IMCRANIB 100 ยารักษามะเร็งมุ่งเป้าเม็ดแรกของไทย พระอัจฉริยภาพสมเด็จเจ้าฟ้าฯ
การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก หนึ่งในนวัตกรรมการรักษาที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ “ยารักษาโรคมะเร็งชนิดมุ่งเป้า” หรือ Targeted Therapy ซึ่งเป็นการใช้ยาที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งสามารถทำลาย หรือยับยั้งเซลล์มะเร็งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ช่วยลดการทำลายเซลล์ปกติในร่างกาย เป็นการลดผลข้างเคียงจากการรักษาแบบดั้งเดิม เช่น เคมีบำบัด นอกจากนี้ยังสามารถสามารถปรับแผนการรักษาได้อย่างรวดเร็วตามลักษณะการดำเนินโรคของผู้ป่วยแต่ละราย
ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์กว้างไกลของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ด้วยทรงตระหนักถึงความยากลำบากของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ขาดโอกาสเข้าถึงเภสัชภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง ทรงจัดตั้งโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดําริ ณ พระตําหนักพิมานมาศ อําเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. 2563 เพื่อให้เป็นโรงงานต้นแบบผลิตเภสัชภัณฑ์ที่จะเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถการวิจัยและการพัฒนาเภสัชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ต่อเนื่องสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงเปิดนิทรรศการ 'อวกาศ' สุดปัง ที่หอศิลป์ทิพย์พิมาน
'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' MOU วิจัยร่วม'สปสช.'สร้างองค์ความรู้ด้านการแพทย์
“อิมครานิบ 100 / IMCRANIB 100"ยารักษาโรคมะเร็งมุ่งเป้าชนิดเม็ด
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานวิธีการที่ดีในการผลิตยาและการกระจายยา GMDP PIC/s ตามมาตรฐานสากลและมีศักยภาพด้านการวิจัยทางเภสัชกรรมซึ่งมีความสามารถนำองค์ความรู้จากการวิจัยมาต่อยอดเป็นการผลิตระดับอุตสาหกรรม เพื่อให้มียารักษาโรคมะเร็งเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศไทยซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และเสริมสร้างองค์ความรู้แก่บุคลากรในด้านการผลิตเภสัชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงให้แก่ประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงวางพระนโยบายการวิจัย และผลิตยารักษาโรคมะเร็งอย่างรอบคอบ ทรงให้ความสำคัญต่อการดูแลผู้ป่วยในทุกมิติ ด้วยแนวพระนโยบายที่กว้างขวางนี้จึงเกิดการวิจัยที่หลากหลาย และครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็งในทุกรูปแบบ โดยยารักษาโรคมะเร็งชนิดมุ่งเป้าที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส (Tyrosine Kinase Inhibitors) เป็นหนึ่งในยาที่ทรงสนพระทัยเนื่องจากเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้รักษาโรคมะเร็งได้หลากหลายชนิด ให้ผลการรักษาดี มีอาการข้างเคียงต่ำ เป็นที่ยอมรับจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา
ทำลายเซลล์มะเร็งอย่างแม่นยำ ควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์
ตลอดการดำเนินโครงการทรงมีพระวิริยะอุสาหะ และใส่พระทัยติดตามความก้าวหน้าของโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วยพระองค์เอง โดยทรงร่วมในกระบวนการตรวจสอบความสมบูรณ์ของเครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ และทรงร่วมปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ณ ห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพของโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ทรงใช้พระสติปัญญาและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลนำคณะทำงานของโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริเพื่อการพัฒนามาตรฐานเภสัชกรรมอย่างยั่งยืนเพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้มีคุณภาพเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานสากลโดยทรงปฏฺิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์ และทรงวิเคราะห์หาปริมาณสารปนเปื้อน ความชื้นในวัตถุดิบด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ทางเคมีฟิสิกส์ชั้นสูง นอกจากนี้ ยังทรงปฏิบัติการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูป เช่น พฤติกรรมการปลดปล่อยตัวยาสำคัญ มิติความแข็ง ความกร่อนของเม็ดยาเม็ด เป็นต้น
ผลจากการทรงงานด้านเภสัชกรรมด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และพระปณิธานอันแน่วแน่ตลอดหลายปี เกิดเป็นคุณูปการสำคัญต่อวงการสาธารณสุข คือ ยาเม็ดรักษาโรคมะเร็งชนิดมุ่งเป้าตำรับแรกที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย “อิมครานิบ 100 / IMCRANIB 100" โดยประกอบด้วยตัวยาสำคัญอิมาทินิบ (IMATINIB) 100 มิลลิกรัม โดยได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 และพร้อมสำหรับการนำไปใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
“ยาอิมครานิบ” มีคุณสมบัติยับยั่งการทำงานของเอ็นไซม์ไทโรซีนไคเนสอย่างจำเพาะเจาะจง เป็นการทำลายเซลล์มะเร็งอย่างแม่นยำช่วยให้การควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์ มะเร็งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้หลายชนิด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดฟิลาเดลเฟียบวก มะเร็งเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร (GIST) มะเร็งผิวหนังชนิดหายาก (DFSP) โดยจะได้นำมาให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๘ เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีมูลค่าสูง และเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนชาวไทยสามารถเข้าถึงการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
ความสำเร็จนี้นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่ไม่เพียงช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้พ้นจากทุกข์ภัยของโรคมะเร็งเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะความชำนาญด้านการพัฒนาตำรับ การผลิต การควบคุมคุณภาพ การประกันคุณภาพ การทดสอบทางเภสัชวิทยา และการขึ้นทะเบียนยารักษาโรคมะเร็งให้แก่บุคลากรและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เป็นการยกระดับความสามารถด้านเภสัชอุตสาหการและเทคโนโลยีเภสัชกรรมและบุคลากรทางด้านนี้ของประเทศไทยให้พร้อมรองรับการผลิตและการวิจัยยารักษาโรคมะเร็งตำรับอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป สร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศในระยะยาวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยอย่างยั่งยืน
อนึ่ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์โดยภายใต้โครงการ “ศูนย์วิจัยและพัฒนาชีววัตถุ” ได้มีความสำเร็จภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการพัฒนาเซลล์ต้นแบบ พัฒนากระบวนการผลิต และผลิตยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้ากลุ่มชีววัตถุตัวแรกของประเทศไทยคือยา “ทราสทูซูแมบ” (Trastuzumab) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข วันเดียวกัน ในชื่อ “HERDARA” ด้วย โดยการพัฒนายาชีววัตถุตัวดังกล่าวเกิดขึ้นโดยนักวิจัยไทยทั้งหมดตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยไม่อาศัยการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศเลย ความสำเร็จนี้จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนายาชีววัตถุตัวใหม่ ๆ ต่อไปในอนาคต