วิถีและระบบในสังคมที่ทําให้ประเทศมีปัญหา
ในการพัฒนาประเทศ คุณภาพของประชากรคือทรัพย์สินหรือทรัพยากรที่มีค่ามากสุด คุณภาพในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะเรื่องการศึกษา ทักษะ หรือระดับความรู้ที่ประชากรส่วนใหญ่มี แต่หมายรวมถึง การใช้เหตุใช้ผลในการอยู่ร่วมกันในสังคม ความซื่อตรง การเคารพกฏระเบียบที่ประเทศมี และการให้ความสําคัญกับสิ่งที่เป็นส่วนรวมหรือ Public Goods นี่คือคุณภาพของคนที่จะทำให้ประเทศก้าวหน้า เศรษฐกิจเติบโต และสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่ต่างกับบริษัทธุรกิจเมื่อต้องรับคนเข้าทำงาน ที่ไม่ต้องการบุคลากรที่เรียนสูงและมีทักษะดีอย่างเดียว แต่ต้องการบุคลากรที่มีเหตุมีผล ซื่อสัตย์สุจริต เคารพในกฏเกณฑ์ ให้ความสำคัญกับประโยชน์ของบริษัท และยอมรับความสามารถของกันและกัน นี่คือคุณภาพที่จะทําให้บริษัทเข้มแข็งและเติบโต
ชัดเจนว่าคุณภาพเหล่านี้ไม่ได้ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แต่มาจากการหล่อหลอมของครอบครัวเมื่อเยาว์วัยและวิถีและระบบในสังคมเมื่อเราโตขึ้น สำหรับสังคมไทย เรามีหลายอย่างที่ถือเป็นเอกลักษณ์และจุดแข็งของสังคมมาช้านาน เช่น ความเมตตากรุณา ความเห็นอกเห็นใจและพร้อมช่วยเหลือผู้อื่น ความอดทน ความเคารพที่เด็กหรือผู้น้อยมีต่อผู้ใหญ่ นี่คือสิ่งที่ดี แต่ในอีกทางหนึ่งเราก็มีวิถีทางสังคมและระบบการอยู่ร่วมกันที่บั่นทอนความเข้มแข็งเหล่านี้หรือใช้ความเข้มแข็งที่สังคมมีในทางที่ผิด ทําให้สังคมไทยอ่อนแอลงและระบบที่มีกลายเป็นอุปสรรคทําให้ประเทศไม่พัฒนาก้าวหน้าอย่างที่ควร ระบบเหล่านี้คืออะไร อะไรคือต้นเหตุ นี่คือประเด็นที่จะเขียนให้คิดวันนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นตัวตนของคนเรามาจากการหล่อหลอมของครอบครัวและระบบต่างๆในสังคมที่เราสัมผัสตั้งแต่เล็กจนโต ในทางการแพทย์ช่วงเจ็ดปีแรกของชีวิตคือช่วงสําคัญสุดที่จะบ่มเพาะความรู้สึกและความเข้มแข็งของจิตใจที่จะอยู่กับตัวเราไปจนโต จากนั้นก็คือระบบในสังคมที่เราสัมผัสที่มีอิทธิพลต่อความคิด ต่อค่านิยมของเรากับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีไม่ดี อะไรควรไม่ควร อะไรยุติธรรมไม่ยุติธรรม ซึ่งระบบเเรกที่เราสัมผัสคือระบบการศึกษา จากนั้นก็คือ ระบบราชการหรือระบบงานในภาคธุรกิจเมื่อเราทำงาน และท้ายสุดคือระบบที่สังคมใช้หรือยอมรับเพื่อได้มาซึ่งบุคคลสาธารณะที่จะทําหน้าที่เพื่อส่วนรวม ทั้งในภาคการเมืองและภาคประชาสังคม นี่คือระบบต่าง ๆ ที่คนไทยทุกคนต้องสัมผัสตั้งแต่เด็กจนแก่ และผลลัพธ์สุดท้ายซึ่งเป็นผลงานของพวกเราทุกคนก็คือสังคมไทยอย่างที่เราเห็น จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม
คําถามคือแล้วสังคมไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ ซึ่งตอบยากเพราะทุกคําตอบจะมีความรู้สึกเป็นที่ตั้ง (Subjective) แต่หากพิจารณาและประมวลข้อมูลโดยใช้นวัตกรรมเอไอเป็นเครื่องมือ เพื่อให้ได้คำตอบแบบกลาง ๆ ไม่มีความรู้สึก ลักษณะของสังคมไทยโดยเฉพาะในแง่การตัดสินใจที่สรุปได้คือ หนึ่ง เคารพตัวบุคคลมากกว่าเหตุผล สอง ให้ความสําคัญกับความสัมพันธ์มากกว่ากฏเกณฑ์ สาม เน้นผลระยะสั้นมากกว่าระยะยาว สี่ ประโยชน์ส่วนตัวเหนือประโยชน์ส่วนรวม
นี่คือสี่ลักษณะที่ขีดเส้นใต้สังคมไทยหรือพฤติกรรมคนในสังคม หลายคนคงปฏิเสธไม่ยอมรับ ซึ่งก็เข้าใจได้ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือพฤติกรรมเหล่านี้คือผลผลิตของระบบต่างๆที่สังคมไทยมีที่คนไทยทุกคนเจอตั้งแต่เล็กจนโต และหล่อหลอมให้สังคมเราเป็นแบบนี้ คิดแบบนี้ และมีพฤติกรรมแบบนี้
หนึ่ง ระบบการศึกษาที่เน้นการท่องจำและการเชื่อฟังมากกว่าการตั้งคำถาม ทำให้ความกล้าคิดกล้าทํากล้าริเริ่มไม่มีพลังตั้งแต่เด็ก สังคมจึงอ่อนแอในเรื่องสาธารณะและความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
สอง ระบบราชการที่การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งให้ความสำคัญกับเส้นสายมากกว่าผลงาน ทํางานแบบไซโล คือต่างคนต่างอยู่ การประสานงานเพื่อผลักดันนโยบายจึงยาก ชอบใช้อำนาจ ไม่สนใจเรื่องธรรมาภิบาล ทำให้ขาดความรับผิดรับชอบในสิ่งที่ทํา จะทำงานเพื่อ”นาย”มากกว่าประชาชน และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
สาม ระบบในภาคธุรกิจ ระดับบนเป็นทุนนิยมที่เน้นความสัมพันธ์มากกว่าการแข่งขัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับราชการและนักการเมือง นําไปสู่การทําธุรกิจแบบมองสั้น ฉวยโอกาส ไม่ลงทุน ผลิตผลจึงต่ำ ระดับล่างอยู่ยากเพราะขาดโอกาส เศรษฐกิจแข่งขันไม่ได้ ความเหลื่อมลํ้ามีมาก
สี่ ระบบการเมือง ที่การเมืองคือการลงทุนส่วนตัวเพื่อหาประโยชน์ไม่ใช่เพื่ออุดมการณ์ ตําแหน่งการเมืองคือที่มาของความมั่งคั่งที่จะมีผลถึงครอบครัวและอนาคตการเมืองของลูกหลาน การเมืองจึงไม่แก้ปัญหาประเทศ คุณภาพผู้นําและนโยบายโดยรวมตํ่า ประชาชนหมดศรัทธาในระบบประชาธิปไตย
นี่คือสี่ระบบที่ทํางานอยู่แบบ 24/7 ในสังคมไทยคือ 24 ชั่วโมงต่อวันเจ็ดวันต่ออาฑิตย์ไม่มีวันหยุด หล่อหลอมให้พฤติกรรมคนในสังคมเป็นอย่างที่เห็น เสริมด้วยบทบาทสื่อที่ส่วนใหญ่ไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ร่วมชักนําความคิดสังคมให้คล้อยตามและยอมรับความไม่ชอบมาพากลของระบบที่มีอยู่ ทําให้สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องปรกติของสังคม
ที่ต้องตระหนักและเป็นประเด็นสำคัญคือ หัวใจที่ทําให้ทั้งสี่ระบบนี้อยู่ได้และเข้มแข็งมากขึ้นๆ ก็คือระบบอุปถัมภ์ ที่เป็นกลไกให้การเมืองแบบนักลงทุนอยู่ได้ ทําให้ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับการเมืองไปต่อได้แบบไม่มีวันจบสิ้น ทําให้ระบบราชการอยู่ได้แม้ขาดประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล ส่วนระบบการศึกษาก็คือส่วนหนึ่งของระบบราชการที่มีส่วนเตรียมบุคคลากรที่พร้อมยอมรับและไปด้วยกับระบบอุปถัมภ์ เหล่านี้ทำให้ระบบอุปถัมภ์ปักหลักในสังคมไทยได้อย่างเหนียวแน่นและเป็นต้นเหตุให้ประเทศติดหล่ม ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างที่ควร
การแก้ระบบอุปถัมภ์จึงสำคัญ แต่ไม่ใช่รื้อทิ้งสิ่งที่มีอยู่ เพราะระบบอุปถัมภ์ในทางที่ดีก็มีมากและเป็นจุดแข็งของสังคมไทย ที่เป็นปัญหาคือการใช้ระบบอุปถัมภ์อย่างผิด ๆ ช่วยเหลือปกป้องกันแม้ผิดกฏหมาย นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ ต้องทําลายหรือดิสรัประบบนิเวศน์ของระบบอุปถัมภ์ที่ไม่ดีเหล่านี้ให้หมดไป ทำอย่างเป็นระบบ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ต่อเนื่อง ทีละเล็กทีละน้อย ด้วยพลังและความร่วมมือของประชาชน นี่คือสิ่งที่ทำได้ และสังคมไทยจะดีวันดีคืน
เขียนให้คิด
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
bandid.n@ppgg.foundation