พิพัฒน์แนะ ธปท. เลิกยึดติดแนวทางลดดอกเบี้ย ปลดล็อกนโยบายการเงิน
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยในงานเสวนาโต๊ะกลม "Roundtable: The Art of (Re)Deal” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า ในมุมมองของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะมุมของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในบริบทของเศรษฐกิจปัจจุบันและบทบาทของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจขาลงนั้น
มองว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับ ช็อกที่ค่อนข้างรุนแรง และมองว่าช็อกที่เกิดขึ้นนั้นใหญ่มาก และแม้ ธปท. จะสื่อสารว่าไม่ได้ขัดกับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน แต่ก็ต้องการเก็บกระสุน หรือเก็บ policy space ไว้เผื่อสำหรับสถานการณ์ช็อกที่อาจจะใหญ่กว่า
ทั้งนี้ มองว่าไม่ควรยึดติดกับความคิดที่ว่าเหลือกระสุนในการลดดอกเบี้ยได้อีกกี่ครั้ง เช่น เหลือลดได้อีก 5 ครั้ง สิ่งที่สำคัญกว่าคือการออกแบบ policy space เพิ่มเติม และมุ่งเน้นไปที่การทำให้การลดดอกเบี้ยแต่ละครั้งมีผลที่ดีต่อเศรษฐกิจ
ปัจจุบันไทยยังเผชิญกับปัญหาประสิทธิภาพและการส่งผ่านนโยบายการเงิน (Effectiveness and Transmission) แม้ ธปท. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมแต่ธนาคารพาณิชย์กลับปรับลดตามเพียง 5-7 basis point หรือ 0.05-0.07% เท่านั้น และ GDP ยังคงติดลบ สะท้อนว่าการส่งผ่านนโยบายการเงินอาจจะมีข้อจำกัด
ดังนั้นโจทย์สำคัญที่ต้องคิดคือทำอย่างไรให้ effectiveness หรือประสิทธิผลของการใช้นโยบายการเงินนั้นมีผลดีที่สุด
ประเทศไทย ควรต้องสำรวจ (explore) แนวทางที่ธนาคารกลางใช้ (unconventional monetary policy) ยกตัวอย่างเช่น ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ก็เริ่มใช้นโยบายเหล่านี้เมื่อประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ การพิจารณานโยบายที่แปลกใหม่นี้จะช่วยให้ประเทศไม่ติดกรอบความคิดว่าเหลือช่องว่างในการลดดอกเบี้ยเพียงแค่นี้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญคือ หากอัตราดอกเบี้ยลดลงไปจนถึงจุดที่ต่ำมาก เช่น 0.5% ยังมีนโยบายอื่นใดอีกที่ ธปท. สามารถดำเนินการได้ ซึ่งการดำเนินนโยบายเหล่านี้มองว่า ไม่ใช่เพียงแค่ ธปท. เท่านั้น แต่อาจจะเป็นภาครัฐเข้ามาเสริมได้ เพื่อแก้ไขปัญหา
“ประเด็นที่น่าห่วงวันนี้คือ ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ เพราะกังวลเรื่องภาวะทางเศรษฐกิจ ดังนั้นควรปลดล็อกการส่งผ่านนโยบายการเงินลงไปให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”