ่งประกอบไปด้วยรายรับขององค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร องค์การบริการสังคมสงเคราะห์ องค์การทางศาสนา และองค์การฌาปนกิจสงเคราะห์ ฯลฯ รวม ๆ กันอาจมีมูลค่าตลาดถึง 150,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เติบโตขึ้นถึง 21,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2560
มูลค่าตลาดการกุศลไทย
ปี พ.ศ.2560 ตลาดการกุศลของไทยมีมูลค่า 129,000 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2568 ตลาดการกุศลของไทยอาจมีมูลค่า 150,000 ล้านบาท
จะเห็นว่าคนไทยใจบุญจริง ๆ นี่ขนาดยังไม่มีการรวมตัวเลขเงินที่บริจาคเข้าวัดนะ ไว้บทความหน้า RJ จะหาข้อมูลการบริจาคเงินเข้าวัดของคนไทยมาเล่าให้ฟัง
กลับมาที่มูลค่าตลาดการกุศล ทำไมคนไทยถึงใจบุญ บริจาคจนมูลค่าของตลาดเติบโต เรื่องนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่ามาจาก 4 สาเหตุหลัก ๆ ดังนี้
ทำไมคนไทยใจบุญ
1 เพราะคนไทยทำบุญตามความเชื่อทางศาสนาที่ตนถูกปลูกฝังมา
มีการรายงานว่า 1% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยต่อเดือนถูกใช้ในกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งถ้าเราคำนวณจากที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเปิดเผยข้อมูลค่าใชจ่ายครัวเรือนไทยช่วงเดือนเมษายน 2568 คนไทยมีค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนอยู่ที่เฉลี่ย 20,982 บาท
หมายความว่าต่อเดือนครัวเรือนไทยจะทำบุญ (ให้องค์กรใดก็ตาม) ที่ราว 200 บาทต่อเดือน (เลขกลม ๆ) แม้ปี 2568 จะยังไม่มีตัวเลขอัปเดทว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกี่ครัวเรือน แต่ในปี 2565 สำนักงานสถิติแห่งชาติให้ข้อมูลไว้ว่าตอนนั้นไทยมีครัวเรือนราว ๆ 28 ล้านครัวเรือน เท่ากับว่าแม้ 200 บาทจะไม่ใช่ตัวเลขที่ดูเยอะ แต่ถ้าคำนวณทั้งประเทศ ก็จะมีเงินไหลเข้าองค์กรการกุศลทั่วประเทศมหาศาล
2 แค่เพียงการบริจาคของครัวเรือนไม่พอ ใจกุศลยังมาจากบริษัทต่าง ๆ ที่ทำ CSR ด้วย
เป็นเวลานานมาแล้วที่องค์กรต้องทำ CSR ต้องแสดงออกและลงมือทำซึ่งการรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งแนวปฏิบัติที่องค์กรต้องทำมีหลากหลายมาก ซึ่งทำให้เงินจำนวนหนึ่งไหลไปที่ องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร องค์การบริการสังคมสงเคราะห์ และองค์การทางศาสนา
3 บริจาคในเหตุการณ์ฉุกเฉิน
คนไทยทุกคนล้วนรู้กันดีว่าไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เหตุด่วนอะไร คนไทยพร้อมบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนไทยด้วยกันเองเสมอ ซึ่งในกรณีนี้ก็มีการถกเถียงในสังคมเหมือนกันว่าการบริจาคเพื่อช่วยเหลืออะไรเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น น้ำท่วมทีก็บริจาคที
4 การนำไปลดหย่อนภาษี หนึ่งในเครื่องมือสำคัญขององค์กรและคนไทยรายได้เยอะ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ปัจจุบันคนไทยบริจาคเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีรวมกว่า 5.5 หมื่นล้านบาทต่อปี พฤติกรรมนี้มีส่วนทำให้มูลค่าตลาดการกุศลไทยเติบโตขึ้นไม่มากก็น้อย
ประเทศไทยเต็มไปด้วยปัจจัยเร่งที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการบริจาค ยิ่งเทรนด์การ ‘มูเตลู’ ที่คนรุ่นใหม่หันไปปันใจให้ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่พร้อมจะใช้เงินเพื่อการกุศลมากขึ้น คาดว่าต่อจากนี้มูลค่าตลาดกุศลคงมีแต่จะโตเอา ๆ เพราะยังไม่เห็นสัญญาณความศรัทธาที่เสื่อมคลายใด ๆ จากชาวพุธแม้แต่น้อย แม้จะมีข่าวจากวงการพระออกมาอยู่บ่อยครั้งก็ตาม
ความศรัทธาช่างแข่งแกร่ง ความใจบุญคนไทยก็เช่นกัน