‘สับปะรด’ ผลไม้มากสรรพคุณ
“สับปะรด” เป็นผลไม้เมืองร้อนชนิดหนึ่ง มีเนื้อกรอบฉ่ำน้ำ และได้รับความนิยมนำมารับประทานอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันเป็นผลไม้ที่มีคุณประโยชน์อยู่ไม่น้อย
“คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” บอกเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ “สับปะรด” ว่า เป็นผลไม้เขตร้อนที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และมีเอนไซม์บรอมมีเลน (Bromelain) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจหลายอย่าง นอกจากมีการนำสับปะรดมาบริโภคในรูปแบบของผลไม้สดและใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารและขนมต่างๆ แล้ว ยังถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลายชนิด เช่น สับปะรดกระป๋อง สับปะรดอบแห้ง สับปะรดแช่แข็ง น้ำผลไม้ น้ำส้มสายชู ไวน์สับปะรด อุตสาห์กรรมเบียร์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และการใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับสับปะรดได้เป็นอย่างดี
สรรพคุณของสับปะรด
-ขับเหงื่อ
-ห้ามเลือด
-ขับปัสสาวะ
-ขับพยาธิ ฆ่าพยาธิ
-แก้โลหิตระดู บำรุงโลหิต
-แก้นิ่ว
-แก้ระดูขาว
-เป็นยาระบาย
-แก้หนองใน
-ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหาร
-กัดเสมหะในลำคอ แก้เสมหะเหนียว ขับเสมหะ
- แก้ไอ
-ระงับการอักเสบและบวม ทำให้แผลหายเร็ว
สับปะรดน้ำหนัก 100 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 50 กิโลแคลลอรี โดยสารสำคัญที่พบในสับปะรด คือสารในกลุ่ม Phytoestrogens, Isoflavones, Lignans, Phenolics, กรดซิตริก, กรดมาลิก, วิตามินต่างๆ และเอนไซม์บรอมมีเลน
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าน้ำคั้นจากสับปะรดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอย่างอ่อน มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ และยับยั้งการเกิดมะเร็ง เอนไซม์บรอมมีเลนมีฤทธิ์ย่อยโปรตีน ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ต้านมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยย่อยอาหาร และมีฤทธิ์ลดอาการบวมและการอักเสบ
ข้อควรระวัง
การรับประทานสับปะรดอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองเล็กน้อยภายในปาก ริมฝีปาก และลิ้นได้ และแม้ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษจากการใช้ในรูปแบบของอาหาร แต่ไม่ควรรับประทานในขณะท้องว่าง เนื่องจาก สับปะรดมีความเป็นกรดและมีเอนไซม์บรอมมีเลน หากรับประทานขณะท้องว่าง จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้ สำหรับผู้ที่แพ้พืชในตระกูลเดียวกับสับปะรด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน.