THAINOSAUR นิทรรศการที่เนรมิตไดโนเสาร์พันธุ์ไทยและสัตว์ดึกดำบรรพ์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ย้อนรอยโลกล้านปีกับนิทรรศการ THAINOSAUR (ไทยโนซอร์) เพื่อสำรวจโลกของ ไดโนเสาร์ สายพันธุ์ไทยและเหล่าสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เคยอาศัยอยู่บนแผ่นดินสยามที่มีมากกว่า 100 ชนิดโดยนำเสนอข้อมูลตามลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาอย่างละเอียดและสมบูรณ์ที่สุด ณ ท่าพิพิธภัณฑ์ (Museum Pier)พื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับท่าเรือท่าช้าง กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม-2 พฤศจิกายน 2568
นิทรรศการไม่ได้จัดแสดงเพียงโครงกระดูกไดโนเสาร์พันธุ์ไทยและฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์เท่านั้น แต่ยังมีการจัดทำหุ่นจำลองขนาดเท่าจริงของ ไดโนเสาร์ และสัตว์ดึกดำบรรพ์กว่า 20 สายพันธุ์ที่ค้นพบในประเทศไทยซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นโดยอ้างอิงข้อมูลงานวิจัยตามหลักบรรพชีวินวิทยา (Paleontology) กายวิภาคศาสตร์ สัตววิทยา และ วิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้ชมเสมือนได้เผชิญหน้ากับสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จริงๆ รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีแอนิเมชันเพื่อจำลองระบบนิเวศดึกดำบรรพ์ ภาพเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของไดโนเสาร์พันธุ์ไทยต่างๆอีกด้วย
อาคาร 3 ชั้นของ ท่าพิพิธภัณฑ์ ได้ถูกเนรมิตให้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกราวกับได้เดินสำรวจป่าเขตร้อนยุคครีเทเชียสของภาคอีสาน และที่ราบลุ่มริมแม่น้ำในยุคจูแรสซิกผ่านการจำลองสภาพแวดล้อมและพืชพรรณโบราณเพื่อพาย้อนเวลากลับไปสำรวจ “สามมหายุคแห่งชีวิต”
เริ่มต้นที่ชั้นแรกกับ “มหายุคพาลีโอโซอิก” (Paleozoic Era) ช่วงเวลาก่อนที่ไดโนเสาร์จะถือกำเนิดขึ้น อันเป็นยุคสมัยซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตโบราณอย่างไทรโลไบต์และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่วิวัฒนาการจากน้ำสู่บก และ “ยุคไทรแอสซิก” (Triassic Period) ช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์ซอโรพอดอย่าง อีสานโนซอรัส ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกบนโลก
ต่อด้วยชั้น 2 ที่บอกเล่าเรื่องราวของ “มหายุคมีโซโซอิก” (Mesozoic Era) ยุคทองที่รุ่งเรืองที่สุดของเหล่าไดโนเสาร์ ที่แบ่งเป็น 3 ยุคย่อยได้แก่ ยุคไทรแอสซิก (Triassic Period) “ยุคจูแรสซิก” (Jurassic Period) และ “ยุคครีเทเชียส” (Cretaceous Period) ซึ่งจะจัดแสดงทั้งไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่และสัตว์ดึกดำบรรพ์หายาก อาทิ ชาละวัน ไทยแลนดิคัส จระเข้โบราณขนาดยาวกว่า 8 เมตร พร้อมด้วยไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียงของไทย เช่น สยามโมไทรันนัส ภูเวียงโกซอรัส, กินรีไมมัส และ สยามโมซอรัส
ส่วนชั้นที่ 3 นำเสนอช่วงเวลาสุดท้ายของเหล่าไดโนเสาร์ในดินแดนไทยผ่านการจัดแสดงซากโครงกระดูกจริงและหุ่นจำลองของไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธุ์ โดยมีไฮไลท์สำคัญ คือโครงกระดูกของภูเวียงโกซอรัส และ สยามแรพเตอร์ ร่วมด้วยไดโนเสาร์กินพืชหลากหลายชนิด ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของวิวัฒนาการในบั้นปลายก่อนที่จะสูญพันธุ์ไปจากโลกในที่สุด นอกจากนี้ยังนำเสนอเรื่องราวของ “มหายุคซีโนโซอิก” (Cenozoic Era) ยุคสมัยของอารยธรรมใหม่ของเหล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งได้สูญพันธุ์ไปแล้วในปัจจุบัน
“สัตว์ดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ไทยที่เราจำลองขึ้นมามีประมาณ 20 กว่าสายพันธุ์ ตั้งแต่ ไดโนเสาร์ ฉลาม จระเข้ ช้างโบราณ โดยเราจะนำเสนอการเคลื่อนที่ของสัตว์แต่ละชนิดผ่านแอนิเมชันอ้างอิงจากการเคลื่อนไหวของสัตว์ในปัจจุบันเพื่อให้สมจริงมากที่สุด ส่วนตัวหุ่นจำลองจะจัดท่าทางให้ดูเหมือนกับดำรงชีวิตในธรรมชาติ อย่าง สยามโมซอรัส ที่ออกแบบท่าทางให้เหมือนกำลังล่าเหยื่อท่ามกลางสภาพแวดล้อมจริงของมัน รวมถึง สเตโกซอร์ (ไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงที่ค้นพบในประเทศไทย) นำมาจัดแสดงไซส์จริงในท่วงท่าสะบัดหนามแหลมคมที่ปลายหางเพื่อป้องกันตัวจากนักล่าที่ปราดเปรียวอย่าง ไทแรนโนซอรอยด์”
อัฑฒ์ ศรีวิสาร นักวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยาและสัตววิทยารุ่นใหม่และหนึ่งในทีมงานสร้างสรรค์ของนิทรรศการ กล่าวถึงเบื้องหลังการทำงาน
อัฑฒ์ ให้ข้อมูลว่า ไดโนเสาร์บางตัวมีสีสันสวยกว่าที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์หรือนิทรรศการทั่วไปจากการศึกษาร่องรอยของเมลาโนโซม (Melanosome) พบว่ากระเปราะเม็ดสีของผิวหนังและสีขนที่แท้จริงของไดโนเสาร์มีความใกล้เคียงกับสีของนก
“ไดโนเสาร์คอยาวที่หลายคนคุ้นเคยกับสีหม่น หลังจากนักบรรพชีวินวิทยาในอเมริกาค้นพบเม็ดสีที่แท้จริงของมันทำให้เรารู้ว่า จริงๆ แล้วไดโนเสาร์คอยาวบางชนิดมีฟอสซิลผิวหนังที่ประกอบด้วยเม็ดสีเหลืองหรือสีส้ม ซึ่งไดโนเสาร์พันธุ์ไทยก็อาจจะมีสีสันสวยงามใกล้เคียงกับนกในปัจจุบัน มากกว่าภาพลักษณ์ไดโนเสาร์สีหม่นที่เคยคุ้นตาเช่นกัน”
ชัชรินทร์ สมบูรณ์ ผู้จัดทำภาพประกอบและแอนิเมชันสำหรับนิทรรศการ กล่าวว่าส่วนหนึ่งของแอนิเมชั่นเริ่มต้นจากภาพประกอบในหนังสือ “ดึกดำบรรพ์พันธุ์ไทย” นำมาต่อยอดเป็นการนำเสนอรูปแบบใหม่เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจในระบบนิเวศดึกดำบรรพ์และเห็นการเคลื่อนไหว การล่าเหยื่อ และการใช้ชีวิตในฝูงที่สมจริงราวกับมีชีวิตอยู่ตรงหน้า เช่น ภาพของ สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis) นักล่าแห่งที่ราบสูงโคราช หรือ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae) ไดโนเสาร์กินพืชขนาดยักษ์
“ความท้าทายในการทำงานครั้งนี้อยู่ที่การทำไดโอรามา (Diorama หรือ ผลงานมิติทัศน์ในการจำลองฉากใดฉากหนึ่งขึ้นมาในรูปแบบสามมิติ) ขนาดใหญ่ติดบนกำแพงสูง 3 เมตร ยาวกว่า 20 เมตร ซึ่งต้องใช้ความละเอียดและเทคโนโลยีในการทำงานที่มีความละเอียดสูงมากขึ้น เพื่อให้รู้สึกเสมือนเดินเข้าไปอยู่ในยุคไดโนเสาร์” ชัชรินทร์ กล่าว
นิทรรศการ THAINOSAUR เกิดขึ้นจากความหลงใหลในซากฟอสซิลไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์ของ พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ก่อตั้งท่าพิพิธภัณฑ์และนักสะสมงานศิลปะ
“ผมสะสมซากฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์มานานกว่า 30 ปีแล้วครับ แต่ผมก็เชื่อว่าคนไทยยังไม่ค่อยรู้ว่าบ้านเรามีไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์เยอะมาก เวลาพูดถึงไดโนเสาร์ก็จะไปนึกถึงสายพันธุ์ดังๆ ที่เห็นในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ทั้งที่จริงๆ แล้วบ้านเรามีไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์หลาย 100 ชนิด ที่ไม่เคยพบเจอที่ไหนในโลกนอกจากประเทศไทย รวมถึงไดโนเสาร์ที่ค้นพบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน นิทรรศการนี้จัดขึ้นเพื่อให้คนไทยได้รับรู้และภูมิใจว่า ไดโนเสาร์ไทยก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้สายพันธุ์อื่นในโลก” พิริยะ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผลงานศิลปะของ 4 ศิลปิน ได้แก่ ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร ปั๋น-ดริสา การพจน์ (Riety) และ จิรภาส เจริญพร (DAYY) ที่ต่างนำแรงบันดาลใจจากเหล่าไดโนเสาร์มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะในหลายรูปแบบทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และกราฟฟิตี้ และนำเสนออย่างกลมกลืนไปกับโซนต่างๆ ของนิทรรศการ และพร้อมให้ผู้ที่สนใจสามารถจับจองผลงานผ่านทาง 1010 Art Space
Fact File
- นิทรรศการ THAINOSAUR จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม-2 พฤศจิกายน 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. ทุกวัน ณ ท่าพิพิธภัณฑ์ (Museum Pier) ในโครงการท่าช้าง วังหลวง ติดกับท่าเรือท่าช้าง ถนนมหาราช กรุงเทพฯ
- ค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เด็ก 150 บาท ผู้ใหญ่ 250 บาท / ชาวต่างชาติ เด็ก 250 บาท ผู้ใหญ่ 350 บาท
- รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.museumpier.com หรือFB : museumpier
The post THAINOSAUR นิทรรศการที่เนรมิตไดโนเสาร์พันธุ์ไทยและสัตว์ดึกดำบรรพ์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง appeared first on SARAKADEE LITE.