‘The Bear’ ซีซั่น 4 เรื่องของครัววายป่วง กับการยอมรับว่าเราเองก็คู่ควรกับความสุข
สำหรับผม การจะแนะนำใครก็ตามให้ลองลิ้มชิมลางดูซีรีส์ ‘The Bear’ (2022–) นับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย สาเหตุแรกคือเนื้อหาของซีรีส์มักเน้นหนักไปที่ดราม่าเข้มข้น เหมือนนั่งดูคนคุยกันซะมากกว่า อีกทั้งปมปัญหาก็วนอยู่แต่ในครัวและตัวละครของร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองชิคาโก สาเหตุที่สองและน่าจะเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ ภาวะอารมณ์ระหว่างดูซีรีส์เรื่องนี้ที่ขึ้นสุดลงสุดเหมือนนั่งโรลเลอร์โคสเตอร์ทุกครั้งที่ดู
The Bear นับว่าช่ำชองในการเร่งและผ่อนอารมณ์ของคนดูเลยก็ว่าได้ เพราะบทจะส่งให้อารมณ์เดือดพุ่งปรี๊ดก็ทำเอาหัวใจจะวาย หายใจหายคอไม่ทัน เผลออีกนิดคงเป็นแพนิกไปแล้ว แต่บทจะปลอบประโลม ชวนตื้นตัน หรือฮีลใจก็ทำได้งดงาม น้ำตารื้นกันไปหลายฉาก ตรงนี้เองที่กลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของซีรีส์ The Bear และเป็นเหตุผลที่ผมจดจ่อรอการมาของซีซั่นใหม่
เล่าอย่างรวบรัดที่สุด The Bear เริ่มเรื่องที่ ‘คาร์มี่’ รับบทโดย เจเรมี่ อัลเลน ไวท์ (Jeremy Allen White) กลับมารับช่วงต่อร้านแซนวิชเนื้อย่างสไตล์อิตาลี The Beef จาก ‘ไมกี้’ รับบทโดย จอน เบิร์นธัล (Jon Bernthal) พี่ชายที่เลือกจบชีวิตของตัวเองลงแบบที่ทุกคนในครอบครัวแบร์ซาตโตไม่ทันตั้งตัว ต่อมาคาร์มี่รับ ‘ซิดนีย์’ รับบทโดย อาโย เอเดบิรี (Ayo Edebiri) เข้ามาเป็นเชฟผู้ช่วยและหุ้นส่วนทางธุรกิจ เปลี่ยนร้านแซนวิชโกโรโกโสให้เป็นร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งสุดหรูโดยใช้ชื่อว่า The Bear ชื่อที่ไมกี้เคยตั้งเอาไว้ก่อนตาย
ในชีซั่น 4 นี้ซีรีส์ยังคงดำเนินเรื่องว่าด้วยความอยู่รอดของร้านอาหาร The Bear ในเมืองชิคาโก หลังผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการกระทบกระทั่งกันมามากมากมาย ความตึงเครียดของซีซั่นใหม่เปิดฉากด้วยการที่ ‘ลุงจิมมี่’ รับบทโดย โอลิเวอร์ แพลตต์ (Oliver Platt) สมาชิกครอบครัวแบร์ซาตโตและหุ้นส่วนคนสำคัญ วางนาฬิกานับถอยหลังลงกลางครัวของร้านเพื่อบอกกับทุกคนว่าร้านนี้ต้องปิดตัวลงหากไม่สามารถทำกำไรได้ภายในสองเดือน
เนื้อเรื่องหลังจากนั้นจึงเป็นการพยายามวิ่งหนีเส้นตายและความตายของร้านอาหารที่ทุกคนร่วมสร้างกันมา
พ้นไปจากการถ่ายทอดความโกลาหลในครัวและความเดือดดาลระหว่างตัวละครได้แบบถึงพริกถึงขิง หรือการปล่อยให้คนดูได้ซึมซับกับบทสนทนาลึกซึ้งและสมจริง ผ่านการตัดต่อไม่ว่าจะถ่ายภาพรับหน้าตัวละคร ถ่ายมุมกว้าง คัทที่เว้นช่วงเป็นระยะ ไปจนการปล่อยให้เสียงในฉากลอดผ่านเป็นบางครั้ง อีกสิ่งหนึ่งที่ The Bear ทำได้อย่างน่าทึ่งคือการพัฒนาตัวละคร
ตัวอย่างเช่น ‘ริดชี่’ รับบทโดย อีบอน มอสส์ บาครัค (Ebon Moss-Bachrach) เพื่อนสนิทของไมกี้และคนที่ใกล้ชิดกับครอบครัวแบร์ซาตโตประหนึ่งเป็นสมาชิก ที่เคยเป็นคนค่อนไปทางเหลวแหลกไม่เอาไหน ต้องหย่าร้างกับภรรยาที่มีลูกด้วยกัน ทำงานร้าน The Beef ไปวันๆ แต่หลังจากคาร์มี่ส่งเขาไปฝึกงานที่ร้านอาหารอันดับหนึ่งของโลก ริดชี่ก็เปลี่ยนตัวเองเป็นหัวหน้าบริกรที่สุขุมขึ้น มีเหตุมีผล และเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองว่าเขานี่แหละที่เป็นกาวเชื่อมทุกคนเข้าด้วยกัน
‘ทิน่า’ ที่รับบทโดย ลิซ่า โคลอน-ซายาส (Liza Colón-Zayas) เป็นอีกตัวละครที่มีพัฒนาการน่าสนใจ เธอคือหญิงวัยกลางคนที่โดนบริษัทเลย์ออฟเอาดื้อๆ โชคดีที่ไมกี้รับทิน่าเข้ามาเป็นหนึ่งในคนครัว เธอเชื่อมั่นใน ‘ระบบ’ ของร้านที่ไมกี้เซตไว้จนปฏิเสธทุกอย่างที่คาร์มี่และซิดนีย์พยายามจะปรับ แต่ต่อมาเมื่อทิน่าได้เห็นถึงฝีมือของซิดนีย์ คุ้นเคยกับระบบที่เป็นระเบียบมากขึ้น รวมถึงได้รับโอกาสเป็นเชฟผู้ช่วย เธอที่แม้จะอายุเยอะก็พร้อมพัฒนาตัวเอง แถมยังมีไฟมุ่งมั่น ในซีซั่น 4 ทิน่าหมกมุ่นอยู่กับการทำพาสต้าให้ทันภายในสามนาที เธอเปลี่ยนตัวเองเป็นคนเปิดรับทุกความเห็นและวิธีการ ต่างจากทิน่าที่คนดูเคยเห็นในซีซั่นแรกโดยสิ้นเชิง
ถ้าจะให้เล่าถึงทุกตัวละครในเรื่องวันนี้ก็คงเล่าไม่หมด เพราะตัวละครแต่ละตัวล้วนมีมุมน่าประทับใจแตกต่างกันไป แต่จะให้ทิ้งตัวละครที่สำคัญที่สุดของเรื่องหรือจะเรียกว่าเป็นตัวละครที่สำคัญที่สุดของซีซั่น 4 ไปก็คงไม่ได้ คนคนนั้นคือ คาร์เมน คาร์มี่ แบร์ซาตโต เชฟหนุ่มผู้เป็นหัวหอกคนสำคัญประจำร้าน The Bear
คาร์มี่คือตัวละครที่คนดูน่าจะได้เห็นแง่มุมของชีวิตมากที่สุด เขาคือหนึ่งในสามพี่น้องตระกูลแบร์ซาตโต คาร์มี่และพี่น้องเติบโตมากับการรองรับอารมณ์หุนหันของ ‘ดอนน่า’ รับบทโดย เจมี ลี เคอร์ติส (Jamie Lee Curtis) แม่ที่เป็นคนติดเหล้า ความเหวี่ยงวีนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของเธอส่งผลโดยตรงมายังลูกๆ พวกเขามักกดความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ และเลี่ยงที่จะพูดถึงมันตรงๆ
คาร์มี่หนีออกจากสภาวะแวดล้อมเลวร้ายนั้นด้วยการวิ่งตามแพชชั่นในการทำอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เขาเชื่อว่าสามารถประสานรอยร้าวระหว่างผู้คน โดยเฉพาะคนในครอบครัวของเขาได้ คาร์มี่มุ่งมั่นในระดับที่ไม่มีใครเทียบติด เป็นเชฟที่ไวกว่าและเก่งกว่าทุกคน ตระเวนไปทำงานตามร้านอาหารระดับมิชลินทั่วโลก แม้แต่ร้านที่เขาโดนดูถูกความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุด คาร์มี่ก็ยังทนอยู่ จนภายหลังเขาต้องรับมือกับโรคแพนิกที่ตามมาก
คาร์มี่แบกเอาประสบการณ์และความเครียดเหล่านั้นมาลงกับ The Beef ที่ต่อมากลายเป็น The Bear พยายามเปลี่ยนมันให้เป็นร้านอาหารที่เขาและไมกี้พี่ชายเคยฝันเอาไว้ การทำร้านสำหรับคาร์มี่ ครึ่งหนึ่งแล้วคงเป็นคงปนไปด้วยความรู้สึกผิดและการไถ่โทษที่มองว่าตัวเองละทิ้งครอบครัวไปตามแพชชั่น อีกครึ่งหนึ่งคือการผลักดันตัวเองให้เป็นเชฟที่ดีขึ้นกว่าเดิม ความกดดันที่จะพาร้านไปให้รอดและท้าทายตัวเองกลับเป็นดาบสองคมที่กระทบกับคนรอบข้างเขามาตลอดสามซีซั่น ที่ล้วนส่งผ่านมาในรูปแบบของการตะโกนเสียงดัง ไม่รับฟังความเห็นใคร การใช้องค์ประกอบเมนูที่มากมายและแพงแสนแพง เมนูเปลี่ยนไปไม่ซ้ำกันสักวัน ผลักไสคนที่รักเขามากที่สุด ในร้าน The Bear (ที่ได้ชื่อมาจากแบร์ซาตโตและชื่อเล่นของคาร์มี่) ตัวตนของคาร์มี่จึงให้ภาพซ้อนทับแม่ของเขาในบ้านแบร์ซาตโต
เหตุการณ์สะเทือนใจที่สุดคือตอนที่คาร์มี่ขังตัวเองโดยไม่ตั้งใจในห้องเย็น อาการแพนิกเล่นงานเขาทันที ในห้องนั้น คาร์มี่ระบายเหตุผลที่เขาเลือกทำร้านว่าการทำอาหารที่สิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุด มันช่วยทำให้เขาไม่จำเป็นต้องสนใจรอยร้าวในใจจากประสบการณ์เลวร้ายที่เคยเผชิญ และการจะทำแบบนั้นได้ เขาต้องตัดทุกอย่างทิ้ง แม้กระทั่งความรักหรือความสุขที่เข้ามา คนที่ฟังคำพูดนี้จากอีกฝั่งของประตูคือ ‘แคลร์’ ซึ่งรับบทโดย มอลลี กอร์ดอน (Molly Gordon) แฟนสาวที่คาร์มี่กำลังคบหาอยู่ ทั้งคู่แยกทางกันทันทีหลังจากนั้น
ซีซั่น 4 คือช่วงเวลาที่คาร์มีค่อยๆ ยอมรับข้อเสียและเลิกโบยตีตัวเอง เขายอมรับว่าความกดดันของเขาทำให้ร้านเสี่ยงแค่ไหน และควรจะถอยตัวออกมาอย่างไร ความคิดของคาร์มี่เปลี่ยนไปเมื่อเริ่มถอยออกมา เขามองเห็นความสามารถของผู้คนรอบตัวที่พัฒนาขึ้นจากการที่เขาเองเป็นคนผลักดัน เรียนรู้ที่จะยอมรับคำชมหรือความสุขที่คนอื่นมอบให้ มันคือห้วงยามที่คาร์มี่เข้าใจกับตัวเองได้สักทีว่าเขาคือเชฟระดับท็อปที่ไม่มีอะไรต้องพิสูจน์และไม่ต้องพิสูจน์อะไรกับใครอีกแล้ว และสุดท้ายคือการยินยอมปล่อยให้ตัวเองหมดไฟในการทำอาหาร
ฉากที่ทำให้คาร์มีรับรู้ในส่วนนี้คือฉากที่เขาโทรศัพท์หา ‘ชูการ์’ รับบทโดย แอบบี เอลเลียต (Abby Elliott) พี่สาวหนึ่งในสามพี่น้องแบร์ซาตโต เธอเล่าให้ฟังถึงวันที่เธอไปส่งคาร์มี่เพื่อเดินทางไปเก็บประสบการณ์ทำอาหาร เธอชื่นชมไฟฝันในตัวเขาในวันนั้น และบอกว่ามันโอเคถ้าไฟนั้นจะมอดดับไป เพราะมันเคยผ่านช่วงเวลาที่ลุกโชนสวยงามที่สุดไปแล้ว
ตอนที่น่าประทับใจที่สุดในซีซั่น 4 สำหรับผู้เขียนคือ ‘Tonnato’ ในตอนนี้คาร์มีต้องเดินทางไปหาดอนน่าเพื่อเอากล่องภาพถ่ายเก่าไปให้ด้วยความไม่เต็มใจนัก เมื่อไปถึง เหตุการณ์หลังจากนั้นคือการเผชิญหน้าระหว่างแม่และลูก ดอนน่าขอร้องให้ลูกฟังข้อความขอโทษที่เธอตั้งใจเขียนเอาไว้ในกระดาษ ขอโทษเธอติดเหล้า ขอโทษที่ลูกๆ ต้องมาคอยรองรับอารมณ์ และขอโทษที่เธอไม่เคยเป็นแม่ที่ดีเลย ฉากนี้สะเทือนอารมณ์ทั้งคาร์มี่และคนดูที่รับรู้ความทุกข์ทรมานของเขามาตลอด ฉากนี้คือการเคลียร์ใจรวมถึงเยียวยาบาดแผลให้กับคาร์มี่ คาร์มีเองก็ยอมรับคำขอโทษเหล่านั้นและให้อภัยด้วยการทำอาหารจากเทคนิคที่เขาเรียนรู้มาให้แม่ได้กิน
The Bear ถือว่าโดดเด่นทั้งด้านความสมจริงในการจำลองความวุ่นวายในธุรกิจร้านอาหาร การออกแบบอาหารที่ละเอียดสวยงาม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนจริงๆ ที่มีทั้งความขัดแย้งและความเข้าอกเข้าใจ รวมถึงความเป็นจริงของชีวิตที่ต้องเตรียมใจรับมือกับเรื่องแย่ๆ อย่างที่คาร์มี่เคยบอกว่า “Because shit happens.” (“เรื่องแย่ๆ มันเกิดขึ้นได้ตลอด”)
Graphic Designer: Krittaporn Tochan
Editorial Staff: Paranee Srikham