อยากยินดี แต่บางทีก็ยิ้มไม่ออก ทำยังไงถ้าเราไม่ชอบแฟนใหม่ของพ่อแม่
พ่อพาเขามาที่บ้านอีกแล้ว
หลังจากพ่อแม่แยกทางกัน เราที่เลือกอยู่กับพ่อ ก็ไม่ได้ติดปัญหาอะไร เราเองก็ยังไปหาแม่ได้ตามปกติ กระทั่งวันนั้นมาถึง วันที่พ่อพาผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาในบ้าน เธอทั้งอัธยาศัยดี พูดคุยเก่ง ซื้อของมาฝากเราตลอด ดูแล้วท่าทางไม่มีพิษภัยอะไร แต่ในใจลึกๆ ไม่รู้ทำไม เราถึงไม่ค่อยต้อนรับเธอคนนี้เท่าไหร่ บางทีก็วางท่านิ่งเฉยเวลาอีกฝ่ายคุยด้วย หรือบางทีก็วิ่งหนีขึ้นห้องตอนเขามาที่บ้าน
มานั่งคิดนอนคิด เราก็ไม่ได้ไม่อยากให้พ่อตนเองมีความสุขหรอกนะ เรากลับยินดีด้วยซ้ำ ถ้าเขาได้เจอคนดีๆ ที่พร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนเขา ยิ่งเห็นตอนอีกฝ่ายหัวเราะยิ้มได้ ก็ยิ่งทำให้เรามีความสุข แต่ลึกๆ เราเองก็ไม่ยินดีเท่าไหร่ หากจะมีผู้หญิงคนใหม่มาอยู่ตรงนั้น
เราเองเปลี่ยนแฟนคนนู้นทีคนนี้ที พ่อยังไม่เคยมาแสดงท่าทีไม่พอใจใส่เราเลย ถึงคราวเขาบ้างทำไมจะมีบ้างไม่ได้ พูดออกมาอย่างนี้ แต่สุดท้ายเราก็แอบต่อต้านอยู่ในใจอยู่ดี ยิ่งเจออีกฝ่ายก็ยิ่งไม่ชอบ ความว้าวุ่นในใจนี้มันคืออะไร แล้วทำไมเราถึงไม่ชอบแฟนใหม่พ่อแม่ทั้งที่พวกเขาไม่ได้แย่หรือทำอะไรผิด
รักพ่อแม่นะ แต่ขอไม่รักแฟนใหม่พ่อแม่ได้ไหม
สำหรับใครที่ประสบกับสถานการณ์ที่พ่อแม่ของตนเอง ตัดสินใจไม่เดินร่วมทางกันต่อ หรือมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้อยู่กับเราแล้ว ก็นับว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่หนักหน่วงอย่างมากของชีวิต ทว่าบางคนอาจต้องเจอกับสถานการณ์ขั้นถัดไป อย่างการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตัดสินใจเลือกมีแฟนใหม่ เพื่อหวังมีใครสักคนคอยอยู่เคียงข้างอีกครั้ง
เชื่อว่า หลายคนที่พบเจอกับเหตุการณ์ทำนองนี้ ก็เหมือนกับกำลังต้องเผชิญกับทางแยกแห่งการตัดสินใจว่า เราจะเลือกยินดีกับความรักใหม่ของพ่อแม่ หรือเลือกไม่ยอมรับการตัดสินใจของพวกเขาดี ในใจเราก็ยินดีกับความรักที่กำลังเบ่งบานอีกครั้ง แต่ส่วนลึกก็กำลังรู้สึกต่อต้าน หรือบางครั้งก็แสดงท่าทางไม่ชอบพอแฟนใหม่ของพ่อแม่ออกไปตรงๆ
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากเห็นพวกเขามีความสุขหรอกนะ แต่ที่เรารู้สึกไม่ชอบแฟนใหม่พ่อแม่ สามารถอธิบายได้ด้วย ‘Attachment Theory หรือ ทฤษฎีความผูกพัน’ ของ จอห์น โบล์บี (John Bowlby) ซึ่งช่วยชี้ให้เห็นว่า เรากับพ่อแม่นั้นมีความผูกพันทางอารมณ์ต่อกันและกันตั้งแต่ยังเป็นทารก ยิ่งพ่อแม่ดูแลเอาใจใส่ หรือสามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านต่างๆ ของเราได้ ก็ยิ่งสร้างความผูกพันกับเราให้แน่นแฟ้นขึ้น
และความผูกพันจะยิ่งแสดงออกชัดเจนมากขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย เราก็จะยิ่งแสวงหาความชิดใกล้จากคนที่เรารู้สึกผูกพันด้วย ลองนึกย้อนไปในวัยเด็ก เวลาหกล้ม โดนเพื่อนแกล้ง หรือกระทั่งเวลาหิวข้าว เราจะรีบมองหาพื้นที่ปลอดภัยของเรา และเรียกร้องให้พวกเขาช่วยเหลือ ซึ่งถือเป็นการแสดงออกที่ชัดเจนที่สุดว่าเราผูกพันกับอีกฝ่ายมากแค่ไหน
เมื่อความผูกพันระหว่างเรากับพ่อแม่มีมากพอ ความรู้สึกที่เห็นพวกเขาเป็นฐานที่มั่นของความปลอดภัยในชีวิตของเราเองก็ยิ่งรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เรามองว่าแฟนใหม่ของพ่อหรือแม่ที่เพิ่งเข้ามาเป็นภัยคุกคามพื้นที่ปลอดภัยของเราเอง จึงทำให้เรารู้สึกไม่ชอบ แม้เขาจะไม่ได้ทำอะไรผิดก็ตาม
อย่าเพิ่งคิดว่ามันเป็นเรื่องผิด หากใจจะยินดี แต่การกระทำไม่เห็นด้วย แล้วเราจะรู้สึกไม่สบายใจกับความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้นในความคิด เพราะมันคือส่วนหนึ่งของความไม่คล้องจองทางปัญญา ตาม ‘Cognitive Dissonance Theory หรือ ทฤษฎีความไม่คล้องจองทางปัญญา’ ที่เสนอว่า เมื่อความคิดข้างในของเราตีกันหรือสวนทางกัน เราจะรู้สึกกระวนกระวายและไม่สบายใจ พร้อมต้องรีบทำทุกวิถีทาง เพื่อขจัดความไม่สบายใจนี้ให้หายไปโดยเร็ว
พอถึงจุดหนึ่งของภาวะความไม่คล้องจองทางปัญญา ตัวของเราก็จะสามารถหาทางหรือตัดสินใจทำในสิ่งที่เหมาะสมสำหรับแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เอง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องรู้สึกแย่ไป หากเราจะรู้สึกไม่ชอบแฟนใหม่พ่อแม่ ทั้งที่ตัวเราเองก็อยากให้เขามีความสุขกับชีวิตและสิ่งที่เขาเลือก
ความขัดแย้งอันเกิดมาจากความผูกพันและความรักใคร่ระหว่างเรากับพ่อแม่ ถือเป็นการตอกย้ำให้เราได้เห็นว่า เราเองก็รักเขาเช่นเดียวกัน ไม่ได้รู้สึกไม่หวังดีกับเขาอย่างที่เราเข้าใจไปเองในตอนแรก
แล้วถ้ารู้สึกไม่ชอบไปแล้ว ทำอย่างไรได้บ้าง?
เรื่องแบบนี้มันก็คงต้องใช้เวลาปรับตัวและเรียนรู้กันไป แต่ระหว่างที่เรากำลังว้าวุ่นใจและรู้สึกไม่ค่อยลงรอยกับแฟนใหม่พ่อแม่เท่าไหร่นัก เราก็คงอยากหาทางทำอะไรสักอย่าง เพื่อจะผ่านสถานการณ์ตรงนี้ไปให้ได้
เราลองมาดูวิธีปรับตัวและมุมมองต่อสถานการณ์ดังกล่าวจาก ซูซาน นิวแมน (Susan Newman) นักจิตวิทยาสังคมผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาที่ส่งผลต่อชีวิตครอบครัวกันหน่อยดีกว่า ซึ่งทุกคนสามารถนำไปปรับใช้กันได้ตามแต่ละสถานการณ์ที่เผชิญได้เลย
พูดคุยกับพ่อแม่บ่อยๆ
การพูดคุยกับพ่อแม่ให้บ่อยๆ เหมือนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตนเองว่า ทั้งคู่จะยังคงเป็นเหมือนเดิม คอยสนับสนุน และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเราได้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
อย่าทำให้พวกเขาต้องเลือกข้าง
คงไม่มีใครชอบหรอก หากต้องเป็นคนกลาง แล้วต้องมาคอยเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ทั้งที่แต่ละข้างต่างก็เป็นคนสำคัญในชีวิตของพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้น การบีบคั้นให้พวกเขาต้องเลือกข้าง ยังเป็นการสร้างความกดดันให้อีกฝ่ายมากเกินไปด้วย
หลีกเลี่ยงการเจอแบบตัวต่อตัว
เมื่อเราไม่ชอบใคร ก็คงไม่อยากเจอหน้าคนๆ นั้นหรอก เพราะฉะนั้น ถ้าหาทางหลีกเลี่ยงเขาหรือเธอได้ก็จัดเลย แต่อย่าหุนหันพลันแล่นจนเกินไป เพราะพ่อแม่อาจรู้สึกไม่สบายใจได้ ค่อยๆ ลองหาทางหลบออกมา เช่น เวลาแฟนใหม่พ่อแม่มาบ้าน ก็อาจลองหาข้ออ้างในการหลบหน้าด้วยการออกไปข้างนอกหรือเข้าไปอยู่ห้องตัวแทน
ลองหาจุดกึ่งกลางระหว่างกันก็ดีเหมือนกัน
หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงในการเจอแฟนใหม่พ่อแม่ได้ ก็สู้หาจุดกึ่งกลางบางอย่างร่วมกันไปเลยก็เป็นวิธีที่ดีไม่แพ้กัน อาจเริ่มด้วยการหาหัวข้อบทสนทนาที่สนใจหรือกิจกรรมที่ชอบใกล้เคียงกันมาใช้ในการค่อยๆ สานสัมพันธ์กับเขาหรือเธอดู ไม่แน่ว่า มันอาจช่วยทลายกำแพงความรู้สึกในใจลงบ้างก็ได้
คิดอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ถูก ลองคุยกับพ่อแม่ดูก็ได้
ถึงจุดหนึ่ง ถ้าเรายังรู้สึกอึดอัดหรือคิดว่าทำตามวิธีต่างๆ ก็ยังไม่โอเค ลองขอเวลาส่วนตัวกับพ่อแม่ เพื่อคุยเรื่องนี้อย่างเปิดอก บอกพวกเขาไปตรงๆ ว่าเราพร้อมสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ เพียงแต่ครั้งนี้เราเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมตัวเราถึงเป็นเช่นนี้ การได้คุยกับพวกเขาตรงๆ อาจช่วยให้เราทั้งคู่ได้หาทางออกใหม่ๆ สำหรับเรื่องนี้เจอ
เราไม่จำเป็นต้องยอมรับแฟนใหม่พ่อแม่ในฐานะพ่อหรือแม่คนใหม่ได้นะ ถ้าเรารู้สึกไม่สบายใจหรือไม่โอเคกับพวกเขาจริงๆ ทว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง หลังจากทุกอย่างลงตัวมากขึ้น ไม่แน่ว่า ณ ตอนนั้น เราก็อาจพร้อมที่จะแบ่งปันพื้นที่ปลอดภัยของเราเองให้กับคนอื่นด้วย ถึงอย่างนั้น ระหว่างตัวเรากับพ่อแม่ก็อาจต้องประนีประนอมและค่อยพูดค่อยจากัน เพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่า เราสนับสนุนเขามากแค่ไหน
การยอมรับบางสิ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าที่คิด เราไม่จำเป็นต้องรีบเร่งเปิดใจของตัวเอง หากท้ายสุดแล้วเราไม่สามารถยอมรับได้ ก็ไม่หมายความว่าเราผิดแต่อย่างใด เพียงแค่เราอาจต้องยอมรับให้ได้ว่าพ่อแม่ของเราก็มีชีวิตของเขาด้วยเช่นกัน แล้วพวกเขาเองก็ต้องการการสนับสนุนจากเราไม่ต่างกัน
เมื่อถึงตอนนั้น เราก็แค่ให้การสนับสนุนพวกเขาอย่างเต็มที่ เหมือนที่พวกเขาสนับสนุนเรามาตลอด
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon
Editorial Staff: Runchana Siripraphasuk