“วิโรจน์” รื้อ แคมเปญ “ลากทหารขึ้นศาลพลเรือน” ตรวจสอบซ้อมโทรมาน
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังศาลทหารชั้นฎีกามีคำพิพากษาในคดีการเสียชีวิตของ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 โดยจำเลยเป็นรุ่นพี่ที่ธำรงวินัยจนถึงขั้นเสียชีวิต ถูกตัดสินให้จำคุก 4 เดือน 16 วัน แต่ ให้รอลงอาญา 2 ปี
นายวิโรจน์ ระบุว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้รับทราบว่า ครอบครัวของน้องเมยมีความพยายามจะรื้อฟื้นคดีในส่วนอาญา โดยกรรมาธิการฯ จะเข้าช่วยรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมด และสอบถามไปยังกระทรวงยุติธรรมว่า มีขั้นตอนและหลักเกณฑ์ใดบ้างที่สามารถรื้อฟื้นคดีได้ แม้คำพิพากษาจะถึงที่สุดแล้วในชั้นศาลทหารสูงสุด แต่เรื่องนี้ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการเยียวยาครอบครัว รวมถึงสิทธิและสวัสดิการที่ควรได้รับอย่างเหมาะสม
นายวิโรจน์ ยังเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ทหารที่กระทำผิดทุกคดีขึ้นศาลอาญาทุจริต โดยระบุว่า หลายกรณีของการทำร้ายหรือทารุณกรรมในค่ายทหาร ไม่ใช่การ “ธำรงวินัย” แต่เข้าข่ายการซ้อมทรมาน และเป็นการกลั่นแกล้งผู้ไม่สยบต่อระบบอุปถัมภ์ในกองทัพ ซึ่งกฎหมายต้องสามารถปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกกระทำได้อย่างแท้จริง
“ถ้าศาลทหารยังดำรงอยู่ในรูปแบบนี้ วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดก็จะไม่จบสิ้น” นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์ ได้ฝากถึงนายกรัฐมนตรีว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องลงนามสัตยาบันในพิธีสารเลือกรับของ อนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน (OPCAT) เพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะอนุกรรมการของสหประชาชาติ สามารถเข้าตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวในค่ายทหาร
โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ซึ่งจะไม่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะเป็นการตรวจสอบเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานเท่านั้น
นายวิโรจน์ตั้งคำถามถึงโทษจำคุกที่รอลงอาญา และการเปิดโอกาสให้จำเลยรับราชการต่อไปว่า
“โทษแบบนี้เป็นประโยชน์กับใคร? เราจะนำคนที่ฆ่าพวกเดียวกันไปรับราชการทหาร หรือเป็นตำรวจหรือ?”
พร้อมเรียกร้องให้ 5 ผู้บัญชาการเหล่าทัพ พิจารณาเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในกองทัพ ที่ตกไปในวาระ 2 และ 3 ซึ่งพรรคเพื่อไทยเคยผลักดันและทำแคมเปญ “ล่าทหารขึ้นศาลพลเรือน”
โดยมีนางสาวขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ร่วมอยู่ในภาพโปสเตอร์แคมเปญด้วย แต่กลับไม่มีการผลักดันต่อจนร่างกฎหมายตกไป
“เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่เห็นความหมายแล้ว คณะกรรมาธิการฯ จะรับหน้าที่นี้ต่อ โดยจะเปิดล่ารายชื่อภาคประชาชน และยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้” นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย