‘ไทย’ หวั่นต้นทุนแซงเวียดนาม ลุ้นสหรัฐเคาะภาษีนำเข้าต่ำกว่า 20%
สหรัฐบรรลุข้อตกลงการค้ากับเวียดนามสำเร็จ โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เปิดเผยข้อตกลงการค้ากับเวียดนามที่ได้ข้อสรุปก่อนเส้นตายในยสัปดาห์หน้าหลังจากเจรจาอย่างเข้มข้นกันมาหลายรอบ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน ประธานาธิบดีทรัมป์ โพสต์บนโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2568) ตามเวลาสหรัฐว่า เวียดนามจะถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้า 20% สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐและ 40% สำหรับสินค้าประเทศอื่นที่ถือว่าส่งออกผ่านประเทศเวียดนาม ขณะเดียวกันเวียดนามจะยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าของสินค้าสหรัฐทั้งหมด
สำหรับข้อตกลงกับเวียดนามเป็นข้อตกลงที่ 3 ต่อจากสหราชอาณาจักรและจีน เพราะคู่ค้าเร่งทำข้อตกลงกับสหรัฐก่อนเส้นตายวันที่ 9 ก.ค.2568 โดยทรัมป์กำหนดอัตราภาษีนำเข้าจากเวียดนาม 46% เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ช่วงต้นเดือน เม.ย.ซึ่งเรียกเก็บจากหลายสิบประเทศ แต่ต่อมาได้ปรับลดเหลือ 10% เพื่อให้สำหรับการเจรจา
เวียดนามเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลทรัมป์ เพราะที่ปรึกษาระดับสูงของประธานาธิบดีบางคนมองว่าเวียดนามเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในการพยายามคานอำนาจจีนในเอเชีย ขณะเดียวกันเวียดนามกลายมาเป็นผู้ส่งออกสินค้าหลักสำหรับผู้บริโภคอเมริกัน
ทั้งนี้ ช่วงไม่กี่ปีการส่งออกสินค้าของเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐพุ่งสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะผู้ผลิตย้ายฐานจากจีนไปเวียดนาม เวียดนามเป็นซัพพลายเออร์สิ่งทอ และชุดกีฬารายใหญ่ โดยมีโรงงานสำหรับบริษัทต่างๆ เช่น Nike , Gap และ Lululemon Athletica
ตามข้อมูลของสำนักงานสำมะโนประชากร เวียดนามเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่อันดับ 6 ในการนำเข้าสินค้าของสหรัฐเมื่อปี 2567 ส่งสินค้ามูลค่าเกือบ 137,000 ล้านดอลลาร์ โดยเวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐอันดับ 3 รองจากจีนและเม็กซิโก โดยการส่งออกเดือน พ.ค.พุ่งขึ้น 35% เพราะพยายามส่งสินค้าขึ้นเรือให้เร็วสุดก่อนถึงกำหนดเส้นตาย
สรท.ห่วงต้นทุนสินค้าเวียดนามต่ำกว่า
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การที่เวียดนามปิดดีลภาษีสหรัฐได้ โดยสินค้าส่งออกไปสหรัฐถูกเก็บ 20% มีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบแต่ไม่ได้ผลดีสำหรับไทย โดยโอกาสที่ไทยจะปิดตัวเลขที่ 20% ก็มีเหมือนกัน
สำหรับประเด็นที่ไทยได้เปรียบ คือ การที่ไทยเร่งแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐ ทำให้สหรัฐเห็นว่าไทยจริงใจแก้ปัญหาไม่ให้ประเทศอื่นมาสวมแหล่งกำเนิดเป็นสินค้าไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐ โดยถ้าทีมเจรจาไทยใช้ประเด็นนี้ต่อรองก็มีโอกาสที่ไทยจะปิดดีลตัวเลขได้ต่ำกว่า 20% ซึ่งมูลค่าการส่งออกที่ลดลงจากการเข้มงวดเรื่องนี้อาจต้องนำม่เปรียบเทียบกับเวียดนามที่ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ
ทั้งนี้การที่สินค้าเวียดนามถูกเก็บภาษีที่ 20% เพราะเปิดให้สหรัฐหมด โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐภาษี 0% ซึ่งไทยทำไม่ได้ เพราะต้องปกป้องการผลิตในประเทศ โดยอาจทำให้ไทยเสียเปรียบเวียดนามในการต่อรองกับสหรัฐ
“เวียดนามเก่งมากที่ปิดดีลได้ 20 % ซึ่งไทยจะเสียเปรียบหากได้ 20% เพราะต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำกว่าไทยมาก ดังนั้นเวียดนามได้เปรียบไทยในการส่งออกสินค้าเดียวกันไปสหรัฐ ดังนั้นเราหวังว่าทีมเจรจาจะเจรจาและปิดดีลได้น้อยกว่าเวียดนาม” นายธนากร กล่าว
ชี้ไทยต้องได้ภาษีต่ำกว่าเวียดนาม
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกิตติมศักดิ์ สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า การบรรลุข้อตกลงระหว่างสหรัฐและเวียดนามกระทบนักลงทุนไทยที่ลงทุนในเวียดนาม แต่จะกระทบแค่ไหนต้องประเมินผลการเจรจาของประเทศอื่น เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย
รวมทั้งการสรุปภาษีเวียดนามครั้งนี้ทำให้ความหวังที่ไทยจะได้อัตราภาษี 10% หรือต่ำกว่า 20% ยากขึ้นแม้เวียดนามไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเลย แต่สหรัฐยังเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากเวียดนาม 20%
ทั้งนี้ หากสหรัฐเก็บภาษีไทยเท่ากับเวียดนามก็ทำให้ไทยเสียเปรียบเพราะต้นทุนการผลิตเวียดนามถูกกว่าไทย 5-10% ดังนั้น ข้อสรุปที่ดีที่สุดต้องเจรจาภาษีในระดับที่ต่ำกว่าเวียดนาม แต่โอกาสเป็นไปได้น้อย เพราะเวียดนามยอมแลกภาษี 0% เพื่อไม่ให้ถูกเก็บภาษี 46% เพราะหากเก็บอัตราดังกล่าวจะกระทบเวียดนามมาก
“รัฐบาลเวียดนามทำงานเร็ว ขณะที่ไทยมีขั้นตอนมากและช้า การตัดสินใจมีเงื่อนไขมากกว่าเวียดนาม และการที่ไทยจะไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐหรือภาษี 0% โอกาสเป็นไปได้ยาก” นายสนั่น กล่าว
นอกจากนี้ มีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนาม กรณีสหรัฐเก็บภาษีเวียดนามอัตรา 20% กระทบต่อจีดีพี 1% แต่หากเก็บอัตรา 40% จะกระทบจีดีพี 2.0-2.5%
มั่นใจไทยโดนภาษีต่ำกว่าเวียดนาม
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า เวียดนามเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ปิดดีลกับสหรัฐ ซึ่งอัตราภาษี 20% จะเป็นบรรทัดฐานให้ประเทศอื่นที่เจรจากับสหรัฐ โดยขณะนี้ยังไม่รู้ว่ารายละเอียดผลการเจรจาหรือข้อเสนอของเวียดนามนอกจากอัตราภาษีที่สหรัฐลดลงมาเหลือ 20%
ดังนั้น ต้องติดตามผลการเจรจาของไทยจะปิดดีลอัตราภาษีตอบโต้เท่าไร 2 ส่วน คือ
1.ข้อสรุปอัตราภาษีของไทยเท่ากับเวียดนามจะทำให้การส่งออกของไทยไปเวียดนามยังไปได้
2.ข้อสรุปอัตราภาษีของไทยที่สูงกว่าแต่ไม่มากจะยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้
ทั้งนี้ ไทยยื่นข้อเสนอไป 5 ข้อ ก่อนหน้านี้ และต้องดูว่าทีมเจรจาของนายพิชัย จะมีข้อเสนออื่นเพิ่มอย่างไร ซึ่งมั่นใจว่าอัตราภาษีของไทยที่ถูกสหรัฐเก็บไม่น่าจะมากกว่าเวียดนาม โดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐเคยพูดว่าข้อเสนอของไทยน่าสนใจ
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราภาษีของไทยน้อยกว่าเวียดนาม โดยดูจากมูลค่าดุลการค้าที่เวียดนามได้ดุลการค้ามากกว่าไทย อีกทั้งไทยจริงใจแก้ปัญหาการสวมสิทธิสินค้าส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วระหว่างที่เจรจากับสหรัฐ
มองดีลเวียดนามเฉลยข้อสอบให้ไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การบรรลุข้อตกลงระหว่างสหรัฐและเวียดนามเป็นการ “เฉลยข้อสอบ” ให้ทีมไทยแลนด์ที่นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งไทยจัดในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจคล้ายเวียดนามจึงอาจเผชิญมาตรการภาษีแบบเดียวกัน
ทั้งนี้ ไทยอยู่ช่วงเริ่มต้นเริ่มเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2568 แบบตัวต่อตัวครั้งแรกหลังจากประชุมรูปแบบออนไลน์ ดังนั้น การที่สหรัฐได้ข้อสรุปกับเวียดนามก่อน เพราะเวียดนามเจรจากับสหรัฐก่อนไทย
“หากเวียดนามลดภาษีลงจากเดิม 46% เหลือ 20% น่าจะเจรจาให้ภาษีสินค้าไทยลดลงมาอยู่ที่ 15% ถือเป็นตัวเลขพอแข่งขันได้ ส่วนภาษีกรณีการสวมสิทธิ์ที่เวียดนามโดน 40% อาจต่อรองให้อยู่ที่ 30% หากคิดสัดส่วนอ้างอิงเดียวกัน หรือไม่อาจโดนเก็บที่ 40% เท่าเวียดนาม เพราะสหรัฐตรวจสอบเข้มงวดรายอุตสาหกรรมเพื่อสกัดกั้นประเทศคู่แข่ง” นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การสวมสินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐกระทบการส่งออกไปสหรัฐ และทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมกว่าครึ่งหนึ่งของ 47 กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้ ส.อ.ท.ได้รับผลกระทบรุนแรง หากปล่อยไว้เช่นนี้จะทำให้อุตสาหกรรมและ SME ของไทยอ่อนแอลงและอาจต้องปิดกิจการ
“ดับลิวเอชเอ”ชี้หนุนลงทุนเวียดนาม
น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การที่สหรัฐปิดดีลเจรจาภาษีกับเสียดนามเรียบร้อยแล้วนั้น ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมที่เวียดนามน่าจะดีขึ้นจากเดิมที่โดนเก็บภาษีนำเข้า 46% เหลือ 20% เพราะในช่วงแรกลูกค้ายังงงอยู่ที่เพราะคาดว่าน่าจะต่ำกว่าที่ได้ประกาศครั้งแรก
สำหรับการเจรจาของไทยเท่าที่ติดตามข่าวอาจจะอยู่ที่ 18% จาก 36% และคาดว่าจะต่อรองให้ได้ 10% ซึ่งก็ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าอะไรก็ตามถ้าไทยโดนภาษีที่ต่ำกว่าเวียดนามหรือไม่สูงกว่าเป็นเรื่องที่ดีกับประเทศไทยเพราะว่า จากการที่สหรัฐได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าครั้งแรกในไทยได้มีการเซอร์เวย์ลูกค้าที่ปัจจุบันมีการส่งออกไปสหรัฐอสูง โดยลูกค้า 70% มองว่าหากไทยโดนภาษีที่ 10% ก็ยังรับได้ ส่วนลูกค้าอีก 30% มองว่าถ้าไม่เกิน 20% ก็รับได้ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องดู
“หากไทยโดนเก็บภาษีนำเข้าที่ 18% ตามที่หลายคนมองหรือต่ำกว่านี้ก็น่าสนใจ ซึ่งขอให้ต่ำกว่าเวียดนามเข้าไว้ ส่วนการที่เวียดนามจะเป็นประเทศคู่แข่งกับไทยก็ไม่ใช่ direct เสมอไปเพราะปัจจุบันการที่จะลงทุนประเทศไหนอยู่ที่ว่าอุตสาหกรรมนั้นต้องการอะไร”