กรมชลประทาน ขุดลอกอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ บรรเทาภัยแล้ง
นายเจนสัคค์ สุภกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ กล่าวว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สร้างเสร็จในปี 2542 มีพื้นที่กักเก็บน้ำประมาณ 170 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 106,250 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 960 ล้านลูกบาศก์เมตร จากสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศในปี 2553, 2557 และ 2563 ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนลดต่ำและตื้นเขินลงอย่างมาก ส่งผลให้พื้นที่ชุมชนรอบ อ่างเก็บน้ำในหลายตำบลของจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรีประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เกษตรกรต้องลงทุนซื้อท่อสูบน้ำและเสียค่าน้ำมันสูบน้ำเพิ่มซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง โครงการขุดลอกนี้จึงเข้ามาช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้น้ำได้สะดวกขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำทำการเกษตร เป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำ
นายเจนสัคค์ บอกอีกว่า กรมชลประทานได้ดำเนินงานขุดลอก 2 จุดสำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 คือ งานขุดลอกโดยรถขุด (จุดที่ 3) บริเวณบ้านเขาพระ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี โครงการนี้มีปริมาณดิน ขุด 440,000 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 90.25 ไร่ กำหนดระดับขุดลอก ที่ +36.000 เมตร (รทก.) โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2568 และจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2568 ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2568 มีผลงานแล้ว 291,800 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 66 ของปริมาณ ดินขุด เมื่อแล้วเสร็จ คาดว่าน่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำได้ประมาณ 240,000 ลูกบาศก์เมตร และสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 860,000 ลูกบาศก์เมตร จะช่วยให้ชาวบ้านหมู่ที่ 9 บ้านเขาพระ ประมาณ 10 ครัวเรือน จำนวน 30 คน ทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี รวมถึงเป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับการเพาะปลูกพืชไร่ ในพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ และ งานขุดลอกโดยเรือขุด บริเวณบ้านท่าน้ำ ต.ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี โครงการนี้มีปริมาณดินขุด 448,000 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 80 ไร่ กำหนดระดับขุดลอกที่ +34.000 เมตร (รทก.) โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2568 และจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2568 ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2568 มีผลงานแล้ว 110,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณดินขุด เมื่อแล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 448,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยให้ชาวบ้านหมู่ที่ 9 บ้านท่าน้ำ ประมาณ 25 ครัวเรือน จำนวน 97 คน มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี และเป็นแหล่งน้ำเสริม เพื่อการเพาะปลูกพืชไร่ในพื้นที่ประมาณ 800 ไร่
ด้าน นางสาวปวีณา ศรีเมือง เกษตรกรหมู่ 9 ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี บอกว่า ขณะนี้สามารถทำการเกษตรได้เพียงปีละครั้งในฤดูฝน แต่ก็มาประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงในขณะนี้ ทำให้ไร่ข้าวโพด 20 ไร่ ขาดน้ำ ต้นแคระแกร็น ทั้งที่แปลงเกษตรของเธออยู่ใกล้กับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แต่ก็ไม่สามารถสูบน้ำมาใช้ได้ เพราะระดับน้ำในเขื่อนลดต่ำลงไปมาก โครงการขุดลอกนี้จึงจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ และจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ผลดีขึ้น
ด้าน นายสัมพาส มีศรี เกษตรกรหมู่ 9 ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี กล่าวเสริมว่า เกษตรกรเผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำมาหลายปี โครงการนี้ทำให้มีความหวังสำหรับอนาคตที่มั่นคงยิ่งขึ้น เพราะก่อนหน้านี้มีการขุดลอกในบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ก็สามารถช่วยให้เขาสามารถสูบน้ำเข้าไปปลูกอ้อยได้ตลอดทั้งปี ในพื้นที่กว่า 20 ไร่ หลังจากการขุดลอกของกรมชลประทานแล้วเสร็จ ในสิ้นเดือนกันยายน คาดว่าจะสามารถเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรได้มากยิ่งขึ้น
นายเจนสัคค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำใช้การได้อยู่ที่ 12% และเมื่อทั้ง 2 โครงการแล้วเสร็จ นอกจากจะเกิดประโยชน์ทั้งด้านการเกษตรและการอุปโภคบริโภคแล้ว โครงการขุดลอกทั้งสองแห่งยังจะเป็นแหล่งน้ำสำรองของชุมชนในภาวะภัยแล้ง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนอีกด้วย