ราชบัณฑิต ชี้คำสอน ธรรมนาวา ‘วัง’ สะท้อนความต้องการของชาติที่หวังพึ่งพุทธปัญญา
9 กรกฎาคม 2568 - ศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต เปรียญธรรม 9 ประโยค โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า คำสอนใน ธรรมนาวา “วัง” สะท้อนความต้องการของชาติที่หวังพึ่ง พุทธปัญญา
ในวันและเวลาที่ทรงผ่านพระบรมราชาภิเษก ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่ามกลางมหาสันนิบาต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกาศต่อที่ประชุมสงฆ์ว่า พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงถือพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า เป็นสรณะ-ที่พึ่งที่ระลึกสูงสุด
พระองค์ทรงให้ความสำคัญพระสงฆ์มากในฐานะเป็นศาสนทายาทนอกจากทรงถวายการอุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔ และลาภยศแล้ว ยังมีพระจริยาวัตรอีกหลายประการที่สะท้อนถึงความห่วงใยสถานะของพระพุทธศาสนา และยังมีพระราชปุจฉาอื่นๆอีกที่สะท้อนถึงว่าทรงมีพระราชประสงค์จะให้เกิดพัฒนาการในระบบการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม อย่างพระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้การเรียนภาษาบาลีสัมพันธ์กับพระไตรปิฎก?
พระราชปุจฉานี้สำคัญมาก สามารถอาศัยเป็นแนวทางปรับการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งระบบได้เลย แต่น่าเสียดายว่า…คณะสงฆ์เถรวาทบ้านเรา เป็น ‘ถิระหรือเถระ’ คือ มั่นคงในอาจริยตันติ-แบบแผนที่โบราณาจารย์วางไว้มากไป จนพลาดโอกาสสำคัญในการพัฒนา ทั้งๆที่โอกาสมาถึงแล้ว
พระเจ้าอยู่หัวถึงจะยิ่งใหญ่เป็นสมมติเทพ แต่ในฐานะ ‘มนุสสเทวะ’ ก็ยังทรงต้องการครูบาอาจารย์สอนธรรม (ธัมมานุสาสก) จึงทรงใช้โอกาสที่มีแสวงหาพระสงฆ์รูปแล้วรูปเล่ามาเป็นพระอาจารย์
พระอาจารย์ต้น เป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ได้รับโอกาสนั้นและได้ถวายองค์ความรู้พื้นฐานเพื่อให้เข้าใจชีวิต คือ ขันธ์ ๕ อริยสัจ ๔ และเน้นการใช้มรรคมีองค์ ๘ ข้อสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำเข้าสู่ ‘ความรู้เพื่อการตื่นรู้’
ทรงต้องพระราชหฤทัยกับคำสอน และวิธีการสอนของพระอาจารย์ต้น จนถึงเคารพนับถือและยกย่องเป็นพระอาจารย์
ต่อมาก็ทรงทำอาจริยบูชา - บูชาพระอาจารย์ด้วยการถวายสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นราชในพระราชทินนามว่า “พระราชญาณวชิรชิโนภาส” และยังทรงทำอาจริยบูชาด้วยการสร้างอุทกุกเขปสีมา(โบสถ์กลางน้ำ)ถวาย ณ วัดเกาะแก้ว และยังพระราชทานการดูแลวัดป่านาโสกฮัง แหล่งกำเนิดของคำสอนแนวธรรมนาวา (ที่พัฒนามาเป็น ธรรมนาวา“วัง”)
พระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระองค์ เป็นพระธรรมราชา - พระราชาโดยธรรม และพระธรรมสามี - พระเจ้าของแห่งธรรม ทรงต้องการแจกจ่ายธรรมะที่ทรงมีทรงได้แก่พสกนิกรใต้พระบรมโพธิสมภาร ด้วยหวังจะให้ได้ลิ้มรสธรรมอย่างพระองค์
จึงเกิดเป็นธรรมนาวา “วัง” เรือหลวงแห่งธรรม พระราชทานหลักธรรมที่ทรงประทับพระราชหฤทัยมาจนทุกวันนี้
ธรรมนาวา“วัง” มีส่วนสำคัญช่วยปลุกกระแสความสนใจธรรมแก่คนทุกระดับชั้น
เสียงเปล่ง
พุทโธ เม นาโถ
ธัมโม เม นาโถ
สังโฆ เม นาโถ
จากปากของสาธุชนเหล่านั้นคือ พยานยืนยันผลแห่งความสำเร็จทั้งของผู้สอน ผู้ได้รับคำสอน
ที่เขียนมาทั้งหมดอยากสรุปว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมในธรรมนาวา“วัง” สะท้อนถึงความต้องการของชาติที่เป็นสังคมพุทธ ที่ถึงเวลาแล้วที่ต้องร่วมกันปลูกฝังคำสอนแนวนี้กันอย่างกว้างขวางจริงจังและไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสนองพระราโชบายที่ทรงหวังให้ชาวพุทธไทยเข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกสูงสุด
เพราะองค์ความรู้นี้เมื่อเข้าใจเข้าถึงตื่นรู้แล้ว ย่อมให้ผลย้อนกลับไปทำให้เข้าถึงคุณค่าของพระรัตนตรัยได้โดยปริยายแล ในฐานะเป็นแหล่งกำเนิดคำสอน
สาธุ สาธุ สาธุ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมช 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดป้ายชื่ออุโบสถกลางน้ำ "ทศมราชบพิตรปุณฑริกาคารสีมา" ณ วัดเกาะแก้ว และเสด็จพระราชดำเนินไปถวายพระพุทธนวราชบพิตร แด่พระราชญาณวัชรชิโนภาส (ทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ) ณ วัดป่านาโสกฮัง ตำบลหนองสามสี อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