สหรัฐฯ–จีน ครองแชมป์ถือ Bitcoin มากสุดในโลก ภูฏานโผล่ติดท็อป 5
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Bitbo.io และ Cointelegraph เผย 5 อันดับประเทศที่รัฐบาลถือครอง Bitcoin มากที่สุดในโลกในปี 2568 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สหราชอาณาจักร ยูเครน และภูฏาน โดยส่วนใหญ่เป็นการได้มาจากการยึดทรัพย์คดีอาชญากรรมไซเบอร์ ยกเว้นภูฏานที่ถือครองด้วยการลงทุนขุดด้วยพลังงานสะอาด
อันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ถือครอง Bitcoin ประมาณ 207,000 BTC คิดเป็นมูลค่าราว 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 8.16 แสนล้านบาท) หรือประมาณ 0.99% ของอุปทาน Bitcoin ทั่วโลก โดยทรัพย์เหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากการยึดในคดีอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น Silk Road, Bitfinex Hack และการฟอกเงินต่าง ๆ ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดเก็บ Bitcoin เหล่านี้ไว้ในคลังสินทรัพย์ดิจิทัลของรัฐ และบางส่วนได้นำออกประมูลเป็นระยะ
อันดับ 2 คือ จีน ที่ถือครอง Bitcoin ราว 194,000 BTC มูลค่าราว 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7.82 แสนล้านบาท) โดยส่วนใหญ่ยึดได้จากคดี PlusToken ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหลอกลวงที่ใหญ่ที่สุดในโลกคริปโตเมื่อปี 2562 แม้ว่าจีนจะมีท่าทีคุมเข้มต่อคริปโต แต่สินทรัพย์ที่ยึดได้กลับยังอยู่ในความครอบครองของรัฐอย่างต่อเนื่อง
อันดับ 3 ตกเป็นของ สหราชอาณาจักร โดยถือครอง Bitcoin ประมาณ 61,000 BTC หรือมูลค่ากว่า 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.48 แสนล้านบาท) ซึ่งได้จากการบังคับยึดทรัพย์ในคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์และฟอกเงินจำนวนมาก
อันดับ 4 คือ ยูเครน ซึ่งมีครอบครอง Bitcoin อยู่ที่ 46,351 BTC คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.9แสนล้านบาท) โดยสินทรัพย์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการบริจาคจากผู้สนับสนุนทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือประเทศในช่วงสงครามรัสเซีย–ยูเครน ทั้งด้านมนุษยธรรมและการป้องกันประเทศ
ที่สร้างความประหลาดใจมากที่สุดคือ ภูฏาน อยู่ในอันดับที่ 5 โดยรัฐบาลถือครอง Bitcoin อยู่ราว 12,000–13,000 BTC หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.1–1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.74–4.76 หมื่นล้านบาท) โดยถือเป็นประเทศเดียวในกลุ่มที่ไม่ได้ถือครองจากการยึดทรัพย์ แต่เป็นการลงทุนขุดBitcoin โดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำผ่านกองทุนแห่งชาติ Druk Holding & Investments ซึ่งดำเนินการเงียบ ๆ ตั้งแต่ปี 2564 ก่อนจะถูกเปิดเผยผ่านรายงานของสื่อต่างประเทศ
นักวิเคราะห์มองว่า แนวโน้มที่รัฐบาลถือครองBitcoin เพิ่มขึ้น อาจชี้ว่าคริปโตเคอร์เรนซีกำลังกลายเป็น “สินทรัพย์ยุทธศาสตร์” ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินโลก โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยสูง ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความผันผวนของค่าเงินหลัก
การถือครองคริปโตโดยรัฐบาลต่าง ๆ กลายเป็นประเด็นที่ตลาดจับตามอง เนื่องจากสะท้อนถึงบทบาทใหม่ของ Bitcoin ในเศรษฐกิจมหภาค ที่กำลังเคลื่อนตัวจากทรัพย์สินทางเลือกสู่การเป็นสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ระดับโลก