KKP ผนึกกำลัง Goldman Sachs Asset Management เปิดมุมมองลงทุนครึ่งปีหลัง ชูพอร์ตคุณภาพ–หุ้นเด่น–ทองคำ–เทคโนโลยี ฝ่าคลื่นความผันผวนโลกปี 69
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ร่วมกับ Goldman Sachs Asset Management ชี้เศรษฐกิจโลกครึ่งหลังปี 2568 อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ท่ามกลางแรงกดดันจากภูมิรัฐศาสตร์และการค้าสหรัฐ–จีน คาดดอกเบี้ยนโยบายไทยมีแนวโน้มลดลงแตะ 1.0% แนะกลยุทธ์ปั้นพอร์ต เน้นหุ้นคุณภาพ (Quality) และ หุ้นกลุ่มป้องกันความเสี่ยง (Defensive) เพื่อรักษาเสถียรภาพพอร์ตท่ามกลางความผันผวน พร้อมชู 4 กลุ่มดาวเด่นปี 2569 ได้แก่ Healthcare, หุ้นยุโรป, หุ้นอินเดีย และพลังงานนิวเคลียร์
วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2568 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) จัดงานสัมมนา KKP 2025 Mid-Year Review ภายใต้ธีม “The Power of Two” (KKP-Goldman Sachs Asset Management) โดย Timothy Moe, Chief Asia Pacific Regional Equity Strategist and Co-Head of Macro Research in Asia, Goldman Sachs บรรยาย เรื่องการปรับสมดุลและทิศทางเศรษฐกิจโลก ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล.เกียรตินาคินภัทร และนายทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน (CIO Office) บล.เกียรตินาคินภัทร บรรยายเรื่องโอกาสการลงทุนท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจโลก
แนะลงทุนทองคำ-หุ้นรับอานิสงส์เงินดอลลาร์อ่อน
ไฮไลท์หนึ่งจากงานสัมมนาได้แก่เวทีของ ทิโมธี โม(Timothy Moe) Chief Asia Pacific Regional Equity Strategist and Co-Head of Macro Research in Asia, Goldman Sachs ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตแต่เริ่มชะลอตัว โดยมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนด้านภาษีและภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมแนะนำให้นักลงทุนเน้นโอกาสเฉพาะตัว (idiosyncratic opportunities) ที่ไม่พึ่งพาปัจจัยมหภาคมากนัก
“มุมมองของเราเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมระดับโลกสำหรับการลงทุนมี 3 กลยุทธ์ กลยุทธ์แรกคือการกระจายความเสี่ยง (Diversification) กลยุทธ์ที่สองคือ moderate beta และกลยุทธ์สามคือ ample alpha ” โมกล่าว
ความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงก็คือ ในโลกมีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างมาก และมีความไม่แน่นอนมากมายเกี่ยวกับนโยบาย โดยเฉพาะเกี่ยวกับภาษีศุลกากร ที่เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากสัปดาห์หน้า คือวันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผัน 90 วันที่สหรัฐฯ กำหนดไว้สำหรับการจัดเก็บภาษีศุลกากร
สำหรับกลยุทธ์ moderate beta (การพิจารณาคัดเลือกหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง โดยคาดหวังผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของตลาดโดยรวม) ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงจุดสูงสุดในวันนี้ดัชนีทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 20.23% จากจุดต่ำสุดเมื่อไม่กี่เดือนก่อน Goldman Sachs ปะเมินว่าการเพิ่มขึ้นต่อไปในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะค่อนข้างจำกัด“สำหรับดัชนีทั่วโลกส่วนใหญ่ เราคาดหวังผลตอบแทนในช่วง 12 เดือนที่ตัวเลขหลักเดียวกลางๆ ถึงสูง”
