ทำไมอาเซียนไม่ควรรีบเลือกข้างในศึก AI ระหว่างสหรัฐกับจีน?
ขณะที่สงครามชิงอำนาจด้านเทคโนโลยีระหว่าง ‘สหรัฐ-จีน’ ทวีความเข้มข้น กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) อาจไม่ต้องเลือกรีบเลือกว่าจะอยู่ฝั่งใด หากแต่สามารถเรียนรู้จากทั้งสองขั้ว พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองให้มีอธิปไตยมากขึ้น
นี่คือข้อเสนอที่เกิดขึ้นบนเวที East Tech West 2025 ซึ่งจัดโดยสำนักข่าว CNBC ณ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์หลายรายต่างเห็นพ้องว่า อาเซียนไม่ควรถูกบีบบังคับให้ต้องเลือกข้างท่ามกลางแรงกดดันจากสองมหาอำนาจ
“ภูมิภาคนี้พึ่งพาเศรษฐกิจของทั้งจีนและสหรัฐอย่างมาก การเลือกฝั่งใดฝั่งหนึ่งจะไม่เป็นผลดี” จูเลียน กอร์แมน (Julian Gorman) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากสมาคมโทรคมนาคม GSMA กล่าว
เขาเสนอว่าควรหลีกเลี่ยงการแยกขั้วของเทคโนโลยี และพยายามรักษาความเป็นสากลของมาตรฐาน เพื่อให้เทคโนโลยีสามารถรับใช้ผู้คนโดยไม่ผูกติดกับการเมืองระหว่างประเทศ
จีนรุกด้วยโอเพนซอร์ส สหรัฐครองฮาร์ดแวร์
จอร์จ เฉิน (George Chen) ผู้บริหารจาก The Asia Group อธิบายว่า ในช่วงแรกของกระแสเอไอ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มใช้โมเดลจากฝั่งสหรัฐ เช่น Google หรือ Microsoft เป็นหลัก แต่ล่าสุด DeepSeek ของจีนได้กลายเป็นตัวเลือกใหม่ที่ได้รับความนิยม เพราะเปิดให้ใช้ในรูปแบบโอเพนซอร์ส และมีต้นทุนต่ำ เหมาะกับการต่อยอดเพื่อสร้างโมเดลที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น
“โอเพนซอร์สไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค แต่มันคือการเปิดอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถดัดแปลง พัฒนา และใช้เทคโนโลยีตามความต้องการของตัวเอง” นักวิชาการด้านเทคโนโลยีอิสระให้ความเห็นเสริม
ขณะที่ในด้านฮาร์ดแวร์ Nvidia จากสหรัฐ ยังคงเป็นผู้นำในตลาดชิปเอไอ และแม้รัฐบาลสหรัฐจะจำกัดการส่งออกชิปไปจีน แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อยู่ ซึ่งเป็นโอกาสที่ควรใช้ให้คุ้มค่า
“อย่าเพิ่งรีบเลือกข้าง จงคิดถึงการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของตัวเองให้ได้มากที่สุด” เฉินกล่าว
การไม่เลือกข้างคือการเลือกสร้างพื้นที่ของตนเอง
ในวงเสวนาย้ำว่า แม้ภูมิภาคนี้จะไม่ได้เป็นผู้พัฒนาโมเดลเอไอระดับสูง แต่ก็มีจุดแข็ง เช่น ฐานผู้ใช้งานขนาดใหญ่ แรงงานรุ่นใหม่ที่พร้อมพัฒนา และต้นทุน R&D ที่ต่ำกว่า
กรณีศึกษาของ รัฐยะโฮร์ ในมาเลเซีย เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการเติบโตด้านดาต้าเซ็นเตอร์และโครงสร้างพื้นฐานคอมพิวติ้งระดับโลก ที่เริ่มดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่
เฉิน เสนอว่า หากรัฐต่างๆ ในภูมิภาคสามารถ สร้างระบบนิเวศเพื่อดึงดูดบริษัทที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามา ควบคู่กับการพัฒนาทักษะแรงงานในประเทศ ก็จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีโดยไม่ต้องตกเป็นฝ่ายตาม
“นี่คือกลยุทธ์เดียวกับที่จีนเคยใช้ในการไล่ตามประเทศตะวันตก เราเรียนรู้ได้จากประสบการณ์นั้น” เฉินอธิบาย พร้อมชี้ว่า จุดแข็งของอาเซียนอยู่ที่ต้นทุนต่ำ แรงงานวัยหนุ่มสาว และระบบแอปพลิเคชันที่มีชีวิตชีวา ซึ่งอาจทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นแหล่งทดสอบสำหรับการใช้งานเอไอกับชีวิตประจำวันของผู้คน
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีเพียงลำพังไม่อาจทำให้อาเซียนรอดพ้นจากการเป็น ‘หมาก’ ในเกมของมหาอำนาจ หากไม่มีการรวมพลังระหว่างประเทศในภูมิภาคเพื่อสร้างกรอบกำกับดูแลร่วม และมีอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ
โอกาสสู่การเป็น ‘สนามกลาง’ ด้านกฎระเบียบเอไอระดับโลก
อีกหนึ่งบทบาทที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้คือ สนามกลางของการกำกับดูแลเอไอ โดยเฉพาะในสภาวะที่มหาอำนาจยังมีความขัดแย้งด้านกฎเกณฑ์ และนโยบายของสหภาพยุโรป (EU AI Act) ยังไม่ได้รับการตอบรับจากสหรัฐอย่างเป็นรูปธรรม
กอร์แมน เสนอว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเป็น ‘เวทีเจรจา’ ที่จีนกับสหรัฐมาเจอกันเพื่อหารือเรื่องการใช้เอไออย่างมีความรับผิดชอบ และภูมิภาคนี้เองก็สามารถริเริ่มกฎเกณฑ์ร่วม เช่นเดียวกับตัวอย่างในสิงคโปร์ที่ออกแนวปฏิบัติเรื่องการรับมืออาชญากรรมทางไซเบอร์ (Shared Responsibility Framework) ร่วมกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม
ด้านเฉิน เสริมว่า การรวมพลังและประสานความร่วมมือกันระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อาเซียนมีเสียงที่แข็งแรงบนเวทีเจรจาระดับโลก โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาและกำกับดูแลเอไอ ซึ่งจะช่วยให้ภูมิภาคหลุดพ้นจากบทบาทเพียงแค่ผู้รับนโยบาย หรือผู้ตามที่ถูกกำหนดโดยประเทศมหาอำนาจ กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางเทคโนโลยี และนโยบายในอนาคตได้ด้วยตนเอง
อ้างอิง: CNBC