โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

พืชหายาก ขุมทรัพย์ของมนุษย์ที่ถูกหลงลืม เมื่อผู้คนในเมืองห่างไกล ‘พืช’ เข้าไปทุกที

Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

อัพเดต 1 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 1 วันที่แล้ว
ภาพไฮไลต์

‘พืช’ คือสิ่งมีชีวิตที่กระจายอยู่ทั่วโลกและมีอยู่หลากหลายชนิดนับไม่ถ้วน มนุษย์ถือเป็นสัตว์กินเนื้อและพืช (omnivore) และมีภูมิปัญญาในการนำพืชมาใช้เป็นยารักษาโรคมาตั้งแต่ในอดีต แต่ปัจจุบันเราอาจคุ้นเคยกับพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่มักอยู่บนจานอาหาร เช่น ผักหรือสมุนไพรต่างๆ

เมื่อผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยถนนและตึก เราห่างไกลธรรมชาติมากขึ้น เราแทบไม่เห็นพืชต่างๆ จนเคยชินและห่างไกลพืชขึ้นไปทุกที ภูมิปัญญาและองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชต่างๆ จึงเริ่มเลือนรางหายไปและถูกมองว่าไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตมากนัก

เจมส์ เอช วันเดอร์ซี (James H. Wandersee) และเอลิซาเบธ อี ชุสเลอร์ (Elisabeth E. Schussler) นักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกัน บัญญัติศัพท์ปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Plant Blindness’ (ภาวะมืดบอดต่อพืช) เมื่อปี 1999 โดยมีคำนิยามว่า ปรากฏการณ์ที่มนุษย์ไม่สามารถสังเกตเห็นหรือให้ความสำคัญกับพืชในสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้อย่างเพียงพอ รวมถึงการไม่ตระหนักถึงความสำคัญของพืชต่อระบบนิเวศและต่อมนุษย์

การมีภาวะมืดบอดต่อพืชนี้จะส่งผลให้ความสนใจในการเรียนรู้เรื่องพฤกษศาสตร์น้อยกว่าสัตววิทยา และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พืชในวงกว้าง และด้วยระบบเศรษฐกิจทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการค้ามากกว่าการปลูกพืชพันธุ์ที่หลากหลาย เช่น ไร่หมุนเวียน

ไม่นานนี้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (BGO) เปิดเผยภาพการพบเจอพืชหายากชื่อ Heterostemma brownii Hayata ที่พรมมอสกลางผืนป่าดิบในจังหวัดเชียงราย มันเป็นพืชที่หายจากบันทึกโลกนานถึง 113 ปี จากเคยมีรายงานค้นพบในไต้หวัน จีน และเวียดนามเมื่อประมาณปี 1906 จนกระทั่งเมื่อปี 2019 ทีมนักอนุกรมวิธานพืชจากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ค้นพบอีกครั้งในพื้นที่ป่าดิบของเชียงราย แม้การค้นพบนี้ความจริงแล้วจะผ่านมาหลายปี แต่ภาพของพืชชนิดนี้ถูกเผยแพร่ออกมาก็สร้างความยินดีให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก

การค้นพบพืชหายากถือเป็นการค้นพบสำคัญที่ต่อยอดการศึกษาวิจัยความหลากหลายชีวภาพอย่างมาก แต่คำว่า ‘พืชหายาก’ อาจมีรายละเอียดมากกว่านั้น เพราะความจริงแล้วพืชนั้นอาจมีตัวตนอยู่ตั้งแต่แรก ในพื้นที่ที่คนเข้าไปไม่ถึง แต่ด้วยปัจจุบันการสำรวจและวิจัยมีการพัฒนาขึ้นมาก ทำให้เราค้นพบพืชดังกล่าวมากขึ้น หรือพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ถูกรบกวนน้อยลง ทำให้พืชพรรณหายากถูกค้นพบเพิ่มขึ้น

แม้ยังไม่มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับ Heterostemma brownii Hayata มากนัก แต่มีรายงานว่าพืชสกุล Heterostemma ชนิดอื่นๆ อาจมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง การค้นพบ Heterostemma brownii Hayata นี้จึงเปิดโอกาสให้นักวิจัยสามารถศึกษาพืชสกุลนี้ได้มากขึ้น

แต่ภาวะมืดบอดต่อพืชของคนในปัจจุบันอาจเป็นภัยเงียบที่อันตรายต่อพืชหายาก เพราะเมื่อผู้คนไม่ตระหนักถึงความสำคัญของพืชรูปแบบดังกล่าว การรักษาพวกมันไว้ย่อมเป็นเรื่องยาก ทั้งเงินทุนในการอนุรักษ์ที่น้อยเมื่อเทียบกับการอนุรักษ์สัตว์ หรือการรุกพื้นที่อยู่อาศัยของพืชเพื่อทำเกษตรหรือถนนต่างๆ

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นพืชหายาก บางครั้งก็เกิดการซื้อขายอย่างผิดกฎหมายในหมู่นักสะสม ทำให้พืชเหล่านี้ลดจำนวนลงไปอย่างรวดเร็วและเสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งคนทั่วไปมักไม่รู้จักพืชหายากเหล่านี้ทำให้การตรวจสอบหละหลวมและหลายคนมองว่าพวกมันเป็นสิ่งไม่มีชีวิตหรือความรู้สึก จึงขาดแรงผลักดันจากสังคมในการหยุดยั้งการกระทำเหล่านี้

หากมองไปยังประวัติศาสตร์ของพืชถือว่ามีเรื่องราวมากมายจนนับไม่ถ้วน ทั้งที่ถูกบันทึกไว้และไม่ถูกบันทึกไว้ ไทยรัฐพลัสจึงชวนย้อนเหตุการณ์ของการค้นพบพืชหายากต่างๆ ที่สำคัญกับชีวิตของมวลมนุษยชาติมาหลายยุคสมัยจนจวบปัจจุบัน เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าของพืชที่อาจสำคัญมากกว่าที่คิด

ยาควินินจากต้นซิงโคนา ยารักษามาลาเรียในช่วงล่าอาณานิคม

ต้นซิงโคนา (Cinchona tree) เป็นพืชเฉพาะถิ่นในป่าดิบชื้นแถบเทือกเขาแอนดีสของอเมริกาใต้ เช่น เปรู โบลิเวีย และเอกวาดอร์ ซึ่งในอดีตหายากและเป็นที่รู้จักเฉพาะในหมู่ชนพื้นเมือง

ในช่วงศตวรรษที่ 17-19 ที่โรคมาลาเรียระบาดและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนอันดับต้นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อนชื้นที่มีการระบาดอย่างหนัก ซึ่งชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ที่มีต้นซิงโคนาในพื้นที่ค้นพบว่าเปลือกไม้ของต้นไม้ดังกล่าวสามารถใช้รักษาไข้ได้ มิชชันนารีและนักสำรวจชาวยุโรปในช่วงยุคล่าอาณานิคมได้นำความรู้นี้กลับไปพัฒนาต่อที่ยุโรป ต่อมาต้นซิงโคนาถูกสกัดออกมาเป็นสารควินิน (Quinine) ที่เป็นส่วนสำคัญในการรักษามาลาเรีย

การมีสารควินินอยู่ในมือทำให้ชาวอังกฤษและฝรั่งเศสสามารถเข้าไปตั้งอาณานิคมในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งเป็นแหล่งของไข้มาลาเรียได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ทำให้ผู้ล่าอาณานิคมแผ่ขยายอิทธิพลเป็นวงกว้างและรุกรานไปยังในหลายประเทศทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน การมีสารควินินก็ช่วยให้ผู้คนเสียชีวิตจากมาลาเรียลดลงในหลายพื้นที่

ปัจจุบันยังมีการใช้ยาควินินอยู่ แต่ก็มีสถิติการใช้ลดลง เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่ได้แนะนำให้ใช้ควินินเป็นยาหลักในการรักษามาลาเรียอีกต่อไป เพราะมีสารอื่นที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าและมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ควินินยังคงใช้ในการรักษาโรคมาลาเรียในบางกรณี โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยดื้อต่อยาอื่นและใช้แทนตัวยาบางชนิด

นอกจากนี้ ต้นซิงโคนายังถูกกระจายปลูกไปยังพื้นที่เขตร้อนมากขึ้น เช่น อินเดีย ศรีลังกา เวียดนามหรือไทย โดยมีบางประเทศที่ต้นซิงโคนากลายเป็นพืชรุกราน เช่น ฮาวาย

ยารักษามะเร็งจากต้นแพงพวยฝรั่ง

ต้นแพงพวยฝรั่ง (Catharanthus roseus หรือ Vinca rosea) เดิมเป็นพืชเฉพาะถิ่นและหายากในป่าของเกาะมาดากัสการ์

จนกระทั่งในช่วงประมาณปี 1950-1960 ‘Eli Lilly’ บริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ได้เริ่มสำรวจพืชสมุนไพรที่นำมาเป็นยาได้ โดยมีนักวิจัยค้นพบว่าสารอัลคาลอยด์ (สารประกอบอินทรีย์)ในต้นแพงพวยฝรั่ง ได้แก่ วินคริสตีน (Vincristine) และ วินบลาสทีน (Vinblastine) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ และสามารถใช้รักษามะเร็งได้

การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการปฏิวัติวงการรักษามะเร็งในยุคแรกๆ วินคริสตีนและวินบลาสทีนจากต้นแพงพวยฝรั่งเป็นยาเคมีบำบัดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและมีประสิทธิภาพสูง โดยผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดจากการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก ยาตัวนี้ทำให้เด็กจำนวนมากรอดชีวิตจากเดิมที่เป็นโรคร้ายแรงไม่มีทางรักษาหาย

ประสิทธิภาพของมันส่งผลให้เกิดวิจัยพืชสมุนไพรเพื่อค้นหายาใหม่ๆ มากขึ้น และภายหลังต้นแพงพวยฝรั่งก็ถูกนำไปปลูกมากขึ้นในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนเกือบทั่วโลกหลังจากที่ค้นพบประโยชน์ทางการแพทย์ นอกจากนี้ด้วยความสวยงามของต้นแพงพวยฝรั่ง บางครั้งมันก็ถูกนำไปปลูกเป็นไม้ประดับด้วย

ยางพาราและการปฏิวัติอุตสาหกรรม

แม้เราอาจคุ้นเคยกับต้นยางพารา (Hevea brasiliensis) เนื่องจากมีการปลูกในภาคใต้ของไทยอย่างแพร่หลาย แต่ต้นกำเนิดของต้นยางพาราเดิมเป็นพืชท้องถิ่นในป่าลึกของลุ่มน้ำอเมซอนในอเมริกาใต้

ชนพื้นเมืองในอเมซอนใช้ประโยชน์จากยางพารามาเนิ่นนานแล้วและเรียกต้นยางพาราว่า เกาชู (cao tchu) หรือแปลว่า ต้นไม้ร้องไห้ เพราะมีน้ำยางไหลออกมาจากต้น ยางพาราผูกพันกับวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองอเมซอนในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ยางพาราถูกนำมาทำลูกบอลสำหรับเล่นกีฬา ทำภาชนะบรรจุน้ำ หรือทำรองเท้าที่ช่วยให้สามารถเดินป่าในสภาพอากาศที่ชื้นแฉะได้ดี

จนกระทั่งในปลายศตวรรษที่ 15 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาลีได้ไปพบเห็นชนพื้นเมืองเล่นกับลูกบอลยางในปี 1493 ระหว่างการเดินทางสำรวจอเมริกาครั้งที่สอง แต่ ณ ขณะนั้นชาวยุโรปยังไม่เห็นประโยชน์ของยางพาราในเชิงพาณิชย์เท่าไหร่นัก

ต่อมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ชาร์ลส์-มารี เดอ ลา กงดามีน (Charles-Marie de La Condamine) นักวิทยาศาสตร์และนักสำรวจชาวฝรั่งเศสนำตัวอย่างยางพารากลับไปยังยุโรปในปี 1736 พร้อมทั้งเขียนรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายคุณสมบัติหลายอย่างของยางพารา และนำไปสู่การแปรรูปยางพาราเป็นเครื่องใช้อื่นๆ เช่น ยางลบ หรือยางรถยนต์ในเวลาต่อมา

ในศตวรรษที่ 19 ความต้องการยางธรรมชาติในยุโรปและอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อนำมาผลิตเป็นยางรถยนต์และสินค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ

เฮนรี วิกคัม (Henry Wickham) นักสำรวจชาวอังกฤษจึงลักลอบนำเมล็ดพันธุ์ยางพาราออกจากบราซิลไปยังสวนพฤกษศาสตร์คิว (Kew Gardens) ในอังกฤษเมื่อปี 1876 เพื่อนำไปปลูกในประเทศอาณานิคมของอังกฤษ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ ทำให้ยางพารากลายเป็นพืชเศรษฐกิจของโลกจากเดิมเป็นเพียงพืชท้องถิ่น

อีกทั้งเมื่อมีวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมและการคมนาคมต่างๆ เฟื่องฟูมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังกลายเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก ทำให้เศรษฐกิจในระดับภูมิภาคดีขึ้นมาก

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เราเห็นว่าพืชที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันก็อาจเป็นพืชหายากมาก่อน เพราะผู้คนยังไม่รู้จักคุณค่าของมัน พืชหายากหลายชนิดจึงเป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่นักพฤกษศาสตร์ทั่วโลกต่างตามหาเพื่อศึกษา

แต่คุณค่าของพืชหายากถูกลดทอนความสำคัญไปอย่างมากในปัจจุบันและเราอาจลืมเลือนว่าพืชเหล่านี้เคยมีตัวตนอยู่บนโลกเลยด้วยซ้ำ สิ่งมีชีวิตสีเขียวนี้อาจดูเป็นเพียงฉากหลังของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่เราเผลอมองข้ามไป แต่หากเราลองทำความรู้จัก ‘พืช’ ที่หลากหลายบนโลกนี้มากขึ้น ไม่แน่ว่าพืชหายากอาจเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของโลกนี้ไปเลยก็ได้

อ้างอิง: malariajournal, cabidigitallibrary.org, sciencedirect.com, online.ucpress.edu, kew.org, https://portal.dnp.go.th/, britannica.com, cancer.gov, unodc.org, traffic.org

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

'Femme Fatale' ฉลาก ‘นารีพิฆาต’ ที่ดึงสายตาเราไปจากประเด็นสำคัญ

22 ชั่วโมงที่ผ่านมา

จากอรัญประเทศถึงช่องบกและเส้นเขตแดนที่ไม่เคยมีอยู่จริงของคนชายแดน

1 วันที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

10 ปี คืนชีวิต ‘คลองขนมจีน’ จ.อยุธยา ผ่านโครงการยั่งยืน ‘เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ’

TODAY
วิดีโอ

เงินดีชีวิตปัง ชีวิตพยาบาลข้ามทวีป แค่ทำงานไม่กี่วันก็คุ้มแล้ว

สยามนิวส์

“น้ำตกภูผาสวรรค์” แหล่งธรรมชาติอันซีนกลางป่า จ.พังงา

สำนักข่าวไทย Online

เผ่าภูมิ’ เผย ทีมไทยแลนด์จะ เจรจาภาษีสหรัฐคืนนี้ ยันไทยไม่เปิดตลาด 100% ยึดหลักสมดุล

JS100

มรดกวัฒนธรรมจีน ‘ไม้แกะสลักแห่งผูเถียน’ รุ่งเรืองจากอดีตจวบจนปัจจุบัน

Xinhua

ชาวดรูซคือใคร เหตุใดอิสราเอลจึงโจมตีซีเรียเพื่อปกป้องพวกเขา?

SpringNews

ไม่เหมือนใคร ครูวัยเกษียณติดตัวการ์ตูนรอบรถกระบะ

สำนักข่าวไทย Online

ผบ.ตร.หวัง “กัมพูชา” ร่วมมือส่งผู้ร้ายข้ามแดน "คดีก๊กอาน"

NATIONTV

ข่าวและบทความยอดนิยม

ดูเพิ่ม
Loading...