เงินเฟ้อสหรัฐมาแล้ว! ภาษีทรัมป์ดันดัชนี CPI มิ.ย. พุ่ง 2.7%
กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยเมื่อวันอังคารว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐ ในเดือนมิ.ย. ขยายตัวขึ้น 2.7% เมื่อเทียบปีที่แล้ว และเป็นการปรับเพิ่มเร็วขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งขยายตัวที่ 2.4% และเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าบริษัทต่างๆ "เริ่มที่จะโยนภาระภาษีศุลกากรไปให้ผู้บริโภค"
เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ซึ่งไม่รวมราคาอาหาร และพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.9% โดยมีสินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ของเล่น และเสื้อผ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่มักได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากร ปรับราคาขึ้นมากในเดือนมิ.ย. ในขณะที่ราคา "รถยนต์" ปรับตัวลดลงอย่างไม่คาดคิด
เมื่อเทียบเป็นรายเดือนจากพฤษภาคม ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 0.3% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นรายเดือนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม ที่ผ่านมา และถือเป็นการ "หักหน้า" เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่กล่าวเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดหลักเพิ่มขึ้น 0.23% ซึ่งอยู่ในระดับกลางของช่วงการเพิ่มขึ้นรายเดือนตลอดปีที่ผ่านมา
บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างมีความเห็น "เสียงแตก" กันว่า ภาษีศุลกากรจะส่งผลต่อราคาสินค้าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ามากเพียงใด เนื่องจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงไม่แน่นอน
หลังตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดออกมา โอกาสที่ ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 29 - 30 กรกฎาคม 2568 นี้ ลดลงเหลือแค่ 2.6% จากที่เคยมีโอกาส 6.2% ในวันก่อนหน้า ตามข้อมูลของเครื่องมือ Fed Watch tool ของ CME Group
ด้าน ลอรี โลแกน ประธานเฟดสาขาดัลลัส และยังเป็นกรรมการ FOMC กล่าวว่า เฟดอาจจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางแรงกดดันจากมาตรการขึ้นภาษีของรัฐบาลทรัมป์
“ในกรณีฐานของฉันคือ เรายังจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ค่อนข้างตึงตัวไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับไปสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างยั่งยืน” โลแกน กล่าวต่อสภากิจการระหว่างประเทศแห่งซานอันโตนิโอเมื่อวันอังคาร
“เราจะพิจารณาข้อมูลตลอดช่วงฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วง ก่อนที่จะประเมินผลกระทบต่อราคาโดยรวมได้อย่างชัดเจน” เธอกล่าว
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์