ทรัมป์ประกาศภาษี Reciprocal Tariffs มีผล 1 ส.ค. ประเทศที่หนุน BRICS ต้านสหรัฐฯ ถูกเก็บภาษีเพิ่ม 10%
สหรัฐฯ ใกล้จะสรุปข้อตกลงการค้าหลายฉบับในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ และจะแจ้งให้ประเทศอื่นๆ ทราบถึงอัตราภาษีที่สูงขึ้นภายในวันที่ 9 กรกฎาคม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ โดยอัตราภาษีที่สูงขึ้นมีกำหนดจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม
ทรัมป์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ได้กำหนดวันที่ 1 สิงหาคมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าภาษีทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นในวันนั้นหรือไม่
เมื่อถูกขอให้ชี้แจง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ฮาวเวิร์ด ลัทนิค บอกกับผู้สื่อข่าวว่าภาษีที่สูงขึ้นจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม แต่ทรัมป์ “กำลังกำหนดอัตราและข้อตกลง”
เมื่อเดือนเมษายน ทรัมป์ประกาศอัตราภาษีพื้นฐาน 10% สำหรับประเทศส่วนใหญ่ และภาษีเพิ่มเติมสูงสุดถึง 50% แม้ว่าในภายหลังได้เลื่อนวันที่มีผลบังคับใช้สำหรับทุกประเทศ ยกเว้นภาษีพื้นฐาน 10% ออกไปจนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งวันที่มีผลบังคับใช้ใหม่นี้ช่วยให้ประเทศต่างๆ มีเวลาผ่อนผัน 3 สัปดาห์
ในวันอาทิตย์ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กล่าวกับรายการ “State of the Union” ของ CNN ว่า จะมีการแถลงข้อตกลงการค้าสำคัญๆ หลายฉบับในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ โดยระบุว่าสหภาพยุโรปมีความคืบหน้าอย่างดีในการเจรจา
เบสเซนต์กล่าวว่า ทรัมป์จะส่งจดหมายไปยังประเทศเล็กๆ อีก 100 ประเทศที่สหรัฐฯ ไม่มีการค้าขายด้วยมากนัก เพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงขึ้น ตามที่กำหนดไว้ครั้งแรกในวันที่ 2 เมษายน และระงับไว้จนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม
“ประธานาธิบดีทรัมป์จะส่งจดหมายถึงพันธมิตรทางการค้าของเราบางราย โดยระบุว่าหากไม่ดำเนินการใดๆ ในวันที่ 1 สิงหาคม ภาษีก็จะกลับไปสู่ระดับเดิมในวันที่ 2 เมษายน ดังนั้น ผมคิดว่าเราจะได้ข้อตกลงมากมายในเร็วๆ นี้” เบสเซนต์กล่าวกับ CNN
เบสเซนต์กล่าวกับ CNN ว่า รัฐบาลทรัมป์ให้ความสำคัญกับพันธมิตรการค้าที่สำคัญ 18 รายซึ่งคิดเป็น 95% ของการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ แต่เบสเซนต์กล่าวว่ามี “ความล่าช้าอย่างมาก” ในแต่ละประเทศในการสรุปข้อตกลงการค้า
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ได้ก่อสงครามการค้าโลกที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในตลาดการเงิน และทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องดิ้นรนปกป้องเศรษฐกิจของตนเอง รวมถึงผ่านข้อตกลงกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ
เควิน แฮสเซตต์ ผู้อำนวยการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษาทำเนียบขาวกล่าวกับรายการ “Face the Nation” ของสถานีโทรทัศน์ CBSว่า อาจมีช่องทางให้ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการเจรจาอย่างจริงจังได้
แฮสเซ็ตต์กล่าวว่า มีกำหนดเส้นตาย และบางสิ่งที่ใกล้จะเกิดขึ้น ดังนั้น บางทีสิ่งต่างๆ อาจจะถูกเลื่อนออกไปหลังกำหนดเส้นตาย และว่า ทรัมป์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่
แฮสเซตต์กล่าวกับ CBS News ว่า ข้อตกลงกรอบการทำงานที่บรรลุกับอังกฤษและเวียดนามแล้วนั้นเป็นแนวทางให้กับประเทศ อื่นๆ ที่ต้องการทำข้อตกลงทางการค้า และกล่าวว่าแรงกดดันของทรัมป์ทำให้ประเทศต่างๆ ย้ายฐานการผลิตมาที่สหรัฐอเมริกา
สตีเฟน มิแรน ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว กล่าวกับรายการ “This Week” ของ ABC News ว่า ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องยินยอมเพื่อให้ได้อัตราภาษีที่ต่ำลง
“ผมได้ยินเรื่องดีๆ เกี่ยวกับการเจรจากับยุโรป ผมได้ยินเรื่องดีๆ เกี่ยวกับการเจรจากับอินเดีย” มิแรนกล่าว “ดังนั้น ผมจึงคาดว่าประเทศต่างๆ จำนวนหนึ่งที่กำลังดำเนินการให้ความยินยอมเหล่านั้น… อาจได้รับการเลื่อนเส้นตายออกไป”
มิแรนกล่าวว่าข้อตกลงกับเวียดนามนั้น ยอดเยี่ยม “มันเป็นการได้ข้างเดียวอย่างมาก เราสามารถใช้ภาษีศุลกากรเป็นกอบเป็นกำกับสินค้าส่งออกของเวียดนามได้ พวกเขาเปิดตลาดให้กับเรา โดยไม่เก็บภาษีศุลกากรใดๆ กับสินค้าส่งออกของเรา”
ทรัมป์กล่าวหลายรอบว่า อินเดียใกล้ที่จะลงนามข้อตกลงแล้วและแสดงความหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหภาพยุโรปได้ ในขณะที่ยังคงไม่แน่ใจเกี่ยวกับข้อตกลงกับญี่ปุ่น
สถานีข่าวท้องถิ่นของอินเดีย CNBC-TV18 รายงานเมื่อวันอาทิตย์ว่า อินเดียและสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าย่อยภายใน 24 ถึง 48 ชั่วโมงข้างหน้า โดยรายงานระบุว่าสินค้าอินเดียที่ส่งมายังสหรัฐฯ มีอัตราภาษีนำเข้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10%
ไทยเสนอลดดุลการค้าลง 70% ภายใน 5 ปี
สำหรับประเทศไทยนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์ว่าประเทศไทย มุ่งที่จะหลีกเลี่ยงการถูกก็บภาษีนำเข้า 36% และขณะนี้ก็เสนอการเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ได้มากขึ้น รวมไปถึงซื้อสินค้าพลังงานและเครื่องบินโบอิ้งของสหรัฐฯ มากขึ้น
นายพิชัย กล่าวว่า ข้อเสนอล่าสุดของไทย มีเป้าหมายที่จะเพิ่มกระตุ้นปริมาณการค้าทวิภาคีและลดดุลการค้าที่ไทยมีกับสหรัฐฯ มูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ลง 70% ภายใน 5 ปี และจะบรรลุจุดสมดุลภายใน 7-8 ปี ซึ่งเร็วกว่าคำมั่นที่จะขจัดความแตกต่างภายใน 10 ปีภายใต้ข้อเสนอที่เสนอโดยไทยก่อนหน้านี้
ข้อเสนอที่ปรับแก้ไขถูกส่งไปเมื่อคืนวันอาทิตย์ ไม่กี่วันก่อนดการระงับภาษีนำเข้า 90 วันสิ้นสุดลงตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศไว้ หากได้รับการยอมรับ ประเทศไทยจะสามารถยกเว้นภาษีนำเข้าหรืออุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ได้ทันที ในขณะที่ค่อยๆ ยกเลิกข้อจำกัดสำหรับสินค้าชุดเล็กลง นายพิชัยกล่าว
การปรับแก้ไขข้อเสนอมีขึ้นหลังจากที่นายพิชัยได้ประชุมร่วมกับนายจามีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ และนายไมเคิล ฟอลเคนเดอร์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ในการเจรจาระดับรัฐมนตรีเกี่ยวกับภาษีศุลกากรครั้งแรก
