จากพื้นที่แห้งแล้งสู่แหล่งเกษตรมั่นคง “ห้วยต่อน้อย” ต้นแบบความร่วมมือของราษฎร
ราษฎรตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ร่วมกันเสียสละพื้นที่สวนยางพารา เพื่อก่อสร้าง “อ่างเก็บน้ำบ้านห้วยต่อน้อยพร้อมระบบส่งน้ำ” ตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในพื้นที่ วันนี้โครงการแล้วเสร็จ ราษฎรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดปี สามารถปลูกพืชได้หลากหลาย มีผลผลิตเหลือกินเหลือใช้ เป็นรายได้หล่อเลี้ยงครัวเรือน พร้อมเตรียมขยายพื้นที่กักเก็บน้ำให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
นายหวิง ช่วยธานี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยต่อน้อยพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เปิดเผยในระหว่างต้อนรับพลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ในโอกาสเดินทางเยี่ยมชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมาว่า ในอดีตพื้นที่ ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
ขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะพื้นที่ทำการเกษตร แม้จะเป็นพื้นที่ที่กล่าวขานกันว่า เป็นแผ่นดิน ฝน 8 แดด 4 ในแต่ละปีก็ตาม ราษฎรตำบลไม้ฝาดจึงได้ขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการจัดหาแหล่งน้ำ และพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยต่อน้อยพร้อมระบบส่งน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553
“เดิมพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจะเป็นสวนยางพารา เพื่อให้มีแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับทำการเกษตรเพิ่มขึ้น ชาวบ้านจึงได้สละพื้นที่ทำกินให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ หลังจากมีอ่างเก็บน้ำแล้วก็สามารถปลูกพืชได้หลายอย่าง ตั้งแต่ ทุเรียน เงาะ ลองกอง จากเดิมที่ปลูกได้แค่ยางพารา ทำให้มีรายได้ดีกว่าเดิม ตอนนี้กำลังคิดกันว่าจะขยายพื้นที่เก็บกักน้ำให้ได้มากขึ้น ซึ่งชาวบ้านยินดีที่จะเสียสละพื้นที่เพิ่มให้กับโครงการ เพราะจะได้มีน้ำมาใช้ในสวนและอุปโภคบริโภคในหน้าแล้งแบบไม่ขาดแคลน” นายหวิง ช่วยธานี กล่าว
นางนาถตยา เพ็งผอม ราษฎรตำบลแม่ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง หนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ เผยว่า ในอดีตขาดแคลนน้ำทำให้ผลผลิตจากการเพาะปลูกไม่ดี โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งไม่มีน้ำ ต้นไม้จะเหี่ยวเฉาแล้วตายเป็นส่วนใหญ่ น้ำที่ใช้ในครัวเรือนจะต้องคอยรองน้ำฝนในหน้าฝนใส่ตุ่มไว้ แต่ก็ไม่เพียงพอต้องเดินทางไปหาแหล่งน้ำเพื่อใช้อุปโภคบริโภค ส่วนบ่อน้ำที่ขุดไว้บริเวณบ้านก็แห้งขอดเช่นกัน
“พอมีอ่างเก็บน้ำก็มีน้ำมารดต้นไม้ ในช่วงหน้าแล้งช่วยได้มาก มีที่ดิน 50 ไร่ ทำสวนยางพารา 30 ไร่ ปลูกปาล์มน้ำมัน และไม้ผลต่างๆ เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน และปลูกผักบริเวณรอบบ้านไว้บริโภคในครอบครัว เหลือได้เอาไปขายบ้าง รายได้หลักจะเป็นยางพาราประมาณ 150,000 - 200,000 บาทต่อปี แต่ปีไหนที่มีฝนตกมาก รายได้ก็ลดลงเพราะกรีดยางไม่ได้ แต่ก็ได้จากขายผลไม้
ที่ปลูกมาทดแทน อ่างเก็บน้ำช่วยทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะทำให้ผลผลิตดี นับเป็นความโชคดีของชาวบ้านห้วยต่อที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานโครงการอ่างเก็บน้ำมาให้ ทำให้การทำกินอุดมสมบูรณ์ ไม่เดือดร้อน ทุกคนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์” นางนาถตยา เพ็งผอม กล่าว
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยต่อน้อยพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านห้วยต่อน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ปัจจุบันสามารถส่งน้ำสนับสนุนกิจกรรมการอุปโภคบริโภคของ หมู่ที่ 1 บ้านห้วยต่อ, หมู่ที่ 2 บ้านห้วยต่อน้อย, และหมู่ที่ 3 บ้านไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ราษฎรประมาณ 1,920 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 3,810 คน มีน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี