โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ลาคลอด 120 วันบริษัทได้อะไรจากการลา เพราะเลี้ยงเด็กให้ดีคืองานของสังคม

Amarin TV

เผยแพร่ 12 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ไทยลาคลอดได้แล้ว 120 วัน แต่เป้าหมายต่อไปคือ 180 จะกระทบธุรกิจอย่างไร แล้วจะส่งผลดีอย่างไรต่อเศรษฐกิจ และสังคม

หากบทสนทนาเรื่องการขยายวันลาคลอดถูกพูดขึ้น หลายครั้งจะตามมาด้วยคำถามในเชิงว่า ‘ทำไมต้องให้ลา ในเมื่อคนท้องก็มีลูกเอง คนอื่นไม่ได้มีลูกเสียหน่อย’ หรืออาจเป็น ‘แบบนี้ไม่จ้างผู้หญิงดีกว่า เดี๋ยวก็ลาไปคลอดลูก’ แต่การลาคลอดสร้างผลเสียต่อภาคธุรกิจมากมายจริงหรือ? แล้วการลาคลอดมีประโยชน์อย่างไรทำไมเราจึงต้องคุยกันเรื่องการขยายวันลาคลอด?

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 สภาผ่านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่มีหลักใหญ่ใจความขยายวันลาคลอดจาก 98 สู่ 120 วัน

ร่างฯ ดังกล่าวให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างลูกจ้างที่ลาคลอดบุตรกึ่งหนึ่งของค่าจ้างตลอดระยะเวลาการลา และประกันสังคมจ่ายอีกกึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังให้ลูกจ้างผู้เป็นคู่สมรสขอลาเพื่อมาช่วยเหลือคู่ของตนได้ไม่เกิน 15 วัน และได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน ด้วยจุดมุ่งหมายหลักของการเพิ่มวันลาคลอดครั้งนี้ คือเพื่อส่งเสริมการมีบุตร ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีแก่ครอบครัว และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูกจ้าง

หลายคนแสดงความกังวลว่า จะส่งผลเสียต่อภาคธุรกิจหรือไม่ เยอะไปหรือเปล่า ขณะที่หลายคนแสดงความยินดี แต่ก็ยังยืนยันว่า 120 วันไม่พอ แต่สำหรับมุมผู้ประกอบการล่ะ การที่พนักงานสามารถลาคลอดได้นานขึ้นส่งผลกระทบอย่างไร

มุมมองนายจ้างต่อการลาคลอด

กิ่ง หรือ เปรมจิต นวลฉวี วู เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอชแอลเอ็ม คอร์ปอเรท จำกัด ผลิตภาชนะจากวัสดุย่อยสลายได้เพื่อลดขยะพลาสติก ด้วยจำนวนพนักงาน 25 คน HLM ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่การขาดงานของพนักงานหลายเดือนคงจะส่งผลกระทบมาก แต่ในฐานะแม่ของลูก 3 คน แม้การลาคลอดจะสร้างผลกระทบ แต่สิ่งที่ตามมาคุ้มค่า

“ในแง่งบประมาณ การลาคลอดไม่ได้กระทบเยอะมากค่ะ เพราะมีการสนับสนุนเงินเดือน [จากประกันสังคม] ให้ลูกจ้างนานขึ้นด้วย แต่สิ่งที่กระทบมากกว่าคือการวางแผนล่วงหน้า อย่างในส่วนการหาคนทำงานแทน แต่เราว่ามันเป็นการแลกที่อุตสาหกรรมต้องทำ” กิ่งกล่าว

กิ่งมองว่าการเพิ่มวันลาคลอดให้พนักงานครั้งนี้ เป็นการเพิ่มวันขึ้นมาจากเดิมเพียง 22 วัน ซึ่งทางบริษัทจ่ายเงินเพิ่ม 11 วันเท่านั้น เนื่องจากยังมีประกันสังคมช่วยแบ่งเบาการจ่ายค่าจ้างระหว่างลาคลอดกึ่งหนึ่ง ในขณะเดียวกัน การให้วันลาเพิ่มถือเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพนักงาน เช่น ค่านมผง ค่าฝากเลี้ยง

“ในฐานะแม่ลูกสาม เรามองว่าการที่แม่ได้อยู่กับลูกเยอะขึ้นเป็นโอกาสที่ดี เพราะการมีลูกมีค่าใช้จ่าย ค่านม ค่าอะไรต่าง ๆ แล้วถ้าเราทำงานในโรงงานหรืออุตสาหกรรม เราก็ไม่สามารถให้นมได้” กิ่งอธิบายเพิ่ม

บริษัทของเธอมีแนวคิดที่เธอเรียกว่า “คิดครบ” คือความพยายามในการสมดุลคนหลายกลุ่ม ทั้งหญิงและชาย คนวัยเยาว์และคนสูงวัย ซึ่งเธอกล่าวว่าทำให้การออกแบบผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย และตอบสนองความต้องการของคนได้หลายกลุ่มมากขึ้น

ดีต่อนายจ้าง ดีต่อแรงงาน

แต่การลาคลอดไม่ใช่เพียงแต่เป็น “ความใจดี” ของบริษัทที่มีต่อคนท้อง และจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่มีผู้บริหารหญิงเท่านั้น หากแต่เป็นสิทธิของลูกจ้าง ในฐานะแรงงานที่ต้องได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี และหากเราพิจารณาถึงประโยชน์ที่บริษัทจะได้ การลาคลอดก็มีอยู่ไม่น้อย สุภาณี พงษ์เรืองพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านความเท่าเทียมทางเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทยกล่าวว่า การลาคลอดช่วยลดโอกาสการออกจากงานลงได้ ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายทางอ้อมของบริษัท

“กระบวนการรับสมัครคนใหม่มีค่าใช้จ่าย ถ้าบริษัทมีนโยบายที่ไม่เป็นมิตรต่อลูกจ้าง อัตราการลาออกจากงานก็สูง แต่นายจ้างสามารถรักษาคนไว้ได้ จึงอยากบอกภาคเอกชนว่า อย่ามองประโยชน์ระยะสั้น แต่ควรมองประโยชน์ระยะยาวที่สร้างประโยชน์ต่อทั้งองค์กรเอง และประเทศ”

แบบสำรวจจาก Seramoth พบว่า ลูกจ้างที่ลาคลอดบุตรแบบได้เงินเดือนกว่า 93% มีแนวโน้มกลับมาทำงานและอยู่ที่บริษัทเดิมต่ออย่างน้อย 1 ปี และยังเป็นนโยบายที่ดึงดูดพนักงานคุณภาพให้มาร่วมงานกับบริษัท และมีความคาดหวังจะเติบโตกับบริษัทนานขึ้น ส่วนนี้จะช่วยให้บริษัทลดรายจ่ายด้านการสรรหาคน ลดเวลาในการฝึกสอนงาน และทำงานอย่างคล่องตัวกับพนักงานที่พร้อมทั้งกาย-ใจ เนื่องจากได้พักผ่อนเพียงพอหลังคลอดบุตร

คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งเรายังมีวันลาคลอดเพียง 98 วัน 90 วัน หรือก่อนหน้าคือ 60 วัน และเมื่อยังไม่ได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนขณะลาคลอด แรงงานหลายคนจำต้องรีบกลับมาทำงานก่อนกำหนด เพื่อให้ครอบครัวไม่ขาดรายได้

“ระหว่างเราเก็บข้อมูล [เกี่ยวกับการลาคลอด] มีหลายกรณีเลยที่แจ้งว่าไม่ได้ลาคลอดแล้วเขาไม่ไหวสุขภาพเขาแย่ มดลูกยังไม่แข็งแรงก็ต้องรีบกลับไปทำงาน ซึ่งอาจทำให้เจ็บป่วยเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ หลายคนได้ลาคลอดน้อย ทำให้ให้นมลูกได้ไม่เต็มที่” คุณจะเด็จกล่าว

“การมีกฎหมายลาคลอดเพิ่มมากขึ้น หรือให้มีการลาเลี้ยงลูก นายจ้างไม่ได้เสียผลประโยชน์เลยนะครับ” คุณจะเด็จย้ำ “เพราะเขาไม่ได้ลากันทั้งโรงงานกันอยู่แล้ว ลูกจ้างก็จะได้รู้สึกว่าคุณภาพชีวิตพัฒนา และอยากทำงานต่อนานขึ้น นายจ้างจะได้คนที่อยากทำงานมากขึ้น ได้มีแรงงานในอนาคต เพราะคนอยากมีลูก”

แต่จำนวนวันลาคลอดที่ดี 120 วันพอแล้วหรือ?

แพทย์แนะนำ 180 คือขั้นต่ำ สุขภาพใจแม่ พัฒนาการเด็ก

แพทย์หญิงธัญพร เมฆรุ่งจริส แพทย์ชำนาญการด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า วันลาคลอด 120 วันนั้นยังไม่เพียงพอ แต่หากแม่ลูกได้อยู่ด้วยกันใกล้ชิดนานอย่างน้อย 6 เดือนจะช่วยเรื่องพัฒนาการเด็ก

“ถ้าไม่นึกถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องเลย เด็กจริง ๆ ควรอยู่กับแม่ถึง 6 เดือน และหากได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อเนื่องในช่วง 9 เดือนถึง 1 ปี ก็จะช่วยการพัฒนาการด้านภาษา และจะส่งผลต่อด้านสติปัญญา เพราะพัฒนาการเด็กด้านที่มีการศึกษาแล้วว่าสัมพันธ์กับสติปัญญาคือด้านภาษาและกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งทั้ง 2 ด้านเกิดจากได้รับการกระตุ้นและการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เลี้ยงดู” ธัญพรอธิบาย

คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านแม่และเด็กเล่าว่า ช่วงเวลาการลาคลอดที่เหมาะสมแบ่งเป็น 2 ด้านคือ: สุขภาพกาย และสุขภาพจิต ด้านสุขภาพกาย ซึ่งจะใช้เวลาฟื้นฟูราว 2-3 เดือน ร่างกายก็เริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว แต่สุขภาพจิตอาจใช้เวลานานกว่า

“หลังคลอดร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อเรื่องอารมณ์ ฮอร์โมนเหล่านี้ เมื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังคลอด คุณแม่อาจมีความเครียดหรือกังวลหลังคลอด เรียกว่า baby blue ซึ่งอาจเริ่มได้ตั้งแต่ 2-3 อาทิตย์จนถึง 3-4 เดือน หรือนานกว่านั้น หากนานกว่า 6 เดือนอาจแปรเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) ได้ ฉะนั้นเวลา 4 เดือนก็ยังบอกได้ยาก”

นอกจากนี้แพทย์หญิงยังชี้ว่า การได้สิทธิลาคลอดโดยที่ได้รับเงินเดือนช่วยให้ความกังวล ความเครียดหลังคลอดไม่รุมเร้ามากจนเกินไป เพราะร่างกายผู้คลอดบุตรอยู่ในช่วงที่ต้องปรับตัวมากเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต การเลี้ยงลูก เรื่องงาน พวกเขามีความเครียดหลายด้าน ซึ่งการได้รับเงินเดือนเต็มตลอดช่วงเวลาลาคลอดที่เหมาะสมจะช่วยบรรเทาภาระทางใจลงได้

อีกด้านที่จะได้ประโยชน์คือพัฒนาการเด็ก แพทย์ธัญพรกล่าวว่า ส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็กมาจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูก เด็กแรกเกิดถึงปีแรก การตอบสนองพื้นฐานอย่าง หิว ง่วง ต้องการขับถ่าย ถ้าตอบสนองได้อย่างดี เด็กจะมีความไว้วางใจในโลก รวมถึงการได้ดูดนมจากเต้าและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เลี้ยงดู จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการและพื้นฐานจิตใจของเด็กในระยะยาว

ด้านนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิการลาคลอดอย่างคุณจะเด็จก็เห็นไปในทางเดียวกัน คือยินดีกับการที่แรงงานได้วันลาคลอดเพิ่มเป็น 120 วัน แต่เป้าหมายยังคงอยู่ที่ 180 วัน

“ทำไมต้อง 180? เพราะ 180 เป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ […] เราได้มาเพิ่ม 1 เดือน ทางเครือข่ายก็ยินดี แต่ถามว่าพอไหม คงไม่เพียงพอ ยังไงก็ต้องต่อสู้ให้ได้ 180 วันให้ได้”

แต่ด้านผู้ประกอบการจะว่าอย่างไรหากวันลาคลอดขยายไปอีก 2 เดือนจากความคืบหน้าล่าสุด

180 วันท้าทายนายจ้าง คงต้องพึ่งพารัฐมากขึ้น

แม้จะยินดีและสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งต่อวันลาคลอดที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาเป็น 120 วัน แต่กิ่งมีความกังวลใจอยู่บ้างต่อวันลาคลอดรวม 180 วัน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกเลยสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีพนักงานไม่ถึง 30 คน ต่างจากองค์กรขนาดใหญ่หรือโรงงานที่แน่นอนว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่า กิ่งไม่ได้กังขาความเหมาะสมของการลา 180 วัน แต่คิดว่ารัฐบาลควรมีส่วนด้านค่าใช้จ่ายในสัดส่วนที่มากขึ้น

“120 วันยังไม่ต่างจากเดิมมาก แต่ถ้า 180 ถ้าสำหรับ SMEs ที่ใช้แรงงานเยอะ มีผลกระทบแน่นอนค่ะ ประกันสังคมควรสนับสนุนเงินเดือนพนักงานมากขึ้น มากกว่า 50% ที่เป็นอยู่”

นอกจากความกังวลด้านงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น อีกส่วนที่กิ่งกังวลคือ การกลับมาทำงานอีกครั้งหลังขาดงานไป 6 เดือน เพราะอาจขาดความต่อเนื่อง หรือมีทักษะบางอย่างในงานบางลักษณะที่ลดลง รวมถึงอาจทำให้เกิดความกังวลในการจ้างงานพนักงานหญิง

“ต้องมองทั้งนายจ้าง และคนที่ร่วมงานกับเขาด้วย […] ในมุมนายจ้าง 6 เดือนเหมือนเราต้องเอาคนอื่นมาทำงานแทนแล้ว เพราะถ้าเขากลับมา เขาจะยังทำตำแหน่งเดิมได้มั้ย แบบนี้ต้องทำ career path ให้ชัดว่ากลับมาในตำแหน่งไหน เพราะ 120 วันและ 180 วันค่อนข้างต่างกันมาก […] จะกลายเป็นว่าจะมีความกังวลในการจ้างงานตั้งแต่เริ่มต้น ต้องมีการทำงบประมาณว่า บริษัทสามารถจ้างงานคนที่มีความสามารถในการท้องได้แค่ไหน”

ความกังวลด้านการจ้างงานแรงงานหญิง เพราะกลัวการลาคลอด หรือการลาออกหลังมีบุตรนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่มีในสังคมมานาน โดยเฉพาะบริษัทที่มีความเข้าใจเรื่องมิติทางเพศน้อย ด้วยแนวคิดที่ว่าการเลี้ยงดูบุตรเป็นเรื่องของผู้หญิง เป็นหน้าที่หลักของชีวิต เป็นสิ่งที่แม่ต้องอุทิศตนให้มากกว่าการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน และการหารายได้ที่เป็นหน้าที่ของผู้ชายมากกว่า หากไม่จ้างผู้หญิง อย่างไรก็มีสามีเลี้ยง เพราะการหาเงินไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงอยู่แล้ว

บทบาททางเพศอันเคร่งครัดนี้ อาจเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการลาช่วยเลี้ยงดูบุตรของคู่สมรส ซึ่งส่วนมากยังคงเป็นเพศชาย

คู่สมรสควรได้ลาเลี้ยงลูก

ในร่าง พ.ร.บ. แรงงานล่าสุดที่สภาผ่านการเห็นชอบ นอกจากจะเพิ่มวันลาคลอดให้พนักงานที่คลอดบุตรแล้ว และให้สิทธิการลาเลี้ยงดูบุตรกับคู่สมรส 15 วันโดยได้เงินเดือนเต็ม สิทธิใหม่นี้เป็นสิ่งที่คุณกิ่งให้การสนับสนุนมาก ถึงแม้จะหมายถึงภาระที่แรงงานของเธอจะได้มากขึ้น แต่เธอมองว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมเรื่องเพศให้รุ่นถัดไปได้มาก

“เรื่องผู้ชายลาช่วยเลี้ยงดูบุตรเราเห็นด้วยมาตลอด เรามองว่า 15 วันจ่ายเต็มเป็นอะไรที่น่าสนับสนุน ในขณะเดียวกัน ผลเหมือนกันกับการลาคลอดของผู้หญิงคือการวางแผน ฝ่ายบุคคลต้องทำงานมากขึ้น สรุปคือกระทบในแง่เงิน ไม่มาก ด้านการบริหารจัดการ ใช่ แต่ในด้านแรงกระเพื่อมต่อคนรุ่นถัดไป ใช่เหมือนกัน”

ด้านคุณหมอธัญพร เหตุผลที่อยากสนับสนุนสิทธิการลาช่วยเลี้ยงดูบุตรของคู่สมรสคือ ด้านการสนับสนุนทางจิตใจให้กับคนที่เพิ่งคลอดบุตร

“ถ้าถามความเห็นหมอ อยากให้สามีหรือคนที่ช่วยเลี้ยงใช้สิทธิลาได้ เพราะจะมาสนับสนุนเรื่องอารมณ์ของคุณแม่ได้ บางคนเขาไม่รู้จักอาการ [โรคซึมเศร้าหลังคลอด] การมีคนอื่นอยู่ด้วย อาจทำให้เห็นภาพชัดขึ้น แต่หมอคิดว่า 15 วันมันน้อยเกินไป”

คุณหมอชี้ว่า เวลา 15 วันนั้นยังไม่เพียงพอต่อการปรับตัวของแม่และเด็ก พ่อหรือคนช่วยเลี้ยงยังไม่รู้จักลูกดีพอ หมอด้านพัฒนาการเด็กจึงแนะนำเวลา 1 เดือนสำหรับลาการช่วยเลี้ยงดูบุตร

คุณสุภาณีและคุณจะเด็จ ผู้ทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศเห็นตรงกัน คือการลาคลอดของผู้ชาย จะช่วยปรับแนวคิดของสังคมว่าการเลี้ยงลูกเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้นได้

“คู่สมรสต้องเปลี่ยนความคิดของตนเองว่า ภาระต่าง ๆ ของครอบครัว เรื่องการเลี้ยงดูเด็ก เรื่องการทำงานบ้าน เป็นหน้าที่ของผู้หญิงทั้งหมด การลาไปเลี้ยงลูก แม้ว่า 15 วันอาจยังไม่มาก ก็ยังเป็นจุดดีที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่างานด้านการดูแลลูก หรือช่วยงานบ้าน เป็นงานที่สำคัญมากของทุกคนในครอบครัว” คุณจะเด็จกล่าวพร้อมเสริมว่า ตามการเก็บข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล คู่สมรสไทยอยากลามาช่วยเลี้ยงดูบุตร 1 เดือน

ด้านคุณสุภาณีมองว่า การลาหลังคลอดหากผู้หญิงได้วันลาเพียงลำพัง เท่ากับเป็นการกล้ำซ้ำบทบาททางเพศแบบเดิม ที่การเลี้ยงดูลูกเป็นน้ำหนักที่ผู้หญิงต้องแบกรับมากกว่า ฉะนั้นคู่สมรสทั้งสองคนควรได้วันลาเท่ากัน

“สิ่งที่อยากให้รัฐบาลกระตุ้นทั้งรัฐฯ และเอกชนคือ ให้สิทธิในการลาเลี้ยงดูทั้งของผู้หญิง-ผู้ชาย เท่าๆ กัน เพราะอะไร เพราะผู้หญิงในแง่ร่างกาย และไม่ใช่แค่สุขภาพ และสัมพันธ์แม่ลูก แต่เป็นเรื่องของพัฒนาการระยะยาว เพราะใน 6 เดือนแรกของลูก ไม่ใช่แค่แม่ที่สำคัญ แต่พ่อด้วย จึงอยากให้มีการลาสำหรับผู้ปกครอง (parental leave) เท่ากัน”

นอกจากนี้ คุณสุภาณียังกล่าวถึงความหวังว่า ในอนาคตอยากให้คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถลาดูแลบุตรได้เหมือนคู่รักต่างเพศ และลาได้เท่า ๆ กัน เนื่องจากแม้เป็นการรับบุตรบุญธรรม คู่พ่อพ่อ หรือแม่แม่ ก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัวและสร้างความสัมพันธ์กับลูกไม่ต่างกัน

ต่อจากลาคลอด ห้องให้นมบุตร-ห้องเลี้ยงเด็กต้องมี

มีคำกล่าวที่ว่า “เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ต้องใช้ทั้งชุมชนช่วยดูแล” แต่ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าคนทั้งตำบลจะต้องลา 180 วันมาดูแลเด็ก หรือจัดเวรกันมาเปลี่ยนผ้าอ้อมแต่อย่างใด ความหมายที่แท้จริงก็คือ การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่ง ผู้เลี้ยงซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมหนึ่งต้องการความเข้าใจจากคนรอบตัว และเด็กต้องการสภาพแวดล้อมที่ดีในการเติบโต

ตัวอย่างเช่น บางครั้งเมื่อแม่ต้องกลับไปทำงานก่อนลูกเลิกกินนมแม่ หรือก่อนเต้านมของตนจะเลิกผลิตน้ำนมนั้น สำหรับคุณแม่ที่ทำงาน การปั๊มน้ำนมเป็นสิ่งที่คนเพิ่งคลอดลูกต้องทำ ไม่ใช่เพียงให้ลูกได้กินนม แต่เป็นความจำเป็นด้านสุขภาพ ในบางรายอาจไม่ส่งผล แต่บางคนนั้นอาจก่อให้เกิดเต้านมอักเสบและติดเชื้อตามมาได้ สถานที่ทำงานจึงต้องมีพื้นที่เหมาะสมให้แม่ปั๊มนม

ผิดกับความเป็นจริง แม่มือใหม่หลายคนแอบปั๊มน้ำนมหรือให้นมบุตรในห้องน้ำ ห้องเก็บของ หรือในรถ แต่ละวันคอยกังวลมองหาที่เหมาะ ๆ ไม่ให้การหลั่งน้ำนมเป็นที่อุจาดตา คอยกังวลความเห็นจากเพื่อนร่วมงานว่าเป็นการกินแรง กินเวลางานหรือไม่ ชุมชนรอบตัวส่งผลต่อแม่ และความเครียดของแม่ส่งผลต่อความรู้สึกและพัฒนาการของเด็ก

คุณหมอธัญพรเน้นย้ำความสำคัญนี้ และกล่าวว่านอกจากประโยชน์ด้านการให้นม การมีห้องรับเลี้ยงเด็กใกล้ที่ทำงานแม่ จะช่วยดำรงความสัมพันธ์ใกล้ชิดของแม่และเด็กเอาไว้ได้

“ห้องเลี้ยงเด็กและห้องให้นมบุตร จะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สะดวกมากขึ้น ถ้ามีศูนย์รับเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน แม่จะวางใจได้ว่าลูกไม่ได้ไปไหนไกล ยังคอยไปดูลูกได้ ความสัมพันธ์ก็จะยังคงอยู่ และได้สร้างความสัมพันธ์แม่ลูกด้วยการเข้าเต้าได้ง่าย”

การเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพไม่ใช่แค่อาศัยชุมชน แต่เป็นการวางรากฐานให้ชุมชนที่ดีในระยะยาว พัฒนาการเด็กที่ดีหมายถึงคนมีคุณภาพในอนาคต การลาคลอดได้เงินนานไม่ได้หมายความว่าจะมีแม่ออกจากระบบการทำงานหลังมีบุตรน้อยลงเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการลดการเสียโอกาสในการทำงาน ทำให้ประเทศไม่ต้องสูญเสียแรงงาน แต่กลับใช้แรงงานจากทุกเพศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจาก UNDP กล่าวว่า สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีลูกจะส่งใจให้คนอยากมีบุตรมากขึ้น

“ข้อดีของการมี parental leave มีทั้งต่อครอบครัวและเศรษฐกิจประเทศ ปัจจุบันคนมีลูกกันน้อยลง แต่ประเทศที่มีสวัสดิการดี ครอบครัวจะอยากมีลูก เพราะมีการสนับสนุนจากภาครัฐฯ […] เราเคยทำสำรวจว่าทำไมคนไม่อยากมีลูก หลายคนบอกว่า เกรงจะกระทบการงาน บางครั้งกลับมาทำงาน ที่ทำงานไม่ให้ทำตำแหน่งเดิม ฉะนั้น ตรงนั้นมีนัยยะช่วยเพิ่มประชากร ในกรณีของคู่สมรสต่างเพศ”

เบื้องหลังสิทธิการลาคลอด พลังชนชั้นแรงงาน

เมื่อคุยเรื่องสิทธิการลาคลอดเสียยืดยาว กลุ่มคนที่ต้องสรรเสริญในการได้มาซึ่งสิทธิครั้งนี้คือ ชนชั้นแรงงาน

คุณจะเด็จ ผู้ทำงานกับแรงงานหญิงเป็นระยะเวลานานชี้ว่า การเรียกร้องสิทธิการลาคลอดครั้งต้น ๆ ซึ่งคุณจะเด็จได้เข้าร่วมช่วงเดือนมีนาคม 2534 นั้นมีแรงงานหญิงเป็นกำลังสำคัญ ขณะนั้นมีวันลาคลอดเพียง 60 วัน สหพันธ์แรงงานต่างๆ รวมตัวกันสู้จนได้วันลา 90 วัน และได้ลาอย่างได้เงินเดือน จนการเรียกร้องประสบความสำเร็จหลายครั้งและยังเป็นเช่นนั้นมาตลอด

“กลุ่มแรงงานผู้ใช้แรงงานหญิงเป็นผู้ต่อสู้ให้ได้สิทธินี้มา เป็นคนยากจน คนในโรงงาน แต่คนได้ประโยชน์คือทุกคน […] แรงงานเห็นปัญหาได้มากกว่าคนชั้นกลาง เพราะมีการรวมกลุ่ม ชนชั้นกลางมีการรวมกลุ่มน้อยกว่า หรือหากมีก็ไม่ค่อยตื่นตัว เพราะวนเวียนกับเรื่องตัวเอง คนจนเคลื่อนไหวอย่างมีพลังมากกว่าคนชนชั้นกลาง เราจึงต้องตั้งคำถามกัน ว่าทำยังไงให้ชนชั้นกลางตื่นตัวมาร่วมในการมาเรียกร้องประเด็นทางสังคมร่วมกับคนยากคนจนให้มากกว่านี้”

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Amarin TV

ส่งตัวทหารเหยียบกับระเบิดช่องอานม้า 4 นาย รักษา ต่อรพ.ค่าย

8 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ฟันคดีเพิ่ม รีสอร์ต "จอนนี่ มือปราบ" ลักลอบเปิดกิจการไม่มีใบอนุญาต

9 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ไทยเรียกทูตกลับ สื่อกัมพูชาคาด จบความหวังการค้า 15,000 ล้านเหรียญ

9 ชั่วโมงที่ผ่านมา

พ่อแม่ "น้องเมย" พร้อมเข้าพบ ผบ.ตร. เตรียมให้ทนายประสานขอเข้าพบ

11 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความธุรกิจ-เศรษฐกิจอื่น ๆ

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ลดลง 6 เซนต์

สยามรัฐ

ดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นสหรัฐ เพิ่มขึ้น 507.85 จุด

สยามรัฐ

จาก ‘กากกาแฟ’ สู่ ‘อิฐยั่งยืน’ตามเทรนด์ Second Life ตอบโจทย์ SDG

เดลินิวส์

เปิดแล้ว “ASEAN Tools Expo 2025” เวทีเครื่องมือช่างระดับอาเซียน

ฐานเศรษฐกิจ

อดีตผู้ว่าททท.ถอดรหัสตลาดท่องเที่ยวไทย ย้ำเร่งกู้จีนเที่ยวไทย

ฐานเศรษฐกิจ

อายิโนะโมะโต๊ะ เผย 3 แผนใหญ่ ปี 68 หลังทำรายได้ 3.2 หมื่นล้าน

SMART SME

ผู้ช่วยฯ “จักรพล” เดินหน้ายกระดับธุรกิจที่พักเพื่อการท่องเที่ยว จับมือกระทรวงมหาดไทย ผลักดันแนวทางเชิงรุก หนุนผู้ประกอบการเข้าระบบ

สวพ.FM91

Thai economic sectors at risk without reforms amid US trade talks

Thai PBS World

ข่าวและบทความยอดนิยม

ลูกชายสมบัติ ลูกสาวภาระ? พ่อแม่ชาวอินเดียลงทุนการศึกษาให้ลูกไม่เท่ากัน

Amarin TV

ชมบรรยากาศงานบ้านและสวนแฟร์ และ Amarin Baby&Kids 2 งานแฟร์ของครอบครัว

Amarin TV

ถอดบทเรียน SMEs ญี่ปุ่น โตได้ด้วยรัฐหนุน และใช้จิตวิญญาณทำธุรกิจ

Amarin TV
ดูเพิ่ม
Loading...