จากอรัญประเทศถึงช่องบกและเส้นเขตแดนที่ไม่เคยมีอยู่จริงของคนชายแดน
รถไฟเข้าเทียบสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่บรรยากาศดูเงียบเหงาลงถนัดตา ผู้โดยสารบางส่วนเป็นชาวกัมพูชาที่หอบข้าวของและลูกของพวกเขาเตรียมเดินทางกลับบ้าน ด่านพรมแดนบ้านคลองลึกที่เคยคึกคักอยู่ตลอดเวลากลายเป็นด่านร้าง วินรถสามล้อกลุ่มหนึ่งยังคงออกมารอคอยผู้โดยสาร
“คนชายแดนเขาไม่มีปัญหาขัดแย้งกัน เพราะเราต่างหากินอยู่ชายแดนต้องพึ่งพากันและกันทั้งสองฝั่ง”
หนวด เป็นคนขับสามล้อที่ยึดอาชีพนี้มาได้ 20 กว่าปีแล้ว เขาเล่าว่าออกจากบ้านมาตั้งแต่ 05.00 น. จนถึงตอนนี้เพิ่งรับลูกค้าได้แค่ 1 คน รายได้จากปกติ 500 บาท มาวันนี้ลดลงเหลือ 100 บาท
“ผมเคยรับผู้โดยสารคนกัมพูชา” หนวดเล่าประสบการณ์ของตนเอง “เขาบอกผมว่า ‘ผมไม่อยากกลับเลย กลับไปก็ไม่มีงานทำ จะไปทำอะไรกิน’”
หนวดคนขับสามล้อ.
ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่เกิดขึ้น คนที่ได้รับผลกระทบอันดับแรกหนีไม่พ้นคนที่อยู่ตามแนวชายแดน หนวดเล่าว่าตอนนี้เรื่องของความปลอดภัยและการสู้รบ ก็ไม่น่ากลัวเท่าการต้องอดตายเพราะไม่สามารถทำมาหากินได้
“อรัญประเทศเป็นเมืองตันไม่มีทางผ่าน ถ้าไม่มีด่านก็ไม่มีใครมา แล้วผมจะเอาอะไรกินถ้าทั้งสองฝั่งยังเลือกปิดด่านใส่กันแบบนี้”
ไม่ใช่แค่กลุ่มคนขับสามล้อเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการปิดด่านพรมแดนไทย-กัมพูชา รวม 6 จุดผ่านแดนถาวร และ 10 จุดผ่อนปรน แต่ชาวบ้านอาชีพอื่นๆ ตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้า, คนเก็บของป่า, และคนไทยที่มีญาติอยู่ในฝั่งกัมพูชา ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มแรกที่รัฐไม่เคยลงมาเหลียวแล
ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก
นักเรียนจากฝั่งกัมพูชายังคงสามารถข้ามพรมแดนที่ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก เพื่อมาเรียนหนังสือได้
ด่านปิดแต่ชีวิตยังต้องไปต่อ
“รัฐบาลทั้งสองฝั่งจะทำอะไรก็ขอให้คิดถึงคนตัวเล็กๆ บ้าง พวกเราต้องทำมาหากินเลี้ยงดูครอบครัว”
นาวิน เป็นเจ้าของร้านขายของใช้ทั่วไปในตลาดโรงเกลือ เธอเป็นชาวกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ 10 ปีแล้ว และได้จดทะเบียนสมรสกับคนไทย ทั้งสองมีลูก 2 คนที่เรียนอยู่ในประเทศไทย สำหรับนาวินเธอกล่าวว่า ประเทศไทยก็เหมือนบ้านของเธอ
“ถ้าเขาให้เรากลับประเทศก็ไม่รู้จะทำอย่างไร” นาวินกล่าว “ลูกเราอยู่ที่นี่ เกิดที่นี่ เขาไม่รู้จักอะไรที่กัมพูชา เขาคิดว่าประเทศไทยคือบ้านของพวกเขา”
นาวินกังวลว่าถ้าความขัดแย้งบานปลายในระยะยาว เธออาจจำเป็นต้องกลับประเทศและทิ้งลูกๆ ไว้กับผู้เป็นพ่อที่ประเทศไทย แต่ในระยะสั้นเธอกล่าวว่า เมื่อด่านพรมแดนบ้านคลองลึกเริ่มปรับเปลี่ยนเวลาปิดด่านตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 2025 ก็แทบไม่มีลูกค้ามาเดินตลาดโรงเกลือ ทำให้รายได้ของเธอหยุดชะงัก แต่รายจ่ายเช่นค่าเช่าแผงเดือนละ 40,000 ไม่เคยลดลงตามมา
“ผู้มีอำนาจเขามีเงินเดือน เขาไม่เครียดกับการปิดด่าน แต่ประชาชน ปิดแบบนี้เราจะทำอย่างไร”
นาวินยังคงยิ้มสู้กับสถานการณ์ที่ตลาดเงียบเหงาลง เธอหวังว่าความขัดแย้งจะจบลงในเร็ววัน และคนทั้งสองฟากฝั่งจะได้กลับมาใช้ชีวิตกันแบบเดิม
นาวิน เป็นเจ้าของร้านขายของใช้ทั่วไปในตลาดโรงเกลือ
ไม่ไกลจากร้านของนาวิน บริเวณด้านหน้าจุดเข้าออกผ่านแดนบ้านคลองลึก เป็นที่ตั้งของร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือของธีร์ กับ จา พวกเขาก็ไม่ต่างจากร้านของนาวิน ที่รายได้กลายเป็น 0 นับตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 2025 จากรายได้ต่อวัน 1-2 หมื่นบาท วันนี้พวกเขาต้องย้ายทำเลขของร้านไปอยู่ในตัวอำเภออรัญประเทศ
“บางส่วนย้ายไปขายกันที่ตัวอำเภอ ก็ไปแย่งลูกค้ากันอยู่ที่ตรงนั้น”
จาเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพ่อค้าแม่ค้าในอำเภออรัญประเทศตอนนี้ ก่อนที่ธีร์จะเสริมว่าปกติร้านโทรศัพท์มือถือของเขาจ้างงานทั้งคนไทยและคนกัมพูชา เพราะมีลูกค้าจากทั้งสองฝั่งมาซื้อสินค้า ธีร์กังวลว่าการเหมารวมว่าคนกัมพูชาทุกคนนิสัยไม่ดีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และความขัดแย้งครั้งนี้เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจไม่ใช่ความขัดแย้งของประชาชนจาก 2 ประเทศ
“คนกัมพูชาที่นี่น่ารัก จ้างวานอะไรก็ช่วยกันตลอด พวกเขาขยันทำงานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว อย่าให้กระแสความเกลียดชังในโลกออนไลน์มาทำให้เรามาเกลียดกัน” ธีร์กล่าวทิ้งท้าย ก่อนขอตัวไปจัดการธุระเรื่องร้านใหม่ในอำเภออรัญประเทศ
ธีร์กับจา เจ้าของร้านมือถือ
“พวกเขาสนุกสนานกันในโลกโซเชียล แต่มันทำให้คนในพื้นที่เดือดร้อนจริงๆ”
หมวย เป็นเจ้าของร้านขายผ้าม่านชาวกัมพูชา ที่จดทะเบียนสมรสกับคนไทยและมีลูกร่วมกัน เธอเป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการปิดด่าน คนงานในร้านส่วนใหญ่ของเธอเป็นคนกัมพูชา ที่ตอนนี้ต่างต้องกลับบ้านอย่างไม่มีทางเลือก ทำให้ร้านของเธอขาดคนงานในการทำงาน
“พอเกิดเรื่องแบบนี้ก็สงสารทั้งคนไทยและคนกัมพูชาที่อยู่ชายแดนที่ต่างเดือดร้อนกัน”
โดยร้านค้าในตลาดโรงเกลือที่ปิดตัวลงบางส่วนก็เป็นของคนกัมพูชา ที่ไม่สามารถกลับมาดูแลร้านค้าของตนเองได้ หนำซ้ำหมวยเล่าว่าตอนนี้เธอยังต้องเผชิญกับกระแสความเกลียดชังในโลกออนไลน์ ที่ถูกนำเสนอโดยสื่อบางส่วนเพื่อยั่วยุให้คนทั้งสองฝ่ายเกลียดกัน เธอได้ร้องขอให้สื่อมวลชนและอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ นำเสนอข่าวโดยนึกถึงใจคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดน
“พื้นที่ตรงนี้มันขาดใครไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งไม่ได้ ปิดด่านอย่างนี้ต่อไปก็แย่ด้วยกันทั้งสองฝั่ง ตอนนี้ไม่มีของขายแล้วเพราะไม่มีคนงาน”
หมวยกล่าวทิ้งท้ายว่าข่าวบางชิ้นที่เธอเห็นผ่านหน้าจอ สร้างเสียงหัวเราะ อารมณ์โกรธและทำให้คนรู้สึกร่วมไปกับข่าวชิ้นนั้นโดยไม่เคยสนใจข้อเท็จจริง หมวยเชื่อมั่นว่าคนไทยกับคนกัมพูชาสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความเกลียดชัง หากไม่มีสื่อที่คอยยุยงให้คนมาทะเลาะกัน
“คนนำเสนอข่าวทำแล้วได้เงิน ได้ความสนุก แต่คนที่เดือดร้อนมีเยอะมาก” หมวยกล่าวสรุป
หมวยเจ้าของร้านขายผ้าม่านชาวกัมพูชา
เมื่อสื่อมวลชนเล่นบทเพิ่มความขัดแย้งให้กับคนชายแดนไทย-กัมพูชา
จากด่านพรมแดนบ้านคลองลึกเมื่อโดยสารรถยนต์ลัดเลาะแนวตะเข็บชายแดนมาเรื่อยๆ ทางทิศเหนืออันเป็นที่ตั้งของปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ณ ที่แห่งนี้ยังคงเป็นสถานที่เดียวที่เปิดให้นักท่องเที่ยวจากฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชาสามารถมาท่องเที่ยวร่วมกันได้ แต่ก็ท่ามกลางการตรึงกำลังของทหารทั้งสองฝ่าย รวมทั้งการพยายามตรวจตราของทหาร ที่ไม่ให้สื่อมวลชนสามารถบันทึกภาพออกอากาศ และนำเสนอข่าวได้จากในตัวปราสาท
นายทหารไทยที่กำกับดูแลได้กล่าวว่า เนื่องจากข่าวสารที่เผยแพร่ออกไปสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ทั้งสองฝ่าย จึงมีการกวดขันการนำเสนอข่าวสารข้อมูลภายในที่ตั้งของปราสาทตาเมือนธมอย่างเข้มงวด
“สงครามต่อสู้กันด้วยอาวุธมีวันสิ้นสุด แต่ว่าคนมันต้องอยู่ร่วมกันไปตลอด ผมอยากให้คนไทยใช้สติ อย่าเอาความมันเข้าไปห้ำหั่นกันเลย”
ปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์
เมื่อโดยสารรถจากปราสาทตาเมือนธมขึ้นมาอีก 2 ชั่วโมง บริเวณไม่ไกลจากด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดศรีสะเกษ (จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ) ประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของบ้านโอปังโกว์ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ที่มี สรวิษฐ์ ละออใสย์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะคนชายแดนสรวิษฐ์ค่อนข้างกังวลกระแสความเกลียดชังที่ก่อตัวขึ้นมาพร้อมกับความขัดแย้งไทย-กัมพูชาในรอบนี้
“ก่อนความขัดแย้งรอบนี้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับฝั่งกัมพูชา ทุกเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่เราจะมีการจัดการทำบุญสองแผ่นดินเป็นประจำที่บริเวณด่านผ่านแดนถาวรช่องสะงำ”
สรวิษฐ์เล่าว่าในพื้นที่ อ.ภูสิงห์ นั้นมีการกระชับความสัมพันธ์ในรูปแบบเมืองคู่ขนานสองประเทศ กับพื้นที่ อ.อ็อนลวงแวง จ.อุดรมีชัย ในประเทศกัมพูชา นั่นคือการจัดกีฬากระชับความสัมพันธ์ของคนทั้งสองฝั่ง อีกทั้งในวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ ยังมีตลาดสดที่เมืองใหม่ช่องสะงำ ซึ่งชาวกัมพูชาจากพื้นที่ใกล้เคียงจะมาซื้อของจับจ่ายใช้สอยกัน
“การสร้างกระแสความเกลียดชังไม่เกิดผลดีในระยะยาว”
เพราะคำว่าเชื้อชาติสำหรับคนชายแดนนั้นแตกต่างออกไป สรวิษฐ์เล่าว่าชาวบ้านทั้งสองฝั่งบริเวณนี้ทำอาชีพเก็บเห็ดในช่วงฤดูฝน คนทั้งสองฝั่งพบเจอกันโดยตลอด เส้นเขตแดนสำหรับคนชายแดนไม่อาจชี้เป็นจุดที่ชัดเจนได้ คนในพื้นที่ไม่ได้ยึดแนวเขตสันปันน้ำได้ตลอดเวลา แต่การอยู่ร่วมกันโดยธรรมชาติ ซึ่งต่างฝ่ายต่างเคารพซึ่งกันและกัน
“แนวเขตไม่ได้เป็นปัญหาของคนในพื้นที่ ความขัดแย้งรอบนี้เริ่มต้นจากเรื่องของเขตแดน ซึ่งภูเขาทั้งลูกมันไม่สามารถไปชี้เป็นชี้ตาย ทำเป็นแนวรั้วเหมือนบ้านในเมืองได้”
สรวิษฐ์แสดงความเป็นกังวลว่ากระแสความเกลียดชังในโลกออนไลน์ จะทำให้คนทั้งสองประเทศเกลียดกันมากขึ้น แต่สำหรับเขามองว่า อยากให้ความขัดแย้งครั้งนี้มีขอบเขตอยู่เพียงแค่เรื่องเส้นแบ่งพรมแดน แต่อย่าให้มันมาสร้างความเกลียดชังระหว่างพลเมืองสองประเทศในระยะยาว
“ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวมันต้องไปต่อ อยากให้แยกประเด็นปัญหาเรื่องเขตแดนออกจากเรื่องอื่นๆ” สรวิษฐ์กล่าวทิ้งท้าย
ในขณะที่คาน มนตรีวงษ์ อายุ 69 ปี ชาวบ้านกันทรอมใต้ ต.กันทรอม อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ผลกระทบจากความขัดแย้งครั้งนี้ทำให้เขาไม่สามารถเดินทางกลับไปหาครอบครัวได้ ในวันที่ได้พบเจอเขา คานได้ยื่นหนังสือเดินทางที่มีรอยประทับทั้ง 3 เล่ม เพื่อแสดงให้เห็นว่าการได้โอกาสเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ประเทศกัมพูชามีความสำคัญต่อเขาอย่างไร
ตราประทับในหนังสือเดินทาง การเดินทางไปหาครอบครัวที่กัมพูชาของคาน มนตรีวงษ์
ระเบิดหลบได้แต่ท้องอดไม่ได้
สถานการณ์ในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา จ.ศรีสะเกษ และอ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ใกล้เขตช่องบก หลังเหตุปะทะทหารไทย-กัมพูชาเมื่อ 28 พ.คที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับผลกระทบในบริบทที่แตกต่างไปจากประชาชนในเขต อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พวกเขากังวลเรื่องความปลอดภัยที่ใกล้จุดปะทะ รวมทั้งหลายคนเคยผ่านสถานการณ์การสู้รบบริเวณพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหารเมื่อปี 2011 มาแล้ว ทำให้เขาไม่อยากให้ความขัดแย้งแบบเดิมเกิดขึ้นอีก
“อยู่ชายแดนมาทั้งชีวิต จนมันไม่ได้รู้สึกกลัวอะไรแล้วตอนนี้ ระเบิดเราหลบได้แต่อดตายเราหลบไม่ได้”
ศศิประภา คมใส เป็นชาวบ้านในหมู่บ้านด่านกลาง ต.ภูผาหมอก อ.กันษลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ที่ประกอบอาชีพหาของป่าเป็นอาชีพหลัก เธอเล่าว่าตั้งแต่หลังเหตุการณ์ปะทะกันเมื่อ 28 พ.คที่ผ่านมา เธอก็สูญเสียรายได้ทั้งหมดที่เคยมี
ศศิประภาเล่าถึงชีวิตประจำวันของเธอ เธอจะออกจากบ้านช่วง 4 โมงเย็น นั่งเรือข้ามเขื่อนเพื่อขึ้นไปเก็บของป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารที่มีพรมแดนติดกับประเทศกัมพูชา จากรายได้ต่อวัน 400 - 500 บาท สถานการณ์ความขัดแย้งทำให้เธอสูญเสียรายได้ทั้งหมด ทำให้ชีวิตของเธอและลูกเป็นไปด้วยความยากลำบากขึ้น
“ตอนนี้ก็ให้ลูกไปโรงเรียนวันละ 5 บาท ตัวเองซื้อกับข้าวกินวันละ 10 บาท หาผักหาอะไรกินเท่าที่จะเอาชีวิตรอดได้”
ศศิประภา คมใส ชาวบ้านในหมู่บ้านด่านกลาง
ไม่ต่างจาก วิลัย ไผ่เลี้ยง ชาวบ้านหมู่บ้านเดียวกันกับศศิประภาที่มีลูก 6 ชีวิตต้องเลี้ยงดู เธอกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่าที่ผ่านมา เธอประกอบอาชีพเก็บของป่าเลี้ยงดูลูกเธอทั้ง 6 คน
“อยากให้สถานการณ์กลับมาปกติจะได้กลับมาทำกิน”
วิลัยกล่าวว่าทุกวันนี้เธอยังชีพอยู่ได้ด้วยเบี้ยเลี้ยงจากการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 2,000 บาทต่อเดือน จากก่อนหน้านี้ที่เธอมีรายได้จากการเก็บของป่ามาขายวันละ 300-800 บาท พร้อมทั้งบอกว่าเวลาไปเก็บของป่ามักเจอคนกัมพูชาเป็นประจำ และยังคุยพูดกันปกติ
“อย่าทะเลาะกันเลย เพราะคนชายแดนได้รับผลกระทบมาตลอดตั้งแต่ยุคคอมมิวนิสต์, เขมรแดง และเขาพระวิหาร เป็นความขัดแย้งที่ซ้ำซากไม่รู้จักจบสิ้นสักที” วิลัยกล่าวทิ้งท้าย
วิลัย ไผ่เลี้ยง
จุดสิ้นสุดของการเดินทางครั้งนี้มาจบลงที่บ้านทุ่งสมเด็จ หมู่ 17 ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ชุมชนที่อยู่ใกล้เขตแนวปะทะที่ช่องบกเพียง 10 กิโลเมตร ในช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดิน บุญทัน พรมโคตร์ ผู้ใหญ่บ้านทุ่งสมเด็จกำลังเรียกรวมพลชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ที่เป็นอาสาสมัครกว่า 10 ชีวิต มาทำหน้าที่ลาดตระเวนในยามค่ำคืน อันเป็นคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทยถึงพื้นที่อำเภอที่อยู่ติดชายแดนไทย-กัมพูชา ให้แต่ละหมู่บ้านจัดชุดลาดตะเวนเพื่อป้องกันคนแปลกหน้าแทรกซึมเข้ามาในชุมชน
ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านทุ่งสมเด็จส่วนใหญ่มักบอกว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งแรกที่คนชายแดนไทย-กัมพูชาต้องพบเจอ พวกเขาล้วนเคยผ่านเหตุการณ์ช่วงคอมมิวนิสต์กัมพูชารุกรานปี 1963-1979 และยุคเขมรแดงที่คนกัมพูชาบางส่วนอพยพมาขอความช่วยเหลือจากชุมชนในฝั่งไทย รวมทั้งเหตุการณ์การปะทะกันที่เขาพระวิหารในปี 2011
ทุกเหตุการณ์ล้วนอยู่ในความทรงจำของคนชายแดน
และพวกเขายังคงหวังให้ความสงบสุขระหว่างคนทั้งสองฟากฝั่งเกิดขึ้นในเร็ววัน
การละตะเวนของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านทุ่งสมเด็จ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath