‘ประมูลศิลปะไทย’ ประเด็นร้อนในวงการ จะถกเถียงกันกี่ครั้งก็วนลูป?
ประเด็นร้อนของวงการศิลปะไทยตอนนี้ คงไม่หนีเรื่องการจัดงานประมูลในประเทศไทยที่คึกคักตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ละปีมีงานหลายร้อยชิ้นถูกนำขึ้นประมูล แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะแฮปปี้กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
24 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการจัดงานเสวนา “การประมูลงานศิลปะ ส่งเสริมหรือทำลายวงการศิลปะในเมืองไทย” ที่ BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายในงานมีการวิพากษ์ถึงการจัดงานประมูลในไทยในหลากหลายประเด็น ทั้งจากศิลปินแห่งชาติ ทายาทศิลปิน คนสะสมงานศิลปะ ไปจนถึงเจ้าของแกลเลอรี
สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมการประมูลศิลปะซึ่งเป็นส่วนขับเคลื่อนโลกศิลปะอันเป็นมาตรฐานสากล ถึงกลายเป็นปัญหาให้คนในวงการศิลปะจำนวนไม่น้อยที่ออกมาแสดงตัวให้เห็นชัดเจนว่า มีปัญหากับธุรกิจรูปแบบนี้ที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่ศิลปะของไทย
ในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่ติดตามเรื่องนี้แบบไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เราขอมาบอกเล่าต่อว่า ต้นต่อความไม่พอใจตรงนี้มาจากไหน? แล้วสุดท้ายการประมูลผลงานศิลปะของประเทศไทยจะดำเนินไปอย่างไร เพื่อให้เป็นการส่งเสริมมากกว่าทำลาย
#ความไม่พอใจการประมูลศิลปะในไทยมาจากไหน
มีหลายประเด็นที่วงการประมูลศิลปะไทยถูกพูดถึง
โดยพุ่งเป้าหลักไปที่ความไม่มีมาตรฐานในการประมูล โดยเฉพาะเรื่องราคาผลงานในการประมูล
ไม่ว่าจะเป็นฝั่งทายาทศิลปินที่เปิดเผยว่า ผลงานของคุณพ่อถูกนำไปประมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งบางผลงานทายาทยังถือลิขสิทธิ์อยู่ แต่ถูกนำไปประมูลโดยไม่มีการบอกกล่าวกันก่อน
นอกจากนี้ การตั้งราคาประมูลต่ำกว่าราคาขายของศิลปิน ทำให้ศิลปินถูกกดราคาผลงาน เพราะคนซื้อมองราคาประมูลที่ถูกลงเป็นราคากลางที่อยากให้ศิลปินขายในราคาที่ถูกลงไปอีก ทำให้ศิลปินเสียรายได้และเสียศักดิ์ศรีที่มูลค่างานถูกลดลง
รวมถึงยังมีประเด็นเรื่องการปลอมแปลงและดัดแปลงงานศิลปะ ที่ศิลปินหลายคนกังวลใจ โดยมีการให้ข้อมูลว่า งานประมูลเหล่านี้ไม่ได้ให้เกียรติศิลปิน คำนึงถึงแต่ผลกำไร พร้อมทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้รับเงินผ่านการประมูล ไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคาต่ำหรือสูงกว่าความเป็นจริง ไปจนถึงการดัดแปลงผลงานเพื่อให้อยู่ในสภาพที่พร้อมประมูล
นอกจากนี้ ในมุมของแกลเลอรี ก็ได้แบ่งปันเรื่องราวว่า มีการนำผลงานของศิลปินในสังกัดออกไปประมูล ซึ่งราคาไม่ตรงกับที่ศิลปินตกลงกับแกลเลอรีไว้ ทำให้เกิดปัญหาตามมากับทางแกลเลอรีเช่นกัน รวมถึงแกลเลอรีเองก็พลอยเสียชื่อเสียงไปด้วย เนื่องจากถูกหาว่าปั่นราคาในงานประมูล
#ปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร
กิตติภรณ์ ชาลีจันทร์ นักสะสมงานศิลปะ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจในงานเสวนาว่า ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะวงการศิลปะไทยยังไม่พร้อมกับการขับเคลื่อนวงการผ่านงานประมูลอย่างจริงจัง
นักสะสมรายนี้ให้ข้อมูลว่า การประมูลผลงานศิลปะในไทยเพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพิ่งเริ่มต้นอย่างจริงจังในปีช่วงปี พ.ศ.2564 นั่นหมายความว่าธุรกิจนี้เพิ่งเริ่มต้นในไทยได้ประมาณ 4-5 ปี
ปัญหาที่ตามมาคือการขาดประสบการณ์และมาตรฐาน หากเทียบกับวงการประมูลของต่างประเทศ ซึ่งดำเนินกิจการมายาวนาน รวมถึงให้ความสำคัญกับมาตรฐานการประมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาประมูล และคุณภาพผลงาน
นอกจากนี้ ยังมีการชี้ถึงประเด็นระดับการประมูล ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา การประมูลผลงานศิลปะจะมีหลายขั้น แบ่งตามมาตรฐานผลงานและราคาการประมูล เพื่อจัดระดับที่ชัดเจน และรักษามาตรฐานของวงการเอาไว้ ขณะที่การจัดงานประมูลในไทยแต่ละครั้งกลับ ไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานงานให้ชัดเจน
รวมถึงประเด็นที่ว่า วงการศิลปะไทยตอนนี้อาจไม่ได้พร้อมกับการประมูลอย่างมีคุณภาพ เพราะผู้เล่นในตลาดถือว่ายังมีน้อย เท่ากับการไม่ได้มีกำลังซื้อที่มากพอในการรักษาระดับราคาการประมูล แต่กลายเป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้คนมาหาซื้อผลงานศิลปะในราคาถูกมากกว่า และส่งผลกระทบถึงราคาในตลาด
มากกว่านั้น ยังมีมุมที่ว่า ตลาดประมูลในประเทศไทยกลายเป็นเหมือนตลาดนัดมือสองวงการศิลปะ เพราะผลงานในการประมูลมีจำนวนไม่น้อย มาจากผลงานที่นักสะสมเบื่อหรือไม่อยากเก็บแล้ว และใช้ตลาดประมูลเป็นที่โละของเพื่อให้ได้เงินกลับมาเท่านั้น ซึ่งทำให้คุณค่าการประมูลลดลงไปอีกด้วย
#ศิลปินนักสะสมต้องปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง
ในความเป็นจริงแล้วการประมูลในแต่ละประเทศ แต่ละพื้นที่ล้วนมีวัฒนธรรมของตัวเอง ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหามาตรฐานสากลร่วมกัน
วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ ผู้ก่อตั้ง VS Gallery ได้โพสต์ในเฟซบุ๊คของเขาแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้ว่า สิ่งหนึ่งที่ตลาดประมูลควรยึดเป็นมาตรฐานสากล คือไม่ควรนำงานมือหนึ่งเข้าประมูล เพราะถือว่าสิทธิ์เป็นของศิลปินเจ้าของผลงานอยู่ การซื้อขายยังไม่ได้เกิดขึ้น
รวมถึงอีกมุมหนึ่งคือบริษัทประมูลต้องมีการจ้างนักวิชาการที่มีความรู้ด้านศิลปะจริงๆ มาตั้งราคาในการประมูลเพื่อให้ได้มาตรฐาน
แต่มากไปกว่านั้นก็เริ่มพูดยากว่า อะไรคือมาตรฐานสากล แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการปกป้องสิทธิ์ของตัวเองจากทั้งศิลปินและนักสะสม
ยกตัวอย่างเช่น หากมีข้อสงสัยทางด้านการตั้งราคา หรือการนำงานปลอมมาประมูล ศิลปินและนักสะสมก็ต้องออกมากดดันหรือไปจนถึงแจ้งความผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งในงานเสวนาก็มีการเรียกร้องให้คนที่เสียประโยชน์จากการประมูลออกมาส่งเสียงแบบเปิดหน้า หรือเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเพื่อปกป้องตัวเองเช่นกัน
เพราะบางทีแล้ว การเรียกร้องหา ‘ความถูกต้อง’ ในการประมูลในแง่หนึ่งไม่ได้มีความสำคัญขนาดนั้น เพราะสุดท้ายนี่คือธุรกิจที่ขับเคลื่อนในตลาดเสรี ถ้าคนขายพอใจในราคา และคนซื้อพอใจในราคา จะราคาแบบไหนก็ขายได้ทั้งนั้น และตลาดประมูลก็สร้างมาเพื่อตอบโจทย์กลไกแบบนี้อย่างเต็มตัว
ในแง่หนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการประมูลไทยในปัจจุบัน ก็สะท้อนกับสิ่งที่วงการศิลปะเป็นอยู่ งานประมูลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องก็หมายความว่ายังมีคนที่พอใจกับการประมูล ราคางานศิลปะที่อาจจะถูกลง ก็อาจจะสะท้อนว่าคนซื้อต้องการจ่ายกับงานในราคาเท่านี้ ทั้งหมดก็ดำเนินไปตามกลไกตลาดที่เราปฏิเสธอิทธิพลของมันไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หากเชื่อว่าตัวเองเสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะในเรื่องของงานปลอม หรือถูกดัดแปลง ก็ต้องรีบออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองให้มากที่สุด เพราะตลาดเสรีก็มาพร้อมกับสิทธิเสรีในการปกป้องสิทธิ์ของตัวเองเช่นกัน
อย่างน้อยเราได้เห็นแล้วว่า มีคนมากขึ้นที่พร้อมจะเริ่มแสดงตัวส่งเสียงว่ามีปัญหาเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องดี แต่ใครที่มองว่าตัวเองได้รับผลกระทบก็อย่านิ่งเฉย ควรออกมาแสดงเสียงของตัวเองเช่นกัน เพราะในโลกสีเทาแบบนี้ ถ้าไม่ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ก็ไม่มีใรปกป้องผลประโยชน์ให้เรา
#ประมูลอย่างไรเพื่อยุติปัญหา
เห็นได้ชัดว่า ปัญหาการประมูลผลงานศิลปะในไทยมีอยู่ อย่างน้อยก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบเชิงลบ
แน่นอนว่าการประมูลผลงานศิลปะในไทย ก็มีข้อดีอยู่บ้างไม่น้อย ทั้งการดึงหน้าใหม่เข้าสู่การสะสมผลงานศิลปะ ทำให้ตลาดของวงการโตขึ้น หรือในฝั่งคนซื้อก็ไม่ได้ปฏิเสธความจริงที่ว่า การมีตลาดประมูลในไทย เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ผลงานของศิลปินชื่อดังในราคาที่ถูกและจับต้องได้
กิตติภรณ์ ชาลีจันทร์ ได้แสดงความเห็นว่า วงการประมูลศิลปะก็เหมือนดินแดนเถื่อนหรือโลก Wild Wild West แบบภาพยนตร์คาวบอยที่ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมากนัก เพราะไม่ได้มีตัวบทกฎหมายเป็นข้อบังคับอย่างจริงจัง ในการแลกเปลี่ยนผลงานศิลปะผ่านการประมูล ซึ่งไม่ได้เป็นเฉพาะในประเทศไทยแต่เป็นกันทั่วโลก
เมื่อกฎไม่ได้ชัดเจน ก็เป็นคำถามคลาสสิกระหว่าง “ผลประโยชน์ vs. จริยธรรม” เพราะสุดท้ายแต่ละฝ่ายจะเลือกทางไหนก็ได้ ระหว่างผลประโยชน์มาก่อน กับเก็บจริยธรรมเอาไว้
หากฟังเรื่องราวในการเสวนา สิ่งหนึ่งที่มีการเรียกร้องให้บริษัทประมูลมีมาตรฐานและจริยธรรมในการจัดงาน แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำอะไรที่ผิดข้อกฎหมายใดๆ รวมถึงชื่อของ “การประมูลเชิงพาณิชย์” ก็บอกอยู่แล้วว่า ผลประโยชน์ย่อมต้องมาก่อน
มันเหมือนกับปัญหา “ไ่ก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน?” คือการเถียงกันไม่จบไม่สิ้น และโลกทุนนิยมก็เป็นแบบนี้ มีคนได้ประโยชน์ ก็มีคนเสียประโยชน์ การหาจุดยืนตรงกลางก็เป็นเรื่องยาก แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทุกคนต้องการคืออยากให้วงการศิลปะไทยได้ประโยชน์มากกว่าผลเสีย คำถามคือมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
การหันหน้ามาพูดคุยกันคือเรื่องที่ดีที่สุด เพื่อหาจุดตรงกลางที่ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกันให้มากที่สุด
เพียงแต่ความจริงข้อนี้อาจเกิดขึ้นได้ยาก เพราะในงานก็มีการแชร์ข้อมูลว่า มีการพูดคุยระหว่างฝั่งผู้เสียประโยชน์กับฝั่งคนจัดงานประมูลอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้ข้อสรุป
การประมูลผลงานศิลปะในไทยตอนนี้ จะส่งเสริมหรือทำลายคงไม่สามารถตอบได้ แต่ถ้าปัญหาความขัดแย้งยังอยู่ต่อไป อันนี้บอกได้ว่าไม่ดีแน่ๆ กับวงการศิลปะ เพราะฉะนั้น คำถามที่แท้จริงคือ เราจะยุติปัญหาตรงนี้เพื่อให้วงการศิลปะจับมือเดินหน้าไปพร้อมกันได้อย่างไร? ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าทางออกจะจบแบบไหน แต่ยิ่งยืดเยื้อและปล่อยให้คาราคาซังก็มีแต่จะเจ็บตัว โดยเฉพาะวงการศิลปะบ้านเรา