นายพิชัยกล่าวว่า เนื่องจากสินค้าของสหรัฐจำนวนมากที่สามารถเข้าถึงตลาดของไทยได้มากขึ้นนั้นมีปริมาณน้อยในประเทศ จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรหรือผู้ผลิตในประเทศ
“สิ่งที่เราเสนอให้สหรัฐฯเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน” นายพิชัยกล่าว “สหรัฐฯ สามารถค้าขายกับเราได้มากขึ้น และเรามีโอกาสที่จะปรับปรุงกระบวนการของเราและลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น”
ไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่กำลังเร่งทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีศุลกากรที่สูง หากไม่สามารถลดภาษีศุลกากรกับตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยได้ อาจส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลงถึง 1%
ไทยยังได้ปรับแผนการซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว และเครื่องบินโบอิ้งในชิงรุกมากขึ้น โดยคาดว่าจะช่วยลดความไม่สมดุลทางการค้าได้อย่างมาก นายพิชัยกล่าว
บริษัทปิโตรเคมีของไทย อาทิ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศว่าจะนำเข้าเอทานอลจากสหรัฐฯ มากขึ้น โดยบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทอาจซื้อ LNG จากโครงการก๊าซธรรมชาติอะแลสกาได้ปีละ 2 ล้านตันเป็นระยะเวลา 20 ปี และกำลังพิจารณาที่จะร่วมพัฒนาโครงการดังกล่าวอยู่
ส่วนสายการบินแห่งชาติอย่างการบินไทย ระบุว่า บริษัทอาจซื้อเครื่องบินโบอิ้งมากถึง 80 ลำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
การส่งออกของไทยขยายตัวประมาณ 15% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าระหว่างช่วงระงับการเก็บภาษี 90 วัน
ประเทศที่หนุนนโยบาย BRICS ต้านสหรัฐฯ ถูกเก็บภาษีเพิ่ม 10%
ประธานาธิบดีทรัมป์ยัง ประกาศว่าจะมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม 10%กับประเทศที่ “สนับสนุนนโยบายต่อต้านอเมริกาของกลุ่ม BRICS” โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม จากการรายงานของ CNBC
“ประเทศใดก็ตามที่สนับสนุนนโยบายต่อต้านอเมริกาของกลุ่ม BRICS จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มอีก 10% โดยไม่มีข้อยกเว้นต่อนโยบายนี้” ทรัมป์โพสต์บนเว็บไซต์ Truth Social เมื่อวันอาทิตย์ตอนเย็นตามเวลาในประเทศสหรัฐอเมริกา
การประกาศของทรัมป์มีขึ้นในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา BRICS รวมตัวกันที่เมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิลเพื่อร่วมประชุมสุดยอด
กลุ่ม BRICS ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอธิโอเปีย อินโดนีเซีย และอิหร่าน กลุ่มนี้นิยามตนเองว่าเป็น “เวทีประสานงานทางการเมืองและการทูตสำหรับประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเพื่อการประสานงานในพื้นที่ที่หลากหลายที่สุด”
ประธานาธิบดีจีนสี จิ้นผิงส่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงไปร่วมการประชุมแทน ขณะที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน เข้าร่วมการประชุมผ่านทางออนไลน์
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังยืนยันว่าสหรัฐฯ จะเริ่มส่งจดหมายในวันจันทร์ ซึ่งมีรายละเอียดอัตราภาษีศุลกากรเฉพาะประเทศและข้อตกลงต่างๆ ที่บรรลุกับพันธมิตรทางการค้าต่างๆ