'Femme Fatale' ฉลาก ‘นารีพิฆาต’ ที่ดึงสายตาเราไปจากประเด็นสำคัญ
ตั้งแต่มีข่าว ‘สีกากอล์ฟ’ หญิงคนหนึ่งผู้มีความสัมพันธ์กับพระชั้นผู้ใหญ่ 7 รูป จนนำไปสู่การลาสิกขา สิ่งที่เราได้เห็นทุกๆ วันคือ ‘คีย์เวิร์ด’ สุดแสนครีเอทีฟ ฉายาที่โผล่ขึ้นมาแรกๆ ของเธอคือ“นารีพิฆาตสงฆ์” และ “สีกาล่าเจ้าคุณ” และล่าสุดที่พระพรหมบัณฑิตให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ณ ขณะนี้มี “มหาเสนาบดีมาร” กำลังครอบงำคณะสงฆ์
หากนำคีย์เวิร์ดเหล่านั้นไปชนกับทิศทางของสังคมที่มุ่งบอกว่า ‘สงสารพระ’ เพราะเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเราทุกคนและการอุปสมบทตั้งแต่ยังเยาว์ทำให้พวกเขาอ่อนต่อโลก ผมนึกถึงประเภทตัวละครในหนังและวรรณกรรมประเภทหนึ่ง นั่นคือ‘Femme Fatale’ หญิงสาวผู้ทั้งสวย ทั้งฉลาด แต่ใช้ความสวยและฉลาดของตัวเองในการทำชั่ว
การเชื่อมโยงภาพจำนารีพิฆาตนี้เข้าไปยังตัวละครวรรณกรรมที่มีอยู่มาตั้งแต่สมัยโบราณเป็นมากกว่าการสังเกตการณ์สนุกๆ แต่ Femme Fatale เป็นประเภทตัวละครที่กระโดดข้ามไปมาจากเรื่องแต่งและโลกจริง หลายๆ ครั้งถูกใช้เบี่ยงเบนประเด็นและความผิดที่เกิดขึ้นจริง หรือบางครั้งถึงขั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสาดสีใส่คนที่ไม่ได้ทำผิด
Femme Fatale ความสวยกินคนที่อยู่กับเรามาตั้งแต่โบราณ
มองย้อนกลับไปในวรรณกรรมในอดีต เราสามารถพบตัวละครที่ตกอยู่ในหมวดหมู่หญิงสาวผู้ใช้เสน่ห์และสติปัญญาของตัวเองในการฆ่าผู้ชายได้ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ตัวอย่างเช่นไซเรน ปีศาจหญิงผู้อาศัยอยู่ในมหาสมุทร ใช้เสียงร้องเพลงเพื่อสะกดใจนักเดินเรือผู้ชายให้เดินเข้าหาความตายของตัวเอง โดยในภาษาอังกฤษ ชื่อเรียกไซเรนยังถูกใช้เป็นเหมือนแสลงที่สื่อถึงกลุ่มผู้หญิงที่เอารัดเอาเปรียบผู้ชาย
Femme Fatale ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์อยู่ในปกรณัมคริสตศาสนา อีฟคือหญิงสาวผู้ชักชวนอดัมให้กินผลไม้ต้องห้ามในสวนอีเดน กลายเป็นบาปกำเนิด (Original Sin) ที่ติดตัวมนุษยชาติไปตลอดกาล และนอกจากนั้นในเวอร์ชั่นของศาสนายิว ภรรยาคนแรกของอดัมชื่อว่า ลิลิธ หญิงร้อนแรงผู้ถูกไล่ออกจากสวนอีเดนเนื่องจากนางไม่เชื่อฟังสามี และกลายเป็นมารดาของปีศาจในที่สุด
ตัวละครรูปแบบนี้โผล่มาให้เราเห็นอยู่เสมอ แต่ว่าชื่อเรียก Femme Fatale กลายเป็นคำที่ทุกคนรู้จักเมื่อนิยายและภาพยนตร์สืบสวนสอบสวนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราว่าใครๆ ก็นึกภาพหญิงสาวลึกลับ สวมแว่นดำ สูบบุหรี่ด้วยท่าทางยั่วยวน และแต่งตัวแบบเดาไม่ออกว่าจะไปไนต์คลับหรือว่างานศพกันแน่
“นักวิชาการเสนอว่าความนิยมของตัวละคร Femme Fatale ในโลกภาพยนตร์กลางศตวรรษที่ 20 เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงในบทบาททางเพศที่ผู้หญิงเริ่มประกอบอาชีพนอกบ้านตัวเองมากขึ้นเพื่อคงหาเลี้ยงครอบครัวระหว่างที่ผู้ชายออกไปรบ” บทความเรื่อง Femme Fatale โดยพจนานุกรม Britannica เขียนอธิบาย
นิยายสืบสวนสอบสวนตั้งอยู่บนความรู้สึกไม่ไว้วางใจของมนุษย์ โลกของวรรณกรรมเหล่านี้มักมืดดำ ไม่มีใครน่าเชื่อถือ และทุกคนต่างมีจริยธรรมสีเทา ในทางหนึ่ง วรรณกรรมสืบสวนสอบสวนหลังสงครามโลกสะท้อนความหวาดระแวงของยุคสมัย เวลาเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าเปลี่ยนความหมายของศีลธรรมขาวดำที่โลกเคยยึดถือ Femme Fatale เป็นหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนความวิตกกังวลนั้น
นารีพิฆาตและการโยนความผิดให้ ‘มารยาหญิง’
การที่คนคนหนึ่งจะถูกจัดว่าเป็น Femme Fatale ได้ ไม่ใช่แค่เพราะว่าคนคนนั้นเป็นผู้หญิงที่ทำในสิ่งไม่ดี แต่ว่าต้องเจาะจงว่าเป็นผู้หญิงที่ใช้ ‘ความเป็นหญิง’ เป็นเครื่องมือในการทำไม่ดี บทสนทนาเรื่อง Femme Fatale จึงผูกติดกับมิติเพศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แก่นของการเป็น Femme Fatale คือ ‘การเป็นผู้หญิงในแบบที่สังคมบอกว่าไม่ควรจะเป็น’ สังคมบอกว่าผู้หญิงต้องเป็นผู้ตอบสนองอารมณ์ของผู้ชาย ส่วน Femme Fatale คือคนที่รู้ว่าผู้ชายมีจุดอ่อนอารมณ์ตรงไหน แล้วใช้จุดอ่อนนั้นในการถือครองอำนาจเหนือพวกเขา สังคมบอกว่าผู้หญิงเป็นผู้ตาม แต่ Femme Fatale เป็นมากกว่าผู้นำด้วยซ้ำ เธอเป็นอิสระ เธอโดดเดี่ยว และความอิสระนั้นถูกมองว่าคือความเป็นแก่ตัวเสมอในเรื่องเล่า
อย่างที่เราว่าไปก่อนหน้า ตัวละครนารีพิฆาตที่เราคุ้นตาสะท้อนความกลัวของยุคสมัย และหนึ่งในความกลัวของผู้ชายที่มีรากมาจากความเชื่อเหยียดเพศที่มีอยู่ตลอด นั่นคือความกลัวว่าพวกเขาจะถูกผู้หญิงหลอก และเหตุที่พวกเขาหวาดกลัวเรื่องนี้ก็เพราะแนวคิดการมองเซ็กซ์ผ่านสายตาเศรษฐศาสตร์
ทฤษฎี Sexual Economics ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักจิตวิทยาสังคม รอย บอไมสเตอร์ มันเป็นทฤษฎีที่มองเพศสัมพันธ์เป็นตลาด และเซ็กซ์เป็นทรัพยากรที่ผู้หญิงถือครอง ส่วนผู้ชายต้องการ โดยในทฤษฎีนี้ผู้หญิงจะสามารถถือครองร่างกายของตัวเองเอาไว้ จนกว่าผู้ชายจะสามารถหาทรัพยากรอื่นมาแลกไป อาจจะเป็นความรัก เงิน ความมั่นคง ความสนใจ ฯลฯ คงจะแปลกใจถ้าผมบอกว่าทฤษฎีนี้กำเนิดขึ้นเมื่อปี 2004 ไม่ใช่ช่วง 50s เพราะหากใช้สายตาการมองเพศในปัจจุบันมอง ทฤษฎีนี้คงมีรอยพรุนยิ่งกว่าถนนลูกรัง
แม้จะเกิดขึ้นเมื่อปี 2004 ปฏิเสธไม่ได้ว่ามุมมองเพศเช่นนี้มีอยู่ในโลกจริงๆ ก่อนที่ทฤษฎีนี้จะถูกตีพิมพ์ เนื่องจากมันอยู่ในโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่มาเนิ่นนาน โครงสร้างที่มองว่าคุณค่าหลักของผู้หญิงอยู่ที่เซ็กซ์และการเป็นวัตถุทางเพศ และตัวละคร Femme Fatale เป็นประเภทตัวละครที่ตระหนักรู้ถึงอำนาจที่พวกเธอมีเหนือเซ็กซ์และใช้มันให้เป็นประโยชน์ เราน่าจะคุ้นชื่ออำนาจนี้ว่า ‘มารยาหญิง’
ตัวอย่างของการที่แนวคิด Femme Fatale ถูกใช้ลดทอนคนไม่ได้อยู่ในเรื่องแต่ง แต่เป็นคนจริงๆ นั่นคือราชินีคลีโอพัตรา ราชินีคนสุดท้ายของราชวงศ์ปโตเลมี เรื่องราวชีวิตของเธอถูกเล่าต่อผ่านวรรณกรรมและภาพยนตร์ ที่บอกว่าอำนาจของเธอมาจากการใช้มารยาและความงามในการยั่วยวนคนมีอำนาจ เช่น จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์ และนายพลมาร์ค แอนโทนี ทั้งหมดนำไปสู่การเสียกรุงของอียิปต์ให้กับอาณาจักรโรมัน
แต่ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ คลีโอพัตราเป็นที่รู้จักเพราะความสามารถด้านการเมืองการปกครอง การทูต และสติปัญญาของเธอ นักเขียนและปราชญ์พลูทาร์กเขียนไว้ในหนังสือ Life of Antony ว่าความงามของเธอ “ไม่ได้โดดเด่นอะไรในตัวของมันเอง” เพียงแค่ว่าราชินีรู้วิธีวางท่าให้สง่าเท่านั้น
ภาพ Femme Fatale ของเธอมาจากโฆษณาชวนเชื่อของโรมัน และบทละครของวิลเลียม เชคสเปียร์ ฉายแสงทำให้รักของนางกับมาร์ค แอนโทนีกลายเป็นเรื่องรักโศกนาฏกรรมอมตะ การถูกฉายภาพแบบดังกล่าวมาหลายศตวรรษทำให้เรามองเรื่องราวของราชินีผู้หลักแหลมเหลือแค่ ‘มารยาหญิงสามารถทำให้อาณาจักรล่มสลายได้’
มารยาหญิงถูกใช้เป็นสิ่งที่เบี่ยงเบนเราออกจากประเด็นต่างๆ บทสนทนารอบๆ กรณีสีกากอล์ฟที่เราเห็นอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้วนเวียนอยู่กับการโยนโทษให้กับ ‘ความเป็นหญิง’ มากกว่าการพูดเรื่องการกระทำจริงๆ หรือช่องโหว่ในการตรวจสอบในวงการพระสงฆ์เสียด้วยซ้ำ
สวยเป็นภัย (ต่อตัวเอง)
อย่างที่เราว่าไป ฉลาก Femme Fatale กระทบกับคนในชีวิตจริงได้ และมันเคยทำให้คนบางคนติดคุกจริงๆ มาแล้ว
เมื่อปี 2009 อแมนดา น็อกซ์ สาวชาวอเมริกันพบร่างรูมเมทของเธอระหว่างที่เธออาศัยอยู่ที่อิตาลี หลังจากนั้นน็อกซ์และแฟนหนุ่มถูกตัดสินจำคุก 30 ปีในข้อหาฆาตกรรม โดยสื่ออิตาลีตีข่าวว่าเธอเป็นคนเย็นชา เปิดกว้างเรื่องเพศ และที่สำคัญคือตั้งฉายาเธอว่า Foxy Knoxy เพื่อให้ผู้คนมองเธอเป็นคนเจ้าเล่ห์ เธอใช้เวลาในคุกอยู่ราว 4 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเพราะพบฆาตกรจริงๆ
น็อกซ์ถูกตีตราว่าเป็น Femme Fatale เพราะว่าเธอเป็นผู้หญิงหน้าตาดี ที่ไม่แสดงออกเหมือนที่ผู้หญิงพึงแสดงออก สวยเกินไปเมื่อเกิดโศกนาฏกรรมและนิ่งเกินไปเมื่อควรร้องไห้ เธอกลายเป็นเป้าประจำสัปดาห์สำหรับสื่อในการเขียนพาดหัวขายหนังสือพิมพ์ และการถูกแปะป้ายครั้งนั้นพรากชีวิตอิสระของเธอไปถึง 4 ปี
ทั้งหมดทั้งมวล นี่ไม่ใช่การบอกว่าใครบริสุทธิ์หรือใครไม่บริสุทธิ์ แต่เป็นการเชื้อเชิญให้เรามองกรณีต่างๆ โดยตระหนักรู้ถึงฉลาก Femme Fatale ฉลากที่บางครั้งก็ทรงพลัง บางครั้งก็เหยียดเพศ
แต่บ่อยครั้งที่สุด มันเป็นฉลากที่เตะตาเหลือเกิน จนมันทำให้เรามองไม่เห็นประเด็นสำคัญ
อ้างอิง: britannica.com, psychologytoday.com, cbsnews.com, nationalgeographic.com, youtube.com
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath