การนอนหลับกระบวนการซ่อมแซมชีวิต เผยเทคนิคช่วยให้การนอนมีคุณภาพดีขึ้น
การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดีการนอนหลับมิได้เป็นเพียงแค่การเติมพลังให้ร่างกาย หรือเปรียบเสมือนการ “ชาร์จแบตเตอรี่” ให้พร้อมใช้งานในวันรุ่งขึ้นเท่านั้น แต่การนอนหลับยังมีประโยชน์อื่นอีกมากมาย เพราะการนอนหลับเป็นสิ่งพิเศษที่ธรรมชาติสร้างมาให้กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด การทำงานของร่างกายหลายระบบจะเป็นไปได้ด้วยดีหรือเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงการนอนหลับ เช่น ระบบบันทึกความทรงจำระยะยาวของมนุษย์ที่เกิดที่สมองส่วนที่เรียกว่า ฮิปโปแคมพัส
นอนท่าไหนดีต่อสุขภาพที่สุด? ช่วยหายใจสะดวก ลดอาการปวดหลังได้
7 เคล็บลับการนอนหลับ สำหรับคนหลับยาก ปรับพฤติกรรมช่วยคลายเครียด
โดยจะเปลี่ยนความทรงจำระยะสั้นให้เป็นความทรงจำระยะยาว ซึ่งระบบดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงของการนอนหลับเป็นสำคัญ นอกจากนี้พบว่าระบบฮอร์โมนของร่างกายหลายชนิดมีการหลั่งฮอร์โมนออกมาปริมาณมากเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน เช่น ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (Growth Hormone) และฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งช่วยควบคุมวงจรการหลับตื่นและฮอร์โมนชนิดนี้จะหลั่งออกมาเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น
9 เทคนิคช่วยการนอนมีคุณภาพ
- ออกกำลังกายช่วงเย็น 30 นาที ในช่วง 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน
- กินกล้วยหอม เพราะผิวของกล้วยหอมมีฤทธิ์เหมือนยานอนหลับ และมีกรดอะมิโน ที่ชื่อว่า ทริปโตฟาน (Tryptophan) ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสารเซโรโทนิน (Serotonin) ช่วยให้ง่วงนอน รู้สึกคลายเครียด คลายกังวล และทำให้หลับสบาย
- หลีกเลี่ยงอาหารหนักและอาหารรสจัดก่อนนอน เพราะร่างกายต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในการย่อยอาหาร
- หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มกระตุ้นประสาท 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน
- ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ ด้วยการอาบน้ำอุ่นก่อนนอน ฟังเพลงเบาๆ สวดมนต์ภาวนา หรือ การนั่งสมาธิ
- จัดระเบียบห้องนอนและกำจัดสิ่งรบกวน ด้วยการปิดไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อให้มีบรรยากาศมืดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ร่างกายเกิดการสร้างเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนง่วง ที่ร่างกายหลั่งตามปกติ เมื่อถึงเวลานอน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ (Active smoker) รวมถึงอยู่ใกล้ควันบุหรี่(Passive smoker) เพราะสารนิโคติน (Nicotine) จะทำให้หลับยาก หลับไม่สนิท ตื่นบ่อย และฝันร้าย จากผลการกระตุ้นระบบประสาทของสารนิโคติน
- พยายามกำหนดเวลาเข้านอนให้เป็นเวลา โดยพยายามนอนก่อน 5 ทุ่ม และตื่นก่อน 6 โมงเช้า เนื่องจาก ฮอร์โมนที่เร่งการเจริญเติบโต และฮอร์โมนที่ช่วยซ่อมแซมร่างกายหลั่งมากที่สุดในช่วงกลางดึก คือ 23.00-04.00 น. ดังนั้นช่วงเวลาดังกล่าวควรหลับสนิทเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเองเต็มที่
- ควรให้ผิวหนังได้โดนแสงแดดยามเช้า เพื่อให้ร่างกายได้สังเคราะห์วิตามินดีอย่างเพียงพอ และ การได้รับแสงแดดยามเช้าทุกๆ วัน วันละ 5-10 นาที ช่วยทำให้การนอนหลับตอนกลางคืนเป็นการหลับที่สนิทและมีคุณภาพ
การนอนที่ดี ต้องหลับสนิท ไม่ตื่นกลางดึก ตื่นมาแล้วต้องไม่ง่วงนอนระหว่างวัน สมองและระบบประสาทต้องตื่นตัวและพร้อมทำงานอยู่เสมอ รู้สึกมีความสุขในทุกๆ วัน
ขอบคุณข้อมูลจาก :โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล และ โรงพยาบาลพญาไท 3