รู้จัก 2 ผักเครื่องเคียงยอดนิยมในช่วงหน้าร้อนของญี่ปุ่น
ผักเครื่องเคียงที่เสิร์ฟพร้อมกับเมนูอาหารในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ โซเม็ง ซาชิมิ และเต้าหู้นิ่ม เป็นต้น มีรสชาติและกลิ่นหอมสดชื่นทำให้อาหารอร่อยขึ้น มารู้จักผักเครื่องเคียงยอดนิยมในช่วงหน้าร้อนของคนญี่ปุ่น และประโยชน์ของผักดังกล่าวกันค่ะ
ผักเครื่องเคียงยอดนิยมในช่วงหน้าร้อนของญี่ปุ่น
1. ขิงญี่ปุ่นหรือเมียวกะ
เมียวกะ (みょうが) เป็นพืชในวงศ์ขิงที่มีกลิ่นหอมสดชื่นเป็นเอกลักษณ์จากน้ำมันหอมระเหยที่ชื่อว่า อัลฟา-ไพนีน (Alpha-pinene) โดยมีประโยชน์ต่อสุขภาพดังนี้คือ
- ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี
- ช่วยขับเหงื่อและย่อยอาหาร
- มีผลในการเพิ่มความตื่นตัวของร่างกายและเพิ่มความมีสมาธิ
- มีผลในการผ่อนคลายความเครียดและช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย
เคล็ดลับในการนำมารับประทาน
อัลฟา-ไพนีนเป็นน้ำมันหอมที่ระเหยออกมามากเมื่อหั่นหรือสับเมียวกะให้ละเอียด ทั้งนี้ส่วนประกอบที่มีกลิ่นหอมจะระเหยไปตามเวลา จึงควรนำมารับประทานให้เร็วที่สุดหลังจากการหั่นหรือสับ
วิธีนำมารับประทานเพื่อให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ
- ขิงญี่ปุ่นมีน้ำมันหอมระเหยที่มีสรรพคุณเพิ่มความตื่นตัวและความสมาธิ การรับประทานในตอนเช้าจะช่วยเสริมสร้างความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าให้แก่ร่างกาย
- น้ำมันหอมระเหยในเมียวกะมีผลในการบรรเทาความเครียดและช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายการรับประทานในตอนเย็นและตอนกลางคืนจะช่วยให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น
2. ชิโสะ
ชิโสะ (しそ) เป็นผักเครื่องเคียงที่มีกลิ่นหอมสดชื่นและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยใบชิโสะอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน แคลเซียม และวิตามินบี 2 อีกทั้งยังมีส่วนประกอบของสารให้กลิ่นหอม คือ เพอร์รีอัลดีไฮด์ (Perylaldehyde) ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้คือ
- มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและฆ่าเชื้อ
- กระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารและเพิ่มความอยากอาหาร
- ส่งเสริมการย่อยอาหารและช่วยเรื่องการทำงานของระบบทางเดินอาหาร
- มีฤทธิ์สงบประสาทและผ่อนคลาย ซึ่งทำให้จิตใจสงบ
เคล็ดลับการนำใบชิโสะมารับประทาน
สารเพอร์รีอัลดีไฮด์ซึ่งให้กลิ่นหอมสดชื่นมีอยู่มากในบริเวณท้องใบชิโสะ เพียงแค่สัมผัสก็ทำให้สารดังกล่าวระเหยได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณท้องใบชิโสะ เมื่อหั่นก็ควรเรียงใบชิโสะให้ด้านท้องใบหงายขึ้นจากนั้นม้วนและหั่น เพื่อลดการระเหยของสารให้กลิ่นหอมสดชื่น
วิธีการนำมารับประทานเพื่อให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ
- ใส่กล่องข้าวเพื่อป้องกันอาหารบูดเน่า เนื่องจากใบชิโสะมีคุณสมบัติต้านการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย
- หั่นละเอียดและโรยหน้าอาหารเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าจากความร้อนหรือเบื่ออาหาร เนื่องจากกลิ่นหอมของใบชิโสะช่วยเพิ่มความอยากอาหารและช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี
ผักเครื่องเคียงไม่เพียงแต่เพิ่มสีสันและรสชาติให้แก่อาหารเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สภาวะการทำงานของร่างกายดีขึ้นด้วย ในช่วงหน้าร้อนที่รู้สึกเหนื่อยล้าและเบื่ออาหารก็ลองใช้ตัวช่วยผักเครื่องเคียงอย่างขิงเมียวกะและใบชิโสะมาช่วยให้เจริญอาหารขึ้นดูค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: yogajournal.jp