ทอท.จ่อปรับขึ้นค่า PSC สนามบินล็อตแรก ผู้โดยสารขาออกจ่ายเพิ่ม 5 บาท
นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทอท.เตรียมจะปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge : PSC) โดยจะแบ่งการปรับขึ้นค่าบริการออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกผู้โดยสารจะจ่ายค่า PSC เพิ่มขึ้นอีก 5 บาท จากปัจจุบันผู้โดยสารระหว่างประเทศ จัดเก็บที่ 730 บาทต่อคน เพิ่มเป็น 735 บาทต่อคน ส่วนผู้โดยสารในประเทศ จัดเก็บอยู่ 130 บาทต่อคน เพิ่มเป็น 135 บาทต่อคน ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT เห็นด้วยแล้ว
ขั้นตอนจากนี้ CAAT จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เพื่อขอความเห็นชอบ คาดว่าอาจจะเป็นช่วงต้นเดือนหรือกลางเดือนสิงหาคมนี้ หากได้รับอนุมัติก็จะใช้เวลาประกาศล่วงหน้าประมาณ 4 เดือนจึงจะมีผลบังคับใช้ การปรับค่า PSC ตามอัตรานี้ จะส่งผลให้รายได้ของ AOT ปรับเพิ่มขึ้นอีก 200-300 ล้านบาทต่อปี
การที่ทอท.เรียกเก็บค่า PSC ในช่วงแรกอีก 5 บาท เพราะเป็นสัญญาที่เคยระบุว่า ถ้ามีการพัฒนา Biomatrix ในสนามบิน ก็จะขอขึ้นอีก 5 บาท ซึ่งทอท.เปิดให้บริการนี้มาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทอท.จึงมาทวงสัญญานี้จาก CAAT และได้รับอนุญาตให้จัดเก็บได้
ส่วนการจัดเก็บค่า PSC ช่วงที่ 2 จะเป็นการปรับใหญ่ ซึ่ง “ทักษิณ ชินวัตร”อดีตนายกรัฐมนตรี มองว่าน่าจะเก็บเพิ่มอีก 100 บาท ขณะนี้ทอท.อยู่ระหว่างการศึกษาอัตราการจัดเก็บ ค่า PSC ที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
โดยจะนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณา เช่น การปรับขึ้นจะทำให้คนเดินทางลดลงหรือไม่ รวมถึงดูข้อมูลจากสนามบินรอบข้าง อย่างสนามบิน ชางฮี สิงคโปร์ ปัจจุบันเก็บค่า PSC ที่ประมาณ 1,300 บาท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทอท.ต้องปรับให้เท่ากับสนามบินชางงี
ทั้งนี้การที่ทอท.ต้องจัดเก็บค่า PSC เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันทอท.ต้องแบกรับต้นทุนค่า PSC สูงกว่าอัตราที่จัดเก็บ ทำให้ขาดทุน โดยเฉพาะผู้โดยสารขาออกภายในประเทศที่มีต้นทุน PSC ที่ 160 บาทต่อคน แต่จัดเก็บที่ 130 บาทต่อคน ส่วนผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศนั้น ต้นทุนกับอัตราที่จัดเก็บก็เกือบจะใกล้เคียงกัน
แต่ทั้งนี้การที่รัฐบาลต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาคนั้น จำเป็นต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในอัตราที่แข่งขันได้ เพื่อให้ทอท.สามารถนำรายได้มาปรับปรุงหรือจัดหาวัสดุอุปกรณ์พัฒนาระบบต่าง ๆ ให้ทันสมัย อย่างท่าอากาศยานชางงี ประเทศสิงคโปร์ จัดเก็บค่า PSC อยู่ที่ 1,300 บาทต่อคนซึ่งสูงกว่าทอท.มาก
โดยคาดว่า จะสรุปผลศึกษาได้ในเดือนต.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอไปที่ CAAT และเสนอคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ขออนุมัติ ตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่า PSC จะทำให้ทอท.มีรายได้เพิ่ม ในขณะที่ก็ต้องมีการปรับปรุงบริการให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าค่า PSC ทุก 100 บาทที่ปรับเพิ่มขึ้น จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 3,000 ล้านบาทต่อปี และจะเป็นแหล่งกำไรที่ทอท.จะนำไปปรับปรุงและขยายการลงทุนในการพัฒนาสนามบินต่างๆได้
ปัจจุบันทอท.มีรายได้จากค่า PSC ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี โดยนำส่วนต่างของรายได้ไปพัฒนาสนามบิน ซึ่งเป็นหลักการของสนามบินทั่วโลก ส่วนการจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค ( Aviation Hub) สนามบินเองต้องมีการวางแผนและปรับตัวให้สอดรับกับนโบายรัฐบาลมีนโยบายในการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างเป็นระบบ
สำหรับผลประกอบการรอบ 9 เดือนปี 2568 ยังถือว่าน่าพอใจ แม้จำนวนผู้โดยสารจะไม่เป็นไปตามเป้า แต่แนวโน้มช่วงไตรมาส 4 ปี 2568 คาดว่าจะดีขึ้น ขณะที่ Slot การบินเดือนก.ค.ปี 2568 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก.ค.ปี 2567 จากเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มกลับมา เป็นผลจากที่รัฐบาลได้แก้ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น และจากที่ตนได้เข้ามาทำหน้าที่รักษาการฯซีอีโอ ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาได้พยายามอย่างเต็มที่ ทั้งการหารายได้เพิ่มและลดค่าใช้จ่าย และคาดรายได้ปี 2568 จะเพิ่มจากปี 2567 และผลดำเนินงานจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี
ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการ จำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ที่คิงเพาเวอร์ ได้ยื่นข้อเสนอมานั้น ทอท.ได้จัดจ้างสถาบันการศึกษา 2 รายเป็นที่ปรึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศึกษาทั้งประเด็นด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การเงิน และการบริหารธุรกิจ เพื่อวิเคราะห์ข้อจำกัดของสัญญาเดิม รวมถึงเสนอแนวทาง ที่เหมาะสมและเป็นธรรม คาดว่าจะได้ข้อสรุปตามระยะเวลาที่กำหนด 60 วัน จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาต่อไป