รักต่างชนชั้นของลูกเศรษฐีกับช่างยนต์ ความโรแมนติกที่เป็นจุดกำเนิดของ ‘Mercedes-Benz’
รักต่างชนชั้นของลูกเศรษฐีกับช่างยนต์
ความโรแมนติกที่เป็นจุดกำเนิดของ ‘Mercedes-Benz’
คู่รักผู้พลิกโฉมโลกของยานยนต์ไปตลอดกาล
รักต่างชนชั้นระหว่างลูกสาวเศรษฐีผู้มั่งคั่ง กับนายช่างหนุ่มจนๆ ที่ดูแล้วก็คงคล้ายพล็อตละครหลังข่าวช่องมากสีน้อยสีที่เราคุ้นเคย ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ดูจะเป็นไปได้ยากในชีวิตจริง กับความโรแมนติกดราม่าที่ก็คงจะมีเพียงปลายปากกาของผู้แต่งบทประพันธ์เท่านั้นที่จะบรรเลงเรื่องราวของตัวละครที่อยู่ต่างฐานะทางสังคมให้สามารถโคจรมาครองรักกันได้ในตอนจบเรื่อง
แต่หารู้ไม่ว่าพล็อตเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับชีวิตของผู้คนหลากหลายคู่ ซึ่งหนึ่งในคู่รักระดับตำนาน ที่เปลี่ยนแปลงวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกนี้ไปตลอดกาล และส่งผลมาถึงปัจจุบัน ก็คือเรื่องราวความรักของ ‘เบอร์ธา ริงเกอร์’ และ ‘คาร์ล เบนซ์’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์รถยนต์หรูชื่อดังของโลกอย่าง ‘Mercedes-Benz’ ที่ปัจจุบันเป็นรถยนต์ระดับพรีเมียมรายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดจำหน่ายสูงถึง 2.34 ล้านคัน ในปี 2019
แต่จุดกำเนิดของ Mercedes-Benz เกิดขึ้นจากผีมือของวิศวกรหนุ่มผู้มีฐานะยากจนข้นแค้นที่มีชื่อว่า ‘คาร์ล เบนซ์’
เบนซ์ คืออัจฉริยะด้านวิศวกรรม เขาเป็นคนที่มากด้วยวิสัยทัศน์ และเป็นคนแรกๆ ของโลกเลยที่ให้กำเนิดรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป แต่แบรนด์รถยนต์ชื่อดังนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเขาไม่มีบุคคลหนึ่งเข้ามาในชีวิต
ย้อนกลับไปในปี 1844 เบนซ์ลืมตาดูโลกในเมืองชนบทมุลบวร์ค ของเยอรมนี พ่อของเขาทำอาชีพเป็นคนขับรถไฟแบบหัวรถจักรไอน้ำ ฐานะทางบ้านของเขาไม่ค่อยสู้ดีนัก เข้าขั้นยากจน และเมื่อเขาอายุได้ 2 ขวบ พ่อของเขาได้จากโลกนี้ไป เหลือแค่เพียงแม่คนเดียวคอยเลี้ยงดูเบนซ์จนเติบโต
แม้ชีวิตจะผ่านความสับสนจากเสาหลักของบ้านที่ล้มลง แต่แม่ของเขาก็จัดแจงให้เบนซ์ได้รับการศึกษาที่ดี และโชคดีที่เบนซ์เป็นคนใฝ่เรียน และมีความรักดีในด้านการเรียนอีกด้วย เบนซ์เลือกเรียนต่อในโรงเรียนสารพัดช่าง โดยเลือกวิชาชีพเป็นช่างทำกุญแจ แต่แล้วก็หันเหไปทางด้านวิศวกรรมรถจักรไอน้ำตามรอยพ่อ
ปี 1860 เบนซ์ในวัย 15 ปี เรียนเก่งจนถึงขั้นสอบเทียบเข้าเรียนสาขาวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยคาลส์รูเออได้ และเขาก็จบการศึกษาจากที่นั่นในปี 1864 ขณะที่มีอายุ 19 ปีเท่านั้น
หลังเรียนจบ เขาเริ่มทำงานกับบริษัทเครื่องกลในคาร์ลสรูเออ เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะย้ายมาแมนไฮม์ในปี 1868 เพื่อทำงานเป็นช่างออกแบบให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างสะพานเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่ชีวิตวิศวกรบริษัทได้พาเขามาถึงที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นบริษัททำเหล็กก่อสร้างในปี 1870
ในขณะที่ชีวิตของเบนซ์ต้องดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองเรียนจบและหางานทำ ชีวิตของคนๆ หนึ่งอีกในฟากของประเทศกลับตรงกันข้าม ย้อนกลับไปปี 1849 ครอบครัวตระกูลริงเกอร์ได้ให้กำเนิดลูกสาวชื่อว่า ‘เบอร์ธา’ ในเมืองฟอร์ซไฮม์ ราชรัฐบาเดิน พ่อของเบอร์ธามีอาชีพเป็นช่างไม้ และค้าไม้จนมีร่ำรวย ชีวิตของเบอร์ธาถือว่าเกิดมาโดยคาบช้อนเงินช้อนทอง ไร้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย
เธอได้เรียนในโรงเรียนของชนชั้นสูงเยอรมนี และด้วยการที่เธอสนใจในวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และการประดิษฐ์ หลังจากที่เธอจบการศึกษา เธอจึงมีความเข้าใจเรื่องเครื่องยนต์กลไกในระดับดี
พรหมลิขิตขีดเส้นให้ทั้งสองมาพบกันในเวียนนา
การที่เบนซ์ย้ายมาเป็นวิศวกรใช้ชีวิตอยู่ที่เวียนนา เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้พบรักกับลูกสาวเศรษฐี ‘เบอร์ธา ริงเกอร์’
ความเป็นหญิงสาวผู้สูงศักดิ์ กับวิศวกรธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ไม่คิดว่าจะโคจรมาพบกันได้ แต่ทำไมเบอร์ธาจึงสนใจในตัวของเบนซ์ ทั้งๆ ที่สังคมของเธอมีตัวเลือกที่ดีที่อยู่ในกลุ่มคนชนชั้นเดียวกันก็มีตั้งมากมาย
คำตอบอาจจะมีหลายองค์ประกอบ แต่เคยมีบันทึกอยู่ถึงช่วงที่ทั้งคู่พบปะพูดคุยกันใหม่ๆ เบอร์ธามองเห็นประกายบางอย่างในตัวของเบนซ์ มันเป็นเสน่ห์ที่ออกมาจากความคิด และวิสัยทัศน์กว้างไกลของเขา ไอเดียต่างๆ ที่พุ่งพล่านออกมาเต็มไปหมดระหว่างที่พูดคุย ที่สำคัญทั้งเขาและเธอก็ชื่นชอบในสิ่งเดียวกันนั่นคือ “วิทยาศาสตร์”
หลังจากนั้นทั้งคู่ก็คบหาดูใจกัน จนตกลงคบกันเป็นแฟน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรักของตำนานผู้ก่อตั้งแบรนด์รถยนต์หรูของโลก
ปี 1871 เบนซ์ลาออกจากงานประจำมาร่วมก่อตั้งธุรกิจโรงกลึง และผลิตเครื่องยนต์ในแมนไฮม์ ที่ใช้ชื่อบริษัทว่า ‘ออกัส ริตเตอร์’ แต่ในโลกของธุรกิจมันไม่ได้ปูทางเดินด้วยกลีบกุหลาบ หลังจากเปิดตัวได้ไม่นาน ริตเตอร์ก็ตกที่นั่งลำบาก จากภาระด้านการเงิน จนต้องถูกยึดเครื่องจักรทั้งหมด
แต่ด้วยการที่เบนซ์และเบอร์ธา ที่คงจะเป็นคู่รักคู่บุญ ด้วยความรักจากฝ่ายหญิง เบอร์ธาจึงยอมควักเงินเก็บของเธอและของเบนซ์ที่จะใช้เป็นสินสอดมาซื้อหุ้นในบริษัท แต่จะบอกว่าซื้อกิจการมาก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะเบนซ์ตั้งใจจะใช้ธุรกิจนี้เป็นสินสอดเพื่อสู่ขอเบอร์ธาอยู่แล้ว ซึ่งมันต้องกลายเป็นบริษัทในชื่อของเธอ แล้วสุดท้ายมันก็คือกิจการครอบครัวอยู่ดี
20 กรกฎาคม 1872 ในที่สุดความรักข้ามชนชั้นที่เบ่งบานสุกงอมก็ได้ถูกยอมรับในสายตาผู้หลักผู้ใหญ่ เบอร์ธาและเบนซ์ จึงได้แต่งงานกัน อันที่จริงถ้าเป็นละครไทยมันคงเป็นฉากจบแสนสวยงามที่พระเอกและนางเอกได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งที่จะตามมา
หลังจากที่ทั้งคู่กลายเป็นทองแผ่นเดียวกัน ต่างก็ช่วยกันทำมาหากิน เพื่อกอบกู้กิจการขึ้นมา ซึ่งในตอนนี้คุณนายเบอร์ธา เบนซ์ คือเจ้าของตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้นคู่สามีภรรยาก็ดำเนินชีวิตคู่ต่อมา จนกระทั่งมีทายาทสืบทอดกันถึง 5 คน และในระหว่างนั้นเบนซ์ก็พัฒนาเครื่องยนต์ขึ้นมาสำเร็จ เพื่อใช้แทนม้าในการลากจูง
Motorwagen รถยนต์คันแรกของโลก กับขี้ปากชาวบ้าน
เบนซ์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปขึ้นมาเป็นคนแรกๆ ของโลก และได้จดสิทธิบัตรในชื่อ ‘Motorwagen’ ในปี 1885 จริงๆ แล้ว Motorwagen เป็นรถยนต์ที่พัฒนามาเป็นซีรี่ย์ที่ 3 ความหมายก็คือทำมาแล้ว 2 รุ่น นี่คือรุ่นที่ 3
หลายครั้งที่คาร์ลใช้การทดลองวิ่งในระยะทางสั้นๆ แต่ผู้คนที่พบเห็นกลับมองด้วยความประหลาดใจว่า ‘มันไม่มีม้า แล้วเคลื่อนที่ได้อย่างไร มีเวทมนตร์อย่างนั้นหรือ เจ้าคือพ่อมดแน่ๆ’
เบนซ์ต้องเผชิญกับเสียงปากคนที่ไวกว่าปากกา บ้างก็มีการดูถูกถึงรถยนต์ของเขา จนเจ้าตัวแอบท้อใจ เพราะรถม้ายังคงเป็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น ทำให้เบนซ์เสียความมั่นใจ ไม่กล้าเอา Motrorwagen ออกไปใช้งานจริงๆ
แต่ในเมื่อประวัติศาสตร์โลกยานยนต์ที่มันจะเปลี่ยน มันก็ต้องเปลี่ยนอยู่ดีด้วยการเขียนขึ้นใหม่โดยมือของทั้งคู่
ซุปเปอร์เมีย ผู้พิสูจน์สิ่งประดิษฐ์ผัวด้วยระยะทาง 109 กม.
เช้าวันที่ 5 สิงหาคม 1888 คุณนายเบอร์ธา ตัดสินใจพาลูกสองคนคือ ริชาร์ดและยูเกน ขึ้น Motorwagen เดินทางจากแมนไฮม์ไปเยี่ยมคุณยายที่ฟอร์ซไฮม์ ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลถึง 109 กิโลเมตร โดยที่ไม่ได้บอกสามีแม้แต่คำเดียว
จุดประสงค์หลักของเบอร์ธาคือไปเยี่ยมแม่ แต่จุดประสงค์รองก็คือ ต้องการพิสูจน์ให้สามีเห็นว่า สิ่งที่ทั้งคู่ลงทุนลงแรงอย่างหนัก เพื่อให้ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องแคร์คำของคนอื่น และให้สามีมั่นใจในสิ่งประดิษฐ์ของตนว่ามันสามารถทำงานได้จริงๆ
รู้ไหมว่า เบอร์ธาเดินทางออกจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ แถมระหว่างเดินทางไป เธอก็ต้องแก้ไขปัญหาของรถที่ไม่เพอร์เฟคคันนี้ไประหว่างทาง อีกทั้งถนนหนทางเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ก็อย่าเรียกว่าถนนเลย เพราะมันเป็นเพียงทางเกวียน ทางรถม้าเท่านั้น ไม่ได้มีถนนหนทางลาดยางเหมือนอย่างปัจจุบัน
นอกจากนี้ ถังเชื้อเพลิงยังบรรจุได้เพียง 4.5 ลิตร ซึ่งสารเคมีที่เอามาผสมเพื่อทำเชื้อเพลิง ก็มีขายแค่ในร้านขายยาเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามคาดรถของเธอน้ำมันหมดกลางทางที่เมืองวีสลอค ซึ่งเธอจะต้องเติมน้ำมันที่เมืองแห่งนี้ ทำให้นักประวัติศาสตร์จึงยกให้เมืองวีสลอค เป็นสถานีบริการน้ำมันแห่งแรกของโลก
เบอร์ธากระโดดลงจากรถลงมาเปื้อนโคลนตม เพื่อที่จะเดินไปซื้อสารเคมีจากร้านขายยามาผสมเป็นเชื้อเพลิง เบอร์ธาเคาะประตูร้านขายยา แต่ก็ไม่เจอใคร จนคนแถวนั้นตะโดนบอกเธอว่า “เจ้าของร้านอยู่ที่บาร์นู่นแน่ะ มาดาม” เบอร์ธาจึงเดินไปหาเจ้าของร้านยาที่เป็นนักเคมีในบาร์ และเอาสารเคมีมาประผสมเป็นเชื้อเพลิง
ระหว่างนั้น เธอก็แก้ปัญหาทางเทคนิคของเครื่องยนต์ด้วย โดยใช้สายรัดถุงเท้า และใช้หมุดหมวกทำความสะอาดท่อน้ำมันที่อุดตัน เบอร์ธาแก้ปัญหา จนสามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ได้สำเร็จ และทั้งสามแม่ลูกก็เดินทางอย่างทุลักทุเลไปยังฟอร์สไฮม์หลังพลบค่ำ
หลังจากถึงที่หมาย เธอได้แจ้งโทรเลขกลับมาหาสามี ว่าเธอใช้ Motorwagen เดินทาง 109 กิโลเมตรมาหาแม่ได้สำเร็จ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์การเดินทางไกลด้วยรถยนต์ครั้งแรกของโลก
การเดินทางครั้งนั้น ไม่เพียงแค่เปิดตัวรถยนต์ให้ผู้คนเห็นว่ามีรถสันดาปเกิดขึ้นบนโลกแล้วจริงๆ แต่มันยังเป็นการหาช่องโหว่จากสิ่งประดิษฐ์ของสามี เพื่อที่จะปรับแก้ให้มันสมบูรณ์แบบขึ้น
แล้วมันก็กลายเป็น แบรนด์รถยนต์หรูจนถึงทุกวันนี้ แม้จะผ่านมานานกว่า 135 ปีแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี ถ้าหากว่า คาร์ล เบนซ์ ไม่มี เบอร์ธา ริงเกอร์ เป็นคู่ชีวิตที่พร้อมจะเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญ ประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ก็อาจจะไม่ถูกเขียนขึ้นด้วยเรื่องราวแบบนี้
แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การที่เขาและเธอผ่านอุปสรรคของความรักต่างชนชั้น และความพยายามที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในยุคที่คนยังไม่ยอมรับ แล้วต้องต่อสู้กับคำสบประมาทต่างๆ มากมาย ถ้าเบนซ์ หรือเบอร์ธา ถอดใจไปเสียก่อน Mercedes-Benz ก็อาจจะไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้
ที่สำคัญคือ การที่เบนซ์ได้เบอร์ธามาเป็นคู่ชีวิตนั้นก็ช่างโชคดีเสียเหลือเกิน เหมือนสำนวนไทยที่ว่า..
“มีเมียดี เหมือนมีหมอ จะเจ็บจะท้อ เมียก็รักษา”
ใครที่สนใจเรื่องของ Carl และ Bertha
มีหนังที่สร้างจ้างชีวิตจริงของทั้งสองคนที่ชื่อว่า
Carl & Bertha (2012) เป็นหนังเยอรมัน แต่มีซับ Eng จะเข้าใจเรื่องราวชีวิตขอทั้งคู่ที่กว่าจะสร้างรถยนต์คันแรกสำเร็จแล้วคนยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งฉากที่นางกับลูกๆ ขับรถคันนี้ไปบ้านแม่ที่ต่างเมืองเพลินดี รถวิ่งช้าพอๆ กับจักรยานแม่บ้าน ความเร็ว 16 กม./ชม. ใช้เวลาค่อนวันถึง แถมเจ้เบอร์ธานางก็สู้จริงอะไรจริง ไม่คิดเลยว่านี่คือคุณหนูชนชั้นสูง