โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เสวนา “คึกฤทธิ์กับความสัมพันธ์ไทย-จีน” 50 ปี “สานใจกันร่วมสร้างฝันประชาคม”

ไทยพับลิก้า

อัพเดต 21 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 1 วันที่แล้ว
มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดงานเสวนา “คึกฤทธิ์กับความสัมพันธ์ไทย-จีน” เมื่อวันอังคารที่ 1 กรกฎาคม 2568 ผู้ร่วมเสวนาคือ (ซ้ายไปขวา) ดร.เตช บุนนาค อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง, นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และ ดร.สารสิน วีระผล อดีตเอกอัครราชทูตไทยและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมีนายสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ

งานเสวนา “คึกฤทธิ์กับความสัมพันธ์ไทย-จีน” เมื่อวันอังคารที่ 1 กรกฎาคม 2568 จัดโดยมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีบทบาทสำคัญและได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ กรุงปักกิ่ง กับนายโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน งานเสวนาครั้งนี้มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงาน และมีผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นมาร่วมเป็นองค์ปาฐกถา ได้แก่ ดร.เตช บุนนาค อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง, ดร.สารสิน วีระผล อดีตเอกอัครราชทูตไทยและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

นายอานันท์ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-จีนเมื่อ 50 ปีที่แล้วว่า “ตอนนั้นผมเป็นทูตไทยประจำวอชิงตัน ดี.ซี. อายุ 43 ปี ตอนนี้ อายุ 93 ปี ยังมีความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับความเสียสละของผู้นำทางการเมืองในสมัยนั้น การมองการณ์ไกล การมีความคิดก้าวหน้า และเมื่อ 50 ปีที่แล้ว โชคดีที่กระทรวงการต่างประเทศได้ผลิตนักการทูตที่มีพื้นฐานหัวก้าวหน้า มีขีดความสามารถทางด้านภาษา มีความรู้ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ได้ทำงานสอดคล้องกัน วิ่งไปพร้อมกันและวิ่งไปในจังหวะเดียวกัน”

สำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์เรื่องนี้ อยากให้ไปค้นคว้าจากสุนทรพจน์ให้กับ “คุณดิเรก ชัยนาม” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2530 เป็นเอกสารที่ครบสมบูรณ์มาก และอีกครั้งไปพูดเรื่องเดียวกันที่สถาบันคึกฤทธิ์ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554

“หากผู้ที่สนใจ ผมขอให้ไปดูที่ 2 บทความนี้ ที่ผมเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อเท็จจริงที่แน่นอน”

นายอานันท์กล่าวว่า ก่อนจะพูดถึงความสัมพันธ์ 50 ปีไทย-จีน สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทัน มีความจำเป็นต้องรู้ที่มาที่ไปของการเปิดความความสัมพันธ์ไทย-จีน

จีนกับไทยรู้จักกันมาช้านาน อาจจะเกินกว่า 800 ปี เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยที่อยู่ที่นี่และคนจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทย เป็นความสัมพันธ์ ‘คนกับคน’ ที่ราบรื่น แทบไม่มีรอยต่อ ไม่มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง เป็นความสัมพันธ์ในการติดต่อทางการค้า ในสมัยราชวงศ์หยวน ไทยส่งราชบรรณาการไปราชวงศ์หยวน 14 ครั้ง และทางจีนส่งมาไทย 4 ครั้ง

“เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร เข้าใจ พูดจากัน ทำมาค้าขาย เรือสำเภาวิ่งไปวิ่งมา ไทยส่งของที่ผลิตได้ไปให้จีน จีนเอาช่างมาทำเครื่องปั้นดินเผาในไทย เกิดถ้วยชามสังคโลก เป็นความสัมพันธ์ที่ดีกันมาตลอด ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นทางการ ทางการทูต”

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบ ทางฝ่ายพันธมิตรชนะ ความสัมพันธ์ที่ฝ่ายพันธมิตรสร้างขึ้น เกิดการรวมกลุ่มกัน ว่าโลกของเราต้องมีกฎเกณฑ์กันอย่างไรในปี ค.ศ. 1941

จีนในฐานะที่เป็นมหาอำนาจทางด้านเอเชีย ส่วนตะวันตกมีสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส โซเวียต มีการตั้งองค์กรสหประชาชาติ พวกที่ชนะเข้าร่วมเป็นสมาชิก มีกฎบัตรสหประชาชาติที่เขียนโดยประเทศที่มีอำนาจ พวกที่ชนะที่มีอำนาจแสวงหาอำนาจต่อไป มีการตั้งคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ มีพี่เบิ้ม 5 ประเทศ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน โดยพรรคคอมมิวนิสต์ก๊กมินตั๋งเป็นสมาชิก

“สิ่งที่เห็นการเอารัดเอาเปรียบของชาติมหาอำนาจ 5 ประเทศ หลายสิ่งหลายอย่างต้องเสนอคณะมนตรีเพื่อความมั่นคงเพื่อขอความเห็นชอบ หากมีเรื่องใดที่ขัดผลประโยชน์ของมหาอำนาจ ใช้วิธีการวีโต้ เมื่อคัดค้าน ร่างมตินั้นก็ตกไป ต่างคนต่างใช้อำนาจวีโต้มาตลอด แสดงความไม่ทัดเทียมกันกับประเทศที่เป็นสมาชิกอื่นๆ”

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง คัดค้านไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ยกเว้นไทยจะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน จะบอกว่าจีนเอาเปรียบ ส่วนหนึ่งก็เพราะอย่างนั้น แต่จะบอกว่ามันเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ด้วย ไทยยอมรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนก๊กมินตั๋ง จีนถึงยอมให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ

พวกเราคนไทยส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน เรากลมกลืนไปกับชาติต่างๆ ไม่ได้ถูกบังคับ ทั้งจีน มอญ พม่า เขมร พอมีความสัมพันธ์ทางการทูต ผลของสงครามโลกและการตั้งสหประชาชาติทำให้แต่ละประเทศเกิดความตระหนักถึงความใหญ่ของตนเอง ชักหลงในอำนาจของตัวเองว่ามีอำนาจเหนือคนอื่น

อย่างจีน เปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย สมัยก่อนความสัมพันธ์ไม่มีปัญหา คนจีนในไทยรู้สึกว่าให้ความจงรักภักดีต่อประเทศไทย อาจจะมีบ้างในการแข่งขันด้านการค้าขาย พอมีสถานทูตจีนในเมืองไทย ก็รู้สึกถึงสิทธิการได้รับความคุ้มครองจากมหาอำนาจ คนจีนส่วนใหญ่ในเมืองไทยผยองขึ้นมา มีการปิดการค้าขายอยู่ 2-3วัน เศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงัก ซึ่งตอนที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตไม่เคยมีเรื่องแบบนี้

เรื่องผ่านมาอีกหลายสิบปี จีนแผ่นดินใหญ่ตกอยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลก๊กมินตั๋งเดิมหนีไปเกาะไต้หวัน มาครอบครองไต้หวัน ไต้หวันไม่ใช่ของจีนแผ่นดินใหญ่เป็นวิธีคิดของชาติตะวันตกและรับรองมาเป็นเวลา 20-30 ปี แต่ไทยกับสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับรอง

“ผมก็ชมว่าไทยเก่ง หากดูจากประวัติศาสตร์ เมื่อใดที่ประเทศไหนมีอำนาจ มีความสัมพันธ์ทางการทูต ประเทศนั้นมามีอำนาจ อิทธิพล เมื่อเราถูกปั่นหัวว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นปีศาจ เรารับรองรัฐบาลไต้หวัน แต่ต่อมา 20-30 ปี สมาชิกเริ่มรับรองจีนคอมมิวนิสต์ และใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆ มีบทบาทมากขึ้นๆ ขณะที่ประเทศใหม่ต่างๆ ที่ได้รับเอกราช เขามีวิธีคิดใหม่ๆ ไม่เหมือนประเทศเก่าๆ อย่างไทย… เมื่อจีนได้รับการสนับสนุนจากประเทศใหม่ๆ อิทธิพลก็มากขึ้น สหรัฐอเมริกาเริ่มไหวตัวในช่วงปี 1971-1972 และท่าทีสหรัฐอเมริกาจะถอนออกจากเวียดนาม ในสนามรบสหรัฐฯ แพ้แล้ว สัญญาณต่างๆ เรารู้แล้วว่าอเมริกา ไปแน่ เราเห็นว่าทิศทางของลมใหญ่กำลังเปลี่ยน เราต้องรู้แล้วว่าลมจะไปทางไหน เราเป็นเรือใบเล็กๆ ตอนนั้นมีรัฐบาลคุณสัญญา ธรรมศักดิ์ พลเรือนชั่วคราว คุณจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าเราควรไปหนุนจีนคอมมิวนิสต์”

ต่อมาคุณคึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นรัฐบาล คล่องแคล่วทางการเมือง นโยบายค่อนข้างตรงไปตรงมา ท่านพูดมา 3 ข้อที่เกี่ยวโยงกัน เรารู้เลยว่าเราจะไปทางไหน ข้อแรก บัดนี้สถานการณ์โลก โดยเฉพาะเอเชีย เปลี่ยนไปมากในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ จีนมีบทบาทมากขึ้น เพราะฉะนั้น คนไทยต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ที่แท้จริงของภูมิภาค ข้อที่ 2 ต่อไปนี้รัฐบาลไทยจะมีความสัมพันธ์กับทุกประเทศโดยเฉพาะจีนด้วย ไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรืออุดมการณ์ ใดๆ ข้อที่ 3 จากข้อ 1 และ 2 จะลดกำลังทหารสหรัฐอเมริกาในเมืองไทย

“มีช่วงหนึ่งที่เรือรบสหรัฐอเมริกันผ่านน่านน้ำไทยเข้าไปอยู่ในน่านน้ำเขมร ถูกจับตัวไป กองทัพอเมริกาส่งเรือรบมาช่วย ผ่านน่านน้ำไทย คุณคึกฤทธิ์เชิญทูตอเมริกามาพบ อเมริกาบอกว่าได้รับอนุญาตจากไทยแล้วจากทหาร ท่านบอกว่าตอนนี้ไทยมีรัฐบาลพลเรือนแล้วนะ ท่านเลยทำโทษอเมริกาด้วยเรียกทูตไทยจากวอชิงตันกลับมาเป็นการประท้วง ผมก็กลับมา แต่ไม่ได้ทำอะไร วันหนึ่งคุณชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เรียกไป บอกว่าท่านนายกคุณคึกฤทธิ์จะไปเปิดความสัมพันธ์กับจีน อยากให้ไปเมืองจีนด้วย ก็ได้เดินทางไปด้วย ผมก็ถามคุณชาติชายว่าเรื่องนี้ผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หรือยัง ผมเป็นข้าราชการรู้ว่าใครมีอำนาจแค่ไหน เพราะเรื่องนี้เคยเสนอ สมช. ซึ่งไม่เอาเรื่องนี้เลย เสนอไปก็ขัดขวางแน่ๆ คุณชาติชายเลยไม่เสนอ สมช. ผมติดต่อประสานงาน หารือในการเปิดความสัมพันธ์กับจีน และผมก็ตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมการไปเจรจากับจีน”

ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า 1-2 ปีก่อนหน้านั้น จีนตอนนั้นเขารู้ จีนมีการติดต่อทูตไทยที่กรุงเฮก โตเกียว และอีกหลายเมือง เชิญทูตไทยให้ไปเยี่ยมเมืองจีน ซึ่งทูตไทยไปไม่ได้ เพราะยังไม่มีความสัมพันธ์ และมีการติดต่อเป็นการภายใน อันนี้ต้องชมจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้คุณหลวงวิจิตรวาทการ เป็นมือขวา และคุณหลวงวิจิตรฯ ใช้คุณสังข์ พัธโนทัย ซึ่งเป็น voice ของรัฐบาลไทย ทั้งคุณหลวงวิจิตรและคุณสังข์บอกว่า ถ้าเอาไข่มาใส่กระจาดเดียวจะดีหรือ คุณสังข์ตอนนั้นได้ส่งลูกสาว (สิรินทร์) ลูกชาย (วรรณไว) ไปเมืองจีน ไปเป็นลูกเลี้ยงของโจว เอินไหล คล้ายเป็นตัวประกัน

หลังจากนั้นพยายามที่สร้างความใกล้ชิดกัน คุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าคณะบินไป และมีอีกหลายคณะบินไปจีน และมีช่วงหนึ่งที่มีสงครามคูเวต ราคาน้ำมันแพงขึ้น คุณชาติชายบินไปเจรจาขอซื้อน้ำมันจากจีน ได้ราคาน้ำมันที่เรียกว่า friendly price

นี่คือการนำไปสู่การเปิดความสัมพันธ์ไทย-จีน ทำมาหลายคณะและทำทุกจังหวะเวลา

และตอนเจรจาผมเป็นห่วงหลายข้อ แต่มีข้อหนึ่งคือเป็นห่วงคนจีนในไทย จากประสบการณ์ที่เราเจอกรณีจีนไต้หวัน ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีกฎหมายห้ามมี 2 สัญชาติ จีนเสนอว่าเขาอยากเห็นคนจีนในเมืองไทย ทำตัวเป็นพลเมืองที่ดีของไทย มีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ อันนี้ปลดล็อกเลย เป็นสิ่งที่เราเป็นห่วงที่สุดอันหนึ่ง

นายอานันท์ปิดท้ายว่า “ผมพูดมาเยอะแล้ว จากความจำ อาจจะผิดพลาดบ้าง ถือว่าคนแก่มาบ่นเรื่องเกิดเมื่อ 50 ปีมาแล้ว”

……

50 ปี จีน-ไทย ‘สานใจกัน ร่วมสร้างฝันประชาคม’

อัครราชทูต อู๋ จื้ออู่ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน 50 ปี ว่า “วันนี้ได้ร่วมเสวนากับบุคคลในตำนานและตำรา ผมเรียนไทยคดีศึกษา มีชื่อของหลายๆ ท่านที่นั่งในห้องนี้อยู่ในตำราที่ผมเรียน ตามที่นายกฯ อานันท์ได้เล่าเรื่องในอดีต ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เขียนโดยท่านวรรณไว พัธโนทัย ที่ว่าคุณโจว เอินไหล ผู้เปิดความสัมพันธ์ไทย-จีน เป็นหนังสือประกอบการเรียนในมหาวิทยาลัย ได้เรียนรู้ความเป็นมา ความสัมพันธ์ไทย-จีน ในช่วงก่อนสงครามเย็นจนถึงปีที่เรามีความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 1975 ได้รับทราบว่า ความสัมพันธ์นี้ได้มาไม่ง่ายเลย จากปี 1949-1975 มีหลายต่อหลายท่านทั้งจากไทยและจีน ได้ทำงานเพื่อเปิดความสัมพันธ์ทางการทูต

ในการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 1975 สอดคล้องกับผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ และเป็นความต้องการของสถานการณ์ระหว่างประเทศในช่วงนั้น ในฝ่ายจีน ตอนนั้นเห็นถึงและมีการผ่อนคลายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ การควบคุมต่อประเทศต่างๆ ของสหรัฐฯ ได้คลี่คลายลง และประเทศต่างๆ ที่แต่ก่อนอยากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนก็สามารถทยอยผูกมิตรและสร้างความสัมพันธ์กับประเทศจีนได้

นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย

จีนมีนโยบายที่จะต้องผูกมิตรและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยอยู่แล้ว พอดีทางไทยเสนอมาก็ตรงกัน มีการสนองตอบและเกิดการทูตในด้านต่างๆ จนนำมาสู่วันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1975 เท่าที่เราได้ทราบว่าท่านโจว เอินไหล ได้พบกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หลังจากพบปะแล้ว การสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับไทยเดินหน้าอย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้นเราได้ร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ในภูมิภาคของเรา จนสามารถนำความมั่นคง เสถียรภาพกลับมาภูมิภาคของเรา และสามารถเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า

จากวันนั้นจนมาถึงวันนี้สามารถบอกได้ว่า ภูมิภาคของเราสามารถสร้างเสถียรภาพ ความเจริญ และความร่วมมือ โดยเฉพาะจีนกับไทยได้สร้างคุณูปการให้กับภูมิภาคและโลกของเรา

หากพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยแล้ว เรามักพูดถึงคำว่า ‘จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’ ผมเป็นคนหนึ่งที่เป็นพยานได้ว่า คำนี้ไม่ใช่ท่านประธานาธิบดีพูด แต่สอดคล้องกับความเป็นจริง ความประทับใจมีตั้งแต่ตอนที่ผมเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเราจะมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนกับคนไทยตอนเรียนปี 3 ปี4 แล้ว เป็นการฝึกภาคปฏิบัติ ไปช่วยงานบริษัททัวร์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน เราไปช่วยคณะทัวร์ของไทยในปี 1990 ค่อนข้างมาก

ตอนนั้นท่านเตช (บุนนาค) เป็นทูตที่ปักกิ่ง ในปี 1990 มีการจัดเอเชียนเกมส์ที่ปักกิ่ง ผมโชคดีไปช่วยดูแลทีมมวยไทย ในคราวนั้นไทยได้ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน ผมได้เห็นนักกีฬาไทยช่วยเชียร์จีนและนักกีฬาจีนช่วยเชียร์ไทย

อีกความประทับประทับใจ มาจากตอนที่ผมเข้ากระทรวงใหม่ๆ ปี 1991 ท่านอานันท์พาคณะเยือนจีนเป็นทางการ ผมในฐานะเจ้าหน้าที่ทีมงานมีโอกาสไปร่วมต้อนรับ ได้เห็นการพบปะของผู้นำทั้งสองประเทศ เหมือนเป็นกันเอง มีความสนิทสนมกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศจริงๆ ตอกย้ำที่เราเรียนมา จีน-ไทย ใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกันจริงๆ

อีกประโยคหนึ่งที่ผมอยากแบ่งปันก็คือว่า เราเชื่อว่าจีนกับไทยเป็นแบบอย่างของประเทศที่สามารถจะอยู่ด้วยกันอย่างปรองดองกันและร่วมมือกันอย่างเสมอภาคและพัฒนาไปด้วยกัน ระหว่างประเทศที่มีระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน แม้ว่าเรามีความแตกต่างกันหลายๆ อย่าง แต่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ยึดมั่นในหลักการที่ว่าเราจะต้องมีเสถียรภาพ สันติภาพในภูมิภาคและโลกใบนี้ เพื่อการพัฒนาอันดีของพวกเรา และทั้ง 2 ประเทศจะต้องร่วมมือกัน พร้อมกัน เพื่อพัฒนาซึ่งกันและกัน และเพื่อนำความเจริญให้กับภูมิภาคของเราด้วย เป็นประโยคที่ผมได้เรียนมาตั้งแต่ผมเข้ากระทรวงและได้รับการพิสูจน์มาจนกระทั่งทุกวันนี้

ลักษณะเด่นชัดอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์จีน-ไทย ผมคิดว่าคือจีนกับไทยสามารถที่จะทำแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคของเรา ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1999 ไทยได้เสนอให้แถลงการณ์ร่วมโครงการความร่วมมือที่มุ่งสู่ศตวรรษที่ 21 ระหว่างจีนกับไทย ต่อจากนั้นจีนได้ถือเอาแถลงการณ์ร่วมนี้ไปขอเจรจากับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน จนทำให้จีนลงนามแถลงการณ์ทวิภาคีที่คล้ายคลึงกันกับประเทศอาเซียนเช่นเดียวกัน

ในปี 2001 ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้สร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศจีน และปี 2012 ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ให้เป็นความสัมพันธ์หุ้นส่วนที่มีความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ทวิภาคีกับประเทศจีน

เราสามารถสร้างตัวอย่างความสัมพันธ์ของเราให้ดีขึ้นมา ไม่เพียงแต่สร้างผลประโยชน์ให้ประเทศของเราทั้งสองเท่านั้น เรายังสามารถสร้างแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆ ได้รู้ว่า จีนกับประเทศอื่นสามารถพัฒนาความสัมพันธ์อันนี้ได้ และประเทศในอาเซียนสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศจีนได้ สร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศของตนได้

นอกจากนี้ สิ่งที่จะแบ่งกับทุกท่านคือคำขวัญความสัมพันธ์จีน-ไทยในปีนี้ ซึ่งเราเรียกว่า จีน-ไทย สานใจกัน ร่วมสร้างฝันประชาคม ประชาคมนี้เราเรียกว่าเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อมุ่งไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

ปี 2022 ท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้มาเยือนประเทศไทย ระหว่างการเยือนคราวนั้นได้ตกลงกับผู้นำของไทยว่า จีนกับไทยจะเริ่มสร้างประชาคมระหว่างกัน ทำไมประชาคมจะต้องมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามความเข้าใจของผม ความมั่นคงคือทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจอันดีต่อกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างสูง มีอะไรเราก็พูดคุยกันได้ แสวงหาจุดร่วมสงวนจุดต่างเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและร่วมมือกัน และยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีของเราได้ตลอดไป

เราสามารถพัฒนาความร่วมมือระหว่างเรา ให้นำผลประโยชน์มาสู่ประชาชนของเราอย่างแท้จริง ซึ่งตัวอย่างชัดๆ คือยอดมวลรวมการค้าระหว่างจีนกับไทย เมื่อตอนปี 1975 มีแค่ 23 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่ในปี 2024 มีมูลค่า 134,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นหลายพันเท่า

ผมยังจำได้ว่าปี 1995 ตอนผมมาประจำสถานทูตวาระแรก มีการจัดสัมมนาทางวิชาการที่ทำเนียบรัฐบาล มีนักวิชาการไทยท่านหนึ่ง อาจารย์ท่านนี้ล่วงลับไปแล้ว ท่านยกว่าความสัมพันธ์ของเราพัฒนาดีมากในอดีต 20 ปีที่ผ่านมา ในด้านการเมืองและความมั่นคง ในเมื่อเราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ตกแล้ว ในอนาคตข้างหน้า ความสัมพันธ์ของเราจะพัฒนาไปอย่างไร เรายังสามารถมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นดังเช่นทุกวันนี้หรือไม่

ผมว่าในอดีต 30 ปีที่ผ่านมา ผลสำเร็จความร่วมมือระหว่างจีน-ไทยได้ช่วยตอบคำถามแล้ว เราสามารถขยายความสัมพันธ์ของเราไปสู่ทุกมิติและมีความร่วมมือที่เจริญงอกงามในทุกๆ ด้าน จนเรากล้าที่จะพูดว่า เราไม่อายใคร คือไทยเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญและเป็นมิตรประเทศที่สำคัญมากที่สุดประเทศหนึ่งของจีนในภูมิภาคนี้ และความร่วมมือของเรามากกว่าเศรษฐกิจและการค้า นักศึกษาไทยไปศึกษาที่จีน ตอนนี้ติดอันดับหนึ่ง อันดับสองในประเทศจีน สถานกงสุลไทยก็เปิดมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง มี 9 แห่ง ได้ส่อให้เห็นถึงความร่วมมืออันดีระหว่างเราทั้งสอง ผมเกิดมาไม่ทัน แต่มีส่วนช่วยสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสองให้เติบโตจนถึงทุกวันนี้

…….

ดร.เตช บุนนาค อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง

‘คึกฤทธ์’ : การตัดสินใจทางการเมืองในที่สาธารณะ

ดร.เตชกล่าวว่า เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา เพื่อลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย-จีนครั้งนั้น ท่านนายกฯ อานันท์ให้ผมรับผิดชอบเอกสาร เป็นผู้เปิดเอกสารคำแถลงการณ์ร่วมไทย-จีนให้ท่านนายกฯ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ลงนาม ท่านนายกฯ คึกฤทธ์จับปากได้เซ็นรวดเดียวเสร็จ ท่านนายกฯ โจว เอินไหล ไม่ค่อยสบาย การลงนามจึงต้องใช้เวลา ในการแลกเปลี่ยนเอกสารลงนามร่วมกันได้

เราไปถึงปักกิ่ง 30 มิถุนายน 1975 ก่อน 1 วัน แถลงการณ์ร่วม จริงๆแถลงการณ์ร่วมของเราไม่เหมือนกับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในบางข้อ แถลงการณ์ร่วมที่คุณอานันท์เป็นหัวหน้าคณะในการเจรจา ประเด็นสำคัญคือเกี่ยวกับคนไทยเชื้อสายจีนของเรา และเรื่องนี้ปรากฏในรายงานคณะผู้แทนไทย ที่ลงนามโดยคุณอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งผมเป็นผู้ร่าง และผมเก็บรายงานที่ผมร่างทั้งหมด ระหว่างปี 2516-2518 และกระทรวงต่างประเทศได้ตีพิมพ์หนังสือขึ้นมา หนังสือเพิ่งออกในวันนี้ (1 ก.ค. 2568) มีความลับราชการ แต่จะลับหรือไม่ลับ เหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 50 ปี ผมไม่ได้ขออนุญาตกระทรวงต่างประเทศ เพราะเป็นโน้ตส่วนตัว ไม่ได้ขออนุญาตใคร

เราเจรจาเสร็จในวันที่ 21 มิถุนายน 1975 เดินทางกลับจากปักกิ่ง สมัยเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก ขึ้นเครื่องบินมากวางโจว แทนที่จะนั่งรถไฟมาชายแดน ทางการจีนได้จัดรถให้เรานั่งมาถึงเซินเจิ้น ที่พิเศษมากกว่านั้น ท่านกงสุลใหญ่ที่กวางโจว ดร.มนัสพาสน์ ชูโต ได้ไปขอเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำจากรัฐบาลอากาศอังกฤษ บินมาลงที่สนามบินฮ่องกง มาจอดติดกับเครื่องบินแอร์สยาม มาถึงกรุงเทพ 23 มิถุนายน 1975 ผมเป็นคนเขียนร่างรายงานอย่างรวดเร็วในคืนนั้น ได้เสนอท่านทูตอานันท์ตรวจแก้

สิ่งหนึ่งที่ท่านนายกฯ อานันท์เล่า เวลาเราไปเสวนาแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่ท่านเน้นเสมอคือ การที่เราเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนของ ม.ร.ว.คึกฤทธ์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการตัดสินใจทางการเมืองในที่สาธารณะ พรรคกิจสังคมในตอนหาเสียงได้บอกแล้วว่าจะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน พอเข้ามา มีมติ ครม. ที่แน่ชัดว่าจะเปิดความสัมพันธ์กับจีน เพราะฉะนั้น อุปสรรคต่างๆ นานาจะหมดไป เรามีเวลาทำงาน 1 สัปดาห์ก่อนไปลงนามในแถลงการณ์ร่วม ในสัปดาห์นั้น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ภายใต้การนำของท่านสิทธิ เศวตศิลา และคุณประสงค์ สุ่นศิริ เราทำงานด้วยความยากลำบากมาก่อนหน้านั้น ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แก้ปัญหาได้เกือบทั้งหมด ภายในสัปดาห์เดียว ต้องเรียนว่าเราทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ เพราะคณะทำงานที่รัฐบาลแต่งตั้งมีคุณประสงค์ สุ่นศิริ ซึ่งเป็นรองเลขา สมช. ประชุมทุกวัน เพื่อแก้ปัญหาทั้งหมด แต่ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราไปลงนามที่กรุงปักกิ่ง กลับมาก็ยังต้องแก้ปัญหาต่อ แต่ได้รับความมือจาก สมช. อย่างดี ในเมื่อเรามีนโยบายชัดแจ้งว่าจะเปิดความสัมพันธ์ ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีคุณูปการมหาศาลต่อการที่เราได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตได้สำเร็จ ผมเองในฐานะหัวหน้ากองกรมเอเชียตะวันออก ผมขอเรียนว่าในระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน เราเริ่มต้นเจรจาก่อน ทั้งทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งที่นิวยอร์กและที่อังกฤษ ความหวังของผมเราจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน แต่เราทำไม่สำเร็จ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตก่อนเราไม่กี่วัน เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

หลังจากนั้นเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย มีผลประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง ก็ยังมีผู้ใหญ่ในรัฐบาลไทยได้พูดว่าเราเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเร็วไป เราควรจะดึงไว้ ขณะที่สิงคโปร์ประกาศตั้งแต่ต้นว่าเขาจะเป็นประเทศสุดท้ายในอาเซียนที่จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน

นี่คือเรื่องราว…’ที่ผมมีส่วนในประวัติศาสตร์นี้’

………

ดร.สารสิน วีระผล อดีตเอกอัครราชทูตไทยและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์

‘ความจริง จากสิ่งที่เป็นจริง’

ดร.สารสินกล่าวว่า การเปิดความสัมพันธ์ไทย-จีน เป็นเหตุการณ์ใหญ่สำหรับผม เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ตามคณะของท่านอานันท์ คุณเตชที่ไปลงนามความตกลง เปิดศักราชความสัมพันธ์ใหม่ไทยกับจีน ที่นครปักกิ่ง ในฐานะนักวิชาการเพื่อไปสังเกตการณ์ ไม่ทราบอะไรที่เกิดขึ้นเบื้องหลัง แต่ได้ไปเรียนรู้ สานต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน

สิ่งที่น่าประทับใจคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ที่ทำให้ผมสามารถเดินทางบนธารน้ำนี้เป็นเวลาหลายปี และต่อยอดมาถึงวันนี้ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ได้สัมผัสประเทศจีน ที่ผมได้ไปในครั้งนั้น หลังจากนั้นกระทรวงต่างประเทศให้ผมอยู่ที่สถานทูตปักกิ่ง 3 ปี ในช่วง 1976-1979 เป็น 3 ปีที่มีความหมาย ผมได้สัมผัสที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีนและการทำงานของข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งของไทยของจีน ผมต้องชื่นชม เพราะทำงานด้วยหลักการ เอาจริงเอาจังอย่างมาก ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะจากการที่มีคณะต่างๆ มาเยือนประเทศจีน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ต่อจากการลงนาม

ผมได้ร่วมกิจกรรมกับคณะต่างๆ ที่มาเยือน นอกเหนือจากการทำงานประจำที่สถานทูต มีโอกาสสัมผัสกับเพื่อนร่วมงาน ตอนนั้นมีกว่า 100 สถานทูต เป็นโอกาสที่ได้รับรู้ข้อมูลข่าววสาร และตอนนั้นมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแผ่นดินไหวที่ถังซาน ปี 1976 และเป็นจุดพลิกผันของการเมืองจีน มีผู้นำคือท่านประธานเหมา ท่านนายกฯ โจวเอินไหล ท่านเติ้ง เสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นมีบุคคลสำคัญทางการเมืองของจีนที่ถึงแก่กรรม จะเรียกได้ว่าเป็นแผ่นดินไหวทางการเมืองของจีน

การจากไปของผู้ใหญ่ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เมื่อไหร่ที่สวรรค์ โลก กับคนมีเงื่อนไขมาบรรจบกันเป็นแนวตั้ง เหตุการณ์ใหญ่จะเกิดขึ้น ในปี 1976 เป็นปีที่เหตุการณ์ทางธรรมชาติ สวรรค์ โลก และมนุษย์เกิดขึ้นจริงในจีน และเป็นผลดีกับจีนและความสัมพันธ์ที่กระทรวงต่างประเทศไทยไปวางไว้ ข้อตกลงทางการเป็นกรอบความสำคัญที่ดีมาก อย่างเรื่องปัญหา 2 สัญชาติ หรือปัญหาการสนับสนุนนอกระบบของทางการจีน ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ผมเข้าใจว่าจากเอกสารที่ท่านคึกฤทธ์ไปพบท่านเหมา เจ๋อตุง มีการยกเรื่องนี้มาพูดแบบธรรมดาตรงไปตรงมา ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ของรัฐ จริงๆ ท่านบอกว่าคนไทยไม่ต้องตกใจเรื่องความความสัมพันธ์พรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ต้องไปลงนามเป็นทางการ ทางผู้นำไทยก็พอใจในคำตอบว่าได้ทำความตกลงกัน

ท่านเติ้ง เสี่ยวผิง มีโอกาสได้แสดงจุดยืนของท่านหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องต่างประเทศ จุดยืนของจีนเอง ท่านใช้คำง่ายๆ ท่านมีคำพังเพยที่ว่า ‘ความจริง จากสิ่งที่เป็นจริง’

ดังนั้น การพัฒนาประเทศของท่านเติ้ง เสี่ยวผิง จะเป็นระบบอะไร อะไรที่มันเวิร์ก ก็จะทำ บนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกันเป็นสิ่งที่ควรจะยกมาเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินความสัมพันธ์ต่อ อันนี้เป็นสิ่งที่ตั้งต้นที่ดีกับการสร้างความสัมพันธ์กับไทย

หลังปี 1979 ผมมีโอกาสอยู่กระทรวงต่างประเทศ เป็นเวลา 10 กว่าปี ได้สัมผัสเรื่องของจีนในลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะทางการเมือง

ความสัมพันธ์ในทศวรรษ 80 และทศวรรษ 90 เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศ ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาเต็มที่เลย และท่านผู้นำระดับสูงสุดของไทยร่วมมือกับฝ่ายจีนเป็นอย่างดี จนเรารักษาสันติภาพ การแก้ไขปัญหาพื้นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนที่เราเข้าไปมีบทบาทแก้ไขความขัดแย้ง จนกระทั่งวันนี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เข้ามาอยู่ในองค์กรเดียวกันคืออาเซียน และจีนกับอาเซียนมีการสร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกัน เรามีความร่วมมือที่โดดเด่นทางด้านเศรษฐกิจการค้า เมื่อ 20 กว่าปีก่อนอาเซียนกับจีนได้ทำความตกลงที่สร้างเขตการค้าเสรี ปลายปีนี้จะมีการอัปเกรดความร่วมมือนี้ขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งจีนจะมีบทบาทอย่างมากต่อการสร้างความมั่งคั่ง การพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน

หลังปี 1996 ผมเปลี่ยนอาชีพจากราชการมาอยู่เครือเจริญโภคภัณฑ์ เราได้เห็นโอกาส การทำธุรกิจการลงทุน ร่วมกันมหาศาล อนาคตความสำเร็จจะเพิ่มอีกหลายเท่า วันนี้เพิ่งเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางด้านธุรกิจ เพราะโอกาสในจีนมีอีกมาก

…….

การแสดงของนักเรียนศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์

ในตอนท้ายผู้ดำเนินรายการได้มีการถามตอบตอนหนึ่งในเรื่องปัจจุบันที่มีปัญหาเรื่องธุรกิจไทย-จีน เรื่องทุนจีนเทา เรื่องการทำเหมืองในพม่า ทางสถานทูตมีการบริหารเมื่อมีข่าวร้องเรียนอย่างไร กลไกที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอไหม ในการสื่อสารไปยังทุกระดับในจีนและสื่อสารกลับมายังประเทศไทย เพื่อไม่ให้บางเรื่องเกินเลยกว่าความเป็นจริง

นายอู๋กล่าวว่า เรารับรู้ข่าวสาร เราต้องใช้วิจารณญาน อย่างที่ช่วงต้นเราเตรียมที่จะสร้างประชาคมจีน-ไทย ที่มีความมั่นคง กล่าวคือเมื่อเจอปัญหาอะไร เราต้องรีบสรุป หาต้นตอว่าเป็นอย่างไร ต้องสืบหาความเป็นจริง พูดจากัน ต้องค้นหาสัจจะจากความจริง ระหว่างที่เราไปสืบหาความจริง เราต้องมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้อง อย่างเช่นเรื่องที่ว่าอะไรสีเทาๆ บอกตรงๆว่าผมไม่สบายใจ แต่เราต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์เราพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว ในทุกมิติ ท่านเติ้ง เสี่ยวผิง เคยกล่าวว่าเราเปิดประเทศ เราต้องยอมรับว่า เมื่ออากาศสดชื่นเข้ามาแล้ว แมลงวันอาจจะเข้ามา เราต้องพยายามตบแมลงวัน ไม่ใช่เราปิดหน้าต่าง ถ้ามีอะไรให้จีนช่วยตบ เราก็ยินดี ที่ผ่านมาทางจีนได้รับความร่วมมืออย่างดีจากรัฐบาลไทย

เราตระหนักดีว่าในยุคสารสนเทศ ข่าวสารเข้ามาเยอะ วิธีหนึ่งที่เราจะไปให้ประชาชนมีความรับรู้สิ่งที่ถูกต้อง เราต้องไปให้ข่าวสารที่ถูกต้อง เรามีความมั่นใจในบางสิ่งบางอย่าง นโยบายของจีน เราไม่ใช่ว่าเราจะมากอบโกยผลประโยชน์ แต่เรามาสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน เราเชื่อว่าจะต้องเป็นความร่วมมือที่สร้างผลประโยชน์ซึ่งกันและกันแล้ว ความร่วมมือนี้จะพัฒนาไปได้

พร้อมกล่าวตอบเรื่องนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงว่า “ส่วนนักท่องเที่ยวจีนมาอยู่เรื่อยๆ น้อยไปเยอะแต่ก็ยังมี 1-2 ล้านคนในครึ่งแรกของปีนี้ หากดูรายได้ ไม่ได้ลดน้อยลงไปเท่าไหร่ จากเดิมมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ ตอนนี้มาเที่ยวกันเอง มาแล้วเขาอยากมาอีก แต่เราต้องยอมรับว่าในยุคสารสนเทศ ข่าวสารด้านลบก็มีผลต่อการตัดสินใจ ก็เป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องเอาความจริงไปสื่อสารกับประชาชนทั้งสองฝ่าย สร้างความเข้าใจ แต่ผมเชื่อว่าในสายตาคนจีนทั่วไป ประเทศไทยยังเป็นมิตรประเทศที่เขาอยากมาสัมผัสอัธยาศัยที่ดีของคนไทย ความหลากหลายของวัฒนธรรมและทิวทัศน์ของไทย”

ส่วนอดีตเอกอัครราชทูตของไทย ดร.เตช บุนนาค ตอบคำถามเรื่องความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่มีมานาน วันนี้มีอะไรที่น่ากังวลไหมว่า “ผมเพิ่งได้ไปจีนมา ได้พบกับกระทรวงต่างประเทศจีนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผมว่ายังไม่เห็นมีปัญหาอะไรระหว่างไทยกับจีน ตรงกันข้ามผมเห็นว่าความสัมพันธ์ดีมาก และจะเป็นเช่นนี้ยาวนาน”

พร้อมกล่าวตอบคำถามที่ว่าจะเลือกข้าง (สหรัฐอเมริกา/จีน) อย่างไร และจะขออะไรให้จีนช่วยบ้างว่า ดร.เตชกล่าวว่า “ผมเห็นว่าเราไม่ควรจะไปขออะไร ไม่ควรที่จะไปเสนออะไร เรามีวุฒิภาวะพอจะดูแลผลประโยชน์ของเราเองได้ “

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ไทยพับลิก้า

ทรัมป์ประกาศภาษี Reciprocal Tariffs มีผล 1 ส.ค. ประเทศที่หนุน BRICS ต้านสหรัฐฯ ถูกเก็บภาษีเพิ่ม 10%

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

KKP ผนึกกำลัง Goldman Sachs Asset Management เปิดมุมมองลงทุนครึ่งปีหลัง ชูพอร์ตคุณภาพ–หุ้นเด่น–ทองคำ–เทคโนโลยี ฝ่าคลื่นความผันผวนโลกปี 69

1 วันที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

DSI ลุยหนักคดี ‘ฮั้ว สว.’ คาดพยานโยงเส้นเงินพุ่งเกิน 100 ราย

The Bangkok Insight

กรุงไทย ประกาศเตือน ถึงลูกค้าทุกคน

มุมข่าว

“โค้ชอ๊อต” มั่นใจทีมจะทำเต็มที่ เพื่อนำความสุขมาให้คนไทย

INN News
วิดีโอ

พระพุทธรูป 300 ปีถึงลาวแล้ว “อุปกิต” เดินหน้าเสนอครูบาศรีวิชัยสู่ยูเนสโก

BRIGHTTV.CO.TH

"พล.ต.อ.เอก" ชี้ แต่งตั้งนายพลสีกากีไม่สะดุด แม้ "นายกฯ อิ๊งค์" ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

Manager Online
วิดีโอ

“เสี่ยตือ คอสโม่" เจ้าของ “ทางหมาลอด” | เนชั่นทันข่าวค่ำ | NationTV22

NATIONTV

กรมอุตุนิยมวิทยา 7 วันข้างหน้า เตือน 4 ภาค ฝนตกหนัก 10-12 ก.ค.นี้

ประชาชาติธุรกิจ

ไล่ล่าหนุ่มบัลแกเรีย ร่วมหนุ่มลาวงัดตู้เอทีเอ็มใน จ.ระยองและจันทบุรี ฉกเงิน 1.4 ล้านหนีกลับประเทศ

Manager Online

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...