ปิดอีกหนึ่งดีลอาเซียน ทรัมป์ลดภาษีนำเข้าให้ฟิลิปปินส์ที่ 19%
โดนัลด์ ทรัมป์ตกลงลดภาษีนำเข้าให้ฟิลิปปินส์ แต่ลดเพียง 1% และอวดว่าการประชุมกับเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ที่มาเยือนทำเนียบขาวนั้น ประสบความสำเร็จด้วยดี
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ต้อนรับประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ ที่ทางเข้าปีกตะวันตกของทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม (Photo by ANDREW CABALLERO-REYNOLDS / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 23 กรกฎาคม 2568 กล่าวว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศปิดดีลด้านการค้าและภาษีศุลกากรกับฟิลิปปินส์ได้แล้ว หลังจากต้อนรับประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ที่มาเยือนทำเนียบขาว
ทรัมป์เรียกมาร์กอสว่าเป็น "นักเจรจาที่แข็งกร้าวมาก" และกล่าวว่า "เราใกล้จะบรรลุข้อตกลงการค้าแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นข้อตกลงการค้าที่ยิ่งใหญ่"
ไม่นานหลังจากนั้น ทรัมป์โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า แม้ว่าฟิลิปปินส์จะเปิดกว้างรับสินค้าจากสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ แต่เขาก็ยังคงเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าไฮเทคและเครื่องแต่งกายรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อัตรา 19%
"การเยือนครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจ และเราได้สรุปข้อตกลงการค้า โดยฟิลิปปินส์จะเปิดตลาดเสรีกับสหรัฐฯ และไม่มีภาษีนำเข้าใดๆ" ทรัมป์เขียนไว้บนแพลตฟอร์ม Truth Social ของตนเอง
ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจกว่า 20 ประเทศที่ทรัมป์ส่งจดหมายเตือนในเดือนนี้ว่าจะเก็บภาษีสินค้าทั้งหมดที่นำเข้ามาสู่สหรัฐฯในอัตรา 20% ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป
เมื่อเดือนเมษายน ทรัมป์ขู่ว่าจะเก็บภาษีนำเข้าทั่วโลกในอัตราสูงเพื่อตอบโต้การเอาเปรียบทางการค้าที่มีต่อสหรัฐฯ
ความขัดแย้งทางการค้านี้ยังคงเกิดขึ้นแม้ความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์จะใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม ทั้งๆที่ฟิลิปปินส์เป็นอดีตอาณานิคมของสหรัฐฯ และเป็นพันธมิตรภายใต้สนธิสัญญาที่ทำไว้เพื่อการเผชิญหน้ากับจีน
เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของโจ ไบเดน ได้นำขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นดินมาประจำการ และรัฐบาลวอชิงตันยังเล็งเป้าหมายไปที่การผลิตกระสุนในฟิลิปปินส์ แม้ว่าฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่อ่าวซูบิกจะถูกปิดตัวลงในปี 1992 เนื่องจากแรงกดดันอย่างหนักหน่วงจากสาธารณชน
"สิ่งที่เรามองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงกองทัพฟิลิปปินส์ให้ทันสมัย แท้จริงแล้วเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้" มาร์กอสกล่าวพร้อมกับทรัมป์
"โดยพื้นฐานแล้ว เราให้ความสำคัญกับการปกป้องดินแดนของเราและการใช้สิทธิอธิปไตยของเรา ซึ่งพันธมิตรที่แข็งแกร่งที่สุด, ใกล้ชิดที่สุด และเชื่อถือได้มากที่สุดของเรา คือสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด" มาร์กอสกล่าวเสริม
ทั้งนี้ จีนและฟิลิปปินส์เผชิญหน้ากันหลายครั้งในน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งอ้างสิทธิ์เกือบทั้งหมด แม้จะมีคำตัดสินจากนานาชาติว่าข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายก็ตาม
ทรัมป์มักตั้งคำถามกับพันธมิตรเกี่ยวกับการใช้จ่ายทางทหารของพวกเขา และครุ่นคิดว่าเหตุใดสหรัฐอเมริกาจึงควรปกป้องพวกเขาในพันธมิตรนาโต
แต่เขาแสดงความสงสัยเกี่ยวกับฟิลิปปินส์น้อยลง เช่นเดียวกับพีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมและมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ในการพบปะกับมาร์กอส โดยทั้งสองชาติได้ให้คำมั่นว่าจะเคารพสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันปี 1951
รัฐบาลทรัมป์ระบุว่าจีนเป็นคู่ต่อสู้อันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ แต่เขาก็ยังอวดอ้างถึงความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน
ในการแถลงร่วมกับมาร์กอส ทรัมป์กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้นี้เขาอาจจะไปเยือนจีนตามคำเชิญของสีจิ้นผิง
ขณะที่เขากล่าวถึงมาร์กอสว่า "ผมไม่รังเกียจหรอกนะถ้าผู้นำฟิลิปปินส์จะเข้ากับจีนได้ดีมาก เพราะเราก็เข้ากับจีนได้ดีมากเช่นกัน"
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยกย่องตัวเองกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของฟิลิปปินส์ แม้ว่าการหันกลับไปซบรัฐบาลวอชิงตันจะเริ่มขึ้นตั้งแต่หลังมาร์กอสชนะเลือกตั้งในปี 2022 ซึ่งตอนนั้นทรัมป์ยังไม่ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีรอบสอง
ก่อนหน้านี้ในสมัยของโรดริโก ดูแตร์เต ผู้นำฟิลิปปินส์คนก่อนมาร์กอส เขาเคยพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น และไม่พอใจคำวิจารณ์ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนภายใต้การนำของไบเดนและโอบามา
ปัจจุบันดูแตร์เตกำลังถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ จากการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดอย่างกว้างขวาง ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่าคร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันราย
ในส่วนข้อตกลงกับอินโดนีเซีย ทำเนียบขาวระบุว่ารัฐบาลจาการ์ตาจะลดภาษีศุลกากรและผ่อนคลายข้อจำกัดการส่งออกแร่ธาตุสำคัญตามที่ตกลงกันไว้
ข้อตกลงภาษีศุลกากรระหว่างสหรัฐฯ กับอินโดนีเซียมีจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลายข้อจำกัดการส่งออกแร่ธาตุสำคัญจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ไปยังสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกย่องว่าเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่สำหรับบริษัทต่างๆ
ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งประกาศครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ลดภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่มีต่อสินค้าอินโดนีเซียลงจาก 32% เหลือ 19% อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ได้รับการพิจารณาว่าถูกขนถ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่สูงขึ้นในพื้นที่อื่นๆ จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตรา 40%
"พวกเราตกลงกันว่าอินโดนีเซียจะเปิดตลาดให้กับสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของอเมริกา รวมถึงสินค้าเกษตร โดยการกำจัดอุปสรรคด้านภาษีศุลกากร 99%" ทรัมป์กล่าว โดยหมายความว่าภาษีนำเข้าของอินโดนีเซียที่มีต่อสินค้าสหรัฐคือ 1% เท่านั้น
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวเสริมว่า "อินโดนีเซียจะจัดหาแร่ธาตุสำคัญ (Critical Minerals) อันล้ำค่าให้กับสหรัฐฯ และลงนามข้อตกลงซื้อเครื่องบินโบอิ้ง รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและพลังงานของสหรัฐฯ"
ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตแร่ธาตุสำคัญ เช่น ทองแดง, โคบอลต์ และนิกเกิล
แถลงการณ์ร่วมที่ทำเนียบขาวเผยแพร่แยกต่างหากระบุว่า นอกจากภาษีนำเข้าสินค้าของอินโดนีเซียที่ลดลงเหลือ 19% แล้ว สินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทที่ไม่มีจำหน่ายในสหรัฐฯ อาจมีสิทธิ์ได้รับภาษีที่ต่ำลงอีกด้วย
นอกจากนี้ อินโดนีเซียจะยกเลิกข้อกำหนดการตรวจสอบหรือยืนยันก่อนการส่งออกสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ และตกลงที่จะยอมรับมาตรฐานความปลอดภัยยานยนต์ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ
แถลงการณ์ร่วมระบุว่า ทั้งสองประเทศเตรียมสรุปข้อตกลงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
อินโดนีเซียยังคงเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของข้อตกลงที่รัฐบาลทรัมป์ให้สัญญาไว้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นเดียวกับอังกฤษ, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ก่อนถึงเส้นตายสำหรับภาษีที่สูงขึ้นที่จะมีผลบังคับใช้กับหลายสิบประเทศในวันที่ 1 สิงหาคม
ขณะที่รัฐบาลวอชิงตันและปักกิ่งได้บรรลุข้อตกลงในการลดภาษีสินค้าของกันและกันเป็นการชั่วคราว แม้ว่าการระงับนี้จะสิ้นสุดลงในกลางเดือนสิงหาคมก็ตาม.