แบงก์ชาติจีนเร่งกว้านซื้อทองคำ -ลางร้ายอย่างหนึ่งสำหรับเงินดอลลาร์
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ https://asiatimes.com/2025/07/chinas-gold-hoarding-is-a-bad-omen-for-the-dollar/)
China’s gold hoarding: a bad omen for the dollar
by William Pesek
10/07/2025
พวกปรปักษ์ของสหรัฐฯกำลังวางแผนสร้างอนาคตที่ปราศจากเงินดอลลาร์ ทว่าโลกของทรัมป์กลับกำลังหล่อเลี้ยงอุ้มชูเหตุผลข้อโต้แย้งซึ่งสนับสนุนความคิดเห็นของพวกเขาที่ต้องการจะ “ทำให้ทองคำกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง”
โตเกียว - การที่พวกธนาคารกลางของทั่วโลก โดยเฉพาะทางแถบเอเชีย กำลังเพิ่มการซื้อหาทองคำเข้ามาเป็นทุนสำรอง ซึ่งถูกเรียกขานกันว่าเป็น “กระแสตื่นทอง” ของพวกแบงก์ชาติ อยู่ในเวลานี้ เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบทางลบที่ติดตามมาจากกฎหมายงบประมาณฉบับขาดดุลมหึมาที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ถือว่าผลงานหัตถกรรมอันใหญ่โตและสวยงามของตนนั้น กำลังเริ่มต้นขึ้นมาแล้ว
การที่พวกผู้ทรงอำนาจทางการเงินระดับท็อปเหล่านี้ ยังคงระดมซื้อหาทองทั้งที่ระดับราคาพุ่งลิ่วเป็นประวัติการณ์ไปแล้วเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายจริงๆ อยู่ที่การลดการถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ พลวัตเช่นนี้จึงเป็นการเปิดเผยให้เห็นความเท็จของข้ออ้างของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯที่ว่า การหั่นลดภาษีเป็นจำนวนระดับหลายล้านล้านดอลลาร์ในกฎหมายงบประมาณของเขา จะได้รับการชดเชยในตัวมันเองจากพวกมาตรการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯได้รับการกระตุ้นและขยายตัวไป นอกจากนั้นแล้ว กระแสตื่นทองของพวกแบงก์ชาติเช่นนี้ ยังเกิดขึ้นมาเพราะเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อนโยบายภาษีศุลกากรที่สับสนเอาแน่เอานอนไม่ได้ของทรัมป์อีกด้วย
คณะกรรมาธิการเพื่องบประมาณรัฐบาลกลางที่มีความรับผิดชอบ (Committee for a Responsible Federal Budget หรือ CRFB) หน่วยงานคลังสมองซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน พูดถึงการที่รัฐสภาสหรัฐฯซึ่งพรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากแบบปริ่มๆ น้ำ ผลักดันให้กฎหมายงบประมาณที่ทรัมป์ตั้งชื่อให้ว่า “ร่างกฎหมายฉบับใหญ่ที่สวยงาม” (Big Beautiful Bill) ฉบับนี้ผ่านออกมาจนได้ว่า เป็น “การที่พวกรีพับลิกันเพิ่งประทับตรายางอนุมัติร่างกฎหมายที่ต้องผ่านการต่อรองรอมชอมกันซึ่งมีราคาแพงลิบลิ่วที่สุดในประวัติศาสตร์” โดยที่คำนวณกันว่ามันจะทำให้สหรัฐฯต้องมีหนี้สินแห่งชาติในช่วงเวลาจนถึงปี 2034 สูงขึ้น 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ [1] แล้วหากพวกมาตราต่างๆ ของกฎหมายนี้ซึ่งยังบังคับใช้ในกรอบเวลาเพียงชั่วคราว ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องถาวรแล้ว ยอดหนี้สินนี้ก็จะพุ่งขึ้นเป็น 5.5 ล้านล้านดอลลาร์
ขณะที่กระทรวงการคลังของทรัมป์กำลังจัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับวิธีการหาเงินมาสนับสนุนการใช้จ่ายอย่างสนุกสนานตามงบประมาณฉบับนี้ของเขา มันก็ดูจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตั้งความหวังเอาไว้ที่การพึ่งพาจีนตลอดจนชาติอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งเป็นบ้านของพวกผู้ถือครองหนี้สินสาธารณะรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯอยู่แล้ว ให้ยอมควักกระเป๋าออกมาซื้อตราสารหนี้ภาครัฐอย่างพวกพันธบัตรและตั๋วเงินคลังอเมริกาเพิ่มมากขึ้นอีก ทั้งนี้ผู้ถือครองตราสารหนี้ภาครัฐของสหรัฐฯรายใหญ่ๆ เหล่านี้ ก็มี ญี่ปุ่น กับ เกาหลีใต้ รวมอยู่ด้วย โดยที่ 2 ชาตินี้เองซึ่งเวลานี้กำลังเผชิญกับการที่จะต้องถูกทรัมป์ขึ้นภาษีศุลกากร “เพื่อการตอบโต้”
อย่างไรก็ดี ถ้าหากแนวโน้มต่างๆ ในตลาดทองคำจะสามารถใช้เป็นตัวชี้นำอะไรได้บ้างแล้ว สิ่งต่างๆ ก็อาจจะไม่ดำเนินไปตามแผนการหวังผลเลิศของวอชิงตันหรอก
ตัวอย่างเช่นประเทศจีน ซึ่งไม่เคยขึ้นชื่อว่าชอบเที่ยววิ่งไล่ซื้อขณะที่ตลาดกระทิงขยับราคาพุ่งสูงขึ้นพรวดพราด แต่ปรากฏว่า นี่แหละคือสิ่งที่ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China หรือ PBOC ซึ่งก็คือแบงก์ชาติจีน) กำลังกระทำอยู่ ขณะที่เพิ่มทุนสำรองทองคำอย่างเป็นทางการของตนเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ราคาซื้อขายทองคำอยู่ในระดับใกล้ๆ จุดสูงสุดทำลายสถิติ
การถือครองทองของ PBOC เพิ่มสูงขึ้น 70,000 ทรอยออนซ์ในเดือนที่แล้ว นับตั้งแต่ที่การเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางจีนในรอบปัจจุบัน [2] เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ผู้ว่าการ พาน กงเซิ่ง ของ PBOC ได้เพิ่มการถือครองทอง 1.1 ล้านทรอยออนซ์ หรือเท่ากับราวๆ 34.2 เมตริกตัน
เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ราคาทองคำขึ้นทะลุฟ้ามากกว่า 26% ไปแล้วเฉพาะในปีนี้เท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยที่การโลดลิ่วนี้ และการกว้านซื้อกักตุนไว้ของพวกธนาคารกลาง ต่างร้อนแรงขึ้นมาหลังจากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งอย่างเซอร์ไพรซ์ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และจากนั้นยุค 2.0 ของทรัมป์ก็เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคมปีนี้
การครองอำนาจอีกสมัยหนึ่งของทรัมป์ ดูจะทำให้จีนขบคิดพิจารณาใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับการที่ตนเองต้องพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯโดยองค์รวม กริชัน โกปอล (Krishan Gopaul) นักวิเคราะห์ของสภาทองคำโลก (World Gold Council) บอกว่า นับตั้งแต่เริ่มต้นปีจนถึงปัจจุบัน ยอดซื้อทองสุทธิของปักกิ่งไต่ขึ้นมาสู่หลัก 19 เมตริกตันแล้ว
ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื่องจากการหวนกลับคืนสู่ตำแหน่งอีกครั้งหนึ่งของทรัมป์คราวนี้ มาพร้อมกับพวกแผนการใหญ่โตขึ้นกว่าสมัยแรกของเขาด้วยซ้ำ ทั้งในการตัดลดความเป็นอิสระของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve หรือ Fed เฟด) และเร่งรีบเพิ่มยอดหนี้รัฐบาลสหรัฐฯให้ทะยานไปสู่หลัก 30 ล้านล้านดอลลาร์และกระทั่งสูงกว่านั้นไปอีก โดยที่เวลาเดียวกันนั้นเอง สภาพความโปร่งใสสาธารณะและเสรีภาพของสื่อมวลชนก็กำลังหดหายลงอย่างรวดเร็ว นี่ทำให้เป็นเรื่องลำบากยากเย็นยิ่งขึ้นสำหรับพวกนักเศรษฐศาสตร์ในภาคเอกชนที่จะประเมินสถานะแท้จริงของเส้นทางโคจรทางการคลังของวอชิงตัน
ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลย การร่วงหล่นลงไปแล้วถึง 13% ของค่าเงินดอลลาร์ ยังคงถูกมองว่าต่อไปจะยิ่งเร่งตัวขึ้นกว่านี้อีก แน่นอนทีเดียว มันยังไม่ถึงขนาดเป็นทิศทางที่เด่นชัดง่ายๆ ทิศทางเดียวหรอก ดังเห็นได้จากการที่ยังมีแรงซื้อดอลลาร์เพิ่มสูงขึ้นในบางแวดวง ในตอนที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรครั้งใหม่ในอัตรา 50% เอากับทองแดงและบราซิล
อย่างไรก็ตาม ลอว์สัน วินเดอร์ (Lawson Winder) นักวิเคราะห์ของธนาคาร แบงก์ ออฟ อเมริกา (Bank of America) ยังคงย้ำว่า “เราคิดว่าพวกธนาคารกลางกำลังซื้อทองคำเพื่อที่จะทำให้ทุนสำรองของพวกเขามีความกระจายตัวมากขึ้น [3] รวมทั้งเป็นการประกันความเสี่ยงกับภาวะเงินเฟ้อและความไม่แน่ไม่นอนทางเศรษฐกิจ” เขาบอก และย้ำว่า มันเป็น “แนวโน้มที่เราคิดว่ามีความชัดเจนที่จะดำเนินต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางความไม่แน่ไม่นอนซึ่งอยู่แวดล้อมเรื่องภาษีศุลกากรสหรัฐฯและความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลทางการคลัง”
ในทำนองเดียวกัน ทีเอส ลอมบาร์ด (TS Lombard) ก็ยังคงปักหลักเหนียวแน่นกับการทำชอร์ตเงินดอลลาร์ (การปล่อยขายเงินดอลลาร์ออกไปในเวลานี้ ด้วยความคาดหมายว่ามันมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ดังนั้นเมื่อถึงเวลาชำระบัญชีตามกำหนดสัญญา ก็จะสามารถทำกำไรจากส่วนต่าง) และเรียกโอกาสดีๆ เช่นนี้ว่า เป็น “ของขวัญที่ยังคงมอบให้กันอยู่เรื่อยๆ”
“การที่ทรัมป์โจมตีเล่นงานเฟด” และ “การแสดงความปรารถนาอย่างเปิดเผยของเขาที่ต้องการให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง” แดเนียล ฟอน อาห์เลน (Daniel Von Ahlen) นักยุทธศาสตร์ของ ทีเอส ลอมบาร์ด กล่าว “มีแต่ยิ่งเพิ่มเติมให้เชื่อมั่นในทัศนะดังกล่าว เงินดอลลาร์นั้นยังคงมีมูลค่าสูงเกินไปในมาตรวัดอัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ แทบทั้งหมด จากการที่ข่าวลบเกี่ยวกับดอลลาร์สหรัฐฯยังพบเห็นได้ในทุกหนทุกแห่งเช่นนี้ ทำไมจึงไม่คาดหมายล่ะว่าเงินดอลลาร์จะต้องมีราคาต่ำลงกว่านี้ เรายังคงยืนยันที่จะทำชอร์ตดอลลาร์ตลอดทั้งช่วงระดับการซื้อขายกันเลยในบัญชีของเรา”
พวกธนาคารกลางที่กำลังมีการซื้อหาทองมาตุนไว้อย่างคลั่งไคล้กันเป็นพิเศษ ได้แก่พวกประเทศซึ่งรัฐบาลไม่ค่อยเป็นมิตรกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯอะไรนัก เป็นต้นว่า จีน, อียิปต์, ฮังการี, อินเดีย, คาซัคสถาน, คีร์กิซสถาน, ปากีสถาน, ตุรกี, อุซเบกิสถาน, ตลอดจนพวกรัฐริมอ่าวอาหรับอย่างเช่น กาตาร์
ชาติสมาชิกกลุ่มบริกส์ ไม่ว่าจะเป็น บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้ ต่างไม่มีความคิดอับอายอะไรเกี่ยวกับความปรารถนาของพวกเขาที่จะลดทอนความสำคัญของสกุลเงินดอลลาร์ เวลานี้แรงผลักดันเพื่อสร้างทางเลือกขึ้นมาแทนที่ดอลลาร์ [4] อาจจะเข้าสู่ภาวะรุนแรงเข้มข้นด้วยซ้ำไป ในเมื่อพวกรีพับลิกัน [5] และรวมทั้งในตอนนี้คือตัวทรัมป์เองในเงื่อนไขส่วนตัวอันแท้จริงของเขาทีเดียว [6] กำลังเพิ่มแรงบีบคั้นกดดันใส่บราซิล
ทรัมป์ข่มขู่ที่จะขึ้นภาษีศุลกากรในอัตรา 50% โดยอ้างสาเหตุถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า “การโจมตี” ของบราซิลใส่พวกบริษัทเทคสหรัฐฯ และการที่แดนแซมบ้ายังคงเดินหน้าปองร้ายแบบ “ล่าแม่มด” เล่นงานอดีตประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนาโร ไม่หยุดหย่อน ทั้งนี้อดีตประธานาธิบดีบราซิลที่เป็นพันธมิตรกับทรัมป์ผู้นี้ กำลังถูกฟ้องร้องกล่าวโทษด้วยข้อกล่าวหาจากบทบาทของเขาในความพยายามที่จะล้มคว่ำการเลือกตั้งเมื่อปี 2022 ซึ่งเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และ ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิลคนปัจจุบันคือผู้ชนะ
พวกชาติสมาชิกบริกส์ อาจมองการกล่าวโจมตีอย่างรุนแรงเช่นนี้ในบริบทของความพยายามของสหรัฐฯที่จะติดอาวุธให้แก่ฐานะครอบงำการเงินโลกของตนเอง การข่มขู่ของทรัมป์ที่ว่าจะลงโทษประเทศใดก็ตามทีซึ่งชื่นชมยินดีในไอเดียเรื่องการใช้สกุลเงินตราอื่นมาแทนที่ดอลลาร์อเมริกันนั้น ไม่ได้เป็นที่ปลาบปลื้มของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราแต่อย่างใดเลย
และขณะที่รัฐสภาสหรัฐฯได้ทอดทิ้งแผนการที่จะเปิดทางให้ทำเนียบขาวสามารถขึ้นภาษี [7] เอากับพวกบริษัทตลอดจนบุคคลจากชาติต่างๆ ซึ่งพวกเขาไม่ชอบขี้หน้าไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ มันก็มีความวิตกกังวลอย่างรุนแรงกันอยู่ดีว่ายังน่าจะมีความพยายามดำเนินการเรื่องนี้กันต่อไปอีก รวมทั้งพวกนักวิเคราะห์ก็มองว่า ไม่ว่าเรื่องจะไปถึงไหนจริงๆ ถึงยังไงความเสียหายจากเรื่องนี้ก็ได้เกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว
จอร์จ ซาราเวลอส (George Saravelos) นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) วิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวความคิดซึ่งรัฐสภาสหรัฐฯแสดงท่าทีให้ความสนใจเช่นนี้ แท้ที่จริงเป็นไอเดียที่ “ท้าทายต่อลักษณะเปิดกว้างของตลาดทุนสหรัฐฯ เพราะมันเป็นการใช้กลไกทางภาษีอย่างโจ่งแจ้งมาเล่นงานการถือครองของต่างชาติในสินทรัพย์สหรัฐฯ ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มพลังผลักดันเป้าหมายต่างๆ ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเองให้คืบหน้าไป” เขากล่าวต่อไปว่า “การทำให้ตลาดทุนสหรัฐฯกลายเป็นอาวุธขึ้นมา” เช่นนี้ มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็น “การสร้างขนาดขอบเขตสำหรับที่คณะบริหารสหรัฐฯจะเปลี่ยนสงครามการค้าให้กลายเป็นสงครามเงินทุนขึ้นมา ถ้าหากพวกเขาปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น”
ปัญหายุ่งยากที่รอคอยอยู่ข้างหน้าก็คือ พลวัตของการทำให้ตลาดทุนสหรัฐฯกลายเป็นอาวุธเช่นนี้ กำลังจะกลายเป็นของธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้ทั่วไป จนกระทั่งพวกนักลงทุนต่างแดนตัดสินใจถอยหนีเนื่องจากมองว่ามันคือการหลอกลวงตลบตะแลง ถ้าหากสกุลเงินดอลลาร์ถูกมองว่ากำลังถูกมองคณะบริหารของสหรัฐฯทำให้กลายเป็นอาวุธขึ้นมาแล้ว มันก็มีต้นทุนราคาแพงที่จะต้องจ่ายอย่างแน่นอน [8] นี่คือคำเตือนของ จงหยวน ซูเอ หลิว (Zongyuan Zoe Liu) นักเศรษฐศาสตร์ของสภาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations) หน่วยงานคลังสมองชื่อดังทางด้านนโยบายการต่างประเทศ
กรณีที่สามารถใช้เป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้ ก็คือ การแช่แข็งไม่ให้ชาติที่เป็นศัตรูสามารถเข้าถึงทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของพวกเขาเอง อย่างที่ทีมงานของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน กระทำกับรัสเซีย ในการตอบโต้ต่อการที่ วลาดิมีร์ ปูติน รุกรานยูเครน “ยิ่งสหรัฐฯใช้มันมากครั้งขึ้นเท่าใด ประเทศอื่นๆ ก็จะหาทางกระจาย (ออกจากการถือครองดอลลาร์) มากขึ้นเท่านั้น สืบเนื่องจากเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์” หลิว ตั้งข้อสังเกต
ทั้งนี้ เมื่อปี 2022 รัฐสภาสหรัฐฯยินยอมให้ทำเนียบขาวของไบเดน ใช้อำนาจเข้ายึดสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ของรัสเซียเพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือยูเครน การยินยอมนี้ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า บทบัญญัติ REPO (REPO provision) อนุญาตให้ ทีมงานของ เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯในเวลานั้น โอนสินทรัพย์ต่างๆ ของรัฐบาลรัสเซีย [9] ไปยังกองทุนเพื่อการฟื้นฟูบูรณะยูเครน การกระทำคราวนั้นกลายเป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดการถกเถียงกันครั้งใหม่ขึ้นมาเกี่ยวกับต้นทุนระยะยาวของการใช้ฐานะเหนือล้ำกว่าใครๆ ของสกุลดอลลาร์ไปในหนทางซึ่งน่ารังเกียจ
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า ทรัมป์ยุค 2.0 กลับกำลังค้นพบหนทางใหม่ๆ ในการทำลายอำนาจละมุนในทางภูมิรัฐศาสตร์ของอเมริกาได้อย่างรวดเร็วยิ่ง กรณีตัวอย่างของเรื่องนี้ได้แก่ การที่ทรัมป์กดขี่บีฑาการออกวีซ่านักศึกษาให้แก่ประเทศจีน และประเทศอื่นๆ ที่เขาไม่ชอบขี้หน้าซึ่งจำนวนมีแต่ขยายออกไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว แทบไม่มีอุตสาหกรรมสหรัฐฯอื่นใดอีกแล้วที่สามารถสร้างความได้เปรียบดุลการค้าให้แก่สหรัฐฯอย่างใหญ่โตทัดเทียมกับที่การศึกษาระดับอุดมศึกษาทำได้
ความเสียหายที่ ทรัมป์ยุค 2.0 กำลังทำให้แก่ฐานะการเป็นสกุลเงินตราสำรองของดอลลาร์ จึงมีแต่กำลังเพิ่มมากขึ้นทุกที
สำหรับเวลานี้ โรดริโก คาทริล (Rodrigo Catril) นักยุทธศาสตร์แห่งธนาคารเนชั่นแนล ออสเตรเลีย แบงก์ (National Australia Bank) แจกแจงว่า เงินดอลลาร์ยังคงรักษาฐานะเหนือล้ำกว่าสกุลเงินตราอื่นๆ เอาไว้ได้ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ เป็นต้นว่า มันยังคงเป็นสกุลเงินตราที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด [10] , สามารถซื้อขายกันได้อย่างเสรี, และยังคงเป็นตัวกลางในการกู้ยืมสำคัญที่สุดในตลอดทั่วทั้งโลก แต่เขาก็ชี้ด้วยว่า ขณะที่ “ทรัมป์เพิ่มการบีบคั้นกดดันต่อบริกส์ มันก็อาจจะกลายเป็นการเร่งให้ความเคลื่อนไหวเพื่อถอยออกจากดอลลาร์ยิ่งทวีความเร็วยิ่งขึ้น”
มองกันในระดับทั่วโลก พวกสมาชิกบริกส์ควบคุมทุนสำรองของธนาคารกลางต่างๆ เอาไว้มากกว่า 40% [11] โดยที่กลุ่มนี้มีเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นที่จะลดการพึ่งพาอาศัยเงินดอลลาร์ ซึ่งเรื่องนี้ก็รวมไปถึงพลังผลักดันภายในบริกส์เอง ที่จะให้มีสกุลเงินตราหนึ่งเดียวสำหรับใช้กันในระหว่างพวกเขาขึ้นมา
ขณะที่พวกประเทศบริกส์ขบคิดพิจารณากันถึงวิธีการในการกระชับความผูกพันทางการเงินของพวกเขาให้แนบแน่นยิ่งขึ้นกันอยู่นี้ ปักกิ่งก็ได้กลายเป็นผู้ที่กระจายทุนสำรองออกไปจากดอลลาร์ซึ่งกระตือรือร้นที่สุดยิ่งกว่าใครๆ ภายในกลุ่มนี้ ความเคลื่อนไหวของแดนมังกรในการเร่งรัดเพิ่มการกว้านซื้อทองคำบังเกิดขึ้นท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายของสงครามการค้าของทรัมป์ และการที่สหรัฐฯกำลังขาดดุลงบประมาณอย่างชนิดมโหฬารคุมไม่อยู่
ในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ จีนกำลังลดการถือครองพันธบัตรคลังสหรัฐฯ ยอดถือครองตราสารหนี้สหรัฐฯของแดนมังกรซึ่งอยู่ที่ 760,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปัจจุบัน ได้เปิดทางให้ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้แบกภาระในการเป็นนายแบงก์ระดับท็อปสุดของวอชิงตันในเอเชีย ทั้งนี้ ทุกวันนี้โตเกียวถือครองพันธบัตรคลังสหรัฐฯเอาไว้ราวๆ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การที่ทรัมป์คอยถล่มโจมตีใส่ธนาคารกลางสหรัฐฯไม่หยุดหย่อน บางทีอาจจะมีแต่เร่งรัดทำให้ความสำคัญของทองคำพุ่งแรงขึ้นๆ อย่างที่เรากำลังมองเห็นได้ในเมืองหลวงของประเทศต่างๆ ตั้งแต่ปักกิ่งไปจนถึงจาการ์ตา พวกนักลงทุนจำนวนมากยังคงวิตกกันว่าทรัมป์จะพยายามหาทางปลด [12] ประธานเฟด เจอโรม เพาเวลล์ (Jerome Powell) หรือพยายามหาทางขู่กรรโชกเพาเวลล์ให้ยอมลาออก ถึงแม้วาระดำรงตำแหน่งของเขายังเหลืออยู่อีก 10 เดือน
“สามารถทำอะไรดีๆ ได้ทีเดียว หากมีการเสนอชื่อประธานเฟดคนต่อไปในช่วงสองสามเดือนก่อนที่จะหมดวาระกันจริงๆ ในเดือนพฤษภาคม 2026” เป็นความเห็นของ กฤษณะ กุฮา (Krishna Guha) หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ของนโยบายธนาคารกลางทั่วโลก แห่ง เอเวอร์คอร์ ไอเอสไอ (Evercore ISI) “แต่การเสนอชื่อประธานเฟดคนต่อไปตั้งแต่ตอนนี้โดยที่มีความคาดหวังกันว่า บุคคลผู้นี้จะต้องสามารถเป็นปากเสียงอันกระตือรือร้นของนโยบายการเงินแบบทางเลือกให้ได้ในตลอดทั้งปีนี้ ย่อมจะสร้างความสับสนให้แก่ตลาด ทำให้มันเป็นเรื่องลำบากขึ้นนักหนาสำหรับเฟดที่จะวางแผนเพื่อจัดการกับความคาดหมายและศักยภาพต่างๆ ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย … ในหนทางที่จะไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป”
นอกจากนั้นแล้ว หนทางต่างๆ เหล่านี้ก็จะไม่อาจเป็นหนทางช่วยเหลือให้ดอลลาร์ยังคงรักษาบทบาทในฐานะที่เป็นแหล่งหลบภัยระดับโลกชั้นดีเอาไว้
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า จีนและพวกปรปักษ์รายอื่นๆ ของสหรัฐฯนั้นกำลังพยายามวางแผนสร้างอนาคตที่ปราศจากดอลลาร์ขึ้นมา ทว่าโลกของทรัมป์กลับกำลังหล่อเลี้ยงอุ้มชูเหตุผลข้อโต้แย้งซึ่งสนับสนุนความคิดเห็นของพวกเขาที่ต้องการจะ “ทำให้ทองคำ [13] กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง”
เชิงอรรถ
[1] https://www.crfb.org/press-releases/dark-day-our-fiscal-future
[2] https://asiatimes.com/2025/01/the-inflation-ruination-to-come/
[3] https://asiatimes.com/2024/09/why-trump-should-bring-back-the-gold-standard/
[4] https://asiatimes.com/2025/02/three-reasons-why-golds-record-run-is-different/
[5]https://www.nytimes.com/2024/05/07/world/americas/brazil-politics-elon-musk-republicans.html?unlocked_article_code=1.VE8.jCV_.BOM53GWlzEi3&smid=url-share
[6] https://paulkrugman.substack.com/p/trumps-dictator-protection-program?utm_source=substack&publication_id=277517&post_id=167947973&utm_medium=email&utm_content=share&utm_campaign=email-share&triggerShare=true&isFreemail=true&r=kuy9h&triedRedirect=true
[7] https://asiatimes.com/2025/06/trumps-capital-tax-would-be-coup-de-grace-for-the-dollar/
[8] https://asiatimes.com/2024/08/de-dollarization-the-path-to-global-financial-freedom/
[9] https://www.csis.org/events/weaponization-dollar
[10] https://investingnews.com/brics-currency/
[11] https://think.ing.com/articles/de-dollarisation-more-brics-in-the-wall/
[12]https://www.theguardian.com/business/2025/jul/07/trump-federal-reserve-jerome-powell
[13] https://asiatimes.com/2025/01/gold-glitters-at-end-of-the-world-as-we-know-it/
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO