ปรับเวลาใหม่! พิชิต ‘ภูกระดึง’ ต้องมาก่อนเที่ยงตรง-ลงเขาไม่เกิน 13.00 น. เริ่ม 1 ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งปรับเปลี่ยนเวลาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้น-ลงเขา ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวขณะขึ้น-ลงเขา ที่อาจเกิดอุบัติเหตุหรือได้รับอันตรายจากสัตว์ป่า ในช่วงเปิดการท่องเที่ยวและพักแรมบนยอดเขา
ทั้งนี้ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้นเขา ระหว่างเวลา 06.00–12.00 น. และอนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงเขา ไม่เกินเวลา 13.00 น. จากเวลาเดิมที่อนุญาตให้ขึ้นเขาวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ นักขัตฤกษ์ 05.30-13.00 น. และวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.00-13.00 น. อนุญาตลงเขาไม่เกิน 14.00 น. โดยจะมีผลบังคับใช้ 1 ต.ค.นี้ เนื่องจากภูกระดึงยังอยู่ระหว่างปิดการท่องเที่ยวตามฤดูกาลเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้
นายอดิสร เหมทานนท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง กล่าวว่า การปรับเวลาขึ้นภูกระดึงใหม่ที่จะใช้ในต้นฤดูกาลท่องเที่ยว 1 ต.ค.นี้ ผ่านการพิจารณาร่วมจากคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเรียบร้อยแล้ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจากปัญหาเสี่ยงกับช้างหรือสัตว์ป่าได้ และยืนยันไม่เกี่ยวกับการเปิดทางให้สำรวจเส้นทางโครงการก่อสร้างกระเช้าภูกระดึง เหตุผลคือทางขึ้นภูกระดึงในหลายจุด ยังมีความเสี่ยงจากช้างป่า เช่น ซำกกโดน ซำกกหว้า และบนหลังแปที่ยังพบมีช้างป่ามาใช้พื้นที่อย่างน้อยจุดละ 1-3 ตัว หากปล่อยให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปในช่วงเวลาบ่ายจนถึงค่ำ อาจไม่ปลอดภัยได้ โดยใครมาหลัง 12.00 น.จะไม่อนุญาตให้ขึ้นเด็ดขาด เนื่องจากระยะทาง 5.5 กม.อาจต้องใช้เวลาเดินขึ้น 4-5 ชม. และไปเดินทางราบที่หลังแปไปจุดกางเต็นท์อีก 1 ชม.ก็พลบค่ำ
นายอดิสร กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังคงมาตรการชุดผลักดันช้างบนภูกระดึง ซึ่งพบมีช้างหากินบนยอดภู 46 ตัว และมี 2-3 ตัวที่เคยเข้ามาใช้พื้นที่เขตบริการยังวนเวียนอยู่ แม้จะมีการสำรวจและทำโป่งเพิ่มเติมให้กับช้างป่า ก็ต้องค่อยๆ ปรับและผลักดัน ซึ่งตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าพฤติกรรมช้างเปลี่ยนไป แม้โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะเผชิญกับช้างมีไม่ถึง 10% อุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวแบ่งเป็นบ้านพัก 109 คน ลานกางเต็นท์ 3,420 คนต่อวัน ซึ่งแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวไปเยือนราว 6.5 หมื่นคน แต่ปีที่ผ่านมามีช้างทำร้ายนักท่องเที่ยวเสียชีวิต จนต้องปิด 10 วัน และมีมาตรการเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยวที่ขึ้นภูกระดึง เช่น อบรมก่อนขึ้น และคู่มือเอาตัวรอดจากช้าง การลงทะเบียน และปิดจุดท่องเที่ยว เช่น ผานกแอ่น เส้นทางน้ำตก.