สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมุ่งมั่นนำความรู้วิทยาศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
นับตั้งแต่ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปยังถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ
ทรงตระหนักถึงความทุกข์ยากของราษฎร จึงเป็นแรงบันดาลพระทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พุทธศักราช 2530 โดยทรงน้อมนำแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ มาใช้เป็นหลักและแนวทางการทรงงาน พร้อมกับทรงวางพระนโยบายให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นศูนย์กลางแห่งความร่วมมือการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รวมถึงการดำเนินงานวิจัยทั้งในระดับพื้นฐานและการประยุกต์ใช้ ต่อการพัฒนาการสาธารณสุขของไทย ให้มั่นคงและยั่งยืน
เมื่อไม่นานมานี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงนำนักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุรักษามะเร็ง "ทราสทูซูแมบ" ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยไม่ใช้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
นับเป็นนวัตกรรมชิ้นแรกของประเทศไทย โดยนักวิจัยไทย เพื่อคนไทยและได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข แล้ว ในชื่อ 'HERDARAมา
เนื่องจากปัจจุบัน คนไทยมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยารักษามีราคาแพง เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงตระหนักถึงความยากลำบากของประชาชนในการเข้าถึงยาชีววัตถุที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค โดยเฉพาะยารักษาโรคมะเร็ง เพราะมีราคาสูงมาก
จึงทรงริเริ่มและทรงวางรากฐานการพัฒนายาชีววัตถุภายในประเทศ ภายใต้โครงการ ‘ศูนย์วิจัยและพัฒนาชีววัตถุ’ โดยโปรดให้นักวิจัยของสถาบันวิจัย จุฬาภรณ์ ระดมสมองในการคิดค้นและพัฒนา ยาชีววัตถุที่ได้มาตรฐานทัดเทียมสากล และสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งยังส่งผลให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านยาชีววัตถุแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางยา และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
ที่ผ่านมา ในยามที่ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีพระวินิจฉัยให้คณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ทำการวิจัยและพัฒนายาที่มีศักยภาพในการรักษาโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน
ทรงประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์ตัวยา โมลนูพิลาเวียร์ และยาจากพืชสมุนไพรอย่าง สารสกัดและผงฟ้าทะลายโจร จากการพัฒนายาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ พร้อมทั้งได้พระราชทานเทคโนโลยีการสังเคราะห์ยานี้ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ. 2564 สำหรับนำไปต่อยอดการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ด้วยพระนโยบายส่งเสริมการใช้สารสกัดธรรมชาติจากพืชและสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพสูง ในราคาที่เข้าถึงได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน