ดีอี เตือนภัยมิจฉาชีพเปิดบัญชี TikTok ปลอมปล่อยสินเชื่อกรุงไทย
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 4 – 10 กรกฎาคม 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,039,175 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 638 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 606 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 29 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 3 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 209 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 87 เรื่อง โดยในจำนวนนี้เป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ธ.กรุงไทย ปล่อยสินเชื่อ ผ่าน TikTok ชื่อ .ktb51
อันดับที่ 2 : เรื่อง OR เสนอขายหุ้น IPO ผ่านเพจ Amz Premium Quality Coffee
อันดับที่ 3 : เรื่อง ออมสิน ปล่อยสินเชื่อให้ยืม ขั้นต่ำ 10,000 บาท สูงสุด 1,000,000 บาท ผ่านเพจ LEASE it PCL 471
อันดับที่ 4 : เรื่อง OR ให้ร่วมลงทุนหุ้น Café Amazon เปิดพอร์ต เริ่มต้น 1,000 บาท ผลตอบแทน 290 บาท
อันดับที่ 5 : เรื่อง ธนาคารกรุงไทย ให้บริการสินเชื่อ ทาง TikTok ktb.thailand92
อันดับที่ 6 : เรื่อง OR เสนอขายหุ้นประชาชนทั่วไป เริ่มต้น 1,000 บาท ปันผลสูงสุด 990 บาทต่อวัน
อันดับที่ 7 : เรื่อง OR เปิดให้ร่วมลงทุนหุ้นธุรกิจค้าปลีก เริ่มต้น 1,000 ปันผล 450 บาท/วัน
อันดับที่ 8 : เรื่อง ลงทุนหุ้น OR เพื่อร่วมบริหารคาเฟ่ อเมซอน เริ่ม 1,000 บาท รับผลตอบแทน 360 บาทต่อวัน
อันดับที่ 9 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดให้ลงทุนผ่านบัญชีไลน์ SET SERVICE
อันดับที่ 10 : เรื่อง เจ้าหน้าที่ ธารมิกา รับทำใบขับขี่ทุกประเภท เพียงติดต่อผ่านไลน์
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวการชักชวนให้ลงทุนโดยอ้างชื่อหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ข่าวการให้บริการสินเชื่อของธนาคารรัฐ ซึ่งมีผลกระทบต่อทั้งตัวบุคคลที่เชื่อและแชร์ข้อมูลส่งต่อกันไปเป็นวงกว้าง ทำให้ประชาชนอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “ธ.กรุงไทย ปล่อยสินเชื่อ ผ่าน TikTok ชื่อ .ktb51” กระทรวงดีอี ได้ประสานงาน ธนาคารกรุงไทย กระทรวงการคลัง ตรวจสอบพบว่า เป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า บัญชี TikTok ชื่อ .ktb51 ไม่ใช่บัญชีทางการของธนาคารกรุงไทย และได้มีการแอบอ้างนำโลโก้ของธนาคารกรุงไทยไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ธนาคารไม่มีนโยบายปล่อยสินเชื่อผ่านบัญชี TikTok ใด ๆ ทั้งสิ้น หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ 02-111-1111 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในการสมัครขอรับสินเชื่อผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเท่ากับเป็นการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่มิจฉาชีพ
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.).