'พงศ์กวิน' รมว.แรงงาน ใหม่มอบ 5 นโยบาย ลั่นเพิ่มค่าแรงจะให้ถึง 650 บาท
เมื่อเวลา 08.19 น. วันที่ 4 ก.ค.68 ที่กระทรวงแรงงาน นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.แรงงานคนใหม่ เดินทางเข้ามาทำงานที่กระทรวงเป็นวันแรก เดินทางเข้าห้องทำงานบริเวณชั้น 6 โดยมีพระภิกษุสงฆ์ 2 รูปทำพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนทำพิธีสักการะสิ่งศักสิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ในเวลา 09.19 น. ประกอบด้วย พระพุทธสุทธิธรรมบพิตร พระพุทธชินราช ศาลพ่อปู่ชัยมงคล ศาลท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ ศาลพ่อปู่ชินพรหมมา และสักการะพระพุทธรูปประจำห้องปฏิบัติราชการ
ต่อมาเวลา 10.30 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางมายังกระทรวงแรงงานเ พื่อมอบกระเช้าดอกไม้ให้กำลังใจนายพงศ์กวิน พร้อมให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า มาให้กำลังใจ รมว.แรงงาน เนื่องจากตนเป็นรองนายกฯ ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงานด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ได้มีการพูดคุยกันถึงแนวทางการขับเคลื่อนกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจรวมถึงการช่วยเหลือพี่น้องแรงงาน ให้มีสภาพการทำงานที่ดี มีค่าแรงที่ดี กระตุ้นเศรษฐกิจได้
ถามถึงนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 นายสุริยะ กล่าวว่า ต้องมีการดูรายละเอียด และพิจารณาอีกครั้ง ร่วมกับผู้บริหารกระทรวง และภาคส่วนต่างๆ จากที่ได้มีการหาเสียงเพิ่มค่าแรง จะสามารถเพิ่มได้อย่างไร แค่ไหน เพิ่มแล้วต้องไม่กระทบกับผู้ประกอบการมากเกินไป ถ้าสามารถเพิ่มได้ก็จะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะมีเงินมาจับจ่ายใช้สอยแล้วจะทำให้ผู้ประกอบการขายของได้ ธุรกิจก็เติบโต ต้องดูในภาพรวม ต้องดูข้อมูลให้ครบถ้วน
ฝึกอบรมทักษะAI ลดหย่อนภาษี
จากนั้นเวลา 11.00 น. นายพงศ์กวิน ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ภายใต้แนวคิด กระทรวงแรงงาน เพื่อโอกาส แรงงานไทยว่า ฝากนโยบาย 5 ข้อ
คือ 1. พัฒนาศักยภาพ AI เพื่อยกระดับแรงงานไทย ต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรใช้งาน AI ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต และการบริการในปัจจุบันไปจนถึงอนาคต และต้องดำเนินการเชิงรุกให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพัฒนาฝีมือด้าน AI
ซึ่งหลักสูตรการอบรมที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการเองยังไม่เพียงพอต่อการยกระดับฝีมือแรงงานด้าน AI รวมถึงด้านอื่นๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีเครื่องมือสำคัญคือ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนาฝีมือแรงงานของตัวเอง โดยให้นำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ หากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานปรับปรุงแนวทางการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อผลักดันให้เอกชนพัฒนาทักษะที่มือด้าน AI เพิ่มมากขึ้นน่าจะเป็นช่องทางทำให้ยกระดับแรงงานฝีมือด้าน AI ให้เกิดผลได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นครับ
2. การคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียม ครอบคลุมแรงงานนอกระบบจำนวนกว่า 21 ล้านคน จึงขอให้มีการเร่งผลักดันกฎหมายแรงงานยุคใหม่ให้ครอบคลุมแรงงานนอก และขอให้มีการศึกษาวิจัยรูปแบบการทำงานในปัจจุบัน แนวโน้มความต้องการประกอบอาชีพ และลักษณะงานที่คนรุ่นใหม่ และเยาวชนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงหรือบัญญัติกฎหมายแรงงานเพิ่มเติมให้มีความทันสมัยรับรองแรงงานที่มีรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสม
ยกระดับ1.8 ล้านคน รับค่าแรงเกิน 400 บาท
3. “Learn to Earn” สนับสนุน และส่งเสริมเยาวชนอายุ 15 – 18 ปี ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ทำงานได้ สามารถทำงานที่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และสภาพจิตใจ และต้องไม่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเยาวชน เรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงเด็กเยาวชนที่มีฐานะยากจน จึงควรช่วยกันปรับเจตคติของสังคมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ทำไมเราต้องส่งเสริมการทำงานของคนรุ่นใหม่
4. สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกระดับรายได้ให้แก่แรงงานไทย ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมประมาณ 24 ล้านคน แม้ในช่วงนี้ได้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำแล้วถึง 2 รอบ ทำให้แรงงานในพื้นที่ และบางสาขาอาชีพได้รับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท แต่ยังมีผู้ประกันตนอีก 2.3 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานไทย 1.8 ล้านคน ที่ได้รับค่าจ้างยังไม่ถึงวันละ 400 บาท สะท้อนให้เห็นว่าแรงงาน 90% มีรายได้เกินรายได้เกิน 400 บาทต่อวันแล้ว
สำหรับกลุ่มที่เหลือจำเป็นจะต้องเร่งยกระดับรายได้ของแรงงานกลุ่มนี้โดยด่วน ไม่ว่าจะเป็นการอัปสกิล รีสกิล เพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้มีทักษะฝีมือแรงงาน ที่จะเข้าสู่ระบบค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ทำให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นเกินกว่าวันละ 400 บาท
และ 5. การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยอย่างเร่งด่วน ไม่ให้เกิดปัญหาแย่งอาชีพคนไทย ปัญหาอาชญากรรม
พยายามเพิ่มค่าแรงให้ถึง 650 บาท
ก่อนเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามถึงเรื่องนโยบายเรือธงของรัฐบาล เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นายพงศ์กวิน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้วยการอัปสกิล รีสกิล โดยส่วนใหญ่ก็จะมีรายได้ที่สูงกว่า 400 บาทต่อวัน ซึ่งเหลือกลุ่มเป้าหมายตอนนี้ประมาณ 2.3 แสนคน ที่จำเป็นที่จะต้องอัปสกิล รีสกิล เพื่อให้มีรายได้ที่สูงกว่า 400 บาทขึ้นไป ซึ่งเท่าที่ทราบข้อมูลมามีผู้ประกันตนราว 24 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอยู่ 2.3 ล้านที่ได้รับต่ำกว่า 400 บาท ขณะที่ค่าแรงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 618 บาทต่อวันต่อคน ถือว่าค่อนข้างสูง
“สิ่งที่จะทำคือ ยกระดับค่าแรงขึ้นไปอีก จะพยายามทำให้ได้ถึงประมาณ 650 บาทต่อวัน แต่ไม่ใช่การยกระดับด้วยอัตราการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะต้องพัฒนาฝีมือของแรงงาน ให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เขาจะได้รับ ถ้าเกิดสมมติว่าเขามีทักษะที่มากขึ้น รับประกันได้ว่าไม่มีนายจ้างคนไหนที่จะปฏิเสธเรื่องการให้ค่าแรงที่สูงขึ้น”นายพงศ์กวิน กล่าว
เมื่อถามกรณีแรงงานกัมพูชา นายพงศ์กวิน กล่าวว่า ภาพที่เห็นรายงานเดินทางออกนอกประเทศไทย นั้นเป็นเรื่องปกติ ส่วนใหญ่เป็น One Day Passport หรือไปเช้า-เย็นกลับ ทำให้ดูเหมือนมีคนออกนอกประเทศไทย แต่ตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่กลับออกไปจริงมีประมาณ 20,000 คน จากจำนวนแรงงานกัมพูชาในประเทศไทยกว่า 500,000 คน เพราะฉะนั้นส่วนที่กลับไปถือว่าไม่มาก ก็ต้องมีการหาแรงงานสัญชาติอื่นเข้ามาทดแทน
การันตีตัวเองมีความสามารถเพียงพอ
เมื่อถามว่ารู้สึกกดดันหรือไม่ในฐานะรัฐมนตรีหน้าใหม่ อีกทั้งยังมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายพงศ์กวิน กล่าวว่า ตนเคยบริหารงานในบริษัทของคุณพ่อ และบริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มาแล้ว รวมถึง เป็น สส.ในสมัยปี 2562 อยู่ 4 ปี ได้เห็น และเรียนรู้งานทางด้านนิติบัญญัติ หลังจากนั้นก็ได้มาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อยู่ 2 ปี
“ผมมีความรู้ ทั้งทางด้านนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาว่าจะทำงานได้ไหม ผมสามารถการันตีตัวเองได้ว่า ผมมีความสามารถมากพอ" นายพงศ์กวิน กล่าว
เมื่อถามถึงการสานต่อหรือรื้องานของ รมว.แรงงาน คนเก่าที่มาจากพรรคภูมิใจไทย(ภท.)หรือไม่อย่างไร นายพงศ์กวิน กล่าวว่า แต่ละพรรคการเมืองต่างก็มีนโยบายของตนเอง แต่นโยบายไหนที่ทำไว้ดีก็สานต่อแน่นอน ส่วนที่คิดว่าสามารถทำให้ดีขึ้น ก็พร้อมที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์