คลังสินค้าไทยบูม ดาวรุ่ง แห่งอสังหาฯ จุดพลุลงทุนใน EEC & EV Hub
ท่ามกลางบรรยากาศชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยจากหลายปัจจัย และการปฏิเสธสินเชื่อที่พุ่งสูง แต่ไม่ใช่สำหรับอีกอุตสาหกรรม! นั่นคือ ธุรกิจคลังสินค้า ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็น "ดาวรุ่ง" สร้างปรากฏการณ์เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สวนทางกับภาพรวมของตลาดอสังหาฯ ที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงาน
อีคอมเมิร์ซ-ทุนนอก ปัจจัยบวกดันตลาดนิคมฯ ฮอตจัด!
ย้อนกลับไปช่วงโควิด-19 แม้หลายธุรกิจจะได้รับผลกระทบหนัก แต่กลับเป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการหันมาซื้อของออนไลน์และใช้บริการอีคอมเมิร์ซที่พุ่งพรวด ซึ่งเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่ส่งผลให้ ธุรกิจโลจิสติกส์ โรงงาน และคลังสินค้า ได้รับอานิสงส์เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อการซื้อขายออนไลน์ขยายตัว ความต้องการพื้นที่จัดเก็บและกระจายสินค้าก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างมหาศาล
เมื่อหันมามองตลาดคลังสินค้าในไทยที่กำลังได้รับการยอมรับอย่างสูงจากหลายปัจจัยสำคัญ เป็นการเติบโตแบบน้ำซึมบ่อทรายที่มีผลพวงต่อเนื่องมาจากช่วงโควิด – 19 จนในปี 2567 ที่ผ่านมา ตลาดคลังสินค้าให้เช่าและนิคมอุตสาหกรรมมีการเติบโตก้าวกระโดด
จากข้อมูลของ คอลลิเออร์ส ประเทศไทย บริษัทให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (Colliers International Group) ที่มีสำนักงานอยู่ทั่วโลก วิเคราะห์ว่า พื้นที่มียอดเช่าสัญญาใหม่รวมกว่า 350,000 ตารางเมตร ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คอนซูเมอร์ และศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าดีมานด์คุณภาพมีเพิ่มขึ้นจากทั้งในและต่างประเทศ
การขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดคลังสินค้าและนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ไม่เพียงแค่การขยายตัวด้านอีคอมเมิร์ซเท่านั้น แต่การย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนไปยังภูมิภาคอาเซียนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในตลาดนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ จนทำให้การซื้อขายที่ดินในพื้นที่นี้เพิ่มขึ้นถึง 50.12% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567
5 ปัจจัยหนุนตลาดคลังสินค้าไทย ดึงดีมานด์ทั้งใน-ต่างประเทศ
ธุรกิจคลังสินค้าในไทยกำลังได้รับแรงหนุนจากปัจจัยสำคัญที่โคจรมาบรรจบกันอย่างลงตัว แล้วอะไรคือพลังขับเคลื่อนที่ทำให้เซกเมนต์นี้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและน่าจับตามองในเวลานี้? สามารถสรุปรวมได้ว่า
- การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ: คนไทยยังคงช้อปออนไลน์อย่างต่อเนื่อง คาดว่ามูลค่าตลาด E-commerce จะเติบโตราว 7.0% ในปี 2568
- การย้ายฐานการผลิต: บริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะจากจีน ต่างย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน โดยมีไทยเป็นเป้าหมายหลัก เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่เอื้อหนุน และความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ
- อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV): การลงทุนในภาค EV กำลังทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ดึงดูดซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม
- การฟื้นตัวของการค้าโลกและภาคการท่องเที่ยว: ส่งผลให้ภาพรวมการนำเข้า-ส่งออก กระเตื้องขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด -19 รวมถึงความต้องการสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น
- นโยบายภาครัฐและการพัฒนา EEC: เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เป็นปัจจัยสำคัญที่เสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของไทย
ความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้ราคาค่าเช่าพื้นที่ในบางทำเลสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีราคาเสนอเช่าสูงกว่า 200 บาทต่อ ตร.ม. และในพื้นที่ EEC ราคาซื้อขายที่ดินยังเพิ่มขึ้นถึง 50.12% สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตที่แท้จริง
สำหรับในประเทศไทยตลาดคลังสินค้า มีผู้ให้บริการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่:
- กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม: เน้นให้บริการพื้นที่จัดเก็บและบริหารจัดการสินค้าภายในคลังสินค้า ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรม เช่น WHA, FPT และ WIN
- กลุ่มโลจิสติกส์: ให้บริการด้านโลจิสติกส์ครบวงจร ทั้งการจัดเก็บ บริหารจัดการสินค้าภายในคลัง รวมถึงบริการขนส่งและบรรจุภัณฑ์ เช่น SINO, SJWD, KWC, WICE, III, LEO และ MPJ
คลังสินค้าโต ดึงธุรกิจอื่นโตตาม!
การเติบโตของธุรกิจคลังสินค้าและนิคมอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้จบลงแค่ภาคส่วนเดียว แต่ยังส่งผลดีอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคส่วนอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อาทิ ภาคการผลิตและอุตสาหกรรมส่งออก เช่น อาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และบรรจุภัณฑ์ ที่ต้องการพื้นที่จัดเก็บและกระจายสินค้ามากขึ้น ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ครบวงจร ที่ต้องเข้ามาพัฒนาระบบและเทคโนโลยีเพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบถนน ทางราง และท่าเรือ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งของประเทศ
แม้ตลาดอสังหาฯ โดยรวมจะเผชิญความท้าทาย แต่ธุรกิจคลังสินค้าในไทยกลับฉายแสงโดดเด่น ด้วยปัจจัยหนุนที่แข็งแกร่งและความต้องการแท้จริงจากภาคอีคอมเมิร์ซ อุตสาหกรรม EV และการย้ายฐานการผลิต การเติบโตนี้จึงเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าลงทุนและมีศักยภาพสูงสำหรับอนาคต
แหล่งที่มาของข้อมูล:
- ธุรกิจคลังสินค้าโตแรง! เพราะคนไทยช้อปออนไลน์ไม่มีแผ่วhttps://workpointtoday.com/warehouse-756832-2/
- คลังสินค้า-นิคมฯดาวรุ่งในปี68ดันราคาที่ดินโซนอีอีซีพุ่ง50%,https://www.bangkokbiznews.com/property/1159936
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC),https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/business-maker/warehouse-logistics
- Warehouse & Logistics ถึงเวลาปรับตัวก่อนถูกดิสรัป,https://www.krungsri.com/th/research/industry/summary-outlook/Thailand-industry-outlook-summary-2025-2027