Tesla สู่จุด ‘ตะวันตกดิน’ ในจีน? ชาวจีนมองรถเชย ไม่ล้ำสมัยเท่าค่ายจีน
ในช่วงหนึ่ง รถยนต์ไฟฟ้า “Tesla” ของอีลอน มัสก์ เคยเป็นที่ชื่นชมอย่างมากในจีน รัฐบาลจีนได้ให้สิ่งจูงใจมากมายแก่ Tesla ตั้งแต่ที่ดินราคาถูก เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และลดหย่อนภาษีต่างๆ เพื่อดึงดูด Tesla ให้มาตั้งโรงงานผลิตรถแห่งแรกนอกสหรัฐในนครเซี่ยงไฮ้
รัฐบาลจีนเปรียบการที่ Tesla เข้ามาในตลาดจีนว่า เหมือนกับการปล่อย “ปลาดุกดุดัน” ลงไปในบ่อที่มี “ปลาเฉื่อยชา” เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถในจีนตื่นตัวขึ้น และพัฒนาตนเอง
อย่างไรก็ตาม แม้มัสก์มายังจีน เพื่อแสวงหาประโยชน์จากต้นทุนผลิตที่ต่ำ และตลาดขนาดใหญ่ แต่เขากลับไม่ได้เตรียมพร้อมกับการตอบสนองของจีน โดยเวลาต่อมา บริษัทจีนจำนวนมากได้นำเทคโนโลยีของ Tesla ไปต่อยอด เช่น เทคนิคการผลิตแบบ “Gigacasting” ซึ่งใช้การหล่อขึ้นรูปอะลูมิเนียมด้วยแรงดันสูง เพื่อสร้างโครงรถ และพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด จนทำให้เทสลาถูกแซงหน้าในด้านนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว
บิล รัสโซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ Automobility กล่าวว่า มัสก์ไม่ได้คาดคิดว่า บริษัทจีนจะทำได้เช่นกัน และอาจทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ เขาสร้างความผิดพลาดแบบเดียวกับที่ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติทุกรายทำ นั่นคือ “ประเมินความสามารถจีนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่ำเกินไป”
จากบุกตลาดจีน กลายเป็นถูกกลืนแทน
หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า แม้ Tesla เคยเป็นรถยนต์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน แต่ในตอนนี้ ส่วนแบ่งตลาดของ Tesla ในกลุ่มรถอีวีเต็มรูปแบบและรถไฮบริดปลั๊กอินได้ลดลงอย่างมาก จาก 11% ในต้นปี 2021 เหลือเพียง 4% ในเดือนพฤษภาคม ตามข้อมูลจากสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแห่งประเทศจีน (China Passenger Car Association)
ในทางกลับกัน BYD คู่แข่งสำคัญ มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 29% และ Xiaomi ซึ่งเพิ่งเริ่มขายรถ EV เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว มีส่วนแบ่งที่ประมาณ 3% อีกทั้งหุ้น Xiaomi ก็ทำราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์ด้วย
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ นอกจากเรื่องราคาที่ค่ายรถจีนให้ต่ำกว่าแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนไม่น้อยกลับรู้สึกว่า Tesla “ล้าสมัยและไม่เข้ากับรสนิยมท้องถิ่น” เนื่องจากขาดคุณสมบัติที่รถอีวีของจีนมี อย่างหน้าจอขนาดใหญ่ในรถสำหรับดูโทรทัศน์และกดเล่นเกม ตู้เย็นขนาดเล็กในรถ ซึ่งแช่เครื่องดื่ม ของทานเล่นได้ และกล้องในรถสำหรับเซลฟี่
สิ่งที่ตอกย้ำว่า นวัตกรรมจีนกำลังท้าทาย Tesla คือ ค่ายรถจีน BYD และยักษ์แบตเตอรี่อย่าง Contemporary Amperex Technology (CATL) เพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า บริษัทมีเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถชาร์จรถยนต์อีวีได้ในเวลาเพียง “5 นาที” ขณะที่ Tesla ใช้เวลานานกว่า โดยอยู่ที่ 15 นาที
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า เส้นทางข้างหน้าสำหรับ Tesla ในจีนจะยังคงไม่ราบรื่น บริษัทอเมริกันมีประวัติยาวนานใน “การเติบโตชั่วคราว” ในจีน ก่อนที่จะประสบปัญหา เมื่อคู่แข่งในท้องถิ่นขยายตัว และเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทในประเทศมากกว่า
ยกตัวอย่าง ในช่วงต้นยุค 2000 “Motorola” ถูกผู้ผลิตมือถือจีนโค่นแชมป์ไปได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะรัฐบาลจีนออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทในประเทศ โดยเฉพาะการบีบให้ Motorola ต้องแบ่งปันเทคโนโลยีและหันไปใช้มาตรฐานแบตเตอรี่ที่ Huawei Technologies พัฒนาขึ้นมาแทน
ไม่เพียงเท่านั้น Apple จากเคยเป็น “เบอร์หนึ่ง” ในตลาดสมาร์ทโฟนจีนปี 2023 แต่ตอนนี้หล่นมาอยู่ “อันดับสาม” แล้ว โดยแพ้ให้กับ Huawei และแบรนด์จีนอีกราย ซึ่งสองแบรนด์นี้มีฟีเจอร์ฮิตในราคาที่ถูกกว่า อีกทั้งการที่ Apple ยอดขายตก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลจีนสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ใช้ iPhone รวมถึงนโยบายที่สนับสนุนผู้ผลิตมือถือในจีน
ไมเคิล ดันน์ อดีตผู้บริหาร General Motors ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านยานยนต์มองว่า “ธุรกิจของมัสก์ในจีน น่าจะใกล้ถึงช่วงตะวันตกดิน มากกว่าตะวันขึ้น”
กำแพงกฎหมายรถไร้คนขับในจีน
ในขณะ Tesla กำลังถูกรุกหนักจากเหล่าค่ายรถจีน มัสก์ก็งัดจุดขายใหม่ขึ้น คือ “ระบบขับขี่รถอัตโนมัติเต็มรูปแบบ” หรือ FSD (Full Self-Driving) สู่ตลาดจีน
แต่การแก้เกมกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่งยังไม่อนุมัติซอฟต์แวร์ FSD นี้อย่างสมบูรณ์ กฎหมายจีนได้จำกัด “ไม่ให้ Tesla ส่งข้อมูลสภาพแวดล้อมการขับขี่ในจีน” ออกนอกประเทศ ด้วยเหตุผลทางความมั่นคง นี่ก่อปัญหาให้ Tesla เนื่องจากระบบ FSD ของบริษัทได้รับการฝึกฝนในสหรัฐ
Tesla จึงงัด “แผนสอง” คือ ขยายการฝึกอบรมระบบ FSD ภายในจีน แต่การฝึกดังกล่าวจำเป็นต้องเข้าถึงชิปที่ล้ำสมัยที่สุด ซึ่งปธน.ทรัมป์ก็ปิดกั้น ไม่ให้ชิปเหล่านี้ถูกส่งไปที่จีน แม้ผ่านการเจรจาไปมาร่วม 9 เดือน การหารือก็ถึงทางตัน มัสก์ไม่ได้ชิปในการสร้างฐานฝึก FSD ในจีน ขณะเดียวกัน ก็ส่งข้อมูลจากจีนไปฝึก FSD ในสหรัฐไม่ได้
ในขณะที่ Tesla ยังคงติดหล่มอยู่ คู่แข่งในท้องถิ่นกลับได้เปิดตัวเทคโนโลยีช่วยเหลือการขับขี่ที่ซับซ้อน โดยมักจะมีราคาที่ถูกกว่าด้วย ผู้ใช้งานรายงานว่า แพ็กเกจเรือธง XNGP (XPENG Navigation Guided Pilot) ของ XPeng มีฟังก์ชันการทำงานคล้ายกับของ Tesla
ส่วน BYD ก็มีระบบที่ชื่อว่า “Eyes of God” ซึ่งตั้งชื่อตามเทพเจ้าในตำนานจีนที่มีสามตา โดยบริษัทกล่าวว่า ระบบนี้สามารถขับเคลื่อนบนถนนในเมืองได้ โดยมีการแทรกแซงจากมนุษย์น้อยที่สุด
นอกจากนี้ บริษัทจีนกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วกับบริการรถแท็กซี่ไร้คนขับ (Robotaxi) ที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งรวมถึงรถ Robotaxi นับพันคันที่ดำเนินการโดย Baidu และ Pony AI
ในขณะที่ Tesla เพิ่งเปิดตัว Robotaxi ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีรถแท็กซี่ไร้คนขับวิ่งบนท้องถนนในจีนเลย
ยังไม่นับรวมความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีขับขี่ที่ระเบียบจีนค่อนข้าง “เข้มงวด” เรื่องนี้ แม้ Tesla พยายามปล่อยฟีเจอร์ FSD บางอย่างผ่านการอัปเดตแบบไร้สาย และเสนอโปรแกรมทดลองใช้ฟรี ก็ถูกหน่วยงานกำกับของจีนเบรกทันที พร้อมคำเตือนที่ชัดเจนว่า ไม่ควรใช้ผู้ขับขี่เป็น “หนูทดลอง”
จีน-สหรัฐทะเลาะกัน สะเทือนถึง Tesla
แม้ว่า Tesla เป็นบริษัทอเมริกัน แต่แหล่งรายได้ใหญ่อันดับ 2 ไปจนถึงฐานการผลิตสำคัญของบริษัท กลับยึดโยงตลาดจีนค่อนข้างสูง เช่นเดียวกับ Apple จึงเลี่ยงผลกระทบได้ยาก เมื่อสงครามเศรษฐกิจจีน-สหรัฐทวีความรุนแรงขึ้น
ความขัดแย้งลุกลามถึง Tesla รัฐบาลจีนได้ระงับการส่งออก “แร่หายาก” เพื่อตอบโต้สหรัฐ ขณะเดียวกันแร่เหล่านี้ก็จำเป็นต่อหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ของ Tesla ด้วย อีกทั้งจากความกังวลข้อมูลชาติรั่วไหล จีนจึงได้จำกัดการใช้รถยนต์ Tesla โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคลากรทางการทหาร จนส่งผลกระทบต่อความนิยม Tesla
เฉียน หยาง วัย 34 ปี เล่าว่า เขาเคยมีรถ Tesla Model 3 ซึ่งเขาชอบขับในวันหยุดสุดสัปดาห์ จนกระทั่งปีที่แล้ว บริษัทที่เขาทำงานอยู่ ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐได้บอกเขาว่า ไม่ให้จอดรถในบริเวณบริษัท เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย
นายเฉียนจึงขายรถ Tesla ของเขาทิ้ง และจ่ายเงิน 34,000 ดอลลาร์เพื่อซื้อรถเก๋งไฟฟ้า SU7 จาก Xiaomi ตอนนี้เขาเป็นแฟนตัวยงของรถ Xiaomi คันใหม่ ซึ่งมี “Xiao Ai” ผู้ช่วยเสียงที่สามารถทำงานต่างๆ ได้ เช่น การเปิดประตูรถ และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Xiaomi อื่นๆ
เฉียนกล่าวว่า “คุณรู้ใช่ไหม ความรู้สึกตอนเลิกงาน แล้วคุณสามารถบอก Xiao Ai ในรถให้เปิดแอร์ในห้องของคุณจากระยะไกลได้เลย ถือเป็นความสุขที่แท้จริง” เขาเสริมว่า “Tesla ก็เหมือน iPhone ตอนนี้แหละ เริ่มหมดแรงบันดาลใจและล้าสมัยแล้ว แถมไม่มีฟีเจอร์ที่ปฏิวัติวงการอีกต่อไป”
ยิ่งไปกว่านั้น กระแสทรัมป์จึงชู Made in USA และกีดกันจีน ก็ช่วยโหมกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชนจีนให้ทะยานขึ้น และหันมาเลือกสนับสนุนค่ายรถในประเทศ ดีกว่าซื้อรถนอกอย่าง Tesla
นอกจากนี้ “ความสำคัญของอีลอน มัสก์” ต่อรัฐบาลปักกิ่งก็ลดลง จากความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงระหว่างมัสก์และปธน.ทรัมป์ โดยปักกิ่งอาจไม่ได้มองว่า ซีอีโอของ Tesla เป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของทรัมป์อีกต่อไป และหลีกเลี่ยงการแสดงท่าทีเชื้อเชิญเขาอย่างเปิดเผย
จีนไล่กวด Tesla เรื่องหุ่นยนต์และแบตเตอรี่ด้วย
เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Tesla เริ่มส่งออกแบตเตอรี่“Megapack” ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่สำหรับโครงข่ายไฟฟ้า แต่ขณะเดียวกัน นี่เป็นธุรกิจที่รัฐบาลจีนก็ต้องการผลักดันให้เติบโตด้วย และมีบริษัทจีนหลายแห่ง รวมถึง CATL กำลังเข้ามาแข่งขันอย่างจริงจัง
นั่นหมายความว่า Tesla อาจเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดจากคู่แข่งในท้องถิ่น และอาจเจอกับอุปสรรคอื่นๆ เช่น กฎระเบียบข้อบังคับ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่เคยเจอมาแล้วในธุรกิจอื่น ๆ
สำหรับ “หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์” (Humanoid Robots) มัสก์เชื่อว่า ในอนาคตอาจสร้างรายได้สูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ แผนการปัจจุบันของ Tesla คือ การผลิตหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ Optimus หลายพันตัวในสหรัฐ
- หุ่นยนต์ Optimus (ภาพ: Tesla) -
แต่เป้าหมายนี้ต้องอาศัย“ซัพพลายเออร์จากจีน” เป็นอย่างมากสำหรับส่วนประกอบต่างๆ รวมถึงสกรูลูกกลิ้งดาวเคราะห์สำหรับข้อต่อหุ่นยนต์ และมอเตอร์สำหรับมือหุ่นยนต์
ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบัน จีนมีบริษัทสตาร์ทอัพด้านหุ่นยนต์เป็นของตัวเองหลายแห่ง เช่น Unitree และ Agibot ซึ่งกำลังเตรียมพร้อมที่จะแข่งขันกับบริษัทอเมริกัน การที่ซัพพลายเออร์จีนได้ทำงานร่วมกับ Tesla อาจยิ่งเร่งกระบวนการพัฒนาหุ่นยนต์ของจีนให้ยิ่งเร็วขึ้นด้วย
- หุ่นยนต์ Unitree ของจีน -
“ผมค่อนข้างกังวลใจว่า ในตารางผู้นำหุ่นยนต์ อันดับที่ 2 ถึง 10 จะเป็นของบริษัทจีน” มัสก์กล่าว
อ้างอิง: cnbc, wsj, กรุงเทพธุรกิจ, กรุงเทพธุรกิจ2