ส่วนกลยุทธ์ ample alpha การเลือกลงทุนหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง ทั้งเลือกหุ้นแบบ ธีม หรือตลาดภายในภูมิภาค หรือภาคส่วนที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดรวม ซึ่งมีธีมการลงทุนที่น่าสนใจมากมายจะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทน
โมกล่าวว่า แนวโน้มทั่วโลกการเติบโตกำลังชะลอตัวลง ในกรณีที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจากความขัดแย้งในอิหร่าน หากน้ำมันพุ่ง 10% อาจฉุด GDP โลกลง 0.1% และดันเงินเฟ้อเพิ่ม 0.2% อย่างไรก็ดี ในภาวะที่น้ำมันแพงและภูมิรัฐศาสตร์ผันผวน ตลาด ASEAN-4 หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ และหุ้นกลุ่มป้องกันความเสี่ยง (Defensive) มีโอกาสให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นเอเชียในภาพรวม
สำหรับฝั่งสหรัฐฯ Goldman Sachs ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP และลดโอกาสเกิดภาวะถดถอยเล็กน้อย จากแรงกดดันภาษีที่ผ่อนคลายลง แต่ยังคงกังวลเรื่องวินัยการคลังที่อาจกดดันค่าเงินดอลลาร์และตลาดพันธบัตร การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ อยู่ที่ 6% ถึง 7% ของ GDP ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับเศรษฐกิจที่ไม่ถดถอย และหนี้ของรัฐบาลกลางที่คาดการณ์ไว้จะสูงกว่า 100% ของ GDP และ 120% อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะยังคงสูงอยู่ คาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีไว้ที่ 4.50%
โดยคาดว่า S&P 500 จะให้ผลตอบแทนราว 4-5% ในอีก 12 เดือน หากไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และประเมินเป้าดัชนีที่ระดับ 6,500 จุด
Goldman Sachs คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ในเดือนกันยายน ตุลาคม และธันวาคม และคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปี 2569 ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสุดท้ายหรืออัตราที่วงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสิ้นสุดลง อยู่ที่ 3% ถึง 3.25%
ในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์แนะนำลงทุนทองคำในภาวะที่ความไม่แน่นอนยังสูง ตลาดกังวลความเสี่ยงด้านสถาบันในสหรัฐฯ และแรงซื้อจากธนาคารกลางทั่วโลกที่ยังแข็งแกร่ง สำหรับตลาดหุ้นเอเชีย ให้ปรับน้ำหนักเพิ่ม (overweight)โดยเพิ่มเกาหลีใต้ ไต้หวัน และกลุ่มเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ และลดน้ำหนักสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ส่วนจีนและญี่ปุ่นยังแนะนำให้คงถือมากกว่ามาตรฐานเช่นกัน
กลยุทธ์การลงทุนครึ่งปีหลังเน้นไปที่หุ้นที่ได้อานิสงส์จากเงินดอลลาร์อ่อน หุ้นที่มีการคืนกำไรผู้ถือหุ้นสูง กำไรคุณภาพดี แนวโน้มถูกปรับประมาณการขึ้น รวมถึงหุ้นกลุ่ม Aerospace & Defense กลุ่ม AI และกลุ่มที่ได้แรงหนุนจากนโยบายรัฐจีน
Goldman Sachs มองว่าค่าเงินดอลลาร์ยังคงมีมูลค่าสูงเกินจริงในระยะยาวประมาณ 15% ห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สนับสนุนให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง สำหรับสกุลเงินของเอเชีย ยังคงคาดว่าจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยเฉพาะเงินบาทไทยอาจไปถึงระดับ 32 เมื่อเทียบกับดอลลาร์
เศรษฐกิจไทยยังเผชิญแรงต้านรอบด้าน
ด้าน ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล.เกียรตินาคินภัทร เผยว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญแรงต้านรอบด้าน โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก กลับเริ่มชะลอตัวลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ความไม่แน่นอนจากการเจรจาการค้าแบบต่างตอบแทน (reciprocal trade) ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวม ขณะเดียวกัน การก่อหนี้ที่ลดลงในภาคการเงิน (financial deleveraging) ได้ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ
เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับปัญหาที่แตกต่างกับโลกจากประเด็นกดดันหรือ Headwind 3 เรื่อง
เรื่องที่ 1 คือ นักท่องเที่ยวที่หายไป นักท่องเที่ยวต้องใช้คำว่าเครื่องจักรเครื่องเดียวของ เศรษฐกิจไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในแง่ของการติบโต นักท่องเที่ยวมีส่วนเกิน 100% ใน GDP ใน 2 ปีที่ผ่านมา ปีนี้ที่แนวโน้มของนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป โดยตั้งแต่ต้นปีหายประมาณ 40% และนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศทั้งหมด ตั้งแต่ต้นปีหายประมาณ 4%
“ทั้งปีมีโอกาสที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในเทศไทยจะน้อยกว่าปีที่แล้ว หมายความว่าเครื่องจักรที่คอยผลักดันเศรษฐกิจใน 2 ปีที่ผ่านมา วันนี้จะไม่เป็นเครื่องจักรที่ส่งอีกแล้ว แต่จะเป็นเครื่องที่ดึงเศรษฐกิจเพราะ economic population หรือประชากรทางเศรษฐกิจไม่ได้โตขึ้นอย่างที่ในช่วงที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นในช่วงครึ่งหลังของปีค่อนข้างเป็นห่วงว่าตรงนี้จะเป็นตัวฉุดที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างหนืด น่าเป็นห่วงในช่วงครึ่งหลังของปีและคาดว่าเศรษฐกิจจะถึงจุดต่ำสุด (bottom) ได้ในช่วงไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ก็น่าจะกลับไปดีขึ้นได้”
ดร. พิพัฒน์กล่าวว่า ในประเด็นนักท่องเที่ยวที่หายไป ก็เคยเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วที่ผ่านมา ทั้งในช่วงการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ เหตุการณ์เรือล่ม เมื่อหักปัจจัยฤดูกาล (Season Adjusted) นักท่องเที่ยวค่อยๆฟื้นกลับขึ้นมา แต่ช่วงหลังที่มีเรื่องความปลอดภัย นักท่องเที่ยวจีนรวมลงไปค่อนข้างมาก
“ก่อนเกิดโควิด ไทยมีนักเที่ยวจีนอยู่มา 11 ล้านคน ปีที่แล้วเข้ามาประมาณ 6-7 ล้านคน ปีนี้คาดว่าอาจจะเหลือแค่ 4 ล้านคน หมายความว่าเดิมที่เคยคาดว่านักเที่ยวรวมจะดีขึ้น สำหรับนักเที่ยวจีนก็หายไป 2 ล้านคนแล้ว วันนี้สัญญาณที่เราประเมินก็คือปีที่แล้วมี 35.5 ล้านคน ปีนี้เราประเมินว่าอาจจะเหลือแค่ 34 ล้านคนกว่า นี้ก็จะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง”
เรื่องที่ 2 คือความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมของไทย แม้ในช่วงไตรมาส 1 ไตรมาส 2 ที่ผ่านมาการส่งออกขยายตัวดีมาก ในเดือนเมษายน พฤษภาคม การส่งออกต่อเพิ่มขึ้น 18% การส่งออกไปสหรัฐฯประเทศเดียวเพิ่มขึ้นประมาณ 45%
“แต่ในช่วงเดียวกันภาคการผลิต ดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นแค่ 1.9% ก็เกิดคำถามว่า เราเอาอะไรไปส่งออกเพราะไม่ได้ถูกรวมอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งก็คือนำเข้ามาแล้วส่งออกไป หรือไม่ก็นำออกมาจากสินค้าคงคลัง ซึ่งหากเป็นการดึงออกมาจากสินค้าคงคลัง หรือลดสต็อกลง ก็น่าจะมีการผลิตทดแทนเพิ่ม ก็เป็นส่วนที่เราหวังว่าน่าจะมีตัวเลขที่ดีขึ้นได้ แต่ตัวเลขเดือนเมษายน พฤษภาคมก็ยังไม่ดี”
ประกอบกับอุตสาหกรรมที่ใหญ่สุด 3 กลุ่ม คือ รถยนต์ ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 3 กลุ่มยังเผชิญปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก แต่รถยนต์ก็เห็นภาพได้ชัดรถยนต์ ICE เจอรถยนต์ EV ปิโตรเคมีก็ประสบการแข่งขันจากจีน กลายเป็นถึงแม้มีการผลิตทดแทนกลับขึ้นมา ตัวอื่นที่ยังไม่มีก็ยังเป็นปัญหาอยู่นี่ก็เป็นตัวกดเศรษฐกิจตัวที่สอง
เรื่องที่ 3 การหดตัวของสินเชื่อภาคธนาคาร เป็นปัญหาของภาคการเงิน การปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคารติดลบต่อเนื่องหลายไตรมาสแล้ว ทางหนึ่งอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องของความต้องการ(Demand) คนไม่รู้จะกู้อะไร แต่สิ่งที่เห็นคือภาคธนาคารกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจว่า ถ้าปล่อยกู้ในสถานะปัจจุบันอาจจะเจอปัญหามากกว่าเดิม ทุกรายก็ค่อนข้างระวัง ปริมาณเงิน M2ต่อ GDP อยู่ในขาลง “ก็จะกลายเป็นการตั้งคำถามว่าแล้วอะไรจะมาทำให้เศรษฐกิจหมุนไปข้างหน้าได้ 3 ตัวนี้เป็นแรงกดดันที่เราคิดว่าเรากำลังเผชิญอยู่”
นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอน 3 ด้านที่ไม่ได้ประเมินรวมไว้ แต่เป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหญ่ เรื่องแรกก็คือการเมือง “สิ่งที่เรากลัวที่สุดก็คือ ถ้าการเมืองมีปัญหาจนกระทั่งร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ไม่สามารถผ่านไปได้ เจอความล่าช้าแบบที่เคยเกิดขึ้นในปี 2566 แล้ว GDP ไตรมาส 4 มีโอกาสติดลบได้อีก เป็นความเสี่ยงที่เรายังไม่ได้ประเมิน แต่ว่าวันนี้เราก็มีสัญญาณว่าน่าจะหาทางออกกันได้ ความเสี่ยงตรงนี้ก็ลดลง”
ในกรณีที่งบประมาณล่าช้าเหมือนที่เคยเกิดในปี 2566 จะมีผลต่อการเติบโตเมื่อเทียบรายปีของ GDP ลดลงไปได้ 1% แต่ก็เห็นพัฒนาการทางการเมืองดูเหมือนจะดีขึ้นแล้ว ก็ลดความเสี่ยงหนึ่งนั้นออกไป
KKP คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2568 ไว้ที่ 1.6% ซึ่งปรับลงจาก 1.7% และปี 2569 เหลือ 1.5%
ความไม่แน่นอนเรื่องที่สอง คือ การเจรจาการค้า ปัจจุบันสินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐเสียภาษี 10% สินค้าบางประเภท เช่น Harddisc , Electronics ได้รับการยกเว้นภาษี ถ้าถูกเก็บภาษีสูงขึ้น อุปสงค์จะหายไป
“สิ่งที่จะเลวร้ายกว่าคือ ถ้าโดนอัตราภาษีสูงกว่าคู่แข่ง ไม่เพียงแค่ความสามารถในการข่งขันของเราได้รับผลกระทบ ความน่าสนใจของไทยในการเป็นฐานในการผลิตก็จะได้รับผลกระทบ สิ่งที่เราจะต้องจับตาก็ไม่ใช่ว่าเราโดนเท่าไหร่ เพื่อนบ้านเราเวียดนามตอนนี้โดน 20%ไปแล้ว มาเลเซียจะโดนเท่าไหร่ จีนสุดท้ายจะโดนเท่าไหร่ เป็นความเสี่ยงที่ตอบไม่ได้เลย เป็นความไม่แน่นอนจริงๆ“
ดร.พิพัฒน์กล่าวว่าความไม่แน่นอนเรื่องสุดท้าย คือ ภูมิรัฐศาสตร์โลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองะหว่างประเทศ
ในอีกทางหนึ่ง แม้จะมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นโยบายการคลังก็มีข้อจำกัด เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะที่สูง การออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมอาจต้องพิจารณาการปรับเพิ่มเพดานหนี้ โดยควรมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ด้านนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้วทำให้มีขอบเขตในการดำเนินนโยบายจำกัด ธนาคารกลางอาจต้องพิจารณาแนวทางที่แตกต่างจากเดิม (unconventional policy) เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ โดยยังคงประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจลดลงสู่ระดับ 1.0%
“เราคิดว่าสิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นบวกก็คือภาวะต่างๆ ภาวะปัญหาทางการเงิน ข้อจำกัดการเงิน นโยบายการคลังน่าจะทำให้นโยบายการเงินมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น เราอาจเห็นการลดดอกเบี้นโยบายได้อีกในอีก 12 เดือนข้างหน้าลงสู่ระดับ 1.0% เป็นไปได้ และเชื่อว่าบทบาทนโยบายการเงินอาจจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น และก็บทบาทที่สำคัญในนโยบายการเงินคือการปลดล็อคในเรื่องของการส่งผ่านในช่องทางของธนาคารว่าทำให้แบงค์ปล่อยกู็ และทำให้เศรษฐกิจหมุนไปข้างหน้า ได้ซึ่งเป็นภาระและบทบาทที่ค่อนข้างสำคัญ”
ประเด็นสุดท้ายเรื่องของค่าเงิน สิ่งที่เห็นวันนี้ก็คือปัจจัยพื้นฐานของไทยไม่ได้ทำให้เงินบาทต้องมีแข็งขนาดนี้เลย ทั้งในแง่ของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย พัฒนาการของดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเราเกินดุลน้อยลงกว่าในอดีต แม้มีการส่งออกที่ดีขึ้น แต่ว่าดุลการค้าก็ไม่ได้ดีนัก
เงินบาทในรูป NEER รูป NEER ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1997 ซี่งเป็นเรื่องของความสามารถในการแข่งขันทั้งสินค้าและบริการ แม้แนวโน้มในระยะสั้นอาจจะเห็นดอลลาร์อ่อนค่าบาทอาจจะแข็งค่า แต่ในระยะกลาง ระยะยาวน่าจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงไปกว่านี้ มิฉะนั้นความสามารถในการแข่งขันจะโดนผลกระทบต่อเนื่อง
KKP ให้กรอบเงินบาท 32- 36 ซึ่งก็เป็นกรอบที่กว้าง
ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศยังคงสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอ สะท้อนถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจในภาพรวม ไทยจึงจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าวาระการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโตในระยะยาว ทั้งในด้านแรงงาน การศึกษา นวัตกรรม กฎระเบียบ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
4 กลุ่มหุ้นเด่นในพอร์ตลงทุน
ด้าน นายทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน (CIO Office) บล.เกียรตินาคินภัทร เผยว่าตลาดหุ้นทั่วโลกอาจเผชิญแรงขายในระยะสั้นจากผลกระทบภาษีนำเข้าและนโยบายกีดกันการค้า แต่คาดว่าตลาดจะฟื้นตัวได้ดีในปี 2569 หนุนโดยมาตรการกระตุ้นจากสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะการลดภาษีในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะหนุน GDP ปี 2569 เพิ่ม 0.5% และกำไรต่อหุ้นปรับขึ้นกว่า 5%
บล.เกียรตินาคินภัทรยังคงคำแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเต็มที่ตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ (fully invest) และมองว่าระดับดัชนี S&P 500 ที่ 5,800 จุดเป็นโอกาสในการทยอยเข้าลงทุน โดยมีเป้าหมายกลางปี 2569 ที่ระดับ 6,500 จุด พร้อมเน้นการถือหุ้นคุณภาพ (Quality) และ หุ้นกลุ่มป้องกันความเสี่ยง (Defensive) ซึ่งมีพื้นฐานค่อนข้างแข็งแกร่ง ความเสี่ยงต่ำ และมีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ เพื่อรักษาเสถียรภาพพอร์ตท่ามกลางความผันผวน
หุ้นดาวเด่นที่ควรมีในพอร์ตลงทุน:
- หุ้น Healthcare: เด่นจาก valuation ที่ยังต่ำ กำไรฟื้นตัว และแนวโน้มการเติบโตระยะยาวจากโครงสร้างประชากรสูงวัย รวมถึงโอกาสควบรวมกิจการในกลุ่ม Biotech ที่จะเป็นแรงส่งเพิ่มเติม
- หุ้นยุโรปในสกุลเงินยูโร: ได้อานิสงส์จากนโยบายการคลังของเยอรมนี การลดดอกเบี้ยของ ECB และ P/E ยังต่ำกว่าหุ้นโลกเฉลี่ย 10% ทำให้น่าสนใจทั้งด้าน valuation และแนวโน้มกำไรเป็นได้ทั้งการลงทุนเชิงรุกในหุ้นโลกและช่วยกระจายความเสี่ยงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
3.หุ้นอินเดีย: ได้แรงหนุนจากโครงสร้างประชากร เสถียรภาพการเมือง และการกระจายฐานการผลิตจากจีน แม้ valuation สูง แต่ยังน่าสนใจจากศักยภาพการเติบโตที่ 10–15% ต่อปี
4.หุ้นพลังงานนิวเคลียร์: เป็นโอกาสลงทุนระยะยาวที่น่าสนใจจากแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตเร็วตามเทรนด์ electrification และความต้องการของ data center มีจุดเด่นคือผลิตไฟฟ้าได้เสถียร ต้นทุนต่ำและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ความต้องการแร่ยูเรเนียมขยายตัวขึ้น
บล.เกียรตินาคินภัทรลดน้ำหนักตราสารหนี้โลกลงมาเป็น “Neutral” จากความกังวลเรื่องหนี้สาธารณะสหรัฐฯ และแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ยังแนะนำลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพสูง อายุ 3–5 ปี ที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ขณะที่ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์
หุ้นไทย แนวโน้มยังอ่อนแรง คงมุมมองระมัดระวังต่อหุ้นไทยในครึ่งปีหลัง โดยประเมินกรอบดัชนีที่ 1,000–1,300 จุด จากแรงกดดันเศรษฐกิจในประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ แนะนำกระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มดีกว่า
ทั้งนี้ ภายในงาน นายณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานที่ปรึกษาและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล บล.เกียรตินาคินภัทร และRonald Lee, Head of Goldman Sachs Private Wealth Management in Asia Pacific and Co-Head of the Client Solutions Group in Asia Pacific, Goldman Sachs Asset Management ร่วมเปิดงานโดยกล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ตอกย้ำแนวทางบริหารความมั่งคั่งสำหรับนักลงทุนไทย ในขณะที่ภายในงานสัมมนา ผู้เชี่ยวชาญของทั้งสององค์กร ร่วมถ่ายทอดมุมมองเศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุน เช่น การจัดพอร์ตให้ตอบโจทย์ตลาดจริง กลยุทธ์การเลือกหุ้นเชิงรุกทั้งหุ้นนอกและหุ้นไทย ตลอดจนการลงทุนทางเลือกในสินทรัพย์นอกกรอบแบบเดิม เพื่อช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพรวมและปรับใช้กับแนวทางการลงทุนของตนได้มีประสิทธิภาพ
ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่าง KKP และ GSAM เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “The Power of Two. One Philosophy of Wealth.” หรือการเชื่อมโยงความแข็งแกร่งระดับโลกสู่นักลงทุนไทย ผ่านการร่วมกันพัฒนาพอร์ตต้นแบบที่มีกลยุทธ์การลงทุนแบบหลากหลายสินทรัพย์ (Multi-Asset Strategy) และบริการ Discretionary Portfolio Management (DPM) ที่ปรับตามภาวะตลาดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เหมาะสม เป็นไปตามความมุ่งมั่นที่ชัดเจนของ KKP ในการส่งมอบข้อมูลและโซลูชันการลงทุนระดับโลก ให้นักลงทุนไทยสามารถฝ่าความผันผวน และเติบโตอย่างยั่งยืน