มท.ถกวอร์รูม 'พายุวิภา' ห่วงเหนือ-อีสาน เสี่ยงท่วม กังวล จ.น่าน
เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2568 ที่กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการป้องกัน และบรรเทาสาธารณะภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ประชุมตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์พายุวิภา โดย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ร่วมรับฟัง ซึ่งมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เข้าร่วมประชุมติดตามสถานการณ์ ได้ติดตามภาพรวมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทั้งจังหวัดแถบภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในหลายจังหวัดจากอิทธิพลพายุวิภา
โดยในที่ประชุมมีการรายงานสถานการณ์เป็นรายพื้นที่ ประกอบด้วยพื้นที่ติดภูเขา ที่ราบเชิงเขา โดยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และการตรวจสอบสภาพดินที่ได้รับการสะสมของปริมาณฝนที่ตกลงมา ซึ่งมีลักษณะอุ้มน้ำ และความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำป่าไหลหลาก และเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ขณะที่หลายพื้นที่ปริมาณน้ำฝนไปเพิ่มระดับน้ำในแม่น้ำสายหลัก หลายจุดใกล้ล้นตลิ่ง และบางจุดเสี่ยงเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนที่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำ
น.ส.ธีรรัตน์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า หลังการติดตามสถานการณ์พายุวิภาที่เกิดขึ้น เป็นที่คาดการณ์จากที่บอกก่อนหน้านี้ว่าจะมีความรุนแรงอยู่ในระดับที่ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ จากการประชุมและได้รับรายงานโดยตรงจากพื้นที่ในหลายๆจังหวัดด้วยกัน เช่นพื้นที่จ.น่าน ที่ตอนนี้ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เตรียมความพร้อมรับมือขนของขึ้นที่สูงเพื่อที่จะไม่ให้ได้รับความเสียหาย รวมถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต้องอพยพไปอยู่ในศูนย์ที่ทางหน่วยงานราชการจัดเตรียมไว้ให้ โดยเป็นการขอความร่วมมือเพื่อให้ทุกคนได้รับความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ในส่วนของ จ.น่าน ขณะนี้มณฑลทหารบกที่ 38 ได้นำกำลังลงพื้นที่จ.น่าน เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้จัดเตรียมเรื่องระบบการทำงานทุกระบบเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน และย้ำเตือนว่าขณะนี้น้ำที่กำลังจะเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจ จ. น่านมีปริมาณ ที่ 1 ชั่วโมง 30 ซม. ถือว่าเป็นปริมาณที่สูง โดยตนได้สั่งการให้ ปภ. นำเครื่องสูบน้ำลงพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อบรรเทาน้ำที่จะเข้าสู่ในพื้นที่ส่วนกลางให้มีระดับน้อยลงมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามน้ำมาแน่นอน จึงอยากให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ
ส่วน จ. พะเยา ได้มีการประชุมผ่าน Zoom ในพื้นที่จริง พบว่า ในบางอำเภอยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และน้ำอยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวัง แม้จะยังไม่สูงแต่ก็ต้องเตรียมพร้อม และมีความเป็นไปได้หากมีฝนตกต่อเนื่องก็จะมีปริมาณน้ำที่สูงขึ้นได้อีก ส่วนจ.เชียงใหม่และเชียงรายทางพื้นที่ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือไว้อยู่แล้ว และอย่างน้อยการเตรียมการที่ดีขึ้น เชื่อว่า อาจจะมีการระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว โดยทางกรมชลประทานได้มีการเตรียมพร้อมในเรื่องของเขื่อนเพื่อให้เหมาะสมกับน้ำที่กำลังจะมา และมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
สำหรับภาพรวม และการพยากรณ์น้ำในช่วงของ 3-5 วัน ที่จะถึงนี้ได้ฟังรายงานจากกรมชลประทานในเรื่องของน้ำเหนือที่จะไหลสู่ลำน้ำต่างๆได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมพร้อมหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางที่อาจมีน้ำท่วมพื้นผิวจราจร อีกทั้งได้มีการเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยให้มีความรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ตามแนวทาง
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า สำหรับการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะพื้นที่มีฝนตกปริมาณมาก และพื้นที่สำคัญที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่แล้ว ขอให้ทางจังหวัดได้เข้าไปป้องกันไม่ให้น้ำท่วมเข้าสู่พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบว่ามีฝนตกต่อเนื่อง การที่มีฝนตกต่อเนื่องต้องป้องกันเรื่องของดินโคลนถล่มเพราะดินอุ้มน้ำหลายวันมีความชุ่มฉ่ำมาก อาจทำให้เกิดดินโคลนถล่มได้ และให้ทางจังหวัดที่มีความเสี่ยงอพยพประชาชนออกมาโดยเร็ว เพราะดินโคลนถล่มคาดการณ์ได้ยากแต่ถ้าหากรู้ว่ามีจุดไหนที่เสี่ยงอยู่แล้วทางเจ้าหน้าที่สามารถที่จะเข้าไปในจุดนั้นได้ทันที
และหากจะมีการปิดเส้นทางในเรื่องของถนนจะมีการแจ้งประชาชนก่อน เพื่อไม่ให้ประชาชนติดอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งถ้าหากพบว่า บางพื้นที่มีความเสี่ยงที่น้ำจะเข้าสูงสามารถที่จะตัดไฟได้เลยเพื่อที่จะป้องกันปัญหาไฟรั่วหรือไฟดูด ในส่วนของพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปสำรวจความเสียหายและช่วยเหลือประชาชนในการทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
สำหรับการรายงานสถานการณ์ให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดรายงานสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลถล่ม ผลกระทบและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในทุกวัน เวลา 09:00 น. ซึ่งจะมีการประชุมสรุปสถานการณ์ในแต่ละวันเพื่อประเมินเพิ่มกำลังในแต่ละพื้นที่ให้ทันต่อสถานการณ์มากที่สุด
ส่วนทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ส่งข้อความแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ส่งข้อความผ่านศูนย์กระจายข่าวในระดับพื้นที่ และจังหวัดให้ประชาชนได้ทราบ และขอความร่วมมือสื่อมวลชนกระจายข่าวสาร ยอมรับว่า พื้นที่ที่กังวลคือจ.น่านที่มีน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากน้ำที่เสริมเข้ามา จึงอยากให้ประชาชนเฝ้าระวังสูงสุด
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวต่อว่า Cell Broadcast ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และส่งแจ้งเตือนประชาชนไปแล้วตั้งแต่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันจำนวน 56 ครั้ง แบ่งเป็นแผ่นดินไหว 2 ครั้ง อุทกภัย 45 ครั้ง ดินโคลนถล่ม 9 ครั้ง ในช่วงของวันที่ 20 ก.ค. สถานการณ์พายุวิพาส่งแจ้งเตือนไปแล้ว 24 ครั้ง อุทกภัย 15 ครั้ง ดินโคถล่ม 9 ครั้ง ส่วนวันที่ 22 ก.ค. ส่งแจ้งเตือนเพิ่มเติม 12 ครั้ง ในเรื่องของอุทกภัย
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า ศูนย์เตือนภัยของกระทรวงมหาดไทย ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ส่งสัญญาณเตือนภัยรวมถึงส่งข้อความเตือน ในช่วงเวลาเกิดเหตุจริงทุกช่วงเวลา และมีการแจ้งเตือนเตรียมพร้อมเส้นทางน้ำที่จะมาถึงแต่ละพื้นที่ ส่วนดินโคลนถล่มจุดเสี่ยงต่างๆได้ประกาศออกไปตามพื้นที่ต่างๆก่อนหน้านี้ ได้มีการขนย้ายและอพยพประชาชนออกมาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยทหารที่สนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนพาไปอยู่ศูนย์อพยพ
เมื่อถามว่า เรื่องการเดินทางในจ.น่านเข้าตัวเมือง บางจุดเส้นทางเริ่มสัญจรลำบากทางกระทรวงมหาดไทยได้มีการประสานกับกระทรวงคมนาคมในเรื่องการเดินทางโดยเฉพาะสายการบินบ้างหรือไม่ น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า จากที่ได้รับรายงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านรายงานว่า ยังมีถนนบางส่วนที่กระทบ แต่ในเรื่องของการบินหรือการเดินทางยังสามารถที่จะดำเนินการได้ตามปกติ ซึ่งคาดการณ์ว่าถ้ามีถนนหลายเส้นที่เกิดผลกระทบกับเรื่องของผู้เดินทางอาจจะต้องแจ้งให้ทราบเพื่อที่จะได้มีการเตรียมการเผื่อเวลาในการเดินทาง และอยากให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีการเตรียมความพร้อมติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการและได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้เตรียมในเรื่องของยานพาหนะช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ถูกตัดขาด
เมื่อถามว่า สถานการ์ณวันที่ 23 -25 ก.ค. ตามกรมอุตุนิยมวิทยามีความกังวลในช่วงวันใดเป็นพิเศษหรือไม่ น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า วันนี้น่าจะหนักที่สุด มีความกังวลมากที่สุด ประกอบกับปริมาฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องตลอดในพื้นที่โดยเฉพาะจ.น่าน แม้ตอนนี้ระดับของพายุวิพา จะลดความรุนแรงลงแต่ในพื้นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อม และก็ต้องมีการเฝ้าระวังสูงสุด หากทิศทางหรือความรุนแรงของพายุเกิดการเปลี่ยนแปลง
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวถึงเรื่องพื้นที่จ.เชียงรายที่ประชาชน มีความกังวลในเรื่องของสารปนเปื้อนในแม่น้ำกกและพื้นที่ในอ.แม่สาย ขอยืนยันว่า ตอนนี้อ.แม่สายได้รับผลกระทบน้อยมากเช่นเดียวกับเรื่องสารปนเปื้อนของแม่น้ำกที่ปริมาณฝนตกลงมาทำให้สารปนเปื้อนค่อนข้างเจือจาง ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ธีรรัตน์ เตรียมเดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์พายุวิภาในพื้นที่จ.เชียงรายและจ.น่าน เพื่อรับฟังรายงานเพิ่มเติมจากในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือให้กำลังใจชาวบ้านในพื้นที่ที่เดือดร้อน และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน