เทียบมาตรการคุมแสงป้ายโฆษณา LED กทม. ตามรอยโมเดลมหานครชั้นนำ
กรุงเทพมหานคร เดินหน้าคุมแสง LED จากป้ายโฆษณา เสนอร่างข้อบัญญัติฯ ตั้งเกณฑ์ชัด ลดมลพิษทางแสง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอยกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ว่าด้วย “การกำหนดค่าความสว่างของป้ายที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและเปล่งแสงได้ด้วยตัวเอง” ต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในการประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2568
ข้อบัญญัติดังกล่าวอ้างอิงตามข้อ 17 ของกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้ายตามกฎหมายควบคุมอาคาร พ.ศ. 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อวางมาตรฐานการใช้แสงในเมือง ลดผลกระทบจากมลภาวะทางแสงที่ส่งผลต่อทั้งสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ผู้ว่าฯ ชัชชาติชี้ให้เห็นถึงความจริงที่หลายคนอาจหลงลืมไปว่า ท้องฟ้ายามค่ำในกรุงเทพฯ แทบไม่เคยมืดสนิทอีกต่อไป เพราะเมืองทั้งเมืองสว่างไสวจากแสงเทียมตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นไฟถนน แสงจากรถยนต์ ไปจนถึงป้ายโฆษณา LED
ในพื้นที่ชนบท ระดับความสว่างของแสงเรืองเพิ่มขึ้นกว่า 50% ขณะที่ในเขตเมือง เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% แสงที่รุกล้ำเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัย ไม่ได้เพียงแค่รบกวนการพักผ่อนของประชาชน แต่ยังมีผลต่อระบบชีวภาพของมนุษย์
โดยเฉพาะการหลั่ง “เมลาโทนิน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ทำหน้าที่ควบคุมนาฬิกาชีวิต หรือ Circadian Rhythm ต่อมไพเนียลในสมองจะหลั่งเมลาโทนินในความมืด ช่วยให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะหลับพักผ่อนอย่างสมดุล หากมีแสงรบกวนโดยเฉพาะในยามค่ำคืน จะทำให้การหลั่งฮอร์โมนลดลง นำไปสู่ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น นอนไม่หลับ อ้วน เบาหวาน ความดันสูง หรือแม้แต่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งบางชนิด
มาตรการควบคุมเเสงจากป้ายโฆษณาเมืองชั้นนำ
หากมองไปรอบโลก จะพบว่าเมืองใหญ่อื่น ๆ ดำเนินมาตรการควบคุมแสงจากป้ายโฆษณามานานแล้ว หลายเมืองมีข้อกฎหมายที่ชัดเจน แบ่งโซนควบคุม และกำหนดเวลาเปิด-ปิดไฟอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันปัญหามลพิษทางแสงและรักษาคุณภาพชีวิตของประชาชน
ปารีส หยุดแสงเมืองหลังเที่ยงคืน
ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ออกกฎหมายควบคุม “มลพิษทางแสง” (light pollution) อย่างเป็นทางการ โดยตั้งแต่ปี 2018 ได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ ร้านค้า อาคารสำนักงาน และป้ายโฆษณาต้องปิดไฟทั้งหมดระหว่างเวลา 01.00 – 06.00 น. (เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ)
กฎหมายดังกล่าวยังจำกัดค่าความสว่างและอุณหภูมิสีของแสง (ไม่เกิน 3,000 เคลวิน) รวมถึงห้ามการส่องแสงขึ้นฟ้าโดยตรง ทั้งหมดนี้เพื่อควบคุมผลกระทบต่อการนอนหลับของประชาชน ระบบนิเวศกลางคืน และการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง
โซล แบ่งโซนควบคุมแสงแบบละเอียด
กรุงโซลของเกาหลีใต้มี “นโยบายจัดการแสงในเมือง” (Urban Light Management Policy) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2009 และได้รับการเสริมด้วยกฎหมายระดับชาติในปี 2012 โดยแบ่งเมืองออกเป็น 4 เขตควบคุมแสงหลัก เช่น เขตพักอาศัย เขตพาณิชยกรรม เขตสถานที่ราชการ เป็นต้น
แต่ละเขตจะมี “เพดานความสว่าง” กำกับไว้สำหรับเวลากลางคืน โดยเฉพาะไฟตกแต่งหรือป้ายโฆษณา ซึ่งจะต้องลดความสว่างลงตามเกณฑ์ และในบางกรณี เช่น ไฟตกแต่งบนอาคารสาธารณะ ก็มี เวลาเคอร์ฟิวที่กำหนดให้ปิดภายในเวลา 23.00 น.
นอกจากนี้ โซลยังมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการป้องกันมลพิษทางแสง” และระบบการวัดค่าความสว่างจากป้ายโฆษณาในเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ตรวจสอบการละเมิดกฎหมายและออกคำสั่งแก้ไขได้จริง"
สิงคโปร์ ควบคุมผ่านระบบใบอนุญาต
สิงคโปร์ไม่มีการกำหนดเวลาเคอร์ฟิวส์ชัดเจนแบบฝรั่งเศสหรือเกาหลีใต้ แต่ควบคุมป้ายโฆษณา LED ผ่านกระบวนการ “อนุญาตแบบเฉพาะจุด” ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานทั้งด้านอาคารและผังเมือง เช่น BCA (Building and Construction Authority) และ URA (Urban Redevelopment Authority)
ป้ายโฆษณาทุกแผงต้องระบุขนาด ตำแหน่ง ความสูง ลักษณะการใช้แสง และต้องไม่รบกวนต่อชุมชนหรือเขตที่อยู่อาศัยโดยรอบ
ห้ามใช้ไฟกระพริบ หรือภาพเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดการรบกวนสายตา รวมถึงมีข้อจำกัดเกี่ยวกับความสว่างและรูปแบบเนื้อหาในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่อนุรักษ์หรือย่านประวัติศาสตร์
ทั้งนี้ ในปี 1997 หน่วยงานพัฒนาเมือง (Urban Redevelopment Authority: URA) ได้ออกแนวปฏิบัติชุดแรกเพื่อกำหนดตำแหน่งและการวางป้ายโฆษณาภายในพื้นที่ใจกลางเมือง แนวปฏิบัติดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำป้ายโฆษณากลางแจ้งไปยังบริเวณกิจกรรมสำคัญ เช่น พื้นที่ค้าปลีกและความบันเทิงตามถนนออร์ชาร์ด
ในย่านบูกิส และที่ไชนาทาวน์ ซึ่งป้ายโฆษณาจะเข้ากันได้กับลักษณะของย่านนั้น แนวทางนี้สอดคล้องกับแนวทางที่ใช้ในเมืองใหญ่ๆ อื่นๆ เช่น ซิดนีย์ นิวยอร์ก ลอนดอน เซี่ยงไฮ้ และโตเกียว
ปี 2001 แนวปฏิบัติดังกล่าวได้รับการทบทวนและแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อรวมสถานที่สำคัญเพิ่มเติมอีกสามแห่งที่ Raffles Place, Marina Centre และ Singapore River
นอกเขตพื้นที่ภาคกลาง ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับประเภทของป้ายกลางแจ้งที่สามารถติดได้ ข้อกำหนดที่ป้ายที่ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามก็ยังไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนเช่นกัน
เพื่อให้แน่ใจว่าแนวปฏิบัติสำหรับป้ายกลางแจ้งยังคงเกี่ยวข้องกับความต้องการของชุมชนธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านโฆษณา และเพื่อปกป้องคุณภาพของสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น URA จึงได้ตรวจสอบและแก้ไขแนวปฏิบัติสำหรับป้ายกลางแจ้งสำหรับสถานที่ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ใจกลางเมือง
ข้อบัญญัติใหม่นี้จึงถูกเสนอขึ้นเพื่อ “สร้างมาตรฐาน”
สำหรับข้อบัญญัติของ กทม.ได้ระบุเกณฑ์ความสว่างสูงสุดในแต่ละช่วงเวลาอย่างชัดเจน โดยใช้หน่วยวัดแคนเดลา คือ หน่วยวัดความเข้มของการส่องสว่าง (luminous intensity) ในระบบหน่วยสากล (SI) โดยความเข้มของการส่องสว่างนี้คือ ปริมาณแสงที่เปล่งออกมาจากแหล่งกำเนิดแสงในทิศทางที่เจาะจง
- ระหว่าง 07.00 – 19.00 น. ป้ายจะต้องไม่เกิน 5,000 แคนเดลาต่อตารางเมตร
- ระหว่าง 19.00 – 07.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต้องไม่เกิน 500 แคนเดลาต่อตารางเมตร
หากมีการตรวจพบป้ายใดที่มีค่าความสว่างเกินกว่าที่กำหนด จะถือว่าเข้าข่ายสร้างความเดือดร้อนรำคาญ หรือเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน และอาจถูกดำเนินการตามข้อบัญญัติ
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว พร้อมมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างภายในกรอบเวลา 60 วัน และเปิดรับการแปรญัตติภายใน 5 วันนับจากนี้
อ้างอิงข้อมูล
France Adopts National Light Pollution Policy Among Most Progressive In The World