อยากทำงานต่างแดน? เช็กก่อน ประเทศค่าครองชีพแพงสุด-ถูกสุด ในโลก
ใครที่รู้สึกว่าแค่ทริปท่องเที่ยวสั้นๆ ยังไม่ตอบโจทย์ความฝันการใช้ชีวิตในต่างแดน บางทีการย้ายงานไปต่างประเทศอาจเป็นทางเลือกที่ใช่ ลองเช็กดูว่าบริษัทของคุณมีโอกาสโยกย้ายไปทำงานต่างประเทศ หรือมีนโยบายลาพักร้อนระยะยาว (sabbatical leave) ที่สามารถใช้เดินทางหรือใช้ชีวิตต่างประเทศได้หรือไม่
หากคุณพร้อมจะก้าวออกไปจริงๆ บางคนอาจใช้วิธี Gap Year หยุดทำงานประจำระยะสั้น หรือที่เรียกว่า “Micro-retirement (เกษียณชั่วคราว)” เพื่อพักผ่อนและหางานทำในต่างประเทศไปด้วย แต่สิ่งสำคัญที่นอกจากเรื่องค่าแรง ที่วัยทำงานต้องเช็กให้ดีก่อนก็คือ "ค่าครองชีพ" ของประเทศที่อยากย้ายไปทำงาน เพราะหากไปหางานหรือใช้ชีวิตในประเทศที่ค่าใช้จ่ายแพงเกินไป ก็อาจกลายเป็นภาระไม่รู้ตัว
ล่าสุดบริษัทประกันสุขภาพนานาชาติ William Russell ได้รวบรวมข้อมูลผลสำรวจด้านค่าครองชีพในแต่ละประเทศ ทั้งค่าขนส่ง ค่าสาธารณูปโภค และค่าบริการความบันเทิง มานำเสนอว่าประเทศไหนแพงที่สุด-ถูกที่สุด เพื่อช่วยให้ผู้ที่สนใจทำงานในต่างประเทศตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
3 ประเทศที่ค่าครองชีพสูงที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ
สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ คือ 3 ประเทศที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ หากคุณได้รับข้อเสนอให้ย้ายไปทำงานในประเทศเหล่านี้ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า "แพ็กเกจค่าตอบแทน" ของบริษัท สอดคล้องกับค่าครองชีพหรือไม่ เพราะปีนี้ค่าใช้จ่ายในประเทศเหล่านี้ที่อาจสูงกว่าที่เคย
นอกจากนี้ ควรประเมินค่าใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ของคุณเอง เช่น ขับรถส่วนตัวหรือใช้ขนส่งสาธารณะ ทานอาหารนอกบ้านหรือทำกับข้าวกินเอง เพราะรายละเอียดเล็กๆ เหล่านี้ส่งผลต่อภาพรวมของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 1 แพงที่สุดในโลก (9.29/10)
สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกตามรายงานของ William Russellของ โดยได้คะแนนรวมของค่าครองชีพอยู่ที่ 9.29 จาก 10 คะแนน ประเทศในยุโรปกลางแห่งนี้มีค่าสมาชิกฟิตเนส เฉลี่ยสูงสุด ที่ 87.40 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราวๆ 2,800 บาทต่อเดือน) และ ค่าตั๋วหนังแพงที่สุดที่ 24.13 ดอลลาร์ต่อใบ (ราวๆ 785 บาทต่อใบ) นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังเป็นประเทศที่ทีค่าตั๋วโดยสารขนส่งสาธารณะสูงเป็นอันดับสองในโลกตามรายงานดังกล่าวด้วย คือ เฉลี่ยเริ่มต้น 4.10 ดอลลาร์ต่อเที่ยว (ราวๆ 133 บาทต่อเที่ยว)
ไอซ์แลนด์ อันดับ 2 แพงที่สุดในโลก (8.48/10)
ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่ค่าครองชีพแพงอันดับสอง ที่นี่มีระบบขนส่งสาธารณะ ที่แพงที่สุดในโลก คือ 5.01 ดอลลาร์ต่อเที่ยว (ราวๆ 163 บาทต่อเที่ยว) นอกจากนี้ ค่าอินเทอร์เน็ตรายเดือนก็แพงที่สุด อยู่ที่ 80.36 ดอลลาร์ (ราวๆ 2,600 บาท) และค่าอาหารนอกบ้านเฉลี่ยต่อมื้อที่ 136.95 ดอลลาร์ (ราวๆ 4,450 บาท) โดยเฉลี่ยสำหรับสองคน อย่างไรก็ตาม ประเทศนี้มีค่าสาธารณูปโภคที่ถูกที่สุดในโลกตามรายงานฉบับนี้
นอร์เวย์ อันดับ 3 แพงที่สุดในโลก (7.72/10)
นอร์เวย์มีค่าครองชีพแพงอยู่ในอันดับสามของโลก ประเทศสแกนดิเนเวียแห่งนี้มีค่าใช้จ่ายด้านระบบขนส่งสาธารณะสูงเป็นอันดับสาม โดยอยู่ที่ 3.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเที่ยว (ราวๆ 130 บาทต่อเที่ยว) นอกจากนี้ สำหรับราคาอาหารหนึ่งมื้อ แพงเป็นอันดับห้าของโลก อยู่ที่ 95.02 ดอลลาร์ (ราวๆ 3,100 บาทต่อมื้อ) และค่าอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 58.82 ดอลลาร์ (ราวๆ 1,900 บาท)
3 ประเทศที่ค่าครองชีพถูกที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ
เม็กซิโกครองตำแหน่งประเทศที่ค่าครองชีพถูกที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ ตามมาด้วยลิทัวเนียและโปแลนด์ที่ครองอันดับ 2 ร่วมกัน สำหรับใครที่กำลังมองหาประเทศเป้าหมายในการย้ายประเทศไปทำงาน ลองพิจารณาจากประเทศเหล่านี้ เผื่อจะได้ไอเดียใหม่ๆ สำหรับการวางแผน
เม็กซิโก อันดับ 1 ถูกที่สุดในโลก (0.67/10)
เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุด โดยมีคะแนนรวมอยู่ที่ 0.67 จากเต็ม 10 คะแนน ประเทศในอเมริกาเหนือแห่งนี้ มีค่าสาธารณูปโภคต่อเดือนเฉลี่ยถูกที่สุด โดยอยู่ที่ 61.24 ดอลลาร์ (ราวๆ 1,990 บาท) และค่าสมาชิกฟิตเนสต่อเดือนถูกที่สุดในรายงานดังกล่าว 33.52 ดอลลาร์ (ราวๆ 1,000 บาท)
ลิทัวเนีย อันดับ 2 ถูกที่สุดในโลก (2.23/10)
ลิทัวเนียตั้งอยู่ในภูมิภาคบอลติกของยุโรป มีค่าครองชีพถูกที่สุดเป็นอันดับสองของโลก โดยประเทศนี้มีค่าอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยถูกที่สุด นอกจากนี้ยังติดอันดับห้าอันดับแรกในด้านค่าขนส่งสาธารณะ ส่งผลให้ได้คะแนนรวม 2.23 จาก 10 คะแนน
โปแลนด์ อันดับ 2 ถูกที่สุดในโลก (2.23/10)
โปแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของลิทัวเนีย โดยมีค่าครองชีพถูกที่สุดอยู่ในอันดับสองร่วมกัน โดยประเทศนี้มีตั๋วหนังถูกที่สุดเป็นอันดับสอง และค่าอินเทอร์เน็ตรายเดือนก็ราคาถูกเช่นกัน
ถ้าอยากย้ายงานไปต่างประเทศ ต้องเริ่มยังไง?
หากคุณตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่า อยากพัฒนาสายงานของตนเองในต่างประเทศ ลองเริ่มต้นจากการสอบถามเส้นทางอาชีพภายในองค์กรเดิมของคุณเอง บริษัทที่คุณทำงานในปัจจุบันอาจเปิดโอกาสให้ย้ายข้ามภูมิภาคได้ง่ายกว่าที่คิด เพียงแสดงความสนใจอย่างจริงจังและปฏิบัติตามขั้นตอนการโยกย้ายงานภายในให้ถูกต้อง
ตรวจสอบใบประกาศรับสมัครงานภายในบริษัท ดูว่ามีสำนักงานในต่างประเทศหรือไม่ และตำแหน่งของคุณมีอยู่ในประเทศเป้าหมายหรือเปล่า พยายามค้นหาว่าใครเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ และขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าโดยตรง เช่น ขอคำแนะนำหรือขอให้แนะนำคุณกับบุคคลในสำนักงานสาขานั้น ๆ
หากต้องสัมภาษณ์กับทีมในต่างประเทศ ควรเตรียมตัวล่วงหน้า และศึกษาความแตกต่างของวัฒนธรรมองค์กร หรือวิธีการทำงานระหว่างสำนักงานใหญ่กับสาขาเป้าหมายด้วย เพราะอาจมีความแตกต่างด้านการทำงาน และอย่าลืมวางแผนส่งต่องานในปัจจุบันให้ราบรื่น เพื่อไม่ให้กระทบกับทีมงานและหัวหน้าของคุณ
แต่หากบริษัทไม่มีทางเลือกด้านตำแหน่งงานในต่างประเทศ ลองเจรจาขอลางานระยะยาว หรือหาทางปรับเป็นงานที่สามารถทำจากที่ไหนก็ได้ แล้วคุณก็ย้ายที่อยู่ไปยังต่างประเทศเอง
ทั้งนี้ การเริ่มหางานใหม่ในต่างประเทศใหม่ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ง่ายกว่ายุคอดีต เพราะปัจจุบันมีแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง LinkedIn ที่เปิดโอกาสให้คุณสร้างเครือข่ายในต่างประเทศโดยไม่ต้องเดินทางไปอยู่ที่นั่นก็ได้ คุณอาจเริ่มจากการศึกษาบริษัทเป้าหมาย หาข้อมูลผู้บริหาร เข้าร่วมเครือข่ายวิชาชีพระดับภูมิภาค หรือศึกษากระแสแรงงานในประเทศปลายทาง แล้วสร้างข้อได้เปรียบให้ตัวเองเพื่อให้บริษัทเลือกคุณเข้าทำงาน
ประเทศยอดฮิตของเหล่า Digital Nomads
อีกทางเลือกหนึ่งคือเปลี่ยนทั้งสถานที่ทำงานและเส้นทางอาชีพ แล้วหันมาทำงานแบบดิจิทัลโนแมด (Digital Nomad) ที่ทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลก ผลสำรวจของเว็บไซต์ท่องเที่ยว Hotelwithtub ระบุว่า กรุงเทพฯ ดูไบ และลอนดอน เป็น 3 อันดับแรกของเมืองยอดนิยมในหมู่คนทำงานสายนี้
โดยใช้เกณฑ์ด้านความปลอดภัย ความคุ้มค่าในการใช้ชีวิต และอัตราการกลับมาใช้ชีวิตซ้ำของโนแมดเป็นตัวชี้วัด
หากสนใจเส้นทางนี้ ลองทำลิสต์สิ่งที่คุณต้องการจากเมืองเป้าหมาย (เช่น อินเทอร์เน็ตดี ค่าใช้จ่ายต่ำ หรือมีกิจกรรมที่คุณชอบ) แล้วดูว่าทักษะของคุณสามารถต่อยอดในรูปแบบฟรีแลนซ์ หรือทำธุรกิจส่วนตัวในต่างประเทศได้หรือไม่
ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มวางแผนได้เลย โลกใบนี้ยังมีพื้นที่ให้คุณเติบโตอีกมาก แค่กล้าออกไปเผชิญ!
อ้างอิง: Forbes, William-russell, Hotelwithtub