สินค้าสวมสิทธิ์ปัญหาใหญ่ 'เทรดวอร์' ส.อ.ท.จี้รัฐ 'สังคายนา' ก่อน SME ไทยพัง
สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง "ทรานส์ชิปเมนท์" หรือการสวมสิทธิ์สินค้า ที่กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไทยต้องเร่งแก้ไข
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ล่าสุดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็น “ทรานส์ชิปเมนท์” หรือการสวมสิทธิ์สินค้าจากจีนเข้ามาในสหรัฐฯ ผ่านประเทศที่สาม
นายเกรียงไกร กล่าวว่า หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์) ยืนยันผลการเจรจาอย่างเป็นทางการกับเวียดนามว่า สินค้านำเข้าจากเวียดนามจะถูกเก็บภาษีที่ 20% แต่หากเป็นกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นสินค้าจากการ “ทรานส์ชิปเมนท์” หรือจากประเทศที่ 3 ซึ่งเป็นที่รู้กันคือประเทศจีน ได้ใช้เวียดนามเป็นทางผ่าน หรือมีการ “สวมสิทธิ์” จะถูกเก็บภาษีสูงถึง 40% จากเดิมที่สหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากเวียดนามไว้รวม 46%
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทย ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นที่จะเริ่มเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) อย่างเป็นทางการในคืนวานนี้ (3 กรกฎาคม 2568) โดยเป็นการพบกันแบบตัวต่อตัวครั้งแรก หลังจากการประชุมส่วนใหญ่เป็นรูปแบบออนไลน์ ดังนั้น การที่สหรัฐได้ข้อสรุปกับเวียดนามก่อนนั้น เพราะเวียดนามมีการเจรจากับสหรัฐมาก่อนไทยในหลายครั้งและมีการเปิดเผยกรอบตัวเลขออกมาก่อนหน้านี
ทั้งนี้ จากตัวเลขภาษีของเวียดนามทำให้ไทยได้เห็นแนวโน้มและกรอบการเจรจา ซึ่งถือเป็นการ “เฉลยข้อสอบ” ให้กับทีมไทยแลนด์ นำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะด้วยโครงสร้างในกลุ่ม Southeast Asia ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับเวียดนาม เราก็อาจจะเผชิญกับมาตรการภาษีในรูปแบบเดียวกัน
“ส่วนตัวผมมองว่า หากเวียดนามลดภาษีลงจากเดิม 46% เหลือ 20% เราก็น่าจะสามารถเจรจาให้ภาษีสินค้าของไทยลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 15% ถือเป็นตัวเลขที่พอแข่งขันได้ ส่วนภาษีกรณีการสวมสิทธิ์ที่เวียดนามโดน 40% เราก็อาจจะต่อรองให้อยู่ที่ประมาณ 30% หากคิดในสัดส่วนอ้างอิงเดียวกัน หรือไม่อาจจะโดนเก็บเท่าเวียดนาม เพราะสหรัฐได้มุ่งเป้าและตรวจสอบอย่างเข้มงวดในรายอุตสาหกรรมตามจุดประสงค์หลักคือการสกัดกั้นประเทศคู่แข่ง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ประเทศไทยเพราะไทยที่เป็นมิตรที่ดี” นายเกรียงไกร กล่าว
ทั้งนี้ ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงตัวเลขที่การประเมินเบื้องต้น และขึ้นอยู่กับรายละเอียดการเจรจา รวมถึงข้อเสนอที่อาจมีความละเอียดอ่อนที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ
นายเกรียงไกร เน้นย้ำว่า ประเด็นการสวมสิทธิ์สินค้าไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เรื่องการส่งออกไปสหรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาใหญ่ต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศอีกด้วย ซึ่งภาคเอกชนพูดมานานแล้วว่า การนำเข้าสินค้าจำนวนมากโดยไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอ ทำให้สินค้าด้อยคุณภาพหรือสินค้าราคาถูกเหล่านี้เข้ามา “ตีตลาด” และ “ถล่ม” ผู้ประกอบการ SME ของประเทศ ซึ่งปัญหานี้สะสมมาหลายปีแล้วและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งจากตัวเลขสินค้าราคาถูกที่ทะลักเข้ามาในไทย 5 เดือนแรกของปี 2568 นี้ก็ยังไม่มีวี่แววจะลดลง กลับเพิ่มขึ้นเสียอีก
“จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมกว่าครึ่งหนึ่งของ 47 กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้ ส.อ.ท. ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หากยังปล่อยไว้เช่นนี้ จะส่งผลให้อุตสาหกรรมและ SME ของไทยอ่อนแอลงอย่างมาก และอาจต้องปิดกิจการในที่สุด” นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การเจรจาเรื่องภาษีกับสหรัฐครั้งนี้ จึงเป็น “โอกาสสำคัญ” ที่ประเทศไทยจะต้องกลับมา “สังคายนา” ระบบการบริหารจัดการภายในประเทศอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสหรัฐและป้องกันไม่ให้สินค้าด้อยคุณภาพทะลักเข้าประเทศ ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะ “ไม่ทน” โดยไม่ทนในความหมายคือ ไม่ทนนั่งประชุมและสื่อสารออกไปเป็นข้อความผ่านสื่อและเอกสารอีกต่อไป
“เอกชนจะทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยจะเข้าไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์), กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กรมศุลกากร และกระทรวงการคลัง เป็นต้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและใกล้ชิดเพื่อนำเสนอข้อมูลแบบมุ่งเป้า” นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ภาคเอกชนได้ศึกษาและมีข้อมูลรู้ถึงปัญหาดีว่าอยู่ตรงไหน และได้แจ้งไปกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จึงถึงเวลาที่ต้องลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยในสภาวะที่ท้าทายนี้