รู้หรือไม่? มีประจำเดือนก่อนอายุ 10 ปี หรือหลัง 15 ปี ทำนายอนาคตสุขภาพได้ด้วย
งานวิจัยใหม่ เผย มีประจำเดือนก่อนอายุ 10 ปี หรือหลัง 15 ปี ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว ทั้งน้ำหนักเกิน ไปจนถึงโรคหัวใจ
ประจำเดือนอาจไม่ใช่แค่เรื่องปวดท้อง แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพในอนาคตของคุณด้วย
ทุกวันนี้เด็กผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าอดีต ทำให้นักวิจัยทั่วโลกยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไม
โดยอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนครั้งแรก ลดลงเล็กน้อยจากประมาณ 12.5 ปี ในช่วงปี 1950-1960 มาอยู่ที่ 11.9 ปี สำหรับเด็กที่เกิดระหว่างปี 2000 ถึง 2005
ผลวิจัยระบุว่า มีเด็กผู้หญิงเพียงประมาณ 2% ที่เริ่มมีประจำเดือนหลังอายุ 15 ปี และมีจำนวนน้อยกว่านั้นที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ปี
ซึ่งถือเป็นข่าวดี เพราะงานวิจัยใหม่จากบราซิลพบความเชื่อมโยงระหว่างการมีประจำเดือนเร็วหรือช้ากว่าปกติ กับความเสี่ยงสุขภาพในระยะยาว
ดร.ฟลาเวีย เรเซนเด ตินาโน แห่งมหาวิทยาลัยเซาเปาโล ผู้เขียนงานวิจัย กล่าวว่า
“ตอนนี้เรามีหลักฐานจากประชากรบราซิลจำนวนมาก ที่ยืนยันได้ว่าการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ทั้งเร็วและช้า มีผลต่อสุขภาพในระยะยาวแตกต่างกันไป”
“ผู้หญิงส่วนใหญ่จำได้ว่าตัวเองมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่พวกเธออาจไม่รู้เลยว่ามันเป็นสัญญาณเตือนความเสี่ยงสุขภาพในอนาคต”
Andrea Piacquadio
ทีมวิจัยของตินาโน่ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้หญิงกว่า 7,600 คน อายุระหว่าง 35 ถึง 74 ปี
โดยแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยตามช่วงอายุที่มีประจำเดือนครั้งแรกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มที่มีเร็ว (ก่อนอายุ 10 ปี)
- กลุ่มปกติ (อายุ 10-15 ปี)
- กลุ่มที่มีช้า (เกินอายุ 15 ปี)
จากการสัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และอัลตราซาวด์ พบว่า ผู้หญิงที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 10 ปี มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ และปัญหาสุขภาพสืบพันธุ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ เมื่ออายุมากขึ้น
ผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกหลังอายุ 15 ปี แม้จะมีโอกาสอ้วนน้อยกว่า แต่กลับเสี่ยงต่อการมีประจำเดือนผิดปกติ และป่วยด้วยโรคหัวใจบางชนิดมากขึ้น
ดร. ตินาโน่ กล่าวว่า “การเข้าใจความเชื่อมโยงเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้หญิงและแพทย์สามารถป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันสูง และโรคหัวใจได้อย่างทันท่วงที”
งานวิจัยนี้เพิ่งถูกนำเสนอในงานประชุมประจำปีของสมาคมต่อมไร้ท่อ (Endocrine Society) ที่ซานฟรานซิสโก
Polina Zimmerman
สำหรับประจำเดือน คือการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าผู้หญิงคนนั้นไม่ได้ตั้งครรภ์
ที่ผ่านมา ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่าการมีประจำเดือนช้า อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน กระดูกหัก และโรคอัลไซเมอร์ เพราะการมีประจำเดือนช้าหมายถึงการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนช้าลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก
ในทางกลับกัน การมีประจำเดือนเร็ว หมายถึงร่างกายได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเป็นพิเศษตลอดชีวิต ซึ่งฮอร์โมนนี้กระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเต้านม และอาจทำให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนได้
การมีประจำเดือนเร็ว ยังเชื่อมโยงกับความเสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวานประเภท 2 มะเร็งเต้านม รวมถึงปัญหาความเครียด วิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
นักวิจัยยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าทำไมเด็กผู้หญิงยุคนี้ถึงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้นกว่ารุ่นก่อน ๆ
แต่บางรายงานชี้ว่า อาจเกิดจากอัตราเด็กอ้วนที่เพิ่มขึ้น การได้รับสารเคมีที่รบกวนฮอร์โมนในร่างกายมากขึ้น รวมถึงความเครียดในเด็กที่สูงขึ้นกว่าเดิม