วันที่ 9 เดือน 9 ได้นั่งรถ “บขส.” ใหม่ 99 คัน ครบ 311 คันปีนี้ ตั้งเป้าปีหน้ามีกำไร
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบปีที่ 95 บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้เน้นย้ำให้ บขส. เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริการรถโดยสาร และการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก และปลอดภัย นอกจากนี้ต้องปรับรูปแบบการเดินรถ เน้นเป็นระบบขนส่งรอง (ฟีดเดอร์) เชื่อมต่อกับรถไฟในพื้นที่ต่างๆ เพราะเชื่อว่าเมื่อเปิดให้บริการรถไฟทางคู่เส้นทางต่างๆ จะทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟในเส้นทางรถไฟทางไกลมากขึ้น ดังนั้น บขส. ต้องพิจารณาเปิดเส้นทางใหม่ที่จะเข้าไปเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟ รวมถึงเปิดเส้นทางใหม่ที่รถไฟยังเข้าไม่ถึงด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันได้มอบให้พิจารณาเปิดเส้นทางเดินรถระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งในการทำธุรกิจจะต้องปรับตัว และหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างไรก็ตามขณะนี้ บขส. กำลังเร่งจัดหารถโดยสารใหม่ เพื่อมาทดแทนรถโดยสารเก่าที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้รับรายงานเบื้องต้นว่า บขส. จะสามารถนำรถโดยสารใหม่ชุดแรก 99 คัน มาให้บริการประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 2568 และจะทยอยนำมาให้บริการจนครบ 311 คัน ภายในปี 2568 โดยจะนำมาให้บริการทั้ง 71 เส้นทางที่ บขส. ให้บริการอยู่ทั่วประเทศไทย
ด้านนายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า บขส. ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัท อิทธิพร อิมปอร์ต จำกัด ในการจัดหารถโดยสาร จำนวน 311 คัน วงเงินประมาณ 3,018 ล้านบาท มีระยะเวลาเช่า 5 ปี ครอบคลุมรวมถึงการซ่อมบำรุง โดยจะนำมาทดแทนรถเก่าที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันประมาณ 250 คัน ซึ่งรถเหล่านี้มีอายุการใช้งานมานานแล้ว 30-50 ปี โดยจะนำรถเหล่าไปเปิดประมูลเพื่อจำหน่าย รวมทั้งจะนำบางส่วนไปปรับปรุง เพื่อเสริมบริการในอนาคต อย่างไรก็ตาม สำหรับรถโดยสารใหม่นี้ ยี่ห้อ MAN (เอ็มเอเอ็น) จากประเทศเยอรมนี เป็นรถใช้น้ำมันดีเซล ผลิตขึ้นตามมาตรฐานยูโร 5 โดยเป็นมาตรฐานควบคุมการปล่อยมลพิษไอเสียจากยานยนต์ที่เข้มงวดกว่ามาตรฐานยูโร 4 ถือเป็นรถโดยสารรุ่นแรกที่นำเข้ามาใช้งานในประเทศไทย จะช่วยประหยัดพลังงานลง 20-30% และลดการปล่อยมลพิษ
นายอรรถวิท กล่าวอีกว่า การจัดหารถดังกล่าว ยังช่วย บขส. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงปีละกว่า 100 ล้านบาทด้วย หากคำนวณค่าเช่ารวมค่าซ่อมบำรุง พบว่าเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคันต่อวัน จะทำให้มีกำไรจากการเช่ารถประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามภายในปี 2568 รถโดยสารที่จะมาให้บริการจะเป็นรถใหม่ทั้งหมด จะช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการ ซึ่งประชาชนจะได้รับบริการที่สะดวก ปลอดภัย และได้มาตรฐาน มั่นใจว่ารถโดยสารใหม่จะรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ ส่วนหลังจากนี้จะเพิ่มเติมจำนวนรถโดยสารเข้ามาอีกหรือไม่ ขอดูปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการก่อน ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 9 หมื่น-1.1 แสนคนต่อวัน และในช่วงเทศกาลประมาณ 1.2-1.4 แสนคนต่อวัน และสูงสุดประมาณ 1.6 แสนคนต่อวัน
นายอรรถวิท กล่าวด้วยว่า ในการก้าวสู่ปีที่ 96 นอกจาก บขส. จะปรับปรุงพัฒนาการให้บริการต่างๆ แล้ว มีแผนจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะจากการบริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายตั๋วโดยสารให้มากขึ้น ปัจจุบัน บขส. มีรายได้ 1,988 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายว่าใน 2 ปีนี้ จะมีรายได้ปีละ 3,500 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการเดินรถ 2,500 ล้านบาท, รายได้เชิงพาณิชย์ 500 ล้านบาท และรับส่งพัสดุภัณฑ์ 500 ล้านบาท และในปี 2569 จะเป็นปีแรกที่ บขส. กลับมามีกำไรเป็นครั้งแรกหลังจากเกิดโควิด-19 ปัจจุบัน บขส. มีหนี้สะสม 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะล้างหนี้ได้หมดใน 4 ปี
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับรถใหม่ 311 คัน บขส. ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัท อิทธิพรฯ ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2568 แบ่งส่งมอบ 4 งวด ประกอบด้วย งวด 1 วันที่ 9 ก.ย. 2568 จำนวน 99 คัน, งวด 2 วันที่ 9 ต.ค. 2568 จำนวน 95 คัน, งวด 3 วันที่ 8 พ.ย. 2568 จำนวน 76 คัน และงวด 4 วันที่ 8 ธ.ค. 2568 จำนวน 41 คัน โดยวันเริ่มต้นของสัญญาเช่ารถ จะนับตั้งแต่วันส่งมอบรถ เช่น รับมอบงวด 1 จำนวน 99 คัน สัญญาจะเริ่มวันที่ 9 ก.ย. 2568 และมีอายุสัญญา 5 ปีจนสิ้นสุดสัญญา
ทั้งนี้ รถโดยสาร 311 คัน แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.รถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 VIP (ม.1 ก) ขนาด 12 เมตร จำนวน 24 ที่นั่ง จำนวน 28 คัน 2.รถโดยสารปรับอากาศ ชั้น 1 พิเศษ (ม.1 พ) ขนาด 12 เมตร จำนวน 32 ที่นั่ง จำนวน 50 คัน และ 3.รถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 (ม.1 ข) ขนาด 12 เมตร จำนวน 36 ที่นั่ง จำนวน 233 คัน.