โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เพราะเส้นชัยคือไป Formula 1 คุยกับ ‘เติ้น ทัศนพล’ ถึงชีวิตหลังพวงมาลัย ใต้หมวกกันน็อก

The MATTER

อัพเดต 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • Lifestyle

หลายคนรู้ว่าการแข่ง Formula 1 คือยอดเขาของโลกแห่งความเร็ว แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่ได้สัมผัสว่าเส้นทางไปสู่ยอดเขาต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง

ไม่ใช่ความเร็ว ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เป็นที่แล้วปีเล่าของการฝึกฝน ค่อยๆ ไต่เต้าจากจุดเล็กๆ ไปสู่สนามแข่งที่แทบไม่มีพื้นที่ให้กับคำว่าความผิดพลาด

และ Formula 3 คือหนึ่งในสนามแข่งนั้น สนามที่ทดสอบนักขับอย่างหนัก เพื่อท้าทายว่าใครที่จะเข้าใกล้ยอดเข้า Formula 1 ได้มากกว่ากัน

ต้นเดือนกรกฎาคม 2025 ในวันที่ฟ้าเปิด ณ Silverstone สนามแข่งระดับตำนานของอังกฤษ มีเด็กหนุ่มชาวไทยวัย 19 ปี เพิ่งคว้าชัยรอบสปรินต์ เรซ Formula 3 ที่สนามแห่งนี้มาครอง นำพาธงไตรรงค์โบกสะบัดเหนือท้องฟ้าประเทศอังกฤษ เคล้าด้วยเสียงเพลงชาติไทยที่ดังกึกก้องไปทั่วสนาม

เด็กหนุ่มคนนั้นชื่อ ‘เติ้น—ทัศนพล อินทรภูวศักดิ์’ นักขับชาวไทยเพียงคนเดียวใน Formula 3 ฤดูกาล 2025 นี้

ไม่กี่วันหลังชัยชนะ เติ้นก็เดินทางกลับสู่อ้อมอกของประเทศไทย เรานัดพบเขาที่ Porsche Centre Pattanakarn ท่ามกลางบรรยากาศของโชว์รูมรถ ปรากฏจอภายในฉายไฮไลต์เรซที่เขาคว้าชัยเมื่อไม่กี่วันก่อนซ้ำไปมา ราวกับจะบอกว่านี่คือความภาคภูมิที่ไม่รู้จบ

ไม่นานหลังจากที่เราดูไฮไลต์การแข่งขัน เติ้นในชุดสบายๆ ก็เดินเข้ามาพร้อมกับรอยยิ้ม ทักทายผู้คนรอบข้างอย่างเป็นมิตร และนั่งลงโดยไม่ต้องกล่าวคำมากมาย เพราะความชัดเจนที่สุดที่สะท้อนออกมา คือแววตาแห่งความมุ่งมั่น มันไม่ได้หวือหวา แต่ก็มั่นคงพอให้เราได้เห็น เขาไม่ใช่พูดเร็ว ไม่ได้พยายามสร้างภาพจำ แต่ตอบคำถามทุกคำด้วยความจริงใจ และปล่อยให้บทสนทนาลื่นไหลไปพร้อมกับเรื่องราวในชีวิตของเขา

เด็กชายเติ้นวัย 7 ขวบ

แน่นอนว่าคำถามแรกที่เราพกพาไป ก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เติ้นก้าวเท้าเข้าสู่สนามแข่ง เติ้นเล่าให้เราฟังว่ามันเริ่มต้นขึ้นเพราะคุณพ่อ ในสนามพีระ เซอร์กิต ที่พัทยา ตอนนั้นเขายังเด็กเกินกว่าจะเข้าแข่งจริง แต่เพราะคุณพ่อเป็นนักแข่งรถในรายการ TSS อยู่แล้ว การตามไปเชียร์ถึงข้างสนาม ก็เริ่มปลุกให้เติ้นหลงใหลในกีฬาความเร็ว และเริ่มเข้าสู่สนามด้วยรถโกคาร์ทครั้งแรกตอนอายุ 7 ขวบ

ทว่าเมื่อถามถึงความรู้สึกแรกหลังจากที่เข้าไปนั่งหลังพวงมาลัย เติ้นก็ตอบพร้อมรอยยิ้มทันทีว่า “จำได้ว่าเลี้ยวพวงมาลัยไม่ค่อยไหว คอพับเลยครับ เพราะว่าตอนนั้นอายุน้อยมากแล้วต้องไปขับโกคาร์ทที่รุ่นมันใหญ่กว่า ก็เลยคอนโทรลไม่ค่อยได้ แต่ว่าก็ชอบตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปขับเลย”

ความสนุก อะดรีนาลีนที่หลั่งออกมาในตอนที่ได้ขับ ทำให้เติ้นหลงรักกีฬาแข่งรถเข้าเต็มเปา และเริ่มเดินในเส้นทางนี้อย่างจริงจัง ลงแข่งสนามในไทย กวาดรางวัลมามากมาย ก่อนจะรู้ว่าตัวเองต้องไปต่อ ขยับสู่เวทีระดับเอเชีย และตัดสินใจครั้งสำคัญ ย้ายไปอยู่ยุโรป เพื่อเข้าสู่การแข่งขันระดับนานาชาติ

“เริ่มจากเมืองไทยก่อนครับ สนามพีระ ที่พัทยา แล้วก็ค่อยๆ ไต่ไปเอเชีย ยุโรป แล้วก็ย้ายไป Formula 4 ตอนอายุ 15 ครับ”

การตัดสินใจย้ายไปยุโรปในขวบวัยเพียง 10 กว่าปี ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนั่นหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ย้ายจากบ้านเกิดที่อยู่มานานนับสิบปี เรียนรู้ระบบใหม่ และเจอคู่แข่งที่เชี่ยวชาญสนามมากกว่าหลายเท่า บางคนขับโกคาร์ทตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน มีระบบสนับสนุน มีสนามในประเทศตัวเองให้ลงขับได้ทุกสัปดาห์

“ตอนย้ายไปยุโรปตอนแรกๆ เป็นครั้งแรกที่เจอการแข่งขันที่สูงสุดของโลก มีอะไรที่ต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ เพราะว่าเด็กยุโรปเขาแข่งที่นู่น เขาซ้อมบ่อย ก็จะชินสนามที่นู่นมากกว่า เราต้องฝึกฝนค่อนข้างเยอะ เพื่อจะสู้กับเขาให้ได้”

ก้าวเข้าสู่สนาม Formula

“ตอนที่รู้ว่าจะเอาจริงแล้วก็ตอนขึ้นไป F4 ครับ เพราะว่าการฝึกฝนกับทีม การเตรียมพร้อมร่างกาย การสละเวลาก็สำคัญมากๆ”

จากโกคาร์ท เติ้นก็ก้าวเข้าสู่เส้นทางของ Formula อย่างจริงจัง ด้วยการลงสนามแข่ง Formula 4 และไต่ขึ้นมาอีกระดับกับ Formula 3 ในปัจจุบัน

เมื่อก้าวเข้าสู่สนาม Formula 3 ความแตกต่างของรถ ทั้งขนาด เครื่องยนต์ และแอโรไดนามิกส์ ก็เริ่มส่งผลชัด รถ Formula 3 ไม่ใช่แค่แรงกว่าเดิม แต่มันคือการแข่งเต็มรูปแบบที่ไม่มีระบบช่วยเหลืออย่างรถทั่วไป ไม่มีแอร์ ไม่มีน้ำให้ดื่ม ต้องนั่งหลังพวงมาลัยและขับเคี่ยวรถให้เร็วด้วยฝีมือตัวเอง

“F3 ไม่มีน้ำให้ดื่มระหว่างแข่งเหมือน F2 กับ F1 ครับ บางทีก็ยากมากครับ ต้องทนครับ กินน้ำเยอะๆ ก่อนแข่งเอาครับ”

ในด้านของการฝึกร่างกาย ก็เข้มข้นไม่แพ้ Formula 1 นักขับต้องฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง รับแรง G จากความเร่งที่ปะทะกับแรงโน้มถ่วงทุกวินาที ควบคุมสมาธิ และเตรียมกำลังใจให้พร้อม

“การฝึกก็มี reaction time อย่างที่ทุกคนอาจจะเคยเห็นบนโซเชียลมีเดีย พวกนักขับ F1 ที่เขารับลูกเทนนิสกัน แล้วก็เรื่องของทางด้านของร่างกายก็สำคัญมากๆ ครับ อย่างเช่น คอ หรือว่าทั้งหมด เพื่อจะรับ G ระหว่างแข่ง แล้วตอนแข่งบางทีก็ร้อนมากๆ ทำให้พวกเรื่องของคาดิโอก็สำคัญเหมือนกัน”

ยังไม่นับรวมถึงชีวิตในหนึ่งฤดูกาลของนักขับ Formula 3 ที่ไม่ได้มีแค่การแข่งขัน 10 เรซต่อฤดูกาลเท่านั้น แต่มันคือการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง การเดินทางตลอดปี การใช้ชีวิตในโรงงานของทีม และการรักษาสภาพร่างกายให้พร้อมในทุกวัน

“เวลาบินบ่อยมันก็จะมีเวลาพักผ่อนได้ค่อนข้างน้อย การปรับเวลาเลยสำคัญมากๆ ครับ”

“เติ้นต้องจัดการเวลาค่อนข้างเยอะครับ เพราะว่าระหว่างแข่งที่เมืองนอกก็ยังเรียนมหา’ลัยอยู่ที่อังกฤษ”

การจัดการเวลาจึงกลายเป็นทักษะสำคัญของนักขับ ยิ่งกับเติ้นที่ยังเรียนระดับมหาวิทยาลัยควบคู่ไปด้วย เขาเรียนในด้าน Mechanical Engineering ที่มหาวิทยาลัยในอังกฤษ นั่นหมายความว่าในทุกครั้งที่มีโปรแกรมลงสนามหรือฝึกซ้อม เขาต้องบินข้ามประเทศจากอังกฤษไปยังโรงงานของทีมที่สเปนเพื่อซ้อม และบินไปแข่งในอีกหลายทวีปทั่วโลก

นั่นคืออีกหนึ่งความท้าทายที่ซ้อนอยู่ใต้หมวกกันน็อก ใต้ชุดแข่ง และภายใต้ภาพลักษณ์ของนักขับที่ดูนิ่งสงบ ทว่ากำลังวิ่งเต็มสปีดในทุกวันของชีวิต

ชีวิตหลังพวงมาลัย ใต้หมวกกันน็อก

ชีวิตของนักแข่ง Formula 3 ไม่ได้มีแค่ความเร็ว ไม่ได้มีแค่เส้นชัยที่อยู่ด้านหน้า แต่กลับเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กน้อยในทุกวัน

ในสุดสัปดาห์ที่มีการแข่งขัน เติ้นต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพราะโรงแรมที่พักอยู่ห่างจากสนามราว 1 ชั่วโมง โรงแรมใกล้สนามมักจะเต็มเสมอเมื่อมีการแข่ง Formula 1 ทำให้ Formula 3 ที่เป็นรายการซัปพอร์ตของ Formula 1 แข่งบนแทร็กเดียวกัน วันเดียวกัน จะต้องเริ่มต้นทุกอย่างในเวลาที่เช้ากว่าเสมอ

“F3 จะเป็นซัปพอร์ตเรซของ F1 ทำให้ตารางของเราเช้ามากๆ เลยต้องตื่นประมาณตี 5 ครับ วันแข่งเราก็จะอยู่โรงแรมประมาณ 1 ชั่วโมงจากสนาม เพราะว่าโรงแรมที่มันอยู่ใกล้สนามมันเต็มหมดแล้ว”

หลังตื่น เติ้นจะเริ่มวันด้วยการวอร์มอัปกับเทรนเนอร์ เตรียมร่างกายให้พร้อมทั้งกล้ามเนื้อและจิตใจ เพราะเมื่อลงสนาม จะไม่มีเวลาให้ลังเลแม้แต่เสี้ยววินาที

“จะมีวอร์มอัปก่อนแข่งครับ ตอนเช้ากับเทรนเนอร์ของเติ้น แล้วก็เตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการแข่งขัน จากนั้นก็เตรียมลงแข่ง ในวันแข่งจะไม่มีอะไรมาก เพราะตอนที่ยุ่งที่สุดคือวันก่อนแข่งครับ ที่จะต้องทำพวก track walk เตรียมสภาพจิตใจ แล้วก็ดูภาพรวมสนาม”

ในสนามจริง เติ้นใช้เวลากับรถราว 40 นาทีต่อเรซ แต่ในระยะเวลานั้น คือโฟกัสทั้งหมดที่เขาจะต้องทุ่มเทลงไป หลายครั้งที่เขาต้องรักษาช่องว่าง แบกรับความกดดันที่ไม่มีใครจัดการแทนได้

“พอมันโฟกัสระหว่างแข่ง เวลามันจะผ่านไปค่อนข้างเร็วครับ แต่ว่ามันจะมีเรซที่สมมติเรานำอยู่ หรือเราอยู่ในระยะห่างที่ขับคนเดียว ต้องโฟกัสค่อนข้างนาน อันนั้นก็จะถือว่านานมากๆ ครับ”

การขับรถในสนามจริงคือปล่อยให้ตัวเองจมเข้าไปใส่ห้วงเวลาที่มีแค่เรา รถ และสนามแข่ง เขาแทบจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการแข่งขันตรงหน้าคือรอบที่เท่าไหร่ เพราะจดจ่ออยู่เพียงแค่ทางโค้งตรงหน้า รถที่กำลังขับนำ และคันหลังที่หวดไล่ตาม

“สำหรับเติ้นมันเหมือนสวิตช์ไปอยู่ในโซนครับ คือพยายามโฟกัสในการแข่งขันให้มากที่สุดครับ อย่าไปคิดอะไรมาก เพราะว่าพยายามอย่ากังวลระหว่างแข่ง มันเป็นเรื่องปกติที่มันจะมีสิ่งที่เข้ามาในหัวอยู่แล้ว ทำให้เราคิดนู่นคิดนี่ ว่ามันจะเกิดอย่างนี้ หรืออะไรจะเกิดขึ้นระหว่างแข่ง แต่ว่าเวลาเติ้นใส่หมวกมันเหมือนทุกอย่างจะโฟกัสง่ายขึ้น”

ทว่าเมื่อเราถามถึงช่วงเวลาที่เติ้นรู้สึกมีความสุขที่สุด คำตอบกลับไม่ใช่ตอนเข้าเส้นชัย แต่คือช่วงเวลารอบควอลิฟาย รอบเดียวในสุดสัปดาห์ที่นักขับจะได้กดความเร็วสูงสุดโดยไม่ต้องรักษายาง ไม่ต้องระวังคู่แข่ง เป็นช่วงเวลาที่ได้ปล่อยให้ความเร็วนำทางไป

“เติ้นสนุกกับรอบควอลิฟายที่สุดครับ เพราะมันจะเป็นช่วงที่เราไปได้เต็มที่ 100% ทำความเร็วให้มากที่สุด เพราะช่วงแข่งเราต้องจัดการยาง แข่งกับคู่ต่อสู้ ก็อาจจะ push แค่ 90%-80% แต่ว่าตอนรอบควอลิฟาย เป็นรอบเดียวในการแข่งขันที่ไปได้เต็มที่”

แต่การจะได้ปล่อยของแบบ 100% ในสนามที่ทำความเร็วแตะ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นมีความเสี่ยง เสี้ยววินาทีของการตัดสินใจผิดพลาด ระยะเบรกที่ลึกเกินไป โค้งที่ต้องทำความเร็ว ทุกวินาทีคือชีวิตจริงที่โลดแล่นอยู่บนสนาม และนักขับทุกคนรู้ดีว่า ยิ่งเร็วก็ยิ่งเสี่ยง เพียงแต่พวกเขาเลือกที่จะไม่พูดถึงมันก่อนขึ้นรถ เพราะความกลัวเพียงเล็กน้อย อาจกัดกินสมาธิจนทุกอย่างที่ซ้อมมาสูญเปล่า

“จริงๆ มาแข่งรถทุกคนก็รู้ว่าเป็นกีฬาที่อันตรายอยู่แล้วครับ แต่ว่าน่าจะไม่มีใครคิดเรื่องนี้ก่อนแข่ง เพราะว่าถ้าคิด ก็อาจจะทำให้ performance เสียหายได้ครับ” เขาหยุดไปนิดหนึ่ง ก่อนจะเสริมต่อด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจขึ้น

“แต่ว่าเติ้นคิดว่าในปัจจุบันเขาพัฒนาเซฟตี้ของนักแข่งให้ปลอดภัยสูงมากๆ ตอนนี้พวกกฎที่เขาเปลี่ยนทุกปี ก็ทำให้เซฟตี้ของเราดีขึ้น รู้สึกมั่นใจกับทุกอย่างที่มีอยู่ครับ”

เราเอ่ยถึงคำถามถัดมาอย่างระมัดระวัง คำถามเกี่ยวกับอุบัติเหตุในสนาม และบอกเขาอย่างตรงไปตรงมาว่าหากไม่สะดวกใจ เติ้นไม่จำเป็นต้องตอบเราก็ได้

เติ้นพยักหน้า และบอกว่าเขาสามารถเล่าได้ ก่อนจะเริ่มเล่าด้วยท่าทีสบายๆ

“เติ้นคิดว่าค่อนข้างโชคดีครับ เพราะใน Formula ยังไม่มีอุบัติเหตุที่ร้ายแรงขนาดนั้น แต่ที่จำได้จะเป็นตอนขับโกคาร์ทอยู่ อาจจะเป็นปีแรกหรือปีที่ 2 ตอนซ้อมปกติไม่มีชนอยู่แล้ว แต่ว่าวันนั้นได้ซ้อมกับเพื่อนร่วมทีมแล้วแข่งกัน ทำให้มีอุบัติเหตุเล็กน้อย รถพลิกแล้วก็คว่ำครับ เติ้นจำได้เลยว่าตอนนั้นหมวกใบแรกของเติ้นเสียหาย ก็เลยเสียใจมากๆ”

สิ่งที่ทำให้เติ้นเสียใจในวันนั้น ไม่ใช่เพราะเกือบจะเจ็บตัวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะของสำคัญที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่วันแรกที่ลงสนาม ต้องพังไปเพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น

ก่อนเสียงเพลงชาติจะดัง เบื้องหลังคือบทเรียนที่ไม่มีใครเห็น

การก้าวขึ้นโพเดียมในวงการรถแข่ง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย หรือความสามารถเพียงชั่วข้ามคืน แต่มันคือผลลัพธ์ของการสะสมบทเรียนที่เข้มข้นและการฝึกฝนอย่างไม่หยุดยั้ง

เติ้นเล่าให้เราฟังถึงความภูมิใจครั้งแรกที่เขาได้สัมผัสในเส้นทางนักแข่ง Formula จุดเริ่มต้นที่ชัดเจนคือชัยชนะใน Formula 4 ที่สนาม Portimao ประเทศโปรตุเกส

“ตอน Formula ที่รู้สึกภูมิใจครั้งแรกก็น่าจะเป็นขับ F4 ที่สนาม Portimao ที่โปรตุเกส ปีนั้น พาสปอร์ตเติ้นโดนขโมย ก็เลยไม่มีวีซ่าไปซ้อม เติ้นไม่ได้ไปซ้อมกับเพื่อนร่วมทีมกับคู่แข่ง ก็เลยเสียเปรียบทางฝั่งนั้นนิดนึง แต่ว่าเข้าแข่งขันรอบแรกก็ถือว่าทำได้ดีมากครับ แล้วก็คว้าที่ 1 มา”

เมื่อก้าวเข้าสู่สนาม Formula 3 ที่ทั้งเร็วกว่า ยากกว่า และท้าทายกว่า ตำแหน่งบนโพเดียมก็ยิ่งยากตามไปด้วย กอปรกับปีนี้ รถมีปัญหาทางเทคนิคมากมาย ทำให้ผลลัพธ์ของการคว้าชัยที่สนาม Silverstone มีความหมายกับเติ้นมาก

“การจบที่ 1 ใน F3 ได้ รู้สึกภูมิใจมากๆ เพราะว่าจริงๆ เป็นซีซั่นที่ค่อนข้างยากครับ มีปัญหาเกี่ยวกับตัวรถ เกี่ยวกับเทคนิคค่อนข้างเยอะครับ ทำให้ผลลัพธ์ยังไม่ดีเท่าที่มันควรจะเป็นครับ แต่ว่าการที่ได้ที่ 1 ในสนามล่าสุด ก็ถือว่าภูมิใจมากๆ ครับ”

และชัยชนะในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นความภูมิใจของเติ้นเพียงคนเดียว แต่ยังรวมไปถึงทีมงานและคุณแม่ที่เฝ้าดูเติ้นอยู่ใต้โพเดียมไม่ห่าง แรงเชียร์จากไทยก็ส่งไปถึงเติ้นไม่น้อย เมื่อเสียงเพลงชาติไทยดังขึ้นในสนามต่างแดน นั่นเปรียบเสมือนกับเสียงสะท้อนของความพยายามตลอดหลายปี ที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อ ความอดทน และใจที่สู้ไม่ถอย

นอกจากโพเดียมและเสียงปรบมือ อีกหนึ่งสิ่งที่ล้ำค่าไม่แพ้กัน ก็คือบทเรียนที่เติ้นได้รับจากเส้นทางนักขับที่เขาเลือกเดิน มันไม่ใช่บทเรียนที่มีบรรจุอยู่ในหนังสือเรียนเล่มไหน และไม่มีใครที่จะสอนบทเรียนนี้ให้เติ้นได้ นอกจากตัวเขาเอง

ตลอดฤดูกาล และตลอดเส้นทางกว่า 10 ปีในโลกความเร็ว บทเรียนที่เติ้นเรียนรู้ได้ชัดเจนที่สุด คือการมีวินัยเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

“เรื่องของระเบียบวินัยครับ การแข่งขันทุกกีฬา ไม่ใช่แค่ Formula ต้องมี เพื่อจะไปในเลเวลที่สูงสุด การฝึกซ้อม การเสียสละเวลาของเรา”

ด้วยประสบการณ์ที่มากขึ้น ภาระหน้าที่ที่หนักขึ้น การจัดการเวลาด้วยวินัยในตัวเอง จึงกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ไม่มีทางลัด ประสบการณ์ 10 กว่าปีในโลกแห่งความเร็ว เป็นเสมือนแรงเหวี่ยงที่หล่อหลอมให้เขาแข็งแกร่งขึ้นในฐานะนักขับ

“การแข่งรถมันจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ได้ อาจจะชน หรืออาจจะมีอะไรที่มันผิดพลาดที่เราคอนโทรลไม่ได้ แต่เติ้นคิดว่าเติ้น มั่นใจขึ้นเยอะ จากตอน 7 ขวบ มาจนถึงตอนนี้ เติ้นมีประสบการณ์จากการแข่ง ทำให้เวลาลงสนามจัดการกับอะไรต่างๆ ได้ดีขึ้นครับ”

แม้วิธีคิดจะเติบโตขึ้น ประสบการณ์จะลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เคยเปลี่ยนเลย คือหัวใจของเติ้นที่รักในกีฬานี้เหมือนวันแรก และยังผลักดันตัวเองทุกครั้งที่ได้ลงสนาม

“อะไรที่ยังเหมือนเดิม น่าจะการรักในกีฬาครับ แล้วก็แรงผลักดันตัวเองเพื่อจะได้ทำให้ดีขึ้นครับ”

เติ้นไม่เคยปล่อยให้ความผิดพลาดในอดีตดึงรั้งเขาไว้ แต่เขาเลือกมองไปข้างหน้าเสมอ เพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในทุกสนามที่ได้ลงแข่ง

“เติ้นพยายามจะมองข้างหน้าเสมอ เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันก็อยู่ในอดีตไปแล้ว แล้วก็คิดว่าถ้ามันมีอะไรผิดพลาด มันก็เป็นเรื่องปกติที่เราจะต้องเรียนรู้แล้วก็พัฒนาสำหรับอนาคตครับ”

วันหนึ่งชื่อของเติ้นจะต่อท้ายด้วยคำว่า Formula 1 Driver

เมื่อเราถามถึงเป้าหมายในชีวิต เติ้นตอบโดยไม่ลังเลแม้เสี้ยววินาที

“เป้าหมายสูงสุดก็คือ Formula 1 ครับ”

ไม่มีการคิดทบทวน ไม่มีการอ้อมค้อม เขาเอ่ยประโยคนี้ออกมาด้วยตาที่สุกสกาว

แม้ในตอนนี้เขาจะยังไม่รู้ว่าเส้นทางปีหน้าจะเดินไปในทิศทางไหน เติ้นอาจจะได้ขยับขึ้น Formula 2 ถ้าทำผลงานใน 3 สนามสุดท้ายของฤดูกาลนี้ได้ดีพอ หรืออาจจะลงแข่งใน Formula 3 เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และพิสูจน์ความพร้อมของตัวเองอีกปีก็ตาม

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อคือ เติ้นจะยังโฟกัสที่การแข่งขันตรงหน้าให้ดีที่สุด เหมือนอย่างที่เขาทำมาตลอด

‘ถ้าไปถึงจุดนั้นที่ตั้งใจไว้ เติ้นอยากแข่ง Formula 1 ให้กับทีมไหน’ คำถามที่เราไฮไลต์ไว้ด้วยปากกาเน้นคำถูกเอ่ยถามออกไป เพราะคิดว่าเติ้นคงมีคำตอบอยู่ในใจแน่นอน

ทว่ากลับผิดคาด “จริงๆ ก็ไม่มีทีมที่อยากไปแบบเฉพาะเจาะจงนะครับ แค่ได้ขึ้นไปอยู่ที่นั่น คือความฝันของเติ้นแล้วครับ ทีมไหนก็ได้”

ตลอดการสนทนา เราไม่เห็นเขาเรียกร้องสิ่งใดเลยนอกจากโอกาสที่จะพิสูจน์ว่า เขาทำได้ โอกาสที่จะขับเคลื่อนตัวเองไปให้ไกลกว่านี้ในทุกวัน

จนเราอดถามต่อไม่ได้ว่า ในอนาคต เติ้นอยากให้คนจดจำชื่อ ‘เติ้น ทัศนพล อินทรภูวศักดิ์’ ต่อท้ายด้วยคำว่าอะไร

“Formula 1 driver ครับ”

คำตอบถูกเอ่ยออกมาพร้อมรอยยิ้ม ไม่ใช่เพื่อการจดจำเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อบอกกับคนอื่นในโลกว่า ในยอดเขาของ Formula 1 ยังมีนักขับคนไทยอีกคนหนึ่ง ที่ได้มายืนในจุดนี้

เพราะแรงบันดาลใจของเติ้นนั้นเรียบง่ายและจริงใจ เขามี ‘อเล็กซ์ อัลบอน’ นักขับ Formula 1 ภายใต้ธงชาติไทย เป็นต้นแบบที่ทำให้เขารู้ว่าเส้นทางนี้ไปถึงได้จริง

และเมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงตอนสุดท้าย เราถามคำถามง่ายๆ แต่เป็นคำถามที่เปิดประตูไปสู่อนาคตที่ยังมาไม่ถึงว่า ‘ถ้าเติ้นมีโอกาสได้พูดกับตัวเองในวันข้างหน้า เติ้นอยากจะบอกอะไรกับตัวเอง’

เขานิ่งคิดอยู่นาน ก่อนจะค่อยๆ กลั่นเอาคำตอบที่จริงใจที่สุดกับตัวเองออกมา

“ไม่รู้ว่าตอนนั้นอยู่ในการแข่งขันอะไรนะครับ…แต่ก็หวังว่ายังคงแข่งอยู่นะ แล้วก็ยังรักกีฬาแข่งรถเหมือนเดิม”

เติ้นไม่ได้บอกว่าวันข้างหน้าคืออีกกี่ปี หรือในตอนนั้นเขาจะได้อยู่จุดไหนในฐานะนักขับ เขาเลือกคำพูดแสนธรรมดา แต่กลับสะท้อนทุกอย่างที่เขาเป็น เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าในวันนั้นเขาจะไปได้ไกลแค่ไหน เขาเพียงหวังให้ตัวเองยังแข่ง และยังรักในกีฬาแข่งรถเหมือนที่เติ้นในวัย 7 ขวบหลงรัก

และทั้งหมดนี้คือบทสนทนาระหว่างเราและ ‘เติ้น ทัศนพล อินทรภูวศักดิ์’ เด็กหนุ่มที่อยากให้วันหนึ่งผู้คนจดจำชื่อเขาต่อท้ายด้วยคำว่า Formula 1 Driver
Photographer: Channarong Aueudomchote
Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon
Editorial Staff: Paranee Srikham

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก The MATTER

รู้จัก 8 ครีเอเตอร์ไทย จากจักรวาลคาแร็กเตอร์งาน Character Fest Thailand 2025

8 ชั่วโมงที่ผ่านมา

Superman แบกหนังตัวเองไหวไหม? สรุปรายได้และความโดดเด่นของซูเปอร์แมนแต่ละยุค

8 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม

ทำไมเราถึงเลือกทางผิดซ้ำๆ ทั้งที่เคยมีบทเรียนกับมันมาแล้วนับไม่ถ้วน

The MATTER

‘Speed Dating’ เทรนด์การเดตของคนโสดที่อาจทำให้เราได้แมตช์กับคนที่ใช่

The MATTER

ส่อง 10 คาแร็กเตอร์สัญชาติไทย จากจักรวาลคาแร็กเตอร์งาน Character Fest Thailand 2025

The MATTER
ดูเพิ่ม
Loading...