หมอเตือน! 1 พฤติกรรมการกินแบบผิดๆ เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งหลอดอาหาร 90%
หมอไต้หวันเตือน 1 พฤติกรรมการกินแบบผิด ๆ แต่หลายคนทำอยู่ เพิ่มโอกาสเป็น "มะเร็งหลอดอาหาร" สูงถึง 90%
หลายคนชอบกินข้าวกับซุปร้อนๆ แต่ระวัง! พฤติกรรมนี้อาจซ่อนความเสี่ยงมะเร็งไว้โดยไม่รู้ตัว
นพ.เจิ้ง หงจื้อ แพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินอาหาร ชาวไต้หวัน เล่าในเฟซบุ๊กว่า มีคุณลุงคนหนึ่งมาพบแพทย์เพราะกลืนอาหารแล้วรู้สึกแปลก ๆ มาสักพัก บางครั้งก็แน่นหน้าอก เคยไปตรวจติดตามกับหมอหู คอ จมูกหลายรอบแต่ไม่ดีขึ้น เลยมาขอคำปรึกษาเพิ่มเติม
พอตรวจด้วยกล้องส่องภายในกลับพบว่า บริเวณหลอดอาหารช่วงล่างของคุณลุงเริ่มมีเซลล์ผิดปกติแล้ว คุยกันไปมาเพิ่งรู้ว่า คุณลุงมีนิสัยกินข้าวกับซุปร้อน ๆ ทุกวัน
หมอเจิ้ง หงจื้อ อธิบายว่า ผู้สูงอายุหลายคนมักเชื่อว่าซุปต้องดื่มตอนร้อน ๆ ถึงจะอร่อย แต่การที่หลอดอาหารต้องสัมผัสกับความร้อนจัดซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน จะทำให้เยื่อบุหลอดอาหารช่วงล่างบาดเจ็บและอักเสบเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร
เพราะหลอดอาหารบอบบางกว่า กระเพาะอาหาร ไม่มีเยื่อบุหนา ๆ มาปกป้อง จึงเกิดความเสียหายง่าย หากโดนความร้อนบ่อย ๆ จะทำให้กลืนลำบาก เจ็บหน้าอก ปวดท้อง และยังเสี่ยงต่อกรดไหลย้อน ทำให้เยื่อบุซ่อมแซมตัวเองลำบาก จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็งในที่สุด
หมอเจิ้ง หงจื้อ ระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ได้จัดให้เครื่องดื่มที่มีอุณหภูมิเกิน 65 องศาเซลเซียส เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2A ตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งหมายถึงสารที่ “อาจก่อมะเร็งในมนุษย์”
ขณะที่งานวิจัยในปี 2019 ที่ศึกษาชาวเมือง Golestan ประเทศอิหร่าน พบว่า คนที่ดื่มชาและซุปร้อนจัดเป็นประจำทุกวัน มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารสูงกว่าคนที่ดื่มของอุ่น ๆ หรือเย็น ถึง 90%
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าซุปร้อนเกินไปจนทำร้ายหลอดอาหารหรือเปล่า?
หมอเจิ้ง หงจื้อ แนะนำ 3 วิธีสังเกตง่าย ๆ ดังนี้
1. ถ้าคำแรกยังรู้สึกว่าร้อนเกินไป ให้รอก่อน
หลายคนฝืนดื่มทั้งที่ยังร้อนจี๋ แต่ความจริงคือ ทุกคำที่กลืนเข้าไปเท่ากับกำลังเผาเยื่อบุหลอดอาหารโดยไม่รู้ตัว ถ้าคำแรกที่จิบแล้วรู้สึกว่าร้อนจัดจนแทบทนไม่ไหว หรือปลายลิ้นแสบ ๆ เจ็บ ๆ แปลว่าอุณหภูมิยังสูงเกินไป และอาจทำลายผิวเยื่อบุหลอดอาหารจนเกิดแผลไหม้ได้
2. ใช้ปลายลิ้นแตะเช็กความร้อนก่อน แล้วค่อยคนซุป อย่ารีบกินจนลำคอพัง
ปลายลิ้นของเรามีความไวต่ออุณหภูมิสูงกว่าภายในช่องปาก เวลาจะกินซุปหรือน้ำร้อน ควรแตะปลายลิ้นที่ขอบช้อนหรือปากแก้วก่อน ถ้ายังรู้สึกร้อนจี๋ แปลว่ายังไม่ควรกิน
นอกจากนี้ ควรใช้ช้อนคนซุปเบา ๆ สัก 2-3 รอบ เพื่อช่วยระบายความร้อนและทำให้อุณหภูมิของซุปทั่วถึงกัน ไม่ร้อนเฉพาะบางจุด
3. จิบทีละน้อย ปลอดภัยกว่าการซดคำใหญ่
การซดซุปร้อน ๆ ทีละคำใหญ่ อาจทำให้หลอดอาหารต้องเจอกับความร้อนสูงแบบเฉียบพลัน เสี่ยงทำลายเนื้อเยื่อชั้นลึกได้
วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือ ค่อย ๆ จิบทีละนิด ให้ความร้อนกระจายตัวในช่องปากก่อน จะช่วยลดโอกาสเยื่อบุถูกลวกไหม้ และระหว่างแต่ละคำก็ควรเว้นช่วงสักหน่อย ให้หลอดอาหารได้ปรับตัวกับอุณหภูมิ ไม่รีบซดรวดเดียวจนร้อนลวก
หมอเจิ้ง หงจื้อ ฝากเตือนว่า เวลาซดซุปร้อนอย่าใจร้อน เพราะหากดื่มของร้อนจัดเป็นประจำ อาจทำให้หลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งได้ ผลเสียมากกว่าที่หลายคนคิด
“ไม่ร้อนจนลวกปาก นั่นแหละคือการปกป้องหลอดอาหารที่ดีที่สุด